ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > งานวิจัยชี้การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงเกิดภาวะ LONG COVID

งานวิจัยชี้การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงเกิดภาวะ LONG COVID

11 กันยายน 2021


งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 พบว่าวัคซีนไม่เพียงแค่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังช่วย ลดโอกาสที่จะเกิดภาวะLONG COVIDอีกด้วย

“เราพบว่าโอกาสที่จะมีอาการเป็นเวลา 28 วันหรือมากกว่านั้นลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง หากติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน 2 เข็ม ผลลัพธ์นี้ชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงของภาวะ LONG COVID ลดลงในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ลดลงโดยรวม” นักวิจัยระบุในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายน ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases

นักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโควิด-19 ที่ผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรบันทึกด้วยตัวเองและแชร์ผ่านทางแอปโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า Covid Symptom Study โดยนักวิจัยได้ประมวลอาการของผู้ใช้แอปที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2020 ถึง 4 กรกฎาคม 2021 และเปรียบเทียบอาการกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วมากกว่า 1.2 ล้านราย และ 0.5% ของผู้ให้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก หรือคิดเป็น 6,030 ราย มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก และมีผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเกือบ 1 ล้านราย มีเพียง 0.2% หรือคิดเป็น 2,370 รายที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

นอกจากนี้นักวิจัยพบว่ามีคนบางกลุ่มที่เสี่ยงจะติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก คือ ในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่อาศัยอยู่ใน “พื้นที่ด้อยโอกาส” เช่น ชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น และข้อมูลยังระบุอีกว่าผู้ที่ไม่อ้วนเกินไปจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก

แต่โดยรวมแล้ว นักวิจัยพบว่าการได้รับวัคซีนมีความเกี่ยวข้องกับอาการของโควิด-19 ที่น้อยลงในทุกช่วงอายุหากเกิดการติดเชื้อ

เมื่อเทียบระหว่างการฉีดวัคซีนและการไม่ฉีดวัคซีน นักวิจัยพบว่า

การฉีดวัคซีนสัมพันธ์กับการลดลงของโอกาสในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโควิด-19 หรือโอกาสที่จะมีอาการเกิน 5 อาการในสัปดาห์แรกของการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน 1 หรือ 2 เข็ม และหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจะช่วยลดโอกาสที่จะมีอาการในระยะยาว (28 วันหรือมากกว่านั้น)

นักวิจัยระบุว่า จากในกลุ่มผู้ที่มีอาการของโควิด-19 เกือบทั้งหมด พบว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมากกว่าที่ได้รับวัคซีนแล้ว และในกลุ่มของผู้ที่ไม่แสดงอาการ พบว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมากกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

สำหรับอาการระยะยาวของโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญบางคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยใหม่นี้ ระบุว่ายังต้องมีการศึกษาอีกมาก

“การวิจัยนี้มีการศึกษา LONG COVID โดยการประเมินสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังนานกว่า 28 วัน อย่างไรก็ตามยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับ LONG COVID และอาการเรื้อรังหลังติดเชื้อ รวมถึงความรุนแรงของมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไป” เพนนี วอร์ด ศาสตราจารย์รับเชิญด้านเภสัชกรรมที่ King’s College London ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าวในแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรที่เผยแพร่โดย Science Media Center ในสหราชอาณาจักรเมื่อวันพุธที่ 1 กันยายน

“อย่างไรก็ตามสัดส่วนโดยรวมของผู้ที่มีอาการเรื้อรังลดลงในผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ซึ่งเมื่อรวมกับอาการเจ็บป่วยโดยรวมที่น้อยลงและความต้องการการรักษาในโรงพยาบาลที่ลดลง แสดงให้เห็นถึงข้อดีของการฉีดวัคซีนในการลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย” เธอกล่าว และเป็นการลดภาระของระบบสาธารณสุขด้วยการลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

“LONG COVID” คืออะไร

คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 มักจะไม่ได้ป่วยหนักและจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีคนจำนวนมากที่มีปัญหาระยะยาวหลังจากฟื้นตัวจากการติดเชื้อ แม้ว่าจะไม่ได้ป่วยหนักตั้งแต่แรกก็ตาม

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหราชอาณาจักรอธิบายว่า LONG COVID คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 12 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ตาม ซึ่งอาการเหล่านั้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุอื่น

จากข้อมูลของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service: NHS) ระบุว่าอาการของลองโควิด ได้แก่
•รู้สึกเหนื่อยมาก
•หายใจได้แค่สั้น ๆ ใจสั่น เจ็บหรือแน่นหน้าอก
•มีปัญหาเรื่องความจำและสมาธิ (ภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog)
•ปวดข้อ

ที่มาภาพ:https://epigram.org.uk/2021/03/27/long-covid-who-gets-it-and-how-can-we-treat-it/

จากการสำรวจยังพบอีกหลายอาการ งานวิจัยโดย University College London (UCL) พบว่าในผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด พบอาการถึง 200 อาการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะในร่างกายถึง 10 ระบบ

อาการเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น อาการประสาทหลอน นอนไม่หลับ การได้ยินและการมองเห็นเปลี่ยนไป การสูญเสียความจำระยะสั้น มีปัญหาด้านการพูดและภาษา มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและกระเพาะปัสสาวะ และมีการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนและสภาพผิว

ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไป แต่มีหลายคนที่ไม่สามารถทำบางอย่างเองได้ เช่น อาบน้ำ ซื้อของ หรือการจำคำศัพท์

โดยสาเหตุของภาวะ LONG COVID ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด หนึ่งในสาเหตุที่อาจเป็นไปได้คือการติดเชื้อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของบางคนทำงานมากเกินไป โดยภูมิคุ้มกันไม่เพียงแต่ทำลายไวรัสเท่านั้น แต่ยังทำลายเนื้อเยื่อของตัวมันเองด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงมาก

การที่ไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ของผู้ป่วยอาจแสดงอาการบางอย่าง เช่น ภาวะสมองล้า (Brain Fog) สูญเสียการได้กลิ่นและรสชาติ หากไปทำลายหลอดเลือดโดยเฉพาะอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปอด และสมอง

อีกทฤษฎีหนึ่งคืออาจมีบางส่วนของไวรัสที่ยังคงอยู่ในร่างกายและกลับมาทำงานอีกครั้ง อย่างที่เกิดในไวรัสอื่น ๆ เช่น เริม (Herpes) และไวรัส Epstein Barr ที่ทำให้เกิดไข้และต่อมน้ำเหลืองโต (glandular fever)

อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานมากนัก และมีแนวโน้มว่าในผู้ติดเชื้อแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน

มีงานวิจัยจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าการเกิดภาวะ LONG COVID มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ และพบได้บ่อยในผู้หญิงถึง 2 เท่า

จากการวิเคราะห์งานวิจัยและฐานข้อมูลบันทึกสุขภาพโดย King’s College London ชี้ให้เห็นว่าในคนวัย 20 ปีมีโอกาสเกิด LONG COVID เพียง 1-2% เทียบกับในคนวัย 60 ปีที่มีโอกาสถึง 5%

อย่างไรก็ตาม ดร.เดวิด สเตรน จาก University of Exeter Medical School ผู้ซึ่งทำงานกับผู้ป่วยลองโควิด กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ที่ถูกส่งไปที่คลินิกของเขาอยู่ในวัย 20,30 และ 40 ปี

อาจเป็นเพราะอาการของลองโควิด แม้ว่าจะพบได้น้อยกว่าในคนที่อายุยังน้อย แต่ก็ส่งผลกระทบกับพวกเขามากกว่า ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนก่อน จึงได้รับการป้องกันอย่างเต็มที่