ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์เตรียมปรับระบบภาษีนิติบุคคลรับ Global Minimum Tax

ASEAN Roundup สิงคโปร์เตรียมปรับระบบภาษีนิติบุคคลรับ Global Minimum Tax

5 กันยายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 สิงหาคม-4 กันยายน 2564

  • สิงคโปร์เตรียมปรับระบบภาษีนิติบุคคล
  • ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แห่งแรกในเอเชียรับจดทะเบียน SPAC
  • ปอร์เช่จะเปิดโรงงานที่มาเลเซียประเทศแรกนอกยุโรป
  • เวียดนามทำแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน
  • เวียดนามจะยกเลิก Feed-in tariffs สำหรับโซลาร์รูฟท็อบ
  • สิงคโปร์เตรียมปรับระบบภาษีนิติบุคคล

    ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/IndraneeRajah

    สิงคโปร์จะปรับระบบภาษีนิติบุคคล ต่อยอดจากข้อได้เปรียบ เพื่อตอบสนองความท้าทายด้านการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ global minimum tax จากการเปิดเผยของนางสาวอินทรานี ราชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและการพัฒนาแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ (3 ก.ย.)

    นางสาวอินทรานีกล่าวว่า สิงคโปร์ในฐานะที่เป็นประเทศเล็ก จะต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อดึงดูดและรักษานักลงทุน เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินการที่จะบังคับใช้ global minimum tax

    นอกเหนือจากการปรับระบบภาษีนิติบุคคลแล้ว สิงคโปร์จะยังคงเป็นพันธมิตรกับทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทในประเทศเพื่อขยายธุรกิจและสร้างการเชื่อมโยงใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงตลาดโลก นางอินทรานี กล่าว

    นางอินทรานีกล่าวในการเสวนา Tax Academy Signature Conference ที่จัดขึ้นในหัวข้อ “ภาษีและการลงทุนในโลกหลังการระบาด
    ใหญ่” นางสาวอินทรานีกล่าวว่า นานาประเทศเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นจากการหารือเพื่อแก้ไขเกณฑ์ภาษีระหว่างประเทศและการปรับขึ้นอัตราภาษีที่จ่ายโดยวิสาหกิจข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า Base Erosion and Profit Shifting( BEPS 2.0) และมีแนวโน้มอย่างมากที่จะบรรลุฉันทามติทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้

    (BEPS คือ การหลบเลี่ยงภาษีโดยกัดกร่อนฐานภาษีในประเทศ ที่มีภาระภาษีสูงเพื่อเคลื่อนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีภาระภาษีต่ำกว่าหรือไม่มีภาระภาษี ซึ่งอาจอาศัยช่องว่างของกฎหมาย)

    นางสาวอินทรานีกล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มประเทศ G-20 ได้รับรองถ้อยแถลงเกี่ยวกับสองแนวทางหลักเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจก้าวสู่ดิจิทัล โดยแนวทางนี้ได้รวมถึงการนำภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำมาบังคับใช้ทั่วโลกในอัตราอย่างน้อย 15%

    นางสาวอินทรานีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในสำนักนายกรัฐมนตรีอีกด้วยกล่าวว่า สิงคโปร์มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการหารือเกี่ยวกับ BEPS และยังได้ปรับปรุงระบบภาษีนิติบุคคลอย่างรวดเร็วและเชิงรุกเพื่อให้สอดคล้องกับภาษีระหว่างประเทศที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง

    “เมื่อบรรลุฉันทามติอย่างเต็มที่ สิงคโปร์จะปรับระบบภาษีนิติบุคคลของเราตามความจำเป็น โดยหารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรม”

    นางสาวอินทรานีกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนระบบภาษีของสิงคโปร์ จะดำเนินการบนหลักการสามประการ ได้แก่ สิงคโปร์จะปฏิบัติตามมาตรฐานที่ตกลงกันในระดับสากล รวมทั้งจะปกป้องสิทธิการเก็บภาษีของตนเอง และจะพยายามลดภาระภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามข้อกำหนด

    เมื่อขอบเขตการแข่งขันด้านภาษีแคบลง สภาพแวดล้อมหลัง BEPS 2.0 จะเป็นการแข่งขันระหว่างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมากขึ้น นางสาวอินทรานีกล่าว และว่า ในท้ายที่สุด การตอบสนองที่ดีที่สุดคือการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศต่อไป

    แม้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสิงคโปร์ลดลงในปีที่แล้ว แต่ก็สามารถดึงการลงทุนสินทรัพย์ถาวรได้ 17.2 พันล้านดอลลาร์ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 12 ปี ความต้องการที่อั้นไว้เพื่อรอลงทุนหลังโควิด-19 เป็นตัวอย่างของการคว้าโอกาสที่เหมาะสม

    “ความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของสิงคโปร์ไม่ได้และไม่เคย อิงจากปัจจัยด้านภาษีเพียงอย่างเดียว”

    “เราได้สร้างและจะยังคงสร้างข้อได้เปรียบที่มิใช่ภาษีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ์และการเชื่อมโยง โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัลที่เป็นเลิศ หลักนิติธรรม ระบอบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่ง พนักงานที่มีทักษะ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้างและเป็นมิตรของเรา”

    หลังการใช้ BEPS 2.0 สิงคโปร์ในฐานะเศรษฐกิจขนาดเล็กจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมเพื่อดึงดูดและรักษาการลงทุน

    “แต่เราไม่ใช่หน้าใหม่ในการทำงานหนักและเผชิญกับความท้าทาย” นางสาวอินทรานีกล่าว

    งบประมาณปีนี้ได้รวมมาตรการช่วยเหลือมูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสามปีข้างหน้าเพื่อให้ธุรกิจและพนักงานปรับตัวเข้ากับโลกหลังโควิด-19

    แผนการพลิกโฉมอุตสาหกรรม 23 กลุ่มสิงคโปร์กำลังปรับปรงใหม่ เพื่อกระตุ้นการปรับโครงสร้างและการเปลี่ยนโฉม และพัฒนาแนวคิดการเติบโตใหม่ แผนนี้เปิดตัวในปี 2559 เป็นโรดแมปเพื่อขับเคลื่อนการพลิกโฉม 23 อุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมการผลิต สร้างสภาพแวดล้อม การค้าและการเชื่อมโยง บริการที่จำเป็นภายในประเทศ บริการที่ทันสมัย และไลฟ์สไตล์

    ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แห่งแรกในเอเชียรับจดทะเบียน SPAC

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/business/companies-markets/sgx-and-nasdaq-extend-partnership-to-help-firms-access-capital
    ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) จะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ใหญ่แห่งแรกในเอเชียรับจดทะเบียน Special Purpose Acquisition Companies (SPAC) โดยกฎใหม่มีผลตั้งแต่วันศุกร์ (3 ก.ย.)

    กฎเกณฑ์การจดทะเบียน SPAC มีการสรุปหลังจากการรับฟังความเห็นสาธารณะที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคมถึง 28 เมษายน ซึ่งมีการยอมรับกรอบของตลาดหลักทรัพย์ฯในวงกว้าง

    SPAC คือ บริษัทที่ก่อตั้งโดยนักลงทุนกลุ่มหนึ่งหรือที่เรียกว่า sponsors แต่ยังไม่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อบริษัทเสนอขายหุ้น (IPO) เข้าตลาด แต่บริษัทจะระดมเงินทุนจำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้ในการเข้าซื้อธุรกิจหรือบริษัทนอกตลาดอื่นๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
    กระบวนการนี้เร็วกว่าการเสนอขายหุ้นแบบเดิมมากและสามารถสร้างมูลค่าที่แข็งแกร่งได้

    เมื่อระดมทุนได้แล้ว sponsor ของ SPAC จะมีกรอบเวลาที่แน่นอนในการยุบบริษัท ซึ่งหมายถึงการระบุบริษัทเป้าหมายและดำเนินการควบรวมกิจการให้เสร็จสมบูรณ์ หากไม่ได้ซื้อ หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาจากผู้ถือหุ้น SPAC จะถูกยุบและจะคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป

    ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เปิดเผย กรอบคุณสมบัติของ SPAC ที่จะเข้าจดทะเบียน โดยต้องมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำ 150 ล้านดอลลาร์

    การยุบ SPAC จะต้องเกิดขึ้นภายใน 24 เดือนหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO โดยสามารถขยายระยะเวลาได้สูงสุด 12 เดือน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข

    บริษัทในสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงของ SPAC อยู่แล้ว ได้แก่ Grab Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านบริการเรียกรถและบริการส่งอาหาร และ PropertyGuru บริษัทอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์

    สำหรับการรับฟังความเห็นจากสาธารณะนั้น มีผู้ตอบแบบสอบถาม 80 ราย ทั้งสถาบันการเงิน อินเวสเม้นท์แบงก์ ไพรเวทเอควิตี้ และกองทุนร่วมทุน ซึ่งนับว่าเป็นการให้ความเห็นมากที่สุดในการจัดรับฟังความเห็นของตลาดหลักทรัพย์ที่ได้จัดมา ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดสนับสนุนการนำกรอบการจดทะเบียน SPAC มาใช้ โดยระบุว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท นักลงทุน และตลาดทุนในสิงคโปร์ รวมทั้งจะทำให้บริษัทมีทางเลือกในการระดมทุน เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ระดมทุนจากประชาชนทั่วไปและมีสภาพคล่องได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการเสนอขายหุ้นแบบเดิม

    ในทางกลับกัน นักลงทุนจะได้รับโอกาสในการลงทุนในบริษัทเอกชนที่อาจหาได้เฉพาะในพื้นที่ของไพรเวทอิควิตี้เท่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถามกล่าว นอกจากนี้ยังระบุว่า เกณฑ์ของ SPAC จะเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การลงทุนที่นำเสนอในสิงคโปร์ และเพิ่มความน่าสนใจของตลาดทุนในประเทศ ทำให้มั่นใจได้ว่าสิงคโปร์จะตามทันแนวโน้มโลกและคงการแข่งขันไว้ได้

    ปอร์เช่จะเปิดโรงงานที่มาเลเซียประเทศแรกนอกยุโรป

    ที่มาภาพ: https://www.porsche.com/pap/_thailand_/#!/id:61323a43d589024a54c16971/in-addition-to-17-st/

    ผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติเยอรมัน ปอร์เช่ จะเปิดโรงงานแห่งแรกนอกยุโรปในปีหน้าในมาเลเซีย ตอบสนองความต้องการที่แข็งแกร่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการเปิดเผยของทางการเมื่อวันศุกร์(3 ก.ย.)

    โรงงานผลิตจะตั้งในทางตอนเหนือของรัฐเคดาห์ โดยจะเป็นสายการประกอบรถขั้นสุดท้ายเฉพาะรุ่นที่นำเสนอตลาดในประเทศ บริษัทและเจ้าหน้าที่ทางการของมาเลเซียระบุ

    นายอัซมิน อาลี รัฐมนตรีการค้าของมาเลเซียกล่าวว่า การตั้งโรงงานในมาเลเซียเป็น “การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของปอร์เช่ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสถานะระยะยาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

    อัลเบร็ท ไรโมลด์ หนึ่งในคณะกรรมการของโฟลค์สวาเกนที่เป็นเจ้าของ กล่าวว่า โรงงานแห่งใหม่นี้ จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับพันธมิตรในมาเลเซีย เป็น “โครงการแบบสแตนด์อโลนและมีขนาดและกำลังการผลิตที่พอเหมาะ” และกล่าวเสริมว่า “มันส่งสัญญาณถึงความตั้งใจของเราที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาวะตลาดในประเทศที่ความเฉพาะ”

    ปัจจุบันชาวมาเลเซียที่ต้องการซื้อรถปอร์เช่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงสำหรับรถยนต์นำเข้า ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายอื่นได้ดำเนินการโรงงานประกอบในประเทศมาเป็นเวลานานเพื่อรองรับตลาดในประเทศ

    มาเลเซียมีชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้การระบาดของไวรัสโควิดที่รุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก

    เวียดนามทำแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน

    ที่มาภาพ:https://en.nhandan.vn/business/item/10414002-five-year-restructuring-plan-aims-to-improve-national-economic-competitiveness.html
    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเปิดเผยว่า กำลังประสานงานกับกระทรวง หน่วยงาน และระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำ แผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสำหรับปี 2564-2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งรูปแบบการเติบโตที่มีผลิตภาพและคุณภาพที่สูงขึ้น และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

    เป้าหมายของแผนนี้รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของทรัพยากร การพึ่งพาตนเองและความสามารถในการปรับตัวของเศรษฐกิจ มุ่งไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อการเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

    นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศ สร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมและยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของภาคส่วนต่างๆ ขณะที่ดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัลในวงกว้างและการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล และสังคมดิจิทัล

    เป้าหมายเฉพาะที่กำหนดไว้แผนปี 2564-2568 นั้นรวมถึงผลผลิตแรงงานที่เพิ่มขึ้น 6.5%ในแต่ละปี การเกินดุลงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีโดยเฉลี่ย 3.7% หนี้สาธารณะและรัฐบาลแต่ละ ต่ำกว่าเพดานที่วางไว้ 60% โดยจะรักษาหนี้สาธารณะไว้ที่ระดับปลอดภัยที่ประมาณ 55% ของ GDP และเพดานหนี้ภาครัฐที่ต่ำกว่า 50% ของ GDP

    สัดส่วนการลงทุนทางสังคมคาดว่าจะสูงถึง 32-34% ของ GDP ขณะที่สถาบันการจัดการการลงทุนภาครัฐได้รับการยกระดับให้เป็นมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันหนี้เสียต้องไม่เกิน 3% ในปี 2568 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดคาดว่าจะสูงถึง 120% ของ GDP ขณะที่ยอดคงค้างของตลาดตราสารหนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 55%ของ GDP

    เวียดนามตั้งเป้าที่จะเร่งอันดับในดัชนีคุณภาพการบริหารที่ดินใน Global Competitiveness Index ที่ประเมิน โดย World Economic Forum ขึ้น 10-15 อันดับ ในปี 2568 เทียบกับปี 2562

    เวียดนามหวังว่าจะมีธุรกิจประมาณ 1.5 ล้านรายในปี 2568 ซึ่งรวมถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ 60,000-70,000 แห่ง

    ในปี 2568 คาดว่าผลิตภัณฑ์ระดับประเทศอย่างน้อย 10-25 รายการจะมีเครื่องหมายการค้าในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับตำแหน่งของประเทศในห่วงโซ่คุณค่าของโลก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจดิจิทัลคาดว่าจะมีสัดส่วน 20% ของ GDP

    ในปี 2568 คาดว่ารัฐวิสาหกิจจะได้รับการปรับโครงสร้างใหม่ โดยพื้นฐานแล้วจะจัดการบริษัทที่ไร้ประสิทธิภาพและปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ

    ในร่างแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนี้ กระทรวงฯยังได้จัดตั้ง 5 กลุ่มงานเพื่อหาแนวทางให้บรรลุเป้าหมาย

    เวียดนามจะยกเลิก Feed-in tariffs สำหรับโซลาร์รูฟท็อบ

    ที่มาภาพ: https://english.thesaigontimes.vn/feed-in-tariffs-in-solar-energy-to-be-scrapped-says-officials/

    เจ้าหน้าที่เปิดเผยในการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันจันทร์(31 ส.ค.)ว่า เตรียมที่จะยกเลิก มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ feed-in tariff ที่ได้ใช้เป็นเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายเพื่อกระตุ้นการลงทุน

    การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือ โซลาร์รูฟท็อบ (Solar rooftopในนิคมอุตสาหกรรมจัดขึ้นโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามและศูนย์นวัตกรรมและการพัฒนาสีเขียว (Green Innovation and Development Center:GreenID)

    ราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานโซลาร์รูฟท็อบ อยู่ที่ 8.38 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ตามที่รัฐฐาลกำหนดในปี 2020 และสิ้นสุดการบังคับใช้ในปลายปี

    ฝ่าม เจือง กุ้ย เจา รองหัวหน้าแผนกพลังงานหมุนเวียนของเขตแปรรูปเพื่อการส่งออกและสมาคมธุรกิจการนิคมอุตสาหกรรม โฮ จิมินห์ กล่าวว่า จนถึงปีนี้ นักลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์กำลังรอนโยบายการกำหนดราคาใหม่ ซึ่งรวมถึงโซลาร์รูฟท็อบ และสถานการณ์ที่รอได้ทำให้นักลงทุนเหล่านี้ได้เปรียบ

    อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและผู้ซื้อไฟฟ้าระดับประเทศ Vietnam Electricity Group (EVN) ยังไม่ได้ให้แนวทางในการติดตามขั้นตอนสำหรับกระบวนการเชื่อมต่อโครงข่าย สัญญาซื้อขายไฟฟ้า และการชำระเงินค่าพลังงานโซลาร์รูฟท็อบ

    ฝ่าม เหงียน ฮุง ผู้บริหารของ EVNกล่าวว่า กระทรวงกำลังพิจารณาเกี่ยวกับกลไกพลังงานหมุนเวียน รวมถึงโซลาร์รูฟท็อบ นโยบายใหม่นี้จะยกเลิก นโยบาย feed-in pricing ที่ได้ใช้มาเป็นเวลาสองทศวรรษแล้ว

    ฮุงเปิดเผยว่า อัตราการใช้พลังงานในสถานที่ของโครงการเหล่านี้คาดว่าจะคิดเป็น 70% ถึง 90% ของทั้งหมดขณะที่ส่วนที่เหลือจะขายให้กับ EVN

    การดำเนินการครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดแรงกดดันต่อการลงทุนด้านโครงข่าย รวมทั้งการส่งและจ่ายกำลังไฟฟ้า ราคารับซื้อไฟฟ้าได้ถูกนำมาพิจารณาในลักษณะที่จะช่วยให้นักลงทุนคืนทุน ขณะที่ EVN ได้รับประโยชน์ โดยกระทรวงจะควบคุมกรอบราคาเป็นประจำทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด

    โครงการโซลาร์รูฟท็อบ จะไม่จำกัดขนาดแผงอุปกรณ์โซลาร์ เซลล์ไว้ที่กำลังการผลิต 1 เมกกะวัตต์พีค (Megawatts-peak: MWp)อีกต่อไป แต่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 7 MWp หรือ 8 MWp และจะเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายที่ต่ำกว่า 35 กิโลโวลต์ เพื่อที่ EVN จะไม่ต้องลงทุนในโครงข่ายใหม่สำหรับโซลาร์รูฟท็อบ

    นโยบายใหม่นี้จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อบ “พลังงานโซลาร์รูฟท็อบ เป็นแหล่งพลังงานแบบกระจายโดยใช้หลังคาของอาคารที่มีอยู่และที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (ไฟฟ้าประเภทนี้) สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในสถานที่และใช้ประโยชน์จากโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอยู่ได้” ฮุงกล่าว

    เหงียน ถิ กั่นห์ ผู้อำนวยการ Green ID กล่าวว่าอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีที่จะขยายระบบ feed-in และนโยบายใหม่ควรได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมตลาดพลังงานเนื่องจากนักลงทุนกำลังเผชิญกับอุปสรรคทางกฎหมายมากมาย

    หากรัฐบาลต้องการพัฒนาพลังงานประเภทนี้ นโยบายควรมีความสม่ำเสมอและยาวนานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและดึงดูดทรัพยากรของพวกเขา

    ข้อมูลจาก EVN ระบุว่า เปิดเผยเมื่อปลายปี 2020 เวียดนามมีระบบไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อบ มากกว่า 100,000 ระบบ ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายประเทศที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 9,200 MWp

    ปัจจุบัน ผลผลิตของโซลาร์รูฟท็อบ ทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 พันล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งช่วยจ่ายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายพลังงานของประเทศ