ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกเปลี่ยน คนปรับ เตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในโลกหลังโควิด-19

โลกเปลี่ยน คนปรับ เตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในโลกหลังโควิด-19

24 เมษายน 2020


บทความนี้“โลกเปลี่ยน คนปรับ เตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในโลกหลังโควิด-19” เขียนโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม

โรคระบาดโควิด-19 อาจเป็นสิ่งนำโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย (Blessing in Disguise) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย ทั้งใน “เชิงโครงสร้าง” และ“เชิงพฤติกรรม” โควิด-19 ก่อให้เกิดโลกใหม่ที่ย้อนแย้งในตัวเอง กล่าวคือ ในขณะที่แต่ละคนต้องทิ้งระยะห่างทางกายภาพแต่กลับต้องอิงอาศัยกันมากขึ้น ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในเชิงกายภาพอาจจะลดลงแต่ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในโลกเสมือนกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย Many 2 Many ที่เพิ่มขึ้นในโลกเสมือนจะถูกเติมเต็มด้วย Mind 2 Mind ทั้งนี้เนื่องจากในโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างสนิท การกระทำของบุคคลหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้อื่นไม่มากก็น้อย จนอาจกล่าวได้ว่า “จากนี้ไป ผู้คนในโลก สุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน

จากนี้ไปเราต้องใช้พลังปัญญามนุษย์ให้มากขึ้น จะทำอย่างไรให้ผู้คน รู้จักเติมเมื่อขาด รู้จักหยุดเมื่อพอ และรู้จักปันเมื่อเกิน ทั้งหมดจึงอยู่ที่ “คุณภาพคน” ที่จะพัฒนาขึ้นมา เพื่อทำให้พวกเราสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขในโลกใหม่ใบนี้ ประเด็นท้าทายจึงอยู่ที่ว่า การสร้างคนให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ในโลกหลังโควิด-19 ควรเป็นอย่างไร

พวกเรามีความเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่า “ครูคือผู้สร้างคน คนสร้างชาติ” ประสบการณ์จากการเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทำให้พวกเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อดังกล่าวเป็น “ครูคือผู้สร้างคน คนสร้างโลก” คำถามคือ ความเป็นครูในโลกหลังโควิด-19 ต้องเป็นอย่างไร มิเพียงเท่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือ มนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิด-19 หน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือ “โมเดลการเรียนรู้ในโลกหลังโควิด” เพื่อตอบโจทย์ประเด็นท้าทายดังกล่าว

คนไทยในโลกก่อนโควิด-19

โรคโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนที่ต้องเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ มนุษย์เป็นผู้กระทำและก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ทั้งจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในปฏิสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน จึงมีความจำเป็นต้องใช้พลังปัญญามนุษย์ในการแก้ไขปัญหาและค้นหาทางออก และนำพามนุษยชาติให้ผ่านพ้นไม่เฉพาะแต่เพียงวิกฤตโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่รวมถึงวิกฤตเชิงซ้อนและวิกฤตซ้ำซากที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ดังนั้น การพัฒนามนุษย์ในโลกหลังโควิด จึงนับเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หลักคิดที่ถูกต้อง ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่จำเป็น เพื่อนำพามนุษยชาติไปสู่ความอยู่รอดต่อไปในอนาคต

สำหรับประเทศไทย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การเตรียมคนไทยเพื่อเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนโลกและมนุษยชาติในโลกหลังโควิด เราอาจต้องตั้งต้นจากความเข้าใจคนไทยในโลกก่อนโควิด และคิดค้นแนวทางในการปรับเปลี่ยนคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิดต่อไป

คนไทยในสมัยก่อนกรุงแตก

เมื่อประมาณ 250 ปีมาแล้ว มีชาวฝรั่งเศสชื่อ ฟรังซัว อังรี ตุรแปง ได้เขียนบันทึกขึ้นจากข้อมูลที่ได้จากบาทหลวงบรีโกต์ซึ่งเคยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหลายปี จนกระทั่งกรุงแตก บันทึกนี้ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นที่กรุงปารีสในปี พ.ศ. 2314 (ค.ศ. 1771) ตุรแปงได้พูดถึงนิสัยใจคอของชาวสยามไว้ว่า เป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในชาติ รักขนบธรรมเนียมอย่างเหนียวแน่น อ่อนโยนสุภาพ มีเมตตา ซ่อนความรู้สึก ไม่ชอบพูดมาก มัธยัสถ์ ไม่ชอบหรูหราฟุ่มเฟือย ไม่เห็นแก่ตัว มีความรู้จักพอ พร้อมกันนั้น ก็ได้กล่าวถึงจุดอ่อนของ “คนสยาม” ไว้ว่า

  • เป็นคนที่เฉื่อยชาเกียจคร้าน ย่อท้อ ไม่ชอบทำอะไรที่ลำบากยากเย็น ไม่ยินดียินร้าย ไม่ชอบเหน็ดเหนื่อยและยากลำบาก
  • มักจะเหลาะแหละ ไม่ยอมรับหลักการและผลที่เกิดจากหลักการ จิตใจไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน จึงไม่ค่อยแยกแยะว่าอะไรดี อะไรดีที่สุด แล้วประพฤติโดยไม่นึกจะคิดไตร่ตรองหาเหตุผล
  • มักเป็นนายที่แข็งกระด้าง ไม่ค่อยรู้วิธีบังคับบัญชาคน มีความเจ็บแค้นสูงเมื่ออับอาย บ้าคลั่งอย่างไม่รู้จักชั่งใจเมื่อโมโห บางครั้งโหดเหี้ยมทำร้ายกันถึงตาย
  • มักยอมอ่อนน้อมต่อผู้อยู่เหนือกว่า แต่จะดูหยิ่ง ดูหมิ่นคนที่อยู่ต่ำกว่าและคนที่แสดงยกย่องเขา บางคนช่างพูดอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมอ้างเหตุผลผิดมาตบตาคน เชื่อถือไสยศาสตร์ โชคลาง หมอดูเข้าทรงและคาถาอาคม
  • ชอบการพนันอย่างยิ่ง ผู้แพ้การพนันยอมขายได้แม้กระทั่งลูกเมียของตน
  • การศึกษาของชาวสยาม ขาดวิชารู้จักคิดหาเหตุผล คนสยามพยายามจะไม่คิด เพราะความคิดทำให้เหน็ดเหนื่อย
  • ไม่มีประเทศใดในโลกที่คนทุจริตจะมีวิธีพลิกแพลงมากเท่ากับในประเทศสยาม มีคนชำนาญการในการทำให้คดียุ่ง สามารถทำให้เรื่องร้ายที่สุดกลับไปในทางดีได้ และเขาจะเรียกร้องค่าตอบแทนอย่างสูงทีเดียว

ในอีก 250 ปีต่อมา วิรัช วิรัชนิภาวรรณ ได้ศึกษาถึงอุปนิสัยของ “คนไทย” ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา พบว่ามีอยู่ถึง 30 ประการ ประกอบไปด้วย (1) เชื่อเรื่องเวรกรรม (2) ถ่อมตัวและยอมรับชนชั้นในสังคม (3) ยึดถือระบบอุปถัมภ์ (4) ไม่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่า (5) ไม่รู้จักประมาณตน (6) รักอิสรเสรี (7) ไม่ชอบค้าขาย (8) เอาตัวรอดและชอบโยนความผิดให้ผู้อื่น (9) ขาดการวางแผน (10) ชอบการพนัน เหล้าและความสนุกสนาน (11) เกียจคร้าน (12) ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง (13) เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ (14) ลืมง่าย (15) ชอบความเป็นอภิสิทธิ์ (16) ชอบสร้างอิทธิพล (17) มีนิสัยฟุ่มเฟือย (18) ไม่รู้แพ้รู้ชนะ (19) ไม่ยกย่องสุภาพสตรี (20) มีจิตใจคับแคบ (21) ชอบประนีประนอม (22) ไม่ตรงต่อเวลา (23) ไม่รักษาสาธารณสมบัติ (24) ชอบพูดมากกว่าทำ (25) วัตถุนิยม (26) ชอบของฟรี (27) สอดรู้สอดเห็น (28) ขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง (29) พึ่งพาคนอื่น และ (30) ไม่ชอบรวมกลุ่มและขาดการร่วมมือประสานงาน

เมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว อุปนิสัยของ “คนสยาม” ตามบันทึกของฟรังซัว อังรี ตุรแปง แทบจะไม่แตกต่างจากอุปนิสัยของ “คนไทย” ในยุคใหม่ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมากว่า 250 ปี ในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงระลอกแล้วระลอกเล่า แต่อุปนิสัยคนไทยไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับพลวัตที่เกิดขึ้น

7 หลักคิดที่ผิดของคนไทย

จากอุปนิสัยของ “คนสยาม” สู่อุปนิสัยของ “คนไทย” หล่อหลอมให้เกิดเป็น “ 7หลักคิดที่ผิด” ของคนไทย ซึ่งเป็นหลักคิดที่ไม่สอดรับกับพลวัตโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของโลกหลังโควิด 7หลักคิดที่ผิดดังกล่าว ประกอบไปด้วย

    1)เน้นผลประโยชน์พวกพ้อง มากกว่า ผลประโยชน์ส่วนรวม
    2)เรียกร้องสิทธิ มากกว่า หน้าที่
    3)เน้นความถูกใจ มากกว่า ความถูกต้อง
    4)เน้นชิงสุกก่อนห่าม มากกว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
    5)เน้นรูปแบบ มากกว่า เนื้อหาสาระ
    6)เน้นปริมาณ มากกว่า คุณภาพ
    7)เน้นสายสัมพันธ์ มากกว่า เนื้องาน

7 ข้อบกพร่องในระบบการศึกษาไทย

ในโลกหลังโควิด หากคนไทยไม่เปลี่ยนแปลงและปรับตัว ก็อาจไม่สามารถนำพาประเทศไทยให้ก้าวข้ามวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ แนวทางการพัฒนาคนที่สำคัญที่สุด เริ่มจากการปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งสำหรับประเทศไทย ยังมีอุปสรรคจากความบกพร่องในระบบการศึกษาที่ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างจริงจัง โดยข้อบกพร่องในระบบการศึกษาไทย สรุปได้ 7 ประการ ดังต่อไปนี้

    1)ยึดตัวผู้สอน มากกว่า ยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
    2)เน้นการสอน มากกว่า การเปิดโอกาสให้เรียนรู้
    3)ปรุงสำเร็จ มากกว่า เป็นเชื้อให้ไปคิดต่อ
    4)เน้นลอกเลียน มากกว่า ความคิดสร้างสรรค์
    5)เน้นท่องจำทฤษฎี มากกว่า ลงมือปฏิบัติ
    6)เน้นการพึ่งพาคนอื่น มากกว่า การพึ่งพาตนเอง
    7)เน้นการสร้างความเป็นตน มากกว่า การสร้างความเป็นคน

ข้อบกพร่องในระบบการศึกษาไทยทั้ง 7 ประการดังกล่าว หล่อหลอมคนไทยให้มีหลักคิดที่ผิด 7 ประการดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว จึงเป็นโจทย์และประเด็นท้าทายของผู้บริหาร ครูและบุคลากรด้านการศึกษาของไทยในการแก้ไขข้อบกพร่อง 7 ประการนั้น และยกเครื่องระบบการศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อเตรียมคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิดต่อไป

7 ประเด็นท้าทาย “ความเป็นครู” ในโลกหลังโควิด-19

การเตรียมคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิด นับเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ไม่เคยแปรเปลี่ยน ในพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น มีประเด็นสำคัญที่ท้าทาย “ภารกิจของครู” อยู่ 7 ประการ ได้แก่

    1)เมื่อโลกเปลี่ยน คนต้องปรับ
    2)ผลักดันแพลตฟอร์มการเรียนรู้ชุดใหม่
    3)เปิดโอกาสให้เด็ก “ลองถูกลองผิด” “เปิดรับความผิดพลาด” และ “ยอมรับความล้มเหลว”
    4)กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ชุดใหม่
    5)สร้าง “คุณค่าของความเป็นมนุษย์”
    6)ขับเคลื่อนโมเดลการเรียนรู้ในโลกหลังโควิด
    7)มนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องมีชีวิตที่สมดุล

เมื่อโลกเปลี่ยน คนต้องปรับ

มนุษยชาติจะอยู่ในโลกหลังวิกฤติโควิด-19 อย่างเป็นปกติสุขได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ “คุณภาพคน” หัวใจสำคัญ คือ “ครู” ผู้ทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมที่จะสร้างคนที่มีคุณภาพ โดยครูสอนให้เด็กเข้าถึง 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ “ความดี” “ความงาม” และ “ความจริง” อันจะนำไปสู่การสร้างคนให้มี “ความรู้” คู่ “คุณธรรม” ซึ่งเรื่องเหล่านี้ฝังอยู่ใน “จิตวิญญาณของความเป็นครู” อย่างแนบแน่นตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจิตวิญญาณครูจะไม่แปรเปลี่ยน แต่บริบทโดยรอบตัวครูและเด็กนั้นมีการผันแปรไปอย่างมาก โลกที่มีพลวัตสูงอย่างเช่นในปัจจุบันได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนอย่างน้อยใน 3 มิติ คือ การใช้ชีวิต (Living) การเรียนรู้ (Learning) และการทำงาน (Working) โดยเปลี่ยนจาก “การดำเนินชีวิตแบบสามขั้น” (3 Stages of Life) ที่เริ่มต้นด้วยการเรียนในวัยเด็ก สู่การทำงานในช่วงกลางและการใช้ชีวิตในบั้นปลาย ไปสู่ “การดำเนินชีวิตแบบหลายขั้น” (Multi-Stages of Life) คือ มีการเรียนรู้ ทำงาน และใช้ชีวิต ในลักษณะเป็นวงจรซ้ำไปซ้ำมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งครูจะต้องเข้าใจและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้สอดรับกับพลวัตโลกหลังโควิด-19

ผลักดันแพลตฟอร์มการเรียนรู้ชุดใหม่

ปัจจุบันการเรียนรู้ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยการศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น (Learning is not equal to Schooling) แม้ว่าโรงเรียนถูกมองเป็นสิ่งที่ “ยังจำเป็น” ต้องมีอยู่ แต่ “ไม่เพียงพอ” ที่จะตอบโจทย์การเรียนรู้ในปัจจุบัน การเรียนรู้จากนี้ไปสามารถเกิดขึ้นจากใคร ที่ไหน และเมื่อไรก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องยึดติดกับห้องเรียน โรงเรียน หรือระบบการศึกษาอีกต่อไป Online Education จะมีบทบาทมากขึ้นในโลกหลังโควิด-19 ดังนั้น ภายใต้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ครูจะปรับบทบาทหน้าที่ของตนอย่างไร

เปิดโอกาสให้เด็ก “ลองถูกลองผิด” “เปิดรับความผิดพลาด” และ “ยอมรับความล้มเหลว”

ในโลกหลังโควิด-19 การกำหนดเป้าหมายสู่อนาคต อาจจะต้องเริ่มจากการลงมือปฏิบัติ (Action) เพื่อให้เห็นโอกาส ข้อจำกัด ศักยภาพ และขีดความสามารถก่อน จึงไปกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) นิยามอนาคตที่สอดรับกันทีหลัง

วิกฤติโควิด-19 อาจเป็นสิ่งนำโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย (Blessing in Disguise) กระบวนการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมคนไทยสู่โลกหลังโควิด-19 จำเป็นต้องมีทั้งการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ (Learn) การไม่ยึดติดกับความรู้ที่เคยเรียนมา (Unlearn) และการเรียนรู้เรื่องเดิมด้วยมุมมองใหม่ หรือในบริบทใหม่ (Relearn) การลองถูกลองผิด เปิดรับความผิดพลาด และยอมรับความล้มเหลวจะก่อให้เกิดปัญญาชีวิต และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในปริมณฑลที่กว้างขึ้น ลุ่มลึกมากขึ้น และร่วมรังสรรค์มากขึ้น

การเรียนรู้ดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักคิดสำคัญ 2 ประการ

  • ประการแรก การเปลี่ยนการมอง “ความล้มเหลวเป็นความยากลำบากของชีวิต”เป็นการมองว่า “ความล้มเหลวเป็นความท้าทายของชีวิต” (From Failure as Adversity to Failure as Adventure) ซึ่งจะทำให้เด็กไม่กลัวความล้มเหลว กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาฮึดสู้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า จนประสบผลสัมฤทธิ์
  • ประการที่สอง การเปลี่ยน “ความกลัวต่อการทำผิดพลาด” สู่ “ความกลัวต่อการพลาดโอกาส” (From Fear of Mistake to Fear of Missing out) โดยเด็กจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น (Lesson Learned) พร้อมจะค้นหาแนวทางตัวอย่างจากผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ (Best Practices) พัฒนาแนวทางเหล่านั้นให้ดีขึ้น (Better Practices) และสุดท้ายจะนำไปสู่การสร้างแนวทางในการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ด้วยตนเอง (Next Practices)

การเรียนรู้ในโลกหลังโควิด-19 จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่าน “ประสบการณ์จริง” โดยเป็นวงจรที่เริ่มจาก “การสำรวจค้นคว้า” (Exploring) “การทดลองทดสอบ” (Experimenting) เพื่อ “สร้างเสริมประสบการณ์” (Experiencing) และนำมาสู่ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” (Exchanging) กับผู้อื่น

กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ชุดใหม่

มนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นจะต้องมีเป้าหมายการเรียนรู้ 4 ประการที่ยึดโยงกันเป็นองค์รวม ประกอบไปด้วย

1)การเรียนรู้อย่างมี “ความมุ่งมั่นและเป้าหมาย” (Purposeful Learning) เป็นเป้าหมายที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ความสนใจหรือความมุ่งมั่นของเด็ก (Passion-Driven Learning) ครูจะมีส่วนช่วยให้เด็กนิยามอนาคต กำหนดเป้าหมายในชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ที่ก้าวข้ามการง่วนอยู่กับการทำเพื่อตนเอง ไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิด Better Self , Better Family, Better Society และ Better World ได้อย่างไร ในการตอบโจทย์ความมุ่งมั่นดังกล่าว การเรียนรู้จะต้องมีลักษณะเฉพาะตามความสนใจของผู้เรียน (Personalized Learning) เป็นสำคัญ

2)การเรียนรู้อย่าง “สร้างสรรค์” (Generative Learning) โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการใช้ความคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ การประยุกต์ใช้ (Idea-based Learning) มีความยืดหยุ่นทางความคิดและอารมณ์ เปิดมุมมองใหม่ๆ ค้นหาช่องทางการหลุดพ้นข้อจำกัดแบบเดิมๆ เพื่อให้เกิดการรังสรรค์นวัตกรรม จึงเป็นการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น (Active Learning) และเป็นการเรียนรู้ผ่านการให้คำปรึกษาชี้แนะ (Mentoring) มากกว่าแค่การถ่ายทอดความรู้ในแบบเดิมๆ (Transmitting Knowledge)

3)การเรียนรู้แบบมี “ส่วนร่วมและแบ่งปัน” (Collective Learning) เป็นการปลูกฝังให้เด็กร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ (Common Creating) มากกว่าการฉายเดี่ยว การเก่งอยู่คนเดียว รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นการได้รับรางวัลจากการทำงานร่วมกัน (Sharing Incentive) มากกว่าการแข่งขันแย่งชิงรางวัล (Individual Incentive) ฝึกให้เด็กๆสามารถอยู่ในสภาวะ “สุขก็สุขด้วยกัน ทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วยกัน”

4)การเรียนรู้โดย “เน้นผลสัมฤทธิ์” (Result-based Learning) คือ การเรียนรู้ที่สามารถวัดผลหรือเห็นผลที่เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) เน้นการให้ทำโครงงาน กิจกรรม และภารกิจ (Workshop/ Project/ Assignment) มากกว่าการบรรยายหน้าชั้นเรียน โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานที่เด็กร่วมกันทำ (Achievement Credit) มากกว่าการสอบให้ผ่าน

สร้าง “คุณค่าของความเป็นมนุษย์”

มนุษย์มีธรรมชาติอยู่ 2 ประการ

  • ประการแรกคือ ต้องการการมีอิสระ มีตัวตน หรือที่เรียกว่า ปัจเจกนิทัศน์ (Self-Expression Value) เพื่อปลดปล่อยสิ่งที่ตนเองมี สะท้อน “ความเป็นตน” (Me-in-We)
  • ประการที่สอง ต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน หรือที่เรียกว่า คุณค่าของจิตสาธารณะ (Communal Value) ซึ่งจะสะท้อน “ความเป็นคน” (We-in-Me)

โลกเปลี่ยน คนปรับ (VDO Version).ผมได้ทำคลิป VDO สรุปใจความสำคัญ เพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ว่าเราจะเผชิญกับอะไรบ้าง พร้อมกันนั้นในบริบทของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หลักคิดที่จะพาพวกเราคนไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงนั้นไปด้วยกันได้อย่างไร ติดตามได้ในคลิปนี้ประมาณ 4 นาทีเท่านั้นครับ ส่วนท่านใดได้ชมแล้ว ส่งความคิดเห็นหรือข้อแนะนำกันมาได้ครับ มาเริ่มต้นด้วยการช่วยกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้กันครับ.โดยหลังจากนี้ผมจะมีคลิปที่อธิบายในรายละเอียดแต่ละเรื่องทั้ง7 รอยปริ ปั่นป่วนโลก7 ตราบาป หลังโควิด-197 ขยับปรับเปลี่ยนโลกขอให้ทุกท่านรอติดตามในโพสต์ต่อไปครับ#โลกเปลี่ยนคนปรับ #ประเทศไทยต้องชนะ #futurechanger#MHESI #suvitmaesincee

Posted by ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee on Thursday, April 23, 2020

ความเป็นครูในอนาคตจะสร้างความสมดุลของ 2 คุณค่านี้ ที่เสมือนเบรกและคันเร่งให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้อย่างไร

ควบคู่ไปกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ ครูในโลกหลังโควิด-19 ยังต้องสร้าง “คุณค่าร่วมในสังคม” (Social Value) ปัจจุบัน กระบวนทัศน์ของสังคมไทยติดกับดักของ “Me-Society” คือ คิดถึงแต่ “ตัวกู ของกู” ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง ไม่คิดถึงผู้อื่น หรือคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน แต่หากครูสามารถสร้างสมดุลของความเป็นคนและความเป็นตนได้ จะทำให้เกิด “We-Society” ที่คนในสังคมมองคนรอบข้าง มองการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การสร้างคน (Growth for People) มากกว่าการสร้างคนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (People for Growth) รวมถึงแบ่งปันองค์ความรู้ สร้างความร่วมมือมากกว่าแข่งขัน และสร้างวัฒนธรรม “Free Culture” ที่สะท้อนผ่าน Free to Take และ Free to Share รวมถึงต้องสร้างหลักคิดเพื่อให้เด็กเปลี่ยนแนวคิดที่คับแคบในการคิดเพื่อตัวเองไปสู่การให้เด็กมีความเชื่อใจต่อกัน (Trusting) เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Caring) เกื้อกูลแบ่งปัน (Sharing) และร่วมมือร่วมใจสร้างประโยชน์แก่สังคมในภาพรวม (Collaborating)

ดังนั้น ภารกิจใหม่ของครูในโลกหลังโควิด-19 จึงเป็นการสร้าง Human Value พร้อมการสร้าง Social Value ด้วยการปลูกฝังการสร้าง We-Society โดยที่ครูจะต้องสร้างให้เด็กมีตัวตน ในขณะที่ใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ดังนั้น ครูจะต้องสร้างให้เด็กเกิด “Deep Learning” ผ่านการมีปัญญา (Head) มีทักษะ (Hand) มีสุขภาพที่ดี (Health) และมีจิตใจที่งดงาม (Heart) เพื่อให้เด็กมีสมดุลของการเป็นตนและการเป็นคน ส่งผลให้เกิดสังคมที่มีความหวัง (Hope) มีความสุข (Happiness) และมีความสมานฉันท์ (Harmony)

ขับเคลื่อนโมเดลการเรียนรู้ในโลกหลังโควิด

ครูจะต้องสร้างให้เด็กมี “รักที่จะเรียนรู้” (Love to Learn) แล้วจึง “รู้ที่จะเรียน” (Learn to Learn) ทั้งรู้ว่าทำไมต้องเรียน ต้องเรียนอะไร เรียนอย่างไร และเรียนกับใคร แล้วจึงจะนำไปสู่ “เรียนรู้ที่จะอยู่รอด” (Learn to Live) เพื่อตอบโจทย์ Me-in-We หรือความเป็นตน พร้อม ๆกับ “เรียนรู้ที่จะรัก” (Learn to Love) เพื่อตอบโจทย์ We-in-Me หรือความเป็นคน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเรียนในลักษณะ Fun-Find-Focus-Fulfill คือ เด็กเรียนรู้จากเรื่องสนุกๆ (Fun) เพื่อจะค้นหาสิ่งที่ตนเองรัก (Find) เมื่อพบแล้วจึงมุ่งเป้าชัดเจน (Focus) และเติมเต็มให้ชีวิตตนเองและคนอื่น (Fulfill)

มนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องมีชีวิตที่สมดุล

ความสมดุลเป็นหัวใจสำคัญไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ซึ่งสอดรับกับ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ครูจะต้องสอนเด็กให้เข้าใจทั้งภาพเล็กและภาพใหญ่ ในภาพใหญ่เด็กต้องเข้าใจ “ความสมดุลของระบบ” ทั้งระหว่างความสมดุลระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับเทคโนโลยี และ ในภาพเล็กลงมา เด็กต้องเข้าใจ“สมดุลของกลไก” ทั้งสมดุลระหว่างการเรียนรู้นอกและในโรงเรียน ระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับปัญญามนุษย์ ระหว่างอารยธรรมในโลกจริงและอารยธรรมในโลกเสมือน ที่สำคัญ ต้องสอนให้เด็กรู้จักเติมเมื่อขาด รู้จักหยุดเมื่อพอ และรู้จักปันเมื่อเกิน ครูจึงต้องรู้เท่าทันในประเด็นเหล่านี้ และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำมาปรับให้เกิดสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งในระบบและกลไก

เมื่อเกิดสมดุล “การพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงจะบังเกิดขึ้น

เมื่อ “เข้าใจ” ในประเด็นเหล่านี้ ครูจึงจะ “เข้าถึง” บริบทของพลวัตโลกและการพัฒนาการของเด็ก ด้วยความเข้าใจและเข้าถึง ผนวกกับจิตวิญญาณของความเป็นครู ความคาดหวังที่ว่า “ครูสร้างคน คนสร้างโลก” จึงจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในโลกหลังโควิด-19

โมเดลการเรียนรู้ในโลกหลังโควิด-19

มีผู้รู้บางท่านบอกว่า การสร้างคนในโลกศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนจาก “การศึกษา” ให้เป็น “การเรียนรู้” โดยเน้นการรังสรรค์ร่วมในกระบวนการเรียนรู้ จัดหลักสูตรการเรียนรู้ที่สอดรับกับความต้องการของนักเรียนเป็นหลัก ควบคู่กับหลักสูตรมาตรฐาน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ ถึงกระนั้นก็ตาม “การเรียนรู้” อย่างเดียวก็ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้เป็นเพียงวิถี เป็นตัวกลาง หรือเป็นเพียงเครื่องมือ การสร้างคนให้สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในโลกยุคหลังโควิดที่ทุกคนเรียกหาความเป็นอิสระแต่ต้องอิงอาศัยกันนั้น การเรียนรู้หรือ “Learning” อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ จะต้องมี “Living” และ “Loving” ด้วย

Living ตอบโจทย์ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่ผู้เรียนเรียกหาความเป็นอิสระมากขึ้น ในขณะที่ Loving ตอบโจทย์การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในท่ามกลางโลกที่ต้องอิงอาศัยกันมากขึ้น การเตรียมพร้อมเด็กให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” จึงอยู่ที่การออกแบบโมเดลการศึกษาที่สามารถผสมผสานและถักทอ Learning, Living และ Loving เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เริ่มด้วยจาก “รักที่จะเรียนรู้” ต่อด้วย “รู้ที่จะเรียน” จากนั้นจึงเป็นเรื่องของ “เรียนรู้ที่จะรอด” ควบคู่กับ “เรียนรู้ที่จะรัก”

รักที่จะเรียนรู้ (Love to Learn)

คนเกาหลีมีความเชื่อมานานแล้วว่า “ความรู้คืออำนาจ” ลัทธิขงจื๊อโดยตัวมันเองไม่ใช่ระบบความคิดที่ทำให้ทันสมัย ลัทธินี้ปลูกฝังว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมดีขึ้น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของคนเกาหลีสมัยใหม่ และภายหลังเมื่อปรากฏชัดว่าหนังสือขงจื๊อไม่เพียงพอในการพัฒนาชาติ ประชาชนเกาหลีใต้หันไปค้นคว้าหนังสือตำรับตำราของญี่ปุ่นและตะวันตกอย่างจริงจัง

ทำอย่างไรให้เด็กรักที่จะเรียนรู้ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ สิ่งจูงใจ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ การให้คุณค่า การสร้างแบบอย่าง ตลอดจนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น Plearn ( Play + Learn) หรือ Edutainment (Education + Entertainment) เป็นตัวอย่างแนวคิดที่พยายามผลักดันให้เกิด “รักที่จะเรียนรู้”

อย่างไรก็ดี “รักที่จะเรียนรู้” เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การสร้างบรรยากาศให้เกิด “รักที่จะเรียนรู้” เสมือนดาบสองคม ปล่อยเสรีมากไปก็ไม่ได้ คุมเข้มมากไปก็ไม่ดี ปัญหาหนึ่งของการศึกษาไทย คือ จากการที่สื่อต่างๆ ตกอยู่ในมือของภาครัฐและเอกชนเพียงไม่กี่ราย ทำให้แหล่งเรียนรู้สำคัญนอกห้องเรียน นอกโรงเรียน และนอกระบบถูกครอบงำ แทรกแซงหรือถูกจำกัด การกระจุกตัวของสื่อส่งผลให้เนื้อหาของความรู้และแหล่งเรียนรู้ส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างจะแยกส่วนอยู่แล้วยิ่งขาดความหลากหลาย โดยมุ่งเน้นผลิตซ้ำกระบวนการเรียนรู้

ในเชิงนโยบาย การผลักดันให้เกิด “รักที่จะเรียนรู้” จะต้องสามารถตอบสองประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1)ในเชิงโครงสร้าง จะต้องสามารถหาจุดสมดุลระหว่าง โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ (Accessibility) กับ ระดับของการคัดกรองข้อมูลข่าวสารเพื่อการเรียนรู้ (Selectivity)
2)ในเชิงพฤติกรรม จะต้องสามารถหาจุดสมดุลระหว่าง ระดับการเปิดกว้าง (Openness) ให้เด็กเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ กับ ระดับการเฝ้าติดตาม (Monitoring)

วงจรการเรียนรู้ในโลกหลังโควิด การเรียนรู้ในโลกหลังโควิด ต้องสร้าง “วงจรการเรียนรู้” (Learning Circle) ให้เกิดขึ้นกับตัวเด็ก ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ

  • “การสำรวจสืบค้น” (Exploring) การฝึกนิสัยให้เด็กรัก “การสำรวจสืบค้น” จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กท่องไปในโลกกว้างทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน รู้จักใช้จินตนาการ รังสรรค์ความคิดใหม่ๆ โดยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ “นอกห้องเรียน” “นอกโรงเรียน” และ “นอกระบบ” คู่ขนานไปกับ กระบวนการเรียนรู้ “ในห้องเรียน” “ในโรงเรียน” และ “ในระบบ” ที่มีอยู่เดิม
  • “การทดลองปฎิบัติ” (Experimenting) ให้เด็กเกิดความคิด และค้นหาทางเลือกใหม่ๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองถูกลองผิด สามารถกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะลองทำ และกล้าที่จะผิดพลาด (Dare to Dream, Dare to Do, Dare to Fail)
  • “การสร้างเสริมประสบการณ์” (Experiencing) ฝึกให้มีการตัดสินใจด้วยตนเอง คิดเป็นโครงการเพื่อฝึกการสานฝันผลักดันความคิดให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการฝึกฝนปฏิบัติ และนำบทเรียนและประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่นๆ เด็กจะได้รู้จักสรุปบทเรียน (Lesson Learned) ต้นแบบการดำเนินงาน (Best Practices) และหากเป็นไปได้พัฒนาคิดค้นแนวทางการดำเนินงานใหม่ (New Practices) ขึ้นมาเองจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์
  • “การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน” (Exchanging) เป็น “การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน” ความคิด ประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสารกับผู้อื่น ด้วยการปลูกฝัง “Free Culture” ที่เน้น Free to Take และ Free to Share รวมถึงการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นผ่านกิจกรรมต่างๆในรูปแบบต่างๆ อาทิ “Peer Production” และ “Creative Collaboration” การแลกเปลี่ยนแบ่งปันระหว่างกันดังกล่าว เป็นปฐมบทในการสร้างสังคมเกื้อกูลและแบ่งปันขึ้น

รู้ที่จะเรียน (Learn to Learn)

ในขณะที่ “รักที่จะเรียนรู้” ตอบโจทย์ความชอบที่จะเรียนรู้ (Propensity to Learn) “รู้ที่จะเรียน” จะเป็นเรื่องของรูปแบบวิธีการเรียนรู้ (Learning Approach)

ภายใต้กระแส Democratization of Information, Idea และ Innovation เด็กเผชิญกับสิ่งต่างๆ มากมายทั้งเรื่องที่มีสาระและไม่มีสาระ มีคุณและเป็นโทษ เหมาะสมและไม่เหมาะสม “รู้ที่จะเรียน” จะเริ่มต้นจาก Learn Why to Learn และ Learn What to Learn ซึ่งจะบ่มเพาะให้เด็กมี Critical Thinking, Strategic Thinking และ Logical Thinking มีวิจารณญาณในการคัดกรองเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ตามมาด้วยเรื่องของ Learn How to Learn, Learn When to Learn และ Learn Who to Learn from เพื่อฝึกให้เด็กมี Realistic Thinking , Pragmatic Thinking และ Shared Thinking ในบางประเด็นที่เน้นหลักคิดหรือหลักการ น้ำหนักของการเรียนรู้ก็จะอยู่ที่ Why/What to Learn ในบางประเด็นที่เน้นการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ น้ำหนักการเรียนรู้จะอยู่ที่ When/How/Who to Learn from เป็นสำคัญ แต่มีบางประเด็นซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างกรณีเรื่องความเชื่อทางศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง หรือเรื่องเพศศึกษา นอกจาก Learn Why/What to Learn เป็นเรื่องสำคัญแล้ว เรื่อง Learn When/How/Who to Learn from ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เรียนรู้ที่จะรอด (Learn to Live)

“รู้ที่จะเรียน” ทำให้เราได้ Learning Approach “เรียนรู้ที่จะรอด” จะเป็นการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้าง Human Capacity ที่จะทำให้ผู้เรียนรู้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

ในเชิงปรัชญา “เรียนรู้ที่จะรอด” เป็นเรื่องของการพัฒนา Human Capacityในแต่ละช่วงของชีวิต หากแบ่งชีวิตของคนเรานั้นออกเป็น 4 ช่วง

  • ช่วงแรกของชีวิต “ใฝ่ศึกษาเรียนรู้” (Study)
  • ช่วงที่สองของชีวิต “ประสบความสำเร็จในการทำงาน” (Success)
  • ช่วงที่สามของชีวิต “เป็นบุคคลสำคัญในสังคม” (Significance) และ
  • ช่วงสุดท้ายของชีวิต “ทำประโยชน์คืนกลับสู่สังคม” (Sacrifice)

ประเด็นคือ จะทำให้เด็กได้เรียนรู้จังหวะจะโคนในแต่ละช่วงของชีวิตได้อย่างไร ทั้งในลักษณะของศิลปะในการใช้ชีวิตและความรู้ในการใช้ชีวิต (Art & Science of Living) จะได้ใช้ชีวิตที่เติมเต็มและอยู่อย่างมีความหมาย

ในโลกหลังโควิด “การเรียนรู้ที่จะรอด” เป็นเรื่องของการพัฒนา Human Capacity เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ภายใต้บริบทและสภาวะแวดล้อมที่มีเงื่อนไขที่แตกต่าง อาทิ

  • การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกันในโลกเชิงซ้อน (Multiple Realities)
  • การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันหรือทำงานภายใต้ภาวะความไม่รู้ (Not-Knowing Zone)
  • การเรียนรู้ในการเผชิญภัยคุกคามร่วม (Global Commons)
  • การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันภายใต้ภาวะที่มีความขัดแย้งรุนแรง (Hyper-Conflict)

เรียนรู้ที่จะรัก (Learn to Love)

“เรียนรู้ที่จะรอด” ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกหลังโควิดได้อย่างเป็นอิสระ แต่การเน้น “เรียนรู้ที่จะรอด” เพียงอย่างเดียวอาจเป็นอันตรายได้ เพราะจะมีแต่การเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งชิงดีกัน จำเป็นที่จะต้องเติมเต็ม “เรียนรู้ที่จะรอด” ด้วย “เรียนรู้ที่จะรัก” เพราะ “เรียนรู้ที่จะรัก” ทำให้เราใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในท่ามกลางโลกหลังโควิดที่ต้องมีการอิงอาศัยกันมากขึ้น

“เรียนรู้ที่จะรอด” และ “เรียนรู้ที่จะรัก” ต้องเดินคู่กันไป จึงจะทำให้ “ประโยชน์สุข” และ “ปกติสุข” เกิดขึ้นพร้อมกัน กลไกการทำงานของ “เรียนรู้ที่จะรอด” และ “เรียนรู้ที่จะรัก” เปรียบเสมือนเบรกและคันเร่งในรถยนต์

เราจะสอนให้เด็กมีศิลปะการใช้เบรกและคันเร่งอย่างไร จึงจะไปตลอดรอดฝั่ง ใช้เบรกอย่างเดียวก็ไปไหนไม่ได้ ใช้คันเร่งอย่างเดียวก็อันตรายอาจกู่ไม่กลับ รู้ว่าเมื่อไรจะใช้เบรก เมื่อไรจะใช้คันเร่ง เป็นความพอดี เป็นความงามเป็นความลงตัว

“เรียนรู้ที่จะรัก” จึงเป็นเรื่องของ Human Affinity เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะ “อยู่ร่วมกับคนทั้งโลก” (Human Togetherness) ในบริบทของปัจเจกบุคคล “เรียนรู้ที่จะรัก” นำพาสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของโลก ในบริบทขององค์กร “เรียนรู้ที่จะรัก” นำพาสู่การเป็นองค์กรที่ดีของโลก

จิตสำนึกต่อโลกครอบคลุมถึงเรื่องระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย โดยการคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว คิดเพื่ออนาคตลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไป มากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง พร้อมๆ กับการเปลี่ยนกรอบความคิดจาก “ความพยายามเอาชนะธรรมชาติ” มาสู่ “การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสมดุล” และจาก “ความพยายามแข่งขันเอาชนะคนอื่น” มาสู่ “การอยู่ร่วมกันกับประชาคมโลกอย่างเป็นปกติสุข”

ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นอยู่ในสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของโลกทุกวันนี้ มีสาเหตุมาจากการขาดจิตสำนึกในคุณธรรมจริยธรรม ปราศจากความมั่นคงที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และไม่ยอมศิโรราบต่อสิ่งที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่มีผลประโยชน์ส่วนรวมทับซ้อนอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว

การขาดจิตสำนึกดังกล่าว ก่อให้เกิดความสับสนทั้งในด้านความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้คนในสังคม จะเป็น “พลเมืองที่เฉื่อยชา” (Passive Citizen) ที่ขาดความคิด อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ในทางกลับกัน การมีจิตสำนึกดังกล่าว จะทำให้ผู้คนในสังคมเป็น “พลเมืองที่ตื่นตัว” (Engaged Citizen) ที่มีความคิด อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม เปิดใจกว้าง มีความกระตือรือร้น และมีความคิดอ่านที่อยากจะทำสิ่งดีๆ ให้กับประเทศชาติ รวมถึงการเป็น Good Global Citizen ที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับประชาคมโลก

ในโลกหลังโควิด ต้องปลูกฝังภาวะ “การนำ” ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองให้เกิดขึ้นกับเยาวชนและคนไทยภายใต้บริบท “การเรียนรู้ที่จะรอด” และ “การเรียนรู้ที่จะรัก” การเรียนรู้เรื่องภาวะความเป็นผู้นำไม่ได้หมายถึงแค่การเรียนรู้ยุทธวิธีในการแข่งขันแบบ “เห็นแก่ตัว” เพื่อช่วงชิงอำนาจและไต่เต้าสู่การเป็นผู้นำ หากหมายถึงการเรียนรู้ที่จะพัฒนาบุคลิกนิสัย ความคิดอ่าน คุณค่า และพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการมีวินัยกับตนเอง เคารพตนเอง มีความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำไม่ควรทำ รู้จักประเมินตัวเองว่ามีจุดเด่นจุดด้อยอะไร สามารถทำเรื่องอะไร ได้มากน้อยแค่ไหน กล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ ทำผิดแล้วรู้จักยอมรับผิด แพ้แล้วยอมรับการแพ้ด้วยน้ำใจนักกีฬา รู้จักการสรุปบทเรียนเพื่อแก้ไขปรับปรุงตนเองใหม่ได้ ที่สำคัญ ผู้นำที่ดีต้องรู้จักการเป็นผู้ตามที่ดีด้วย