นายกฯเคลียร์หมดทุกปัญหา-ยันไม่มีใครรอเตียงเกิน 48 ชม.แล้ว-เผยลงทะเบียน “หมอพร้อม” แล้ว 1 ล้านคน ตั้งเป้าฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส-มติ ครม.แจกเยียวยา “เราชนะ-ม.33” คนละ 2,000 บาท- “คนละครึ่ง” 3,000 บาท – “e-Voucher” อีก 7,000 บาท
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งการประชุมในวันนี้ใช้ระยะเวลานานเป็นพิเศษ และในการให้สัมภาษณ์และตอบคำถามสื่อวันนี้มีลักษณะเป็นแถลงการชี้แจงการปฏิบัติงานแก้ปัญหาต่างๆ และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด
เคลียร์หมดทุกปัญหา-ยันไม่มีใครรอเตียงเกิน 48 ชม.แล้ว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตามที่เราได้รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและเกิดกลุ่มก้อนต่างๆ ในหลายจังหวัด ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ดังต่อไปนี้
เรื่องการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย ผมได้สั่งการให้มีการจัดระบบการบูรณาการเรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนามทั้งหมด โดยให้มีการจัดแบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามระดับอาการ เป็น 3 กลุ่ม คือ ระดับสีเขียว คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย จัดให้เข้าโรงพยาบาลสนาม, ระดับสีเหลือง คือ ผู้ป่วยอาการปานกลาง จัดให้เข้าโรงพยาบาลทั่วไป, ระดับสีแดง คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรง จัดให้เข้าโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยให้ปรับรูปแบบการคัดกรองผู้ป่วย ให้ไปคัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทนโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อลดการแออัดที่โรงพยาบาล และรักษาเตียงว่างไว้ให้ผู้ป่วยที่จำเป็น และให้เพิ่มเติมผู้รับโทรศัพท์สายด่วน 1668 / 1669 / และ 1330 ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยด้วย
นอกจากนั้นผมได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชน เพื่อรอส่งไปรักษาตัวต่อไป พร้อมกันนั้น ได้สั่งการให้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กทม. กระทรวง อว. และกระทรวงกลาโหม เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนเตียงทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด
ผลการดำเนินการคือ เราสามารถติดต่อและจัดการให้ผู้ป่วยรอเตียงตกค้างทั้งหมด เข้าสู่ระบบการรักษาตามที่แบ่งไว้ 3 กลุ่ม โดยปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมง โดยการจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สามารถแยกตัวผู้ป่วยออกมาจากชุมชนได้ทันที และนับจากวันจัดตั้ง สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่รับเข้ามาไปแล้วถึง 96%
จากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ทั้ง hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้เรามีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง และรัฐบาลกำลังพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในกรุงเทพที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพ
ดังนั้นวันนี้เราพูดได้ว่า สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของสายด่วนเพื่อรับตัวผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยทุกคนเข้ารับการรักษาได้อย่างทันการ และการเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วย ซึ่งผมต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน และทุกคน ทุกองค์กรจิตอาสา ที่ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันจนสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้
ตั้งเป้าลุยตรวจ “คลัสเตอร์คลองเตย” วันละ 1,000 คน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในกรณีคลัสเตอร์คลองเตย ผมได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยได้ใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดล “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา” โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุก active case finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่ และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน
โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที นั่นคือการแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ แล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ ก็จะเป็นการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด และในเวลาเดียวกัน ก็จะระดมการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้พิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จมาแล้วจากกรณีสมุทรสาคร
“ซึ่งล่าสุด ผมได้รับรายงานว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คนต่อวัน”
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้สั่งการให้รีบแก้ไขปัญหา นั่นคือการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งในขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจะมีแผนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง
“โดยหลักการที่ผมเน้นย้ำเป็นหัวใจของการจัดการสถานการณ์ทุกอย่างคือ ต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด”
ส่วนในเรื่องของยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในการรักษา แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่เราได้มีการสำรองไว้แล้วอย่างเพียงพอ โดยยังมีเหลือในสต็อกหนึ่งล้านห้าแสนเม็ด กระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และจะได้รับเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดในเดือนนี้ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มียาเพียงพอ
โดยตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 7 หมื่นคน และรักษาหายกลับบ้านแล้วมากกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งเป็นความสามารถของทีมแพทย์ไทย ที่อยู่ในเกณฑ์ระดับโลก เป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนในการรักษาโควิด-19 โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย และในกรณีโรงพยาบาลเอกชน จะได้รับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทุกรายการ
เผยลงทะเบียน “หมอพร้อม” แล้ว 1 ล้านคน – ตั้งเป้าฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือการจัดหาและการฉีดวัคซีน ผมได้กำหนดให้เรื่องนี้เป็นเป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายคือ ภายในสิ้นปีนี้ ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดย 61 ล้านโดสนี้ เป็นวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา ที่จะผลิตในประเทศไทยและจะเริ่มส่งมอบได้แน่นอนในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเริ่มทำการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวได้ทันทีจำนวน 16 ล้านคน
นอกจากนั้นในเดือนนี้ เราจะได้รับวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มเติมจากแผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าและผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด และกระทรวงสาธารณสุข ยังเสนอแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5-20 ล้านโดส วัคซีนสปุตนิกวี วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนซิโนแวค บริษัทละ 5-10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต
“เรามีแผนการกระจายและฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อม ที่มีประชาชนมาลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งผ่านทางเครือข่ายโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และเครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ โดยใช้แผนบริการการฉีดวัคซีนตามหลักการสาธารณสุขและการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยง และพื้นที่เร่งด่วนและพื้นที่เศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามกับโควิดในครั้งนี้ให้ได้”
ตั้งศูนย์บูรณาการ-ที่ปรึกษาเฉพาะกิจ แก้ไขโควิด ฯ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เพื่อให้การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและมีโครงสร้างการบริหารงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นจะมีศูนย์เพื่อบูรณาการการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครอย่างเต็มที่ให้ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเร่งด่วน ผมจึงได้ตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ขึ้น
เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก้ปัญหาได้อย่างเร่งด่วน โดยผมจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ และมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในพื้นที่เป็นกรรมการ และนอกจากนั้น การดำเนินการของศูนย์นี้ ยังจะสามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย
นอกจากนั้น เพื่อการจัดการสถานการณ์โควิดในภาพรวมเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข” โดยมีรัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา และมีเลขาสภาความมั่นคงเป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุข มหาดไทย และกลาโหม เป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง การควบคุมพื้นที่ และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
โดยทั้งสองคณะ และ ศบค. ทุกชุด จะมี “คณะปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” คอยให้คำปรึกษา ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ เป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการสาธารณสุข และสามารถเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ ได้อย่างดีอีกด้วย
มติ ครม. มีดังนี้
แจกเยียวยา “เราชนะ-ม.33” คนละ 2,000 บาท
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในอีกมิติหนึ่งของการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด ที่ต้องทำควบคู่กันไป นั่นคือมิติด้านเศรษฐกิจ ที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงการเดินหน้าของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทำให้ผมมีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงได้ตั้งคณะกรรมการ ศบศ. เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีมาตรการออกมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ โครงการ ม. 33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน เช่นมาตรการสินเชื่อ พักทรัพย์ พักหนี้ และมาตการทางภาษี การลดภาษี และมาตรการอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ในการแพร่ระบาดของโควิดในระลอกนี้ ทำให้จำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจึงได้มีคำสั่งให้กับทางกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ได้ไปพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน โดยสรุปได้เป็นมาตรการดังต่อไปนี้
มาตรการระยะที่ 1 : มี 3 มาตรการหลัก ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่
- มาตรการด้านการเงิน มีสองมาตรการคือ
- มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินและ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน แห่งละ 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท จำนวน 1 ล้านคน
ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก โดยรัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ขอสิ้นเชื่อต้องผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป โดยต้องไม่เป็นผู้ที่มีรายได้จากภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
-
- มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs
ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม
- มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs
- มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด
- มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่
- การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน
- การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท จำนวนกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 9.27 ล้านคน
“ในส่วนของมาตรการระยะที่ 1 นั้น ในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน แล้วครับ”
สำหรับการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งผมได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าต่อไป
นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ อีก เช่นการช่วยเหลือลูกหนี้กยศ. โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปีนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนภายใต้โครงการเราชนะ จำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (สำหรับเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2564) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 33.2 ล้านคน และมีมูลค่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 203,295 ล้านบาท และมาตรการ ม.33 เรารักกัน รวมทั้งมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 64 เป็นต้น รวมทั้ง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ(สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ซึ่งได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นต้น
แจก”คนละครึ่งเฟส 3”หัวละ 3,000 บาท– “e-Voucher”อีก 7,000 บาท
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว ทางรัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ด้วย มาตรการระยะที่ 2 : ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่าถ้าเราร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่
- มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 6 ล้านคน
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 5 ล้านคน
- มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่
- โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 : ซึ่งโครงการนี้ทุกท่านคงมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายที่รัฐจะสมทบได้วันละไม่เกิน 150 บาท วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน
- โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” : โครงการนี้จะเป็นโครงการใหม่ ซึ่งโดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ในการใช้จ่ายซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการ สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ในช่วง กรกฎาคม – ธันวาคม2564 โดยคาดว่าประชาชนจะเข้าโครงการประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยมาตรการในระยะที่ 2 ทั้งสี่โครงการข้างต้นจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถมีโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้มากขึ้น
ซึ่งมาตรการในระยะที่ 2 นี้ ครม. ได้รับทราบในหลักการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจาก ครม. ต่อไป
“ทั้งหมดนี้ คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและศบค. ในการบริหารจัดการ แก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศบค. จะไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง ขอบคุณครับ”
ลดค่า “น้ำประปา-ไฟฟ้า” เริ่ม พ.ค.-มิ.ย.64
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการขนาดเล็ก ดังนี้
- ค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้
(1) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
(2) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ (1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 (2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 50 และ (3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
- ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2564
ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการ ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ต่อไป
ขยายเวลามาตรการภาษี หนุนจ้างผู้พ้นโทษอีก 1 ปี
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษ) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปอีก 1 ปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ร้อยละ 50 ของรายจ่าย ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานผู้พ้นโทษไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเข้าทำงาน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาท/คน/เดือน
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ช่วยให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีอาชีพ เสริมสร้างเศรษฐกิจในตลาดแรงงานที่ขาดแคลน ลดการพึ่งแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1,935 ล้านบาท
ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีให้ ปท.พัฒนาน้อยฯ 6 ปี
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติต่ออายุโครงการการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ อัฟกานิสถาน แองโกลา บังกลาเทศ และเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีของไทยในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) โดยยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty Free Quota Free Scheme : DFQF) ขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (จากเดิม โครงการระยะที่ 1 สิ้นสุดเมื่อ 31 ธันวาคม 2563) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ซึ่งการต่ออายุโครงการในครั้งนี้ มีจำนวนสินค้าที่ไทยให้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการรวมทั้งสิ้น 7,187 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 66.47 ของรายการสินค้าทั้งหมดในระบบ HS 2017 (ระบบพิกัดศุลกากรสากล) ส่วนประเทศที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษ จะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามประกาศกรมศุลกากร
“การต่ออายุโครงการดังกล่าว แม้จะเป็นการยกเว้นภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 32 – 36 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยทำให้มีแหล่งนำเข้าทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นต้น และมีราคาสินค้าที่ถูกกว่าหลายรายการ เมื่อเทียบกับราคานำเข้าเฉลี่ยจากทั้งโลกและจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ ”
อนุมัติงบกลาง 12,576 ล้าน ให้สธ. แก้โควิดฯรอบ 3
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ทันเวลา ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดการติดเชื้อใหม่ให้ไม่เกินศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม และกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาส
สธ.คาด รพ.สนาม “อิมแพคฯ” รับผู้ป่วยได้ 5,200 เตียง
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบการดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว จากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงซึ่งเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรง คือมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินแล้วว่าการตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองนี้จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลลง เพื่อให้ส่วนของโรงพยาบาลมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักได้มากขึ้น
โดยโรงพยาบาลสนาม ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง โดยใช้พื้นที่อาคาร 1 และ 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ภายในจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง ซึ่งหลังจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่นๆ ติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตต่อไป
ส่วนของพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ซึ่งใช้โรงพยาบาลสนามทั่วไปและHospitel อยู่นั้น เวลานี้มีพื้นที่เพียงพอ ยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพิ่ม
“กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการรักษาได้เริ่มมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้นด้วย เพื่อเป็นการหยุดยั้งการอักเสบของปอด และยืนยันว่าขณะนี้ปริมาณยามีเพียงพอ จากที่ได้มีการนำเข้ามามา 2 ล้านเม็ดในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว 1 ล้านเม็ด อยู่ในคลังกลาง 1 ล้านเม็ด อยู่ระหว่างการสั่งซื้ออีก 3 ล้านเม็ด จะเข้ามาในประเทศภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และองค์การเภสัชกรรมยังมีแผนการผลิตยาชนิดนี้เองในประเทศด้วย”
รับทราบฐานะการเงิน สปสช. พบหนี้เพิ่ม 1,469 ล้าน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการจำนวน 140,369.81 ล้านบาท จากงบประมาณ 140,533.42 คิดเป็นร้อยละ 99.88 ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการจำนวน 47.60 ล้านคน จากเป้าหมาย 47.68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.85 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนจำนวน 12,245 แห่ง
นอกจากนี้ยังมีรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยพบว่า มีสินทรัพย์ 18,958.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 3,609.29 หนี้สิน 14,380.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,468.98 ล้านบาท ซึ่งความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ ได้แก่ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด-19, ข้อจำกัดด้านงบประมาณในการบริหารจัดการกองทุน หากเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว
ทดลองใช้ “รถไฟฟ้าสายสีแดง” ก.ค.นี้
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อตลิ่งชันจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิด ก่อนที่จะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งค่าโดยสารของรถไฟชานเมืองสายสีแดงเริ่มต้นที่ 12 บาท และสูงสุดราคา 42 บาท ถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า
ทั้งนี้ในอนาคตโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง จะต่อขยายเส้นทางเพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางรางยกระดับจากกรุงเทพฯไปสู่ปริมณฑล ด้วยส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย
- โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา
- โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช
- โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก
โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ของไทยที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายระบบรางทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ 2,325 ไร่ จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด 9 แปลง โดยมี 5 แปลงที่มีความพร้อมและไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ
“ขณะที่สถานีหัวลำโพง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับลดจำนวนขบวนรถจาก 118 ขบวนเหลือ 22 ขบวนต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน โดยเมื่อดำเนินการช่วงต่อขยายเสร็จแล้ว จะทำให้ขบวนรถทั้งหมดวิ่งเข้าสู่สถานีบางซื่อได้ 100% ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางในเมืองได้เป็นอย่างดี”
แจงความคืบหน้าแก้ปัญหา “PM 2.5 -ไฟป่าภาคเหนือ” พบจุดความร้อนลดลง 52%
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือปี 2564 โดยสถานการณ์ในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18เมษายน 2564 พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 58,769 จุด ลดลงจากปี 2563 ที่พบจุดความร้อนสะสมจำนวน 122,687 จุดในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลงร้อยละ 52 โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 11,376 จุด, เชียงใหม่ 7,620 จุด, ตาก 7,253 จุด, ลำปาง 5,716 จุดและเพชรบูรณ์ 4,355 จุด เมื่อแยกตามการใช้ประโยชน์ที่ดินพบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 43,ป่าสงวนแห่งชาติร้อยละ 37, พื้นที่เกษตรร้อยละ15,พื้นที่ชุมชนร้อยละ 4 และพื้นที่ริมทางร้อยละ 1
สำหรับปริมาณฝุ่นPM2.5 พบว่าค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดเท่ากับ 402 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ที่ 366 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยมีวันที่ฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน 50ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรมีจำนวน 96 วัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 105 วัน หรือลดลงร้อยละ 9 ขณะที่สถานการณ์หมอกควันข้ามแดนพบจุดความร้อนสูงสุดในเมียนมา 577,562 จุด,กัมพูชา 307,319 จุด, ไทย 189,637 จุด,ลาว 180,073 จุดและเวียดนาม 61,702 จุด ซึ่งจากการที่พบจุดความร้อนจำนวนมากในเดือนมกราคม-เมษายน 2564 ทำให้จังหวัดภาคเหนือที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก
ทั้งนี้ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้เร่งดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ จัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งพื้นที่ภาคเหนือปี 2564ระดับจังหวัด จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการรับมือสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นประจำทุกวัน จัดฝึกอบรมเสริมบทบาทชุมชน เครือข่ายภาคประชาชนและจิตอาสาเพื่อร่วมเป็นชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเก็บขนเชื้อเพลิงจากป่าออกมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดการเกิดไฟป่า และได้พัฒนาแอปพลิเคชันบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบการใช้งาน และยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันส่วนหน้าในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกำกับการควบคุมและดับไฟป่า รวมทั้งได้ประสานงานประเทศเพื่อนบ้านและรายงานผลการดำเนินงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอให้เร่งรัดควบคุมการเผาในที่โล่งตามกลไกของข้อตกลงอาเซียน นอกจากนี้ยังได้ยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง โดยกำหนดให้เดือนเมษายนเป็นเดือนเฝ้าระวังพิเศษ โดยเฉพาะในจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูง
รับทราบยุทธศาสตร์-แผนแก้จน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เดือนมีนาคม 2564 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)นำเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญตามมติที่ประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 เห็นชอบกลไกการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับอำนวยการ ระดับอำนวยการปฏิบัติการ และระดับปฏิบัติการ และได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
สำหรับกลไกขจัดความยากจนจะใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) โดยมีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อให้ประชากรในประเทศสามารถ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน ประกอบด้วย 4 แนวทางและ 1 เงื่อนไขการพัฒนา ได้แก่ 1.เติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ 2.ร่วมแก้ไขปัญหาในระดับบุคลและครัวเรือน โดยหาเป้าหมายวิกฤตและเยี่ยมบ้าน 3.ร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนอย่างยั่งยืน 4.ร่วมติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลโดยใช้ระบบ TPMAPและ 5. พัฒนาระบบ TPMAP ให้สามารถรองรับการดำเนินงาน โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาสนับสนุนการประเมินสถานการณ์การพัฒนาในระดับต่างๆ
ส่วนความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศนั้นอยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าประกอบด้วย 3 ส่วนคือ การรายงานความคืบหน้าของเรื่องและประเด็นปฏิรูปตามแผนการปฏิรูปประเทศ,การรายงานประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของรัฐสภา และสาระสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศ
เจรจาเวียดนาม ระงับมาตรการตอบโต้ไทย ทุ่มตลาดน้ำตาล
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการยื่นขอเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-Dumping : AD) และการอุดหนุน (Countervailing : CVD) สินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย ในรูปแบบการกำหนดราคาขั้นต่ำหรือโควตาภาษี ตามร่างกรอบเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยกับเวียดนาม หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้ประกาศเปิดไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563
ทั้งนี้ เวียดนามกล่าวอ้างว่า ผู้ส่งออกและผู้ผลิตน้ำตาลของไทยมีพฤติกรรมการทุ่มตลาดและได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญกับอุตสาหกรรมภายในของเวียดนาม และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เวียดนามได้ประกาศผลชั้นต้น กำหนดให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนชั่วคราวสำหรับสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยเป็นระยะเวลา 120 วันตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
โดยกำหนดอัตราอากรตอบโต้การอุดหนุนชั่วคราวในอัตราร้อยละ 4.65, อัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวในอัตราร้อยละ 44.23 สำหรับสินค้าน้ำตาลทราย และอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวในอัตราร้อยละ 29.23 สำหรับสินค้าน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งการยื่นขอเจรจาครั้งนี้เพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่เวียดนามจะประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2564 โดยจะต้องส่งข้อมูลภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564
อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยไม่ดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบดังนี้คือ ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเรื่องราคาจำหน่ายเนื่องจากสินค้าต้องเสียภาษีมากกว่าคู่แข่งในประเทศอาเซียน และจะสูญเสียโอกาสทางการตลาด เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดที่มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลประมาณปีละ 700,000-800,000 ตัน
และในระยะยาวเวียดนามยังมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลทรายและผู้นำเข้าของเวียดนามน่าจะพิจารณาจากประเทศในอาเซียนก่อน เช่น มาเลเซีย หรือประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าด้วย เช่น ออสเตรเลีย เนื่องจากน้ำตาลทรายที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศกลุ่มนี้ยังมีความได้เปรียบด้านภาษีเมื่อเทียบกับประเทศนอกกลุ่ม แต่เวียดนามน่าจะพยายามขึ้นภาษีนำเข้าน้ำตาลทราย ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่บังคับใช้กับประเทศไทย ซึ่งอัตราภาษีอยู่ที่ประมาณ 40% ก่อนที่จะลดภาษีเหลือ 5% ภายใต้ข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนหรือ ATIGA เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของตัวเอง
เวนคืนที่ดิน จ.ศรีสะเกษ สร้างทางหลวง ฯ 4 ช่องทาง
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลจานใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์ ตำบลเสียวและตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2085 และ 2178 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 – อุบลราชธานี(บ้านน้ำเกลี้ยง) จังหวัดศรีสะเกษ รวมระยะทาง 10.815 กิโลเมตร วงเงินการก่อสร้าง 278 ล้านบาท
โดยมีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประกอบด้วย ที่ดินประมาณ 105 แปลง สิ่งปลูกสร้างประมาณ 94 ราย และต้นไม้ยืนต้นประมาณ 47 ราย และค่าเสียหายอื่นๆ และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด รวมค่าทดแทนในการเวนคืนเป็นเงิน 52,428,250 บาท ซึ่งกรมทางหลวงได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการดังกล่าวแล้ว ผลการรับฟังโดยรวมประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2085 และ 2178 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 – อุบลราชธานี(บ้านน้ำเกลี้ยง) จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันยังเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องขยายให้เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุ สนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ และเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2564เพิ่มเติม