ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน ADB ชี้เอเชียและแปซิฟิกแข็งแกร่ง อุปสงค์ในประเทศหนุนเศรษฐกิจโตสวนการค้าโลกตึงเครียด

รายงาน ADB ชี้เอเชียและแปซิฟิกแข็งแกร่ง อุปสงค์ในประเทศหนุนเศรษฐกิจโตสวนการค้าโลกตึงเครียด

18 กรกฎาคม 2019


ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ได้เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO) ฉบับเพิ่มเติมในวันนี้ โดยระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียยังคงแข็งแกร่งแม้ว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงในช่วงปี 2019-2020 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงสนับสนุนที่ดีสวนทางกับสภาพความตึงเครียดทางการค้า

รายงานได้คาดการณ์การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่ 5.7% ในปี 2019 และ5.6% ในปี 2020 ซึ่งเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อัตราการเติบโตเหล่านี้ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5.9% ในปี 2018 หากไม่รวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชีย (ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และไทเป) แนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคได้ถูกปรับลดลงจาก6.2% เป็น 6.1% ในปี 2019 และสามารถคงอัตราเดิมไว้ในปี 2020

ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ถึงแม้จะมีการหยุดพักในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอันนำไปสู่การเจรจาการค้าระหว่างทั้งสองประเทศอีกครั้ง

“แม้ว่าความขัดแย้งทางการค้าจะยังคงดำเนินต่อไป ภูมิภาคเอเชียยังคงแข็งแกร่งและสามารถรักษาระดับการเติบโตในระดับปานกลางได้” กล่าวโดยนายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี “อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายได้ ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะยังคงส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป”

ADO ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเอเชียตะวันออกลงอยู่ที่ 5.6% ในปี 2019 เนื่องจากเศรษฐกิจของเกาหลีเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังคงแนวโน้มการเติบโตของอนุภูมิภาคไว้ที่ 5.5% ในปี 2020 ซึ่งเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน สำหรับจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอนุภูมิภาค คาดว่าจะเติบโตได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ที่6.3% ในปี 2019 และ 6.1% ในปี 2020 เนื่องจากการสนับสนุนนโยบายเพื่อชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศที่เบาบางลง

เศรษฐกิจเอเชียใต้เติบโตได้ดี โดยคาดว่าจะเติบโตที่ 6.6% ในปี 2019 และ 6.7% ในปี 2020 แม้ว่าจะต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน ส่วนแนวโน้มการเติบโตของอินเดียถูกปรับลดลงอยู่ที่ 7.0% ในปี 2019 และ 7.2% ในปี 2020 เนื่องจากภาวะการคลังตกต่ำของอินเดียในปี 2018

ADO ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงเล็กน้อยมาที่ 4.8% ในปี 2019 และ 4.9% ในปี 2020 เนื่องจากการค้าที่หยุดชะงักและการชะลอตัวของวงจรการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น ได้ชะลอตัวลงจาก 3.6% ในไตรมาสสุดท้ายของ 2018 มาอยู่ที่2.8% ของไตรมาสแรกในปี 2019 การค้าโลกที่อ่อนแอทำให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 หดตัวที่ 4.5% ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐยังคงสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเติบโตด้านรายได้อย่างยั่งยืน การว่างงานในระดับต่ำ และราคาสินค้าอยู่ในระดับคงที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาคเอกชนต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงที่ 3.5% ในปี 2019 ซึ่งเป็นผลจากการเติบต่ำกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสแรก โดยเฉพาะการส่งออกที่ลดลงอย่างหนัก โดยค่าเงินบาทที่แข็งตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยมากยิ่งขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2020 คาดว่าจะเติบโตที่ 3.6%

การเติบโตในเอเชียกลาง มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 4.3% ในปี 2019 โดยสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของคาซักสถาน ส่วนในปี 2020 แนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียกลางยังคงเดิมจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 4.2% ส่วนเศรษฐกิจของแปซิฟิก คาดว่าจะเติบโตเท่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ในปี 2019 และ 3.2% ในปี 2020 เนื่องจากเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบไซโคลนจิต้าและแผ่นดินไหวในปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาค

ADO ได้ปรับการคาดกาณ์การเติบโตของประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักเล็กน้อย โดยปรับขึ้นการเติบโตของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2.6% ในปี 2019 และปรับลดการเติบโตของสหภาพยุโรปอยู่ที่ 1.3% ส่วนญี่ปุ่น คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงเติบโตเท่าเดิมที่ 0.8% ในปี 2019 และ 0.6% ในปี 2020

เงินเฟ้อของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.5% เป็น 2.6% ทั้งในปี 2019 และ 2020 อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและปัจจัยภายในอีกหลายประการ เช่น การระบาดของโรคไข้หวัดแอฟริกันในหลายประเทศของเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะทำราคาเนื้อหมูของจีนปรับตัวสูงขึ้น