ThaiPublica > คนในข่าว > “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” ชี้รัฐบาลอย่าเอาแต่บริหารประชาชน ไม่บริหารราชการ ทำไม่ได้ก็ควรถอย

“ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” ชี้รัฐบาลอย่าเอาแต่บริหารประชาชน ไม่บริหารราชการ ทำไม่ได้ก็ควรถอย

5 สิงหาคม 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดการโรงพยาบาลสนามและศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์

ในการระบาดระลอกแรกของประเทศไทยที่เริ่มในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรก ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยมากจนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ว่าสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ Global COVID-19 Index (GCI) ก็จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 1 ประเทศที่ดีที่สุดด้านการฟื้นตัวจากโควิด-19 ในการระบาดระลอกสองแม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นนับเป็นพันคนและกระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็ยังสามารถบริหารจัดการจนลดการแพร่ระบาดลงได้

ทว่าในการระบาดระลอกสามที่ต่อเนื่องเป็นระลอกสี่ในขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากเพิ่มขึ้นทุกวันจนเกินหนึ่งหมื่นคนในวันที่ 17 กรกฎาคม และเพิ่มขึ้นจนเกินสองหมื่นรายไปแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่สำคัญยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จากวันละไม่กี่รายกลายเป็นเฉลี่ย 100 รายต่อวันในดือนกรกฎาคม ล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 188 รายไปแล้ว โดยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกวันจะลดลงในเวลาอันใกล้เลย

เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาคือเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ และนำมาซึ่งสิ่งที่น่าเศร้าสลดคือ การเสียชีวิตในบ้านและการเสียชีวิตข้างถนน เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเตียงพอที่จะรับรักษา การฉีดวัคซีนก็ทำได้ล่าช้ากว่าแผนการไปมาก ในขณะนี้ยังฉีดได้เพียง 17% ของประชากร ซึ่งห่างไกลจากเป้า 70% ที่รัฐบาลตั้งไว้มาก นำมาซึ่งคำถามเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า รวมถึงปัญหายาต้านไวรัส หรือยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิดกำลังจะขาดแคลน

ความไม่พอใจต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่สับสนและไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้มีผู้นำคนใหม่เข้ามาบริหารจัดการแทน

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดการโรงพยาบาลสนามและศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ความไม่พอใจของคนในประเทศในขณะนี้เพราะคนเห็นว่าที่มีการแพร่ระบาดจนควบคุมไม่อยู่และมีคนตายมากขนาดนี้ เกิดจากรัฐบาลจัดหาวัคซีนล่าช้าเกินไป

“นายกรัฐมนตรี 5 คนที่ผ่านมา นับตั้งแต่คุณทักษิณ ชินวัตร, คุณสมัคร สุนทรเวช, คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์, คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนมาถึงคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้วนแต่ถูกม็อบเรียกร้องให้ลาออก แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แตกต่างไปจากนายกฯ คนอื่นๆ ตรงที่นายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้จะถูกฝ่ายตรงข้ามที่เสื้อต่างสีขับไล่ คุณทักษิณ คุณสมัคร คุณสมชาย และคุณยิ่งลักษณ์ ถูกกลุ่มเสื้อเหลืองขับไล่ ส่วนคุณอภิสิทธิ์ถูกกลุ่มเสื้อแดงขับไล่ ในปี 2549 คุณทักษิณถูกประท้วงด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ปี 2551 คุณสมัครและคุณสมชายถูกประท้วงเรื่องการเมือง ปี 2553 คุณอภิสิทธิ์เป็นเรื่องการเมือง ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ในปี 2557 เรื่องจำนำข้าวแล้วก็การเมืองด้วย”

“แต่ความไม่พอใจในรัฐบาลขณะนี้ ไม่ได้มีแต่กลุ่มสีเสื้อหนึ่งสีเสื้อใด ว่าง่ายๆ คือไม่ได้มีแต่คนเสื้อแดงที่ประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ คนที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ คนที่เคยออกมาประท้วงสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจด้วย แฟนพันธุ์แท้ พล.อ. ประยุทธ์ ลดลงไปมากแล้ว ถ้าไม่มีสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. มาช่วยค้ำไว้ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ไม่ได้ไปนานแล้วครับ”

อาจารย์ปริญญาเห็นว่าปัญหาขณะนี้คือ ระบบการเมืองที่ไม่ปกติ ถ้าเป็นระบบที่ปกติ หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ระบบจะจัดการตัวเอง แต่ในขณะนี้แตกต่างจากสมัยของรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว. ชุดแรกที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เลือกไว้ เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. “ส.ว. แต่งตั้งเหล่านี้จำนวนมากเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. มาก่อน แล้วก็มาเลือก พล.อ. ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และทำให้พรรคพลังประชารัฐที่ได้ ส.ส. เพียง 116 คน สามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสียง ส.ส. เกินครึ่งในสภาผู้แทนได้ เพราะพรรคภูมิไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่ายังไง พล.อ. ประยุทธ์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ เพราะมี ส.ว. แล้ว 250 คน โดยพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ให้เหตุผลสร้างความชอบธรรมในการยกมือให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคือ ยังไง พล.อ. ประยุทธ์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้วจึงเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน และเพื่อจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ..”

ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จึงอยู่ได้เพราะ ส.ว. ซึ่งเป็นระบบที่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางเอาไว้ และยังมีองค์กรอิสระทั้งหลายคอยค้ำเอาไว้ ซึ่งรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะองค์กรอิสระในช่วงหลังรัฐประหารในปี 2557 มาจาก สนช. ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.พอมี ส.ว. ในปี 2562 ส.ว. ที่ พล.อ. ประยุทธ์ เลือกไว้ก็เป็นคนให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระต่อจาก สนช.

“ถ้าพูดกันอย่างไม่เกรงใจ องค์กรอิสระก็คือ พล.อ. ประยุทธ์ เลือกไว้นั่นแหละครับ”

ดังนั้น การที่จะคาดหวังว่าองค์กรอิสระจะคานอำนาจหรือตรวจสอบรัฐบาล จึงคาดหวังไม่ค่อยได้ คือทุกประเทศที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างนี้หมด รัฐบาลจะเป็นคนเลือกองค์กรตรวจสอบ แล้วองค์กรอิสระก็จะไม่ตรวจสอบรัฐบาล แต่จะตรวจสอบฝ่ายค้านแทน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องความไม่พอใจจากปัญหาการเมือง หรือปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของชีวิตและความเป็นความตายของประชาชน จากที่วัคซีนมาล่าช้า และปัญหาเตียงไม่พอ และการต้องรอเตียงโดยไม่ได้การรักษาทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการโควิดลงปอดจึงเสียชีวิตกันมาก

“พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น มีเพื่อให้บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนะครับ คือพอเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมาบริหารราชการตามระบบราชการอันชักช้าและไม่มีประสิทธิภาพไม่ได้ จะมาจัดซื้อจัดจ้างหรืออนุมัติกันในแบบสถานการณ์ปกติไม่ได้”

ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คนตายวันละ 100-200 คน รัฐบาลต้องบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่เอาแต่บริหารประชาชน ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เห็นเอาแต่ออกข้อกำหนดข้อห้ามต่างๆ มาห้ามประชาชน แทบไม่ได้ใช้อำนาจในการจัดการราชการเลย

อาจารย์ปริญญายกตัวอย่างของการไม่ “บริหารราชการ” ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างของโรงพยาบาลที่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนก็ทำไม่ได้ หรือกรณีองค์การเภสัชกรรม ที่ต้องการเร่งผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มจากเดือนละ 2 ล้านเม็ด เป็น 20-40 ล้านเม็ด เพื่อแจกให้คนไข้รักษาตัวที่บ้าน (home isolation) แต่การอนุมัติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยังดูชักช้า รวมถึงการอนุมัติวัคซีนต่างๆ ก่อนหน้านี้

“ผมเรียนว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้มีอำนาจแค่จาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีอำนาจจากพระราชบัญญัติอีกกว่า 30 ฉบับที่ พล.อ. ประยุทธ์ รวบอำนาจมากจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงสาธารณสุข ทำไมยังแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วจะโทษใครล่ะครับ โทษแต่ประชาชนว่าการ์ดตกไม่ได้นะครับ”

แต่ในสถานการณ์แบบนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังอยู่ได้ ซึ่งถ้าไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดคงเห็นการประท้วงมากกว่านี้ ตอนนี้เขาก็ต้องปรับรูปแบบกันไป เช่น คาร์ม็อบ คืออยู่ในรถใครรถมันไม่มีการติดเชื้อ

“นายกรัฐมนตรีจะทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาวไม่ได้ จะออกมาตรการแค่ล็อกดาวน์ ซึ่งรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเอาแต่บริหารประชาชน ไม่บริหารราชการ ตัวเลขคนเสียชีวิตจากโควิดจะมากกว่า 200 คนต่อวัน คำถามคือ ต้องให้มีคนเสียชีวิตมากถึงกี่คนถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครับ”

ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ ทำไม่ได้ก็ควรถอย และหลีกทางให้คนอื่นขึ้นมาแก้ปัญหาแทนได้แล้วนะครับ

“นายกรัฐมนตรีคงหวังว่าคิดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะดีขึ้น แล้วรัฐบาลจะอยู่ต่อได้ เดี๋ยวก็เข้าปีใหม่แล้ว สภาผู้แทนชุดนี้ยังมีอายุอีก 1 ปีครึ่ง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี ส.ว. สนับสนุน มีองค์กรอิสระด้วย เผลอๆ เขาคิดจะอยู่ให้ครบเทอมด้วยซ้ำ” อาจารย์ปริญญากล่าว

อาจารย์ปริญญาเห็นว่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ และถึงขนาดที่ต้องร่างกันใหม่ด้วยซ้ำ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ปัญหามากเหลือเกิน แต่ระยะสั้นเราต้องการรัฐบาลที่แก้ปัญหาได้ ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนวิธีการในการปัญหา ก็ต้องเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จะลาออกเองคงยาก เพราะเขามีรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ ส.ว. และองค์กรอิสระค้ำรัฐบาลไว้

“สถานการณ์ขณะนี้ต้องจับดูท่าทีของ ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเมื่อถึงจุดที่สถานการณ์แก้ไขไม่ได้ ใครจะชักเท้าออกก่อนกัน ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นรอยร้าวระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ ส.ว. บ้างแล้ว ขณะที่พรรคประชารัฐเองที่เกิดจากการรวมนักการเมืองจากหลายพรรค รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เหมือนเอาแพมาผูกมัดด้วยกันไว้ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นสภาพแพจะเริ่มแตกให้เห็น”

แล้วใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ. ประยุทธ์ ว่าที่นายกฯ ในบัญชีว่าที่นายกฯ มีตัวเลือกน้อยเหลือเกิน เราจะเอานายกคนนอกได้ไหม อาจารย์ปริญญาตอบว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดทางให้คนนอกบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ตามมาตรา 272 ต้องเลือกจากคนในบัญชีว่าที่นายกฯ ก่อนครับ ต่อเมื่อเลือกจากคนในบัญชีว่าที่นายกฯ ไม่ได้ถึงจะเอาคนนอกเข้ามาได้ แต่ก็ไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาเปิดประตูก่อน ปัจจุบันมี ส.ส. 488 คน ส.ว. 250 คน รวม 738 คน ถ้าใช้เสียง 2 ใน 3 เท่ากับ 492 คน สมมติ ส.ว. อยากเปิดให้คนนอกเข้ามา ส.ว. มีเสียงแล้ว 250 เสียง ยังต้องการเสียง ส.ส. อีก 242 คนครับ นั่นหมายถึงว่าก็ต้องอาศัยเสียง ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วย จึงจะเปิดให้ให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ คำถามคือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยจะยกมือให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกหรือไม่ สรุปคือนายกคนนอกก็ไม่ง่าย”

แล้วถ้าพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัว รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ล้มทันที หรือต้องลาออกเลยหรือไม่

อาจารย์ปริญญาตอบว่า “พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว รัฐบาลยังไม่ล้มทันทีนะครับ พล.อ. ประยุทธ์ ยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารประเทศต่อไปได้อีกซักพัก เพียงแต่เสนอกฎหมายใหม่ไม่ผ่าน เพราะไม่มีเสียงข้างมาก รัฐบาลจะล้มทันทีก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ โดยต้องมีเสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่งของจำนวน ส.ส. ครึ่งหนึ่งคือ 244 คน เกินครึ่งคือ 245 คน ฝ่ายค้านมีแค่ประมาณ 210 คนยังปลด พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ครับ ต้องมีพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทยมาลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ ด้วย พล.อ. ประยุทธ์ ถึงจะพ้นตำแหน่งครับ”

แต่ถึงจุดนั้น พล.อ. ประยุทธ์ คงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังอยู่กับ พล.อ. ประยุทธ์ ส่วนหนึ่งคงเพราะยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่

“แต่จะออกทางไหนก็แล้วแต่ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นทางออกตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ อย่าใช้หนทางหรืออำนาจนอกระบบหรืออำนาจนอกรัฐธรรมนูญกันอีก 15 ปีตั้งแต่การชุมนุมขับไล่คุณทักษิณในปี 2549 เราไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย ทุกอย่างวนกลับมาที่เดิม กลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ ชุมนุมประท้วง ขับไล่นายกรัฐมนตรี”

“ตอนนี้ คนที่เสียชีวิตจากโควิดวันละ 100-200 คนแล้ว และจะมากขึ้นไปอีก เราจะให้ พล.อ. ประยุทธ์ ทำงานต่อไปได้หรือ แต่ถ้าอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องกดดันไปที่พรรคร่วมรัฐบาลให้ถอนตัว หรือถึงขนาดลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ ไปเลย หรือกดดัน ส.ว. ที่เป็นกลไกสำคัญในการค้ำนายกรัฐมนตรี ถ้า ส.ว. หรือพรรคร่วมรัฐบาล ใครถอนตัว พล.อ. ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯ ต่อไม่ได้แล้วครับ” อาจารย์ปริญญาสรุป