ThaiPublica > เกาะกระแส > นายก ฯ ส่งสัญญาณ1 ปีที่เหลือ ช่วยเกษตรกรพ้นความยากจน – มติ ครม.จัดงบฯ 2,254 ล้าน จ้างบัณฑิตจบใหม่ 1 หมื่นคน

นายก ฯ ส่งสัญญาณ1 ปีที่เหลือ ช่วยเกษตรกรพ้นความยากจน – มติ ครม.จัดงบฯ 2,254 ล้าน จ้างบัณฑิตจบใหม่ 1 หมื่นคน

8 มิถุนายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.Thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ยันแผนกระจายวัคซัน -ไม่มีจังหวัดใดถูกทอดทิ้ง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการคิกออฟให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่สถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นจุดฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ รองรับการฉีดวัคซีนได้กว่า 10,000 คนต่อวัน และการไปตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่อาคารกีฬาเวสน์ ดินแดง

“ยอดรวมของการฉีดเมื่อวานนี้มากกว่า 4 แสนโดสทั่วประเทศทุกจังหวัด ทำให้ยอดการฉีดวัคซีนรวมวันนี้สูงถึง 4.6 ล้านโดส แบ่งเป็นผู้ได้รับเข็มแรกแล้วจำนวน 32 ล้านคน และมีผู้ฉีดครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 1.4 ล้านคน”

และในฐานะที่ตนเป็นเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตนได้มอบหมายหลักการนโยบายในการกระจายวัคซีนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคให้ได้มากที่สุด โดยการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุขในทุกหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลักการดังนี้

  1. ทุกจังหวัดต้องได้รับวัคซีนเพื่อให้เริ่มต้นได้พร้อมกัน จะต้องไม่มีจังหวัดใดถูกทอดทิ้ง
  2. จำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจะต้องพิจารณาจากเงื่อนไขที่สำคัญ คือ จำนวนประชากร อายุ จำนวนผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง อาชีพ และการกำหนดว่าเป็นพื้นที่เฉพาะ สถานการณ์การแพร่ระบาดมากน้อย และการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหรือพื้นที่เศรษฐกิจ โดยแต่ละจังหวัดที่ได้รับวัคซีนไปจะเป็นผู้กำหนดการจัดสรรวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดเองและสถานที่ต่างๆ ที่ได้เปิดเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนในปัจจุบัน
  3. ประชาชนที่ได้จองคิวการฉีดวัคซีนมาแล้วจะพยายามยึดวันจองเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่สามารถกระทำได้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ต้องขออภัยหากมีพี่น้องประชาชนท่านใดยังไม่ได้รับความสะดวกมากนักหรือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปบ้าง โดยจะดำเนินการแก้ไขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ได้โดยเร็วที่สุด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อจำกัดสำคัญอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต้องปรับแก้ก็คือเรื่องของการจัดส่งวัคซีน ซึ่งทุกคนน่าจะทราบดี ไม่ได้มาครั้งเดียวทั้งหมดตามสัญญาแต่มีการทยอยจัดส่งเป็นรอบๆ เราก็จะถือหลักการจัดส่งให้ได้เร็วที่สุด แล้วพิจารณาเป็นรายเดือนไปเท่าที่มีวัคซีนจริงอยู่ในมือแล้ว

ฉะนั้นอาจเกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการอยู่บ้างในระยะแรก ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลต่างๆ ให้ทราบถึงหลักเกณฑ์การกระจายวัคซีน และข้อจำกัดการจัดสรรวัคซีนให้สอดคล้องกับผู้ลงทะเบียนในระบบแล้ว สำหรับในเดือนมิถุนายน ถ้ามีได้รับวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เพิ่มเติมก็จะกระจายเพิ่มเติมให้อีกตามที่ได้มา

“ความพยายามของรัฐบาลกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด เราไม่ได้มีวัคซีนที่เราทำสัญญาไว้แล้วเท่านั้น ทำให้ผมเชื่อว่าในเดือนต่อๆ ไปเราน่าจะมีวัคซีนมามากขึ้นเรื่อยๆ จนแต่ละจังหวัดแต่ละจุดฉีดสามารถบริหารจัดการได้สะดวกยิ่งขึ้น และไม่ต้องการให้ประชาชนคนไทยที่จองมาแล้วต้องถูกยกเลิกคิวอีก”

คงเป้าฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส – คาดได้ “ไฟเซอร์-จอนสันฯ” เพิ่ม 25 ล้านโดส

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส แต่จะเพิ่มเป้าหมายเรื่อยๆ โดยในวันนี้ได้มีการทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์แล้วจำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งกำลังทยอยส่งมา มีสัญญากับซิโนแวคอีกจำนวน 6 ล้านโดส โดยมีแผนที่จะจัดซื้อเพิ่มอีก 8 ล้านโดส และคาดว่าจะสามารถทำสัญญากับไฟเซอร์และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน รวมแล้วมากกว่า 25 ล้านโดส

“จะยังมีวัคซีนอีกจำนวนหนึ่งที่จะได้รับมาจากการเจรจาทางความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ รวมถึงในปีหน้าคาดว่าจะมีวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย ซึ่งจะใช้ควบคู่ไปกับการแพทย์แผนไทยด้วย และสมุนไพรต่างๆ ซึ่งจะมีการพัฒนาไปสู่การผลิตให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกมาปลูกพืชสมุนไพรบ้างก็จะช่วยเพิ่มอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำการเกษตรไม่ได้ผล ซึ่งอยู่ในแผนงานในการขับเคลื่อนของเราต่อไป”

ชี้เงินกู้ 1 ล้านล้าน เหลือ 1.5 หมื่นล้าน กันไว้จ่ายชดเชยค่าน้ำ-ไฟ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ครม. ในวันนี้มีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญการอนุมัติเงินกู้ตามพระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และให้บริการในการตรวจคัดกรองดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดฯ ยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดผลให้มากที่สุด

“ปัจจุบันสถานการณ์เงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาท ได้มีการอนุมัติไปแล้วจำนวน 984,000 บาท มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 73 เปอร์เซ็นต์ และยังคงเหลือเงินกู้อีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องเก็บไว้ส่วนหนึ่งสำรองสำหรับการลดค่าน้ำค่าไฟให้กับประชาชนต่อไปด้วย รัฐบาลยืนยันว่างบประมาณที่มีอยู่จะใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และรัฐบาลเองนายกรัฐมนตรีได้มีการย้ำที่ประชุมเสมอมาว่าให้ระวังการทุจริตให้ระมัดระวังเรื่องความไม่โปร่งใส”

“ผมอยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลนั้นมีอำนาจอนุมัติในหลักการ อนุมัติการใช้จ่ายเงิน แต่ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการนั้นเป็นเรื่องของหน่วยงานกำกับก็ต้องรับผิดชอบ ผมในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารผมก็รับผิดชอบตามลำดับชั้นของผม อย่างไรก็ตามผมยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้กับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ไม่ละทิ้งใครแม้แต่คนเดียว พยายามจะทำให้ได้มากที่สุดและทุกจังหวัดด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับคนที่รักผม”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หลายอย่างมีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ ผมไม่โกรธเคืองใครแต่ขอให้ระมัดระวังความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น เพราะจะทำให้บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำให้การทำงานต่างๆ เป็นไม่ได้ จึงขอให้รับฟังคำชี้แจงที่เป็นประโยชน์และข้อเท็จจริงให้ได้ด้วย ในการพิจารณาในเรื่องของงบประมาณต่างๆ โดยยืนยันว่าหากมีงบประมาณใดที่มีการแปรญัตติไปแล้วตนจะนำมาดำเนินการในการบริหารให้เพิ่มมาก

ชู “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ตั้งเกณฑ์เตรียมรับนักท่องเที่ยว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ครม. ได้รับทราบข้อเสนอจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) ในการเตรียมการเปิดพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 10 จังหวัดนำร่อง ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2564 โดยเริ่มจากที่ภูเก็ตเป็นอันดับแรก โดยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบจำนวน 2 โดสแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป

ซึ่งในปัจจุบันภูเก็ตมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้วประมาณ 4 แสนคน ซึ่งมากกว่า 60% ของประชากรในจังกวัด โดยจะมีการคัดกรองและติดตามนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ฉีดครบโดสอย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง และใบอนุญาตเข้าประเทศอย่างถูกต้อง มีการตรวจโรคในช่วงการพักอาศัยในพื้นที่

“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นั้นจะนำข้อมูลไปประเมินผลเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ในระยะต่อไป โดยคณะรัฐมนตรีได้รับทราบนโยบายนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปส่งรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสมภายใต้ความสมดุลทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสาธารณสุขและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วย ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค. ชุดใหญ่ และนำกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติรายละเอียดที่ปรับแก้ไขในระยะต่อไป”

และอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องของโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ โดยรัฐบาลกำลังหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาในกรณีที่ยังมีปัญหาเรื่องการจดทะเบียน ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาอีกสักนิด เพื่อที่จะได้เตรียมการเรื่องการท่องเที่ยวในปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะสิ่งนี้เป็นปัญหากดทับมาเป็นเวลานาน

“วันนี้จะได้มีการหารือกันเรื่องของหนี้ กยศ. หนี้ครูทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนดำเนินการทั้งสิ้น ก็ต้องขอเวลาเพราะเป็นคนจำนวนมาก มีจำนวนมากจะบริหารกันได้อย่างไร เพราะเราก็มีงบประมาณจำกัด ตรงนี้จะทำอย่างไรเราจะสามารถแก้ปัญหานี้ให้มากที่สุด และจะทำอย่างไรเกิดปัญหาอื่นตามมาภายหลังอีกด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราทำงานอย่างรอบคอบ”

แย้ม 1 ปีที่เหลือ ขอช่วยเกษตรกรหลุดพ้นความยากจน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนเป็นห่วงเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ว่าจะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากความยากจนให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยตนได้มอบหมายนโยบายไปแล้ว และตนไม่มีข้อขัดข้องในเรื่องของแผนงาน โครงการที่เสนอขึ้นมาแต่อย่างใด เพียงแต่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบคัดกรองโดยคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการหลายระดับด้วยกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนงานโครงการทั้งสิ้น ซึ่งตนไม่ได้ต้องการให้เกิดประโยชนกับใครนอกจากพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดให้เกิดความทั่วถึงและเป็นธรรม

“ผมได้สั่งการมอบนโยบายไปแล้วว่าจำเป็นต้องเร่งรัดในการดำเนินการหลายๆ กิจกรรมของเราในช่วง 1 ปีที่ยังเหลืออยู่ในรัฐบาลปัจจุบันและเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรที่เกิดผลสำเร็จส่งต่อไปในวันข้างหน้าในรัฐบาลต่อๆ ไป ทั้งนี้ก็เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติของเราตามแผนงาน 1 ปีและแผนงานระยะปานกลางอีก 3 ปี และยุทธศาสตร์ 5 ปี นั่นคือความต่อเนื่องและสอดคล้องรัฐบาลใดรับช่วงต่อไปก็ว่ากันไปตามนั้นถ้าไม่ทำแบบนี้ก็จะไม่ต่อเนื่อง”

“ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็อยู่กับท่านมาหลายปีแล้วท่านคงทราบดีว่าผมมีความตั้งใจอย่างไรจะทำงานของผมอย่างไร ก็ขอเพียงความเข้าใจจากท่าน ผมไม่เคยไปบังคับอะไรทำได้เพราะเป็นเรื่องของประชาชนความต้องการผมก็ฟังทุกคนทุกภาคส่วน เมื่อวานนี้ผมได้คุยกับสมาคมชาวนามาว่าจะพัฒนาการอย่างไร รัฐบาลนี้แก้ทุกอย่างขอแต่เพียงความเข้าใจความร่วมมือของท่านเท่านั้น ก็ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่งในกำลังใจที่ส่งมาให้ผม ส่งมาให้กับข้าราชการทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ และทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด ผมให้กำลังใจทุกท่านจะดูแลให้ดีที่สุด”

วอน ส.ส.ช่วยผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือกับพวกเราทุกคนคือเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาก็นำเข้าพิจารณาไปอยู่ในขณะนี้ มีการแก้ไขในบางอย่างในสิ่งที่รัฐมนตรีได้ชี้แจงไปแล้ว ปัญหาของการศึกษาของไทยไม่ใช่ว่าจะล้มเหลวไปทั้งหมด หลายอย่างก็จำเป็นต้องปรับให้ทันยุคทันสมัยตามสถานการณ์โลกและปัจจุบัน และภายใต้บริบทของประเทศไทยของคนไทยซึ่งมีความแตกต่างกับหลายประเทศเช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เราจะต้องหาวิธีการดำเนินการให้เหมาะสมถูกต้องทั้งในส่วนของบุคลากรครูหลักสูตรและในส่วนขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างๆ ก็ขอความร่วมมือด้วยแล้วกันในการที่จะพิจารณาพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาของเราทั้งระบบให้ได้โดยเร็ว

สั่ง ครม.รับมือ G7 ปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในวันนี้คือ มีการประชุมหลายกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น G7 และอีกหลายเวทีโลกที่ได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องเตรียมการให้พร้อมในการรับมือกับพันธสัญญากรณีต่างๆ ที่มีอยู่ เนื่องจากเราอยู่ในห่วงโซ่ของเขาทั้งหมดในเรื่องของการค้าการลงทุนต่างๆ มีกติกาต่างๆ ที่ออกมามากมายต้องเตรียมความพร้อม ทุกคนจะต้องเข้มแข็ง ต้องอดทน ต้องเพิ่มขีดความสามารถตัวเองไปด้วยให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่างๆ ที่เราได้ออกมาในเวลานี้ซึ่งมีจำนวนมาก

“บางทีดูเหมือนว่าไม่สำเร็จซักเรื่อง แต่อย่าลืมว่าเราก็มีคนอยู่อีกจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่ในหลายอาชีพด้วยกัน เราก็จำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเราวันนี้ก็ยังว่าใน 1 ปีนี้จะต้องมีผลสำเร็จให้สามารถจับต้องได้ว่าเราแก้ปัญหาอะไรไปแล้วบ้างใน 1 ปีนี้และอีก 1 ปีข้างหน้า จะทำแผนไงอะไรไว้ล่วงหน้าให้เตรียมแผนเอาไว้แผนงานทั้งหมดไม่ใช่นายกรัฐมนตรีกำหนดแต่แผนงานทั้งหมดเป็นส่วนที่เสนอมาจากข้างล่าง”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ตนยินดีที่พบว่าเศรษฐกิจในภาพรวมในระดับมหภาคยังดีอยู่ ปริมาณการส่งออกมากขึ้น ในปัจจุบันเนื่องจากสถานการณ์ในหลายๆ ประเทศได้มีการฟื้นฟูขึ้นบ้างแล้ว และจากการประเมินของหน่วยงานต่างประเทศก็ประเมินว่าในปี 2565 หลายอย่างจะดีขึ้นในทุกภูมิภาคของเรา

“ดังนั้น เราต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้อย่างท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ วันนี้ต้องลองขึ้นเศรษฐกิจรอบบ้านซึ่งมีสถิติสูงขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ เราตั้งเป้าไว้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทจากเศรษฐกิจชายแดน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องจับตาสถานการณ์รอบบ้านเราด้วย”

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ทำการศึกษาแผนการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกา , สหราชอาณาจักร , ฝรั่งเศส , เยอรมนี , แคนาดา , อิตาลี , ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่บรรลุข้อตกลงในการปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้บริษัทข้ามชาติเสียภาษีเพิ่มขึ้น

มอบ “อาคม” แจง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านในสภาฯ

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมกรณีการชี้แจง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ต่อสภาว่า เรื่องดังกล่าวนี้ได้มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอาจมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งงบประมาณเป็น 3 แผนงานด้วยกัน ได้แก่

  1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ
  2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง
  3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค

“วงเงินที่ใช้ใน 3 แผนงานนี้สามารถโยกใช้งานระหว่างแผนงานได้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้นอกเหนือจาก 3 แผนงานนี้ได้”

ชี้กรุงไทยยกเลิกระบบยินยอมเปิดเผยข้อมูลบนแอปฯ “เป๋าตัง” แล้ว

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมกรณี แอปพลิเคชันเป๋าตังมีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้หน่วยงานอื่น ว่า เพื่อความสบายใจของผู้ใช้งานธนาคารกรุงไทยผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน และกระทรวงมหาดไทยได้ยกเลิกการระบบการขอความยินยอมดังกล่าวแล้วทั้ง 3 ส่วน และจะดำเนินการพัฒนาระบบเพื่อยืนยันตัวตนในการป้องกันการสวมสิทธิของผู้ใช้งานเท่านั้น ส่วนระบบอื่นยังคงทำงานตามปกติ

แนะใครมีเบาะแส “ขายสิทธิ์วัคซีน” แจ้ง 1111

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมถึงการขายสิทธิ์ฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติ ว่า กรณีดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีส่วนใดที่ทำแบบนี้ ซึ่งหากพบและมีเบาะแสก็สามารถแจ้งรัฐบาลได้ เช่นเดียวกับการแจ้งเบาะแสการลักลอบเข้าเมือง ได้ช่องทางสายด่วน 1111

ส่วนการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติที่พำนักและทำงานอยู่ในประเทศไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้เคยแถลงข่าวไว้แล้วว่าไทยจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่พำนักอยู่ในไทยทุกคน โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการจัดทำรูปแบบการลงทะเบียนสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีส่วนที่ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันและลงทะเบียนที่โรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งจะมีการชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

ยันกันพื้นที่ฉีดวัคซีนใน “สถานีกลางบางซื่อ” ไม่กระทบ “สายสีแดง”

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมถึงข้อกังวลความแออัด หลังจากใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นจุดฉีดวัคซีนใหญ่ของประเทศ ขณะที่ในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้จะมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ว่า เรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้วางแผนการใช้พื้นที่ไว้แล้ว เนื่องจากสถานนีกลางบางซื่อไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงแค่รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงเท่านั้น แต่ได้เตรียมรองรับการขนส่งทางรางอื่นๆ ด้วย ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นเพียงส่วนเดียว ยังไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดของสถานี

สั่งคมนาคมตรวจสอบฮั้วประมูลรถไฟทางคู่

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมถึงกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม. มีหนี้ค้างบีทีเอสเกือบถึง 40,000 ล้านบาทแล้ว ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านกฎหมาย

สำหรับกรณีการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน ที่มีข้อครหาการฮั้วประมูลนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการไปด้วยความสุจริต การดำเนินการทุกอย่างต้องสามารถชี้แจงให้แก่ประชาชนได้ โดยการตรวจสอบกรณีนี้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรม และหากอนาคตมีปัญหาใดเกิดขึ้นอีกกระทรวงคมนาคมจะต้องชี้แจงได้เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความโปร่งใส

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.Thaigov.go.th/

อนุมัติงบฯ 101 ล้าน ให้กรมการแพทย์ รับมือโควิดฯ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติแผนงานหรือโครงการที่ขอใช้วงเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ให้กับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งหมด 5 โครงการมีรายละเอียดดังนี้ โครงการแรก เป็นโครงการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 101.3936 ล้านบาท ตามที่กรมการแพทย์นำเสนอ

ประกอบด้วย การจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ วงเงิน 89,047,300 บาท เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ชุดเครื่องมือช่วยใส่ท่อช่วยหายใจแบบวีดิทัศน์ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องเรดาร์ทำความสะอาดห้อง ตู้ฆ่าเชื้อหุ่นยนต์เพื่อติดตามดูแลผู้ป่วยโควิดสำหรับ isolate room เครื่องกรองอากาศแบบ medical grade เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และรายการก่อสร้างจำนวน 12,346,300 บาท เช่น ปรับปรุงชุดหัวจ่ายระบบแก๊สทางการแพทย์ การปรับปรุงห้องแยกโรคผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ

นายอนุชากล่าวต่อว่า โครงการนี้จะช่วยทำให้โรงพยาบาล/สถาบันในสังกัดกรมการแพทย์มีความพร้อมทั้งสถานที่ อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ติดเชื้อ เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน จากโรคระบาดของ COVID-19 อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบใหม่ New Normal ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานปลอดภัยอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ ยังเข้าถึงการบริการอย่างปลอดภัย ช่วยลดกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งจะเป็นการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดและจำกัดจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย

จัดงบฯ 128 ล้าน ยกระดับหน่วยบริการกรมอนามัย

นายอนุชากล่าวต่อว่า โครงการที่ 2 ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการยกระดับหน่วยบริการ กรมอนามัย รองรับการระบาดของโรค COVID-19 กรอบวงเงิน 128.2432 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงบริการของหน่วยบริการสุขภาพของกรมอนามัย รองรับการระบาดในวงกว้าง เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมต่อการระบาดของโควิด-19 และสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพของทุกภาคส่วนในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย

  • รายการครุภัณฑ์ จำนวน 91,675,400 บาท อาทิ ชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบพกพา เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว เครื่องช่วยหายใจ Hi Flow เครื่อง AED เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูงเครื่องวัดความดันอัตโนมัติแบบสอดแขน หุ่นยนต์ลำเลียงอุปกรณ์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV-C
  • รายการก่อสร้าง จำนวน 29,304,200 บาท อาทิการปรับปรุงห้อง Isolate room Cohort ward ห้อง Modified AIIR ห้อง ARI ClINIC
  • งบดำเนินงาน ค่าใช้สอยและวัสดุเพิ่มเติม จำนวน 7,263,600 บาท เช่น เวชภัณฑ์ป้องกันสำหรับการบริการฉีดวัคซีน

“สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนในทุกกลุ่มวัย/กลุ่มเปราะบาง เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กประถมวัย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอ้วน โรค NCDs/กลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มแยกกัก โรงพยาบาลสนาม หรือ รับการรักษาใน Cohort Ward คาดว่าจะสามารถรองรับการให้บริการประชาชน IPD/Cohortward/Local Quarantine เพิ่มขึ้น แบ่งเบาภาระของหน่วยบริการปกติ ยกระดับการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจากสถานที่ กิจกรรม กิจกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ประชาชนยังจะมีความรอบรู้การส่งเสริมและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในการป้องกันตนเองและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม ลดความเสี่ยงผลกระทบทางสุขภาพและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย” นายอนุชา ฯ กล่าว

ไฟเขียวกรมสุขภาพจิต จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ 55 ล้าน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า โครงการที่ 3 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ทางการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 54.8820 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับใช้ในการให้บริการตรวจคัดกรอง ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ใน 4 สถาบัน/โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร และ 16 สถาบัน/โรงพยาบาล ในส่วนภูมิภาค สังกัดกรมสุขภาพจิต เช่น เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดอัตโนมัติชนิดพกพา เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ และสัญญาณชีพขนาดเล็ก เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดันเคลื่อนย้ายได้ เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 300 mA เครื่อง UV-C รถเข็นยับยั้งการทำงานของเชื้อโรค เครื่องตรวจความแปรปรวนของการเต้นของหัวใจ รุ่น mac-Pulse ตู้เย็นแช่ยา แบบ 2 ประตู ขนาด 33 คิว ตู้เย็นแช่ยา แบบ 1 ประตู ขนาด 9 คิว เครื่องฟอกอากาศรุ่น HCU

ทั้งนี้ บุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถาบัน/โรงพยาบาล สังกัดกรมสุขภาพจิต มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางกายในระดับ asymptomatic/mild case โดยร้อยละ 100 ของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ได้รับบริการตรวจคัดกรอง ดูแลอาการทางกาย ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช จะได้รับการตรวจคัดกรอง ดูแลอาการทางกาย ตามแนวทางการให้บริการที่สอดคล้องกับแนวทางเวชปฏิบัติฯ (CPG) ให้มีอาการดีขึ้นด้วย

อนุมัติงบฯ 1,827 ล้าน พัฒนาแหล่งน้ำ 138 แห่ง

นายอนุชากล่าวต่อว่า โครงการที่ 4 ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตรของกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 138 รายการ กรอบวงเงิน 1,826.5307 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการปรับปรุง พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตร ในพื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทาน

สนับสนุนกระบวนผลิตของเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำคัญไว้รองรับความมั่นคงในชุมชนด้านการบรรเทาอุทกภัย/ภัยแล้ง มีความปลอดภัยใสสะอาด เป็นห่วงโซ่สำคัญด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตภาคเกษตรกรรม สำหรับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร และเกษตรกร/กลุ่มผู้ใช้น้ำ

โดยจะดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนา อนุรักษ์ ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ปรับปรุงซ่อมแซมและพัฒนาทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ การจัดทำระบบส่งน้ำสู่พื้นที่การเกษตร (Farm Layout) ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ 138 แห่ง ประกอบด้วย (1) งานขุดลอก 118 รายการ (2) งานระบบส่งน้ำ 7 รายการ และ (3) งานซ่อมแซม 18 รายการ

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำคาดหวังว่า จะมีแหล่งน้ำได้รับการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทาน จำนวน 138 แห่ง จุกักเก็บน้ำได้ 89.44 ล้านลูกบาศก์เมตร และครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 32,774 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 92,735 ไร่ รวมทั้งยังมีการจ้างแรงงานในโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำจำนวน 4,123 ราย อีกด้วย

เคาะ 1,100 ล้าน พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล หนุนเกษตรแปลงใหญ่

นายอนุชากล่าวต่อว่า โครงการที่ 5 ที่ประชุม ครม. อนุมัติ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 97 รายการ กรอบวงเงิน 601.7511 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 190 แห่ง ใน 31 จังหวัด กรอบวงเงิน 497.9658 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

  1. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในลักษณะของการบูรณาการแหล่งน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่พร้อมอุปกรณ์ ให้แก่ อปท. บริหารจัดการน้ำบาดาล ร่วมกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาล รวมทั้งส่งมอบและโอนครุภัณฑ์ทรัพย์สินทั้งบ่อบาดาล ระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรพร้อมอุปกรณ์ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการน้ำบาดาล ร่วมกับน้ำผิวดินอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 97 แห่ง ใน 24 จังหวัด

กิจกรรม เจาะบ่อบาดาลเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 6 นิ้ว พร้อมระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับขนาดพื้นที่ 120 ไร่/300 ไร่/500 ไร่ เพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ให้เป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

คาดว่าผลที่จะได้รับ พื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 21,040 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 956 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนไม่น้อยกว่า 9.4284 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมทั้งจ้างแรงงานในพื้นที่ จำนวน 2,425 คน

  1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่

วัตถุประสงค์ เพิ่มประสิทธิภาพระบบสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ที่ใช้เครื่องยนต์อเนกประสงค์เป็นเครื่องต้นกำลังในการสูบน้ำบาดาล โดยเปลี่ยนเป็นระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในภาคเกษตรกรรม ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลต้นทุนสำหรับทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี

กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 190 แห่ง ใน 31 จังหวัด

กิจกรรม เพิ่มประสิทธิภาพระบบสูบน้ำบาดาลเพื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ด้วยระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และการเป่าล้างบ่อบาดาลและเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำบาดาล เป็นแบบไฟฟ้าชนิดจุ่มใต้น้ำ

คาดว่าจะผลที่ได้รับ พื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 22,800 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 1,520 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนไม่น้อยกว่า 6.1560 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมทั้งจ้างแรงงานในพื้นที่ จำนวน 2,850 คน

ทุ่มงบฯ 2,254 ล้าน จ้างบัณฑิตจบใหม่ 10,000 คน

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ และผลการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 10,000 อัตรา พร้อมอนุมัติ วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยระบบพนักงานราชการ โดยรายละเอียดดังนี้

  • กรอบอัตรากำลัง: 10,000 อัตรา เฉพาะในกลุ่มงานบริหารทั่วไป
  • กลุ่มเป้าหมาย: ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี
  • น่วยงานที่ขอรับจัดสรรอัตรากำลัง: 28 ส่วนราชการ ได้แก่ หน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัด หรือหน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยเป็นส่วนราชการที่มีภารกิจสำคัญและเร่งด่วน
  • ระยะเวลาการจ้างงาน: ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจ้างหรือไม่เกิน 30 กันยายน 2565 และไม่มีการต่อสัญญา
  • อัตราค่าตอบแทน/สิทธิประโยชน์: 18,000 บาท/เดือน ตลอดสัญญาการจ้างงาน โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับพนักงานราชการปกติ ยกเว้นเฉพาะในส่วนของสิทธิการลงเพื่อไปอุปสมบท หรือประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 120 วัน

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังย้ำให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีดำเนินการจ้างพนักงานราชการ และแผนการดำเนินงาน รวมทั้ง เร่งดำเนินการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งสำนักงาน ก.พ. จะได้ติดตามประเมินผลการดำเนินการรวมถึงผลสัมฤทธิ์จากการจ้าง เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบต่อไปด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

  • รองรับวิกฤติโควิด-19 ครม.เห็นชอบจ้างบัณฑิตจบใหม่ 1 หมื่นคน 18,000 บาท/เดือน 1 ปี
  • ผ่านแผนปฏิบัติการ 6 ภาค 505 โครงการ 63,595 ล้าน

    นายอนุชากล่าว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทั้ง 6 ภาค จำนวน 505 โครงการ วงเงินงบประมาณ 63,595.76 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการ ภาคเหนือ จำนวน 62 โครงการ วงเงิน 13,688.47 ล้านบาท แผนปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 154 โครงการ วงเงิน 22,278.40 ล้านบาท แผนปฏิบัติการภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 90 โครงการ วงเงิน 9,684.14 ล้านบาท แผนปฏิบัติการภาคตะวันออก จำนวน 61 โครงการ วงเงิน 4,866.81 ล้านบาท แผนปฏิบัติการภาคใต้ จำนวน 87 โครงการ วงเงิน 10,226.53 ล้านบาท แผนปฏิบัติการภาคใต้ชายแดน จำนวน 51 โครงการ วงเงิน 2,851.41 ล้านบาท

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,757 โครงการ งบประมาณรวม 42,882.33 ล้านบาท ทั้งในส่วนของงบจังหวัดและงบกลุ่มจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพที่เป็นความต้องการและแก้ไขปัญหาประเด็นร่วมของกลุ่มจังหวัด

    และเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในลักษณะคลัสเตอร์หรือตอบสนองนโยบายเชิงพื้นที่ด้วย พร้อมทั้งเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561-2565 ฉบับทบทวนจำนวน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด โดยขอให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัด จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการของประชาชนพร้อมทั้งระบุพื้นที่เป้าหมายและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน กำหนดตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายและประเด็นการพัฒนา ปรับข้อมูลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีความสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบันมากที่สุดด้วย

    ต่อเวลาแรงงาน 3 สัญชาติ ตรวจโควิดฯ-ทำประกันฯ-ขออนุญาตทำงาน ถึง 13 ก.ย.นี้

    ผศ.ดร.สาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาให้แรงงานต่างด้าวดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทำประกันสุขภาพ และขออนุญาตทำงาน จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และขยายระยะเวลาให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนไม่มีงานทำ (5.38 หมื่นคน) ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) พร้อมกับการทำบัตรสีชมพูให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 (จากเดิมภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564) เพื่อให้การดำเนินการของแรงงานต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎกมาย และไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์จนเกินควร

    ความจำเป็นที่ต้องขยายระยะเวลาในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก มติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะต้องจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจเชื้อโควิด-19 จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometric) ขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพ และยื่นคำขอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มิถุนายนนี้

    ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้ดำเนินการตามมติ ครม. (29 ธ.ค. 2563) แล้ว จำนวน 6.54 แสนคน โดยลงทะเบียนเพื่อขอรับการจ้างงานจากนายจ้าง จำนวน 6.01 แสนคน หลังจากได้คัดกรองข้อมูลแรงงานแล้ว คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่สามารถขออนุญาตทำงานได้จำนวนทั้งสิ้น 4.96 แสนคน โดยในจำนวนนี้ จากข้อมูล ณ 31 พ.ค.64 แรงงานต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometric) จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว 98% หรือจำนวน 4.85 แสนคน ผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 จากกระทรวงสาธารณสุขแล้วประมาณ 70% จำนวน 3.39 แสนคน

    และได้รับอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานแล้วประมาณ 50% หรือจำนวน 2.39 แสนคน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลไม่สามารถดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้กับแรงงานต่างด้าวได้ทันตามกำหนดภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อนายจ้างที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไป

    “เมื่อแรงงานต่างด้าวดำเนินการครบทุกขั้นตอนและได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรแล้ว จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 อันเป็นการรักษากำลังแรงงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนายจ้างและสถานประกอบการ ตลอดจนช่วยให้นายจ้างได้จ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวก็ได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ การคุ้มครองตามสิทธิที่พึงได้รับ รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูประเทศต่อไป”

    ขยายเวลาโครงการส่งออกน้ำมันปาล์มฯ ถึงสิ้นปีนี้

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยสรุปผลการประชุมที่สำคัญดังนี้

    1. มาตรการรองรับเพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศ
      • ให้กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดรายงานปริมาณการผลิต การใช้ และการสต็อกน้ำมันปาล์มคงเหลือ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ให้รวดเร็ว ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์มให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
      • รับทราบความคืบหน้าการจัดทำ โครงการจ้างที่ปรึกษาในการวิเคราะห์โครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และมอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดเข้มงวดให้โรงงานและลานเทรับซื้อผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกรโดยไม่กดราคา
      • รับทราบผลการขับเคลื่อนแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 5 จังหวัดภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร) และให้คณะอนุกรรมการและคณะทำงานติดตามการดำเนินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างเป็นระบบทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัด
    2. แนวทางการดำเนินการด้านปาล์มน้ำมันของกรมป่าไม้ โดยเห็นชอบแผนปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่ทางราชการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่การอนุญาตหมดอายุ เพื่อลดผลผลิตปาล์มน้ำมันจากพื้นที่ปลูกที่ผิดกฎหมาย
    3. มาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยเห็นชอบผลิตภัณฑ์เป้าหมายและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่า เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน และการส่งเสริมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประสานงาน เร่งรัด และรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ
    4. ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 ออกไปถึงธันวาคม 2564 (จากเดิมสิ้นสุดสิงหาคม 2564) และขยายระยะเวลาการส่งออกถึงกันยายน 2564 (จากเดิมภายในมีนาคม 2564) โดยยังคงหลักการเดิมของโครงการ ซึ่งจะพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการสำหรับการส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) ในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 300,000 ตัน และราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจะใช้งบประมาณตามที่ได้อนุมัติไว้แล้วจำนวน 618 ล้านบาท

    เห็นชอบข้อตกลงอาเซียน ด้านปลอดภัยทางอาหาร

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบลงนามความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหาร (ASEAN Food Safety Regulatory framework Agreement: AFSRF Agreement) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งความตกลง AFSRF Agreement จะมีผลบังคับใช้ในวันที่รัฐสมาชิกลำดับที่ 10 มอบสัตยาบัน ให้การเห็นชอบ หรือให้การยอมรับแก่เลขาธิการอาเซียน โดยไม่มีข้อสงวนใดๆ ต่อความตกลงนี้

    สำหรับสาระสำคัญของความตกดังกล่าว เป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการทั้งหมดอย่างบูรณาการและครอบคลุมความปลอดภัยอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของอาหารปลอดภัยในอาเซียน โดยลดอุปสรรคทางการค้าอาหารภายในอาเซียนให้เหลือน้อยที่สุด และลดความแตกต่างของระบบการควบคุมของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติตามดังนี้

    1. จัดให้มีระบบการควบคุมความปลอดภัยอาหาร และนำระบบนั้นไปใช้ดำเนินการตลอดห่วงโซ่อาหาร ครอบคลุมทุกขั้นตอนของการผลิต การแปรรูป การกระจายสินค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาหารที่นำไปวางตลาดมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์และกำหนดมาตรการพร้อมบทลงโทษในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายและข้อบังคับของตน นอกจากนี้ อาหารที่ส่งออกหรือส่งกลับออกไปยังตลาดของรัฐสมาชิกอื่น จะต้องเป็นไปตามความตกลงนี้ด้วย
    2. ต้องยอมรับผลการตรวจสอบ การรับรอง และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ของรัฐสมาชิกอื่นตามที่กำหนดไว้ในความตกลงนี้
    3. จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Committee: AFSCC) โดยมีหน้าที่ (1) วางแผน กำกับดูแล และทบทวนการดำเนินงานของความตกลงนี้ (2) ติดต่อประสานงานกับองค์กรของอาเซียนและดำเนินการตามข้อริเริ่มของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาหาร รวมถึง (3) รายงานความก้าวหน้าเป็นระยะที่เกี่ยวข้องกับความตกลงนี้ ต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ เจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข
    4. ต้องระบุหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ด้านความปลอดภัยอาหารของตน และแจ้งให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบ สำหรับหน่วยงานของไทย คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
    5. ให้ใช้พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน มาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ และตีความหรือการปฏิบัติตามความตกลงนี้

    “ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนาม AFSRF Agreement ในครั้งนี้ คือ การเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการดำเนินงานตามนโยบายความปลอดภัยอาหารของอาเซียน รวมถึงสร้างความร่วมมือและบูรณาการงานด้านความปลอดภัยอาหารที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านเกษตร เศรษฐกิจ และสุขภาพของอาเซียนและของประเทศสมาชิกในอาเซียน ทั้งนี้ หลังจากที่ตัวแทนรัฐบาลได้ลงนามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ครม. จะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป”

    ผ่านร่างปฏิญญาเมือง-ขนส่งฯ

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างปฏิญญาเมืองและการขนส่ง: ความปลอดภัย ความมีประสิทธิภาพและความยั่งยืน พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาฯในที่ประชุมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ว่าด้วยเมืองและการขนส่ง: ความปลอดภัย ความมีประสิทธิภาพและความยั่งยืน ผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมแจ้งเชิญเข้าร่วมปรระชุมดังกล่าว

    สำหรับร่างปฏิญญาเมืองและการขนส่ง: ความปลอดภัย ความมีประสิทธิภาพและความยั่งยืนนี้ มีวัตถุประสงค์ในการให้ประเทศสมาชิกได้แสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งภายในเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายในเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนในการพัฒนาสู่ความเป็นเมือง รวมถึงการแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องยนต์ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากการจราจรภายในเมือง การพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนเพื่อลดต้นทุนการเดินทางและปัญหาการจราจรหนาแน่น การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองที่รองรับยานพาหนะที่มีขนาดเบาและการขนส่งที่ไร้เครื่องยนต์

    นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาระบบขนส่งแบบดิจิทัลและสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนการมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการขนส่งภายในเมืองที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินการ เนื่องจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือสภาวะวิกฤติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

    โพลรัฐบาลชี้ ปชช.ต้องการฉีดวัคซีนโควิดฯ 75.2%

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เกี่ยวกับกรณีของวัคซีน โดยทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่าง 46,600 คน ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม 2564

    พบว่าประชาชนร้อยละ 75.2 ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในจำนวนนี้มีผู้ต้องการฉีดและพร้อมที่จะฉีดวัคซีนร้อยละ 47.7 และผู้ต้องการฉีดแต่ยังไม่พร้อมร้อยละ 27.5 ส่วนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีร้อยละ 5.5

    ขณะที่ร้อยละ 19.3 ไม่ต้องการฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผลว่า กลัวผลข้างเคียงร้อยละ 16.4 , ไม่เชื่อมั่นว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันได้ร้อยละ 4.9, มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น พิการ มีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ ร้อยละ 4.6, สามารถป้องกันตัวเองได้ร้อยละ 3.6 และไม่มีข้อมูลหรือข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจร้อยละ 3.2

    สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนระบุว่า วัคซีนที่ต้องการมากที่สุดคือ วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ร้อยละ 54.6, วัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ร้อยละ 12.5, วัคซีนโมเดอร์นาร้อยละ 3, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันร้อยละ 2.5 และวัคซีนโนวาแวกซ์ร้อยละ 0.9

    สำหรับ 6 จังหวัดที่มีผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วและผู้ที่พร้อมจะฉีดสูงกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ ภูเก็ตร้อยละ 80.2, ตรังร้อยละ 80, ระนองร้อยละ 78.8, บุรีรัมย์ร้อยละ 73.3, ชลบุรีร้อยละ 71.8 และนนทบุรีร้อยละ 71.2

    เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่า ผู้ที่มีอายุ 18-29 ปี ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและไม่พร้อมที่จะฉีดมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ขณะที่นักเรียน นักศึกษา ผู้ว่างงาน ระบุว่าไม่ต้องการฉีดวัคซีนหรือไม่พร้อมฉีดสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น

    สำหรับความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนนั้น ประชาชนร้อยละ 45.3 มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพวัคซีนที่รัฐบาลให้บริการกับประชาชน ขณะที่ร้อยละ 54.7 ไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า กลัวผลข้างเคียงร้อยละ 41.3, วัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนที่จะเลือกใช้เองร้อยละ 7, ได้รับข้อมูลข่าวสารของวัคซีนที่มีความขัดแย้งกันร้อยละ 5.7

    เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่ไม่เชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยละ 80.5, ปัตตานีร้อยละ 78.5, นราธิวาสร้อยละ 74, เชียงใหม่ร้อยละ 72.2, ขอนแก่นร้อยละ 71.3 และสตูลร้อยละ 70.4 และพบว่าประชาชนร้อยละ 56.6 ระบุว่า การที่รัฐให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนมีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีน และประชาชนร้อยละ 80.9 เห็นว่าควรเพิ่มสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน โดยเห็นว่าสถานที่ที่เหมาะสม 5อันดับแรกได้แก่ สถานีอนามัย/โรงพยาบาลประจำตำบล ร้อยละ 52.4, จัดรถ Mobile ลงชุมชนร้อยละ 18.2, โรงเรียน อาคารอเนกประสงค์ สนามกีฬา วัด ร้อยละ 9.8, ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนร้อยละ 9.6 และสถานที่ราชการ ร้อยละ 6.9

    นอกจากนี้ประชาชนยังเห็นว่า รัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนและลดความสับสนของข่าวสารดังนี้ ให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้นำเสนอประโชน์ของวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจอย่างต่อเนื่องร้อยละ 48.3 ให้หน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลและสกัดกั้นข่าวเท็จที่เผยแพร่จากสื่อสาธารณะ หรือโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วร้อยละ 20.4 และให้หน่วยงานเดียวเป็นผู้รับผิดชอบให้ข้อมูลข่าวสารร้อยละ 18.8 และยังพบด้วยว่า ประชาชนร้อยละ 90.5 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายร้อยละ 49.3 และเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุดได้แก่ ช่วยเหลือค่าครองชีพร้อยละ 67.8

    จัดงบกลางฯ 426 ล้าน ให้ สทนช.ซื้อครุภัณฑ์ รับมือภัยแล้งฯ

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งวงเงิน 426.472 ล้านบาท รวม 24 รายการ จำนวน 32 เครื่อง ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยทาง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบก่อนหน้านี้แล้ว

    ทั้งนี้ กรมชลประทานรายงานว่า เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำและมีแนวโน้มการเกิดซ้ำมากขึ้นทุกปี จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเครื่องมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การเตรียมการรองรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนปี 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล รวมทั้งเป็นการป้องกันกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ภาคใต้ที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกับช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 จึงได้เสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณา

    สำหรับครุภัณฑ์ 24 รายการจำนวน 32 เครื่อง ประกอบด้วย 1. เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็ว ขับด้วยระบบไฮดรอลิค ขนาด 24 นิ้ว 8 รายการ จำนวน 8 เครื่อง วงเงิน 62.848 ล้านบาท 2. เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็ว ขับด้วยระบบไฮดรอลิค ขนาด 30 นิ้ว 8 รายการ จำนวน 16 เครื่อง วงเงิน 188.544 ล้านบาท และ 3. เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่เร็ว ขับด้วยระบบไฮดรอลิค ขนาด 42 นิ้ว 8 รายการ จำนวน 8 เครื่อง วงเงิน 175.80 ล้านบาท

    ซึ่ง การอนุมัติงบกลางฯ ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งนอกเหนือจากนี้แล้วจะยังมีส่วนที่ให้กรมชลประทานจะทยอยเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งพิจารณาใช้จ่ายจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานที่จะจัดเก็บในอนาคต

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการเพิ่มเติมใน ครม. ให้ระมัดระวัง เรื่องการทุจริต โดยจะต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยความโปร่งใส โดยเน้นย้ำว่า “ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2564เพิ่มเติม