ThaiPublica > สู่อาเซียน > ธนาคารกลางไทย-มาเลเซีย เปิดรับ Qualified ASEAN Bank

ธนาคารกลางไทย-มาเลเซีย เปิดรับ Qualified ASEAN Bank

14 กันยายน 2021


ความก้าวหน้าในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) ได้เปิดรับสมัคร Qualified ASEAN Bank (QAB) สำหรับธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียและสัญชาติไทยที่สนใจ ซึ่งเป็นไปตามความตกลง QAB ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) และเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Financial Agreement on Services: AFAS)

การจัดตั้ง QAB มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ในการสร้างเศรษฐกิจอาเซียนให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยกำหนดคุณสมบัติของ QAB เพื่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศที่ QAB ไปจัดตั้ง ว่าจะต้องมีฐานะมั่นคงแข็งแกร่ง ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศตน และปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงของประเทศที่ QAB ไปจัดตั้ง ซึ่ง QAB ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อผูกพันของประเทศคู่เจรจา

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ความตกลงทวิภาคีนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การรวมตัวภาคการเงินอาเซียนตามกรอบ ABIF ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ธปท. และ BNM ได้เปิดตัวนวัตกรรมด้านการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรก

ในโอกาสนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า “ความตกลงทวิภาคีในการจัดตั้ง QAB นี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย และสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของอาเซียนในการรวมตัวภาคการเงินของภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การจัดตั้ง QAB ดังกล่าวจะนำมาซึ่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีคุณภาพสูงและหลากหลาย ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น ธปท. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นบทบาทของ QAB ในการช่วยต่อยอดความร่วมมือด้านการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ในภูมิภาค”

Ms. Nor Shamsiah Yunus ผู้ว่าการ BNM ที่มาภาพ: https://www.bernama.com/bm/am/news_covid-19.php?id=1900819

Ms. Nor Shamsiah Yunus ผู้ว่าการ BNM กล่าวว่า “ความตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่แน่นแฟ้น และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศในการเพิ่มความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงินและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายBNM กำลังเดินหน้าที่สำคัญในการเข้าสู่การสร้างเศรษฐกิจอาเซียนที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเชื่อมั่นว่าความตกลง QAB นี้จะนำมาซึ่งการสร้างโอกาสทางธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศอันจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19”

แบงก์ไทยไปมาเลเซียได้ 2 ราย

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศได้จัดให้มีการบรรยายสรุปเรื่องการรวมตัวของภาคการธนาคารภายใต้กรอบอาเซียน (Qualified ASEAN Bank) โดยนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.
นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ธปท. ได้บรรลุผลการเจรจา Qualified ASEAN Bank (QAB) กับธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) โดย ธปท. พร้อมรับสมัครธนาคารพาณิชย์รายใหม่สัญชาติมาเลเซีย รวมถึงให้ความเห็นชอบธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ได้รับสิทธิประโยชน์ตามผลการเจรจา

QAB (Qualified ASEAN Banks) คือ ธนาคารสัญชาติอาเซียนที่ไปเปิดทำการในอีกประเทศอาเซียน ภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF)

โดยวัตถุประสงค์ของการมี QAB คือ หนึ่ง สนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ และขยายวงเป็นทั้งภูมิภาคในที่สุด และ สอง ส่งเสริมความร่วมมือภาคการธนาคารภายในภูมิภาคอาเซียน ทั้งระหว่างธนาคารและระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแล

QAB เป็นหนึ่งในการรวมตัวภาคการเงินตามแผนงานจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งการรวมตัวของภาคการเงินผ่านบทบาทของธนาคารในภูมิภาคจะมีบทบาทช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อรองรับการค้าการลงทุนในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

การเปิดเสรีภายใต้ AEC ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ สินค้า บริการและการลงทุน โดยในภาคบริการ แบ่งเป็นการเปิดเสรี ด้านบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย บริการทางการเงิน ระบบชำระเงิน และตลาดทุน

QAB มีจุดเริ่มต้นในปี 2557 หลังจากอาเซียนบรรลุแนวทางการเจรจาเปิดเสรีผ่านการจัดทำ ABIF Guidelines และในปี 2558 ประเทศในอาเซียนเริ่มการเจรจา และธปท.ได้ขออนุมัติกรอบการเจรจาจากกระทรวงการคลัง และสรุปผลการเจรจาในปี 2560

ปัจจุบันอาเซียนได้สรุปผลเจรจา QAB แล้วทั้งหมด 3 คู่ ซึ่งเป็นการเจรจาแบบทวิภาคีตามความพร้อมของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย มาเลเซีย-ไทย และ มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ ซึ่งในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มาเลเซียใช้สิทธิเป็น QAB ในอินโดนีเซีย 2 แห่ง

สำหรับคุณสมบัติของ QAB คือ 1) เป็นธนาคารสัญชาติอาเซียน 2) มีฐานะมั่นคงและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลทีป่ระเทศปลายทางกำหนด 3) ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต้นทาง

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ QAB จะได้รับ คือ 1) การเข้าสู่ตลาด 2) ความยืดหยุ่นด้านกฎเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ

สำหรับผลการเจรจา QAB ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ทั้งสองประเทศได้ตกลงให้สิทธิประโยชน์ตามหลักการต่างตอบแทน ด้วยการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีสัญชาติของอีกฝ่ายไม่เกิน 3 ราย โดยให้นับรวมธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจอยู่ในปัจจุบันด้วย ในกรณีของประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียรายใหม่จะสามารถจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) ในฐานะ QAB สัญชาติมาเลเซียในประเทศไทยได้เพิ่มอีก 1 ราย เนื่องจากปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยอยู่แล้ว 2 ราย ได้แก่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร อาร์ เอช บี

ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยรายใหม่จะสามารถจัดตั้ง Subsidiary ในฐานะ QAB สัญชาติไทยในประเทศมาเลเซียได้เพิ่มถึง 2 ราย เนื่องจากปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยที่ประกอบธุรกิจในประเทศมาเลเซียอยู่แล้ว 1 ราย คือ บางกอก แบงค์ เบอร์ฮาด

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า การเลือกเจรจา QAB กับมาเลเซียมาจากการพิจารณาคัดเลือกจากความต้องการของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ จากข้อมูลสถิติ มาเลเซียเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในอาเซียน การมี QAB จะเปิดโอกาสให้ ธนาคารพาณิชย์ขยายการประกอบธุรกิจในมาเลเซียได้ง่ายขึ้นและได้รับเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าปกติ

ธปท. ยังไม่ได้รับรายงานว่ามี ธพ. ไทยแห่งใดสนใจใช้สิทธิประโยชน์เป็น QAB และอยู่ระหว่างประสานงานกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) เพื่อแจ้งให้ทราบสิทธิประโยชน์ QAB

กระบวนการสมัครเป็น QABs สัญชาติมาเลเซีย เมื่อยื่นสมัครแล้ว ธปท.จะเสนอรายชื่อผู้สมัครที่สมควรมีสถานะเป็น QAB ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้การสมัครเป็น QAB มีด้วยกัน 3 แนวทาง

โดยในกรณีขอจัดตั้งใหม่ ผู้สมัครยื่นขอรับใบอนุญาต ต้องดำเนินการให้พร้อมเปิดภายใน 1 ปีหลังได้รับใบอนุญาต

ในกรณีขอความเห็นชอบ ที่ผู้สมัครต้องเปลี่ยนรูปแบบนิติบุคคล (RHB) และเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต ใน 1 ปีเช่นกัน ซึ่งธนาคาร อาร์ เอช บี ของมาเลเซียที่ปัจุบันดำเนินธุรกิจในรูปสาขาก็จะต้องขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างชาติ

กรณีขอความเห็นชอบ ที่ผู้สมัครไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งมีธนาคารซีไอเอ็มบีไทยที่แสดงความสนใจ ก็ต้องเปลี่ยนแปลง/แก้ไขใบอนุญาต

อย่างไรก็ตามธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังไม่ได้แจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการเพื่อขอแก้ไขใบอนุญาต จากปัจจุบัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร และเข้าใจว่าอาจจะหารือกับธาคารกลางมาเลเซียก่อนที่จะตัดสินใจ

ในกรณีที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยจะยื่นขอแก้ไขใบอนุญาต ก็จะมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารซีไอเอ็มบี ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามใบอนุญาตใหม่ คือ ธนาคารแม่สามารถถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ 95% และไม่มีข้อจำกัดในการแต่งตั้งกรรมการ

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนและการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ด้วยรูปแบบ QAB ยังอาจจะยังประเมินไม่ได้ เนื่องจากการใช้สิทธิ QAB มีขึ้นในปี 2562 ในคู่ของมาเลเซียกับอินโดนีเซีย รวมทั้งขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจของแต่ละธนาคารแต่เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อการค้า คู่ค้า และผู้บริโภค และที่สำคัญผู้ประกอบการจะมีความอุ่นใจจากการที่มีธนาคารของประเทศตนเองให้การดูแลเมื่อทำธุรกิจในต่างประเทศ

“อาเซียนเองก็อยากจะเห็นว่า QAB ได้ผล แต่ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะประเมินผลได้ที่เกิดขึ้น ดังนั้นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และคาดว่าในปี 2568 อาเซียนคงมีการประเมินประโยชน์และทบทวนหลักเกณฑ์”

ธปท. หวังว่า QAB จะช่วยต่อยอดให้เกิดความร่วมมือของภาคการเงินในระดับภูมิภาค และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินและยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทางเงิน รวมถึง ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้นในอนาคต