ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงใน APEC ดีขึ้น แต่ยังเจออคติทางเพศ

โอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงใน APEC ดีขึ้น แต่ยังเจออคติทางเพศ

10 กันยายน 2021


ที่มาภาพ: https://www.apec.org/Press/Blogs/2019/20191004_PSU

สมาชิกกลุ่มประเทศเอเปก (APEC) ยังคงก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในเศรษฐกิจระดับภูมิภาค แต่ก้าวต่อไปยังมีอุปสรรคจากขาดนโยบายสนับสนุนรวมทั้ง อคติทางเพศ ทางสังคมวัฒนธรรมที่ยังคงมีอยู่ จากรายงาน APEC Women and the Economy Dashboard 2021 ที่ได้ประเมินล่าสุด

รายงานที่จัดทำโดย APEC Policy Support Unit จะอัปเดตทุกๆ 2 ปีจากการติดตามการพัฒนาใน 5 ด้านหลัก คือ การเข้าถึงเงินทุนและสินทรัพย์ การเข้าถึงตลาด ทักษะ การเสริมสร้างศักยภาพและสุขภาพ ความเป็นผู้นำ การแสดงความเห็นและการเป็นตัวแทน และนวัตกรรมและเทคโนโลยี

การประเมินครั้งหลังสุดใหม่ในปีนี้ รายงานได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ด้านดิจิทัลใหม่ ซึ่งสะท้อนถึงความเกี่ยวข้องของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน ที่เร่งตัวจากการระบาดของโควิด-19

“ผลกระทบที่ไม่เท่ากันจากการระบาดใหญ่ต่อผู้หญิง ตอกย้ำให้เห็นช่องว่างในความพยายามของเราที่จะพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิง หากเราไม่ดำเนินการ ความคืบหน้าที่ผู้หญิงทำมาจนประสบความสำเร็จทั้งหมดอาจจะถดถอย” ดร.รีเบคก้า สตา มาเรีย กรรมการบริหารของสำนักเลขาธิการ APEC กล่าว “รายงานเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบ ติดตาม และแจ้งประเทศสมาชิกเพื่อให้มีนโยบายที่แก้ไข และทำเร็วที่สุดแทนที่จะรอ”

รายงานยังเผยให้เห็นความก้าวหน้าที่โดดเด่นในแง่ของการเข้าถึงงานของสตรี และยอมรับถึงความพยายามของสมาชิกในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในนโยบายและแนวปฏิบัติ ทุกประเทศในกลุ่ม APEC อนุญาตให้ผู้หญิงทำงานในเวลากลางคืนเท่ากับผู้ชาย ขณะที่ 18 ประเทศมีนโยบายการจ้างงานที่ไม่เลือกปฏิบัติตามเพศ

ที่มาภาพ: https://www.apec.org/Press/Infographics/2021_0910_dashboard

“เราเห็นอัตราการว่างงานสำหรับผู้หญิงในเอเปกลดลงต่อเนื่องจาก 4.4% ในปี 2551 เป็น 3.7% ในปี 2563” คาร์ลอส คุริยามะ ผู้เขียนรายงานร่วมระบุ

“อย่างไรก็ตาม มีเพียง 10 ประเทศในกลุ่ม APEC ในปี 2563 เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากันสำหรับงานที่มีมูลค่าเท่ากัน ซึ่งคืบหน้าช้าเมื่อเทียบกับ 8 ประเทศที่มีข้อกำหนดเหล่านี้อยู่แล้วในปี 2551” คุริยามะกล่าว “ในบางประเทศ ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในอุตสาหกรรมเดียวกับผู้ชาย”

นโยบายที่อ่อนแอและอคติทางเพศยังคงเป็นอุปสรรคของความก้าวหน้าในหลายประเด็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ขณะที่การเข้าถึงทรัพย์สินและมรดกของผู้หญิงยังคงสูง แต่ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ สาเหตุหลักมาจากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหนี้ตามเพศและสถานภาพการสมรส

“นโยบายที่ไม่สอดคล้องกันเหล่านี้บั่นทอนความพยายามในการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงเงินทุนและทรัพย์สินสำหรับผู้หญิงในวงกว้าง” เรีย คริสโซโลโก เฮอร์นานโด ผู้เขียนร่วมของรายงานกล่าว

สำหรับผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เร่งตัวขึ้นต่อผู้หญิง รายงานเตือนว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงจะตกงานมากขึ้น

“ข้อมูลจาก APEC บางประเทศแห่งชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเจอการใช้ระบบงานอัตโนมัติมากกว่าผู้ชาย ถึงกระนั้น สัดส่วนของผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าผู้ชาย”

การรักษาผู้หญิงไว้ในที่ทำงานจำเป็นต้องมีนโยบายเชิงรุกด้านการฝึกอบรมและการเพิ่มทักษะ ตลอดจนมาตรการสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการดูแลเด็ก ซึ่งช่วยให้ผู้หญิงมีความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต

รายงานยังชี้ว่า ผู้หญิงไม่มีบทบาทผู้นำด้านการเป็นตัวแทนสาธารณะ โดยในสภามีที่นั่งของผู้หญิงเพียง 23.9% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

ที่มาภาพ: https://www.apec.org/Press/Infographics/2021_0910_dashboard

“การเป็นตัวแทนของผู้หญิงในหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองสูงสุดที่อยู่ในระดับต่ำ อาจมีผลต่อความพยายามในการรับรองความเท่าเทียมกันทางเพศ ในด้านความริเริ่มเชิงนโยบายที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการไม่แบ่งแยกทางสังคมของผู้หญิง” เฮอร์นานโดกล่าว

คุริยามะสรุป….

“มีหลายวิธีที่ประเทศสามารถสร้างจิตสำนึกเพื่อจัดการกับอคติทางเพศและก้าวไปสู่สังคมที่เท่าเทียมได้ แต่ประเด็นหลักยังคงเดิมคือ การจัดการกับนโยบายและทัศนคติเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัตินั้นต้องอาศัยการตระหนักรู้และการดำเนินการร่วมกัน และถึงเวลาเริ่มแล้ว”

APEC Women and the Economy Forum จะนำขับเคลื่อนประเด็นความก้าวหน้าของผู้หญิง โดยจัดการกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีมายาวนานและอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีความหมายของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเวทีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 24 กันยายน