ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 28 พ.ค. – 4 มิ.ย. 2564
แอสตร้าฯของสยามไบโอไซเอนซ์ลอตแรก 1.8 ล้านโดสเริ่มฉีด 7 มิ.ย.
วันที่ 2 มิ.ย. 2564 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มทยอยส่งวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้กับทางไทยแล้ว โดยลอตแรกนี้มีจำนวน 1.8 ล้านโดส (ฉีดได้ 9 แสนคน) จากที่สั่งซื้อไว้ทั้งหมด 61 ล้านโดส ทั้งนี้ ลอตแรกนี้เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอฯ และยังมีการนำบางส่วนมาจากเกาหลีด้วย สอดคล้องกับที่ไม่ได้มีการจำกัดในการสั่งซื้อว่าต้องเป็นวัคซีนที่ผลิตในไทยเท่านั้น
ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนฉีดวัคซีน เพราะทาง สธ. ทำได้ตามแผนทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า
ไม่ได้คุยกัน ศบค. ชะลอมติ กทม. ยังไม่คลายล็อกสถานบริการ 5 ประเภท
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่การสื่อสารนโยบายจากทางหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐเป็นไม่ตรงกันจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และคราวนี้คือถึงขั้นบางคนต้องเดือดร้อน โดยเมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีมติผ่อนคลายมาตรการให้สถานบริการ 5 ประเภทเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป ได้แก่ พิพิธภัณฑ์, ร้านสัก, สถานเสริมความงาม, นวด/สปา และสวนสาธารณ
แต่แล้ว เพียงช่วงหัวค่ำของวันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ก็ประกาศว่าให้ใช้ประกาศฉบับเดิมไปก่อนอีก 14 วัน ซึ่งหมายความว่า ที่ กทม. ประกาศไว้ก่อนหน้านั้นว่าจะผ่อนคลายมาตรการ มีอันต้องยกเลิกไป งานนี้เดือดร้อนผู้ประกอบการต่างๆ ที่เตรียมตัวจะเปิดให้บริการในวันรุ่งขึ้น รวมถึงเหล่าลูกจ้างที่ก่อนหน้านี้อาจมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพราะสถานที่ทำงานปิดบริการตามมาตรการควบคุม และกำลังเดินทางกลับมาทันทีที่ กทม. มีประกาศว่าจะผ่อนคลายมาตรการ
เบรก อปท. ซื้อวัคซีนเอง ชี้ ต้องทำผ่านรัฐ
จากกรณีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามาจำหน่ายเป็นวัคซีนทางเลือกตัวแรกของไทยจำนวน 1 ล้านโดส ได้มาพร้อมข่าวที่ว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ติดต่อไปทางสถาบัน เพื่อใช้งบท้องถิ่นมาจัดซื้อวัคซีนจากจำนวนที่นำเข้านี้ เพื่อไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ของตนเอง
ทว่า ตามการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว การนำเข้าวัคซีนในระยะแรกจะต้องดำเนินการโดยรัฐเท่านั้น อปท. และภาคเอกชนจะยังจัดซื้อเองไม่ได้ ทำให้ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาเบรกเรื่องดังกล่าว โดยย้ำถึงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินข้างต้น พร้อมทั้งระบุว่า อปท. แต่ละแห่งมีงบประมาณไม่เท่ากัน ย่อมทำให้ซื้อวัคซีนได้จำนวนไม่เท่ากันไปด้วย อันจะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งทำให้ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังระบุว่ามีกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่จะทำให้การซื้อวัคซีนของ อปท. นั้นเป็นการใช้งบประมาณผิดประเภท อันจะทำให้มีปัญหากับทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดังนั้น ถ้า อปท. จะซื้อเอง ก็ต้องติดต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ทางกระทรวงอนุญาตให้การใช้งบประมาณซื้อวัควีนไม่เป็นการใช้งบประมาณผิดประเภท
เรื่องนี้ ทาง สตง. ชี้แจงว่าเข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วน แต่ตอนนี้อำนาจในการจัดการตามกฎหมายอยู่ที่ ศบค. ทั้งหมด ดังนั้น หากทาง ศบค. มีโนยบายลงมาว่าให้ อปท. จัดซื้อวัคซีนเองได้ นอกจากทาง สตง. จะไม่ติดแล้ว ยังจะช่วยให้คำแนะนำในการใช้งบประมาณอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
เรื่องนี้ สอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ. อนุพงษ์ ชี้แจงอีกครั้งในสภาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 กล่าวคือ หาก อปท. ประสงค์จะจัดซื้อวัคซีน ก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ศบค. และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ให้ ศบค. แจ้งไปที่ อปท. ว่าซื้อได้ แต่ต้องอยู่ใต้แผนของ ศบค. ซึ่งหมายคววามว่า หาก อปท. ประสงค์จะจัดซื้อก็ไม่สามารถทำด้วยตัวเองโดยตรงได้ ต้องติดต่อผ่านรัฐเท่านั้น
วัควีนคนไทยใกล้สำเร็จ เริ่มทดลองในคน มิ.ย. นี้
วันที่ 31 พ.ค. 2564 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ในโพสต์เฟซบุ๊กกวาง ไตรศุลี ไตรสรณกุล ระบุถึงความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฝีมือคนไทย หรือ ChulaCov19 ที่พัฒนาขึ้นโดย ศ. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับ Pfizer และ Moderna และเป็นวัคซีนที่ต่อยอดขึ้นมาเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา (B.1.351) และ สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) รวมถึงยังอาจพัฒนาให้รับมือกับสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) ได้อีกด้วย
นางสาวไตรศุลีระบุว่า ChulaCov19 กำลังจะเริ่มทดลองประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะแรกกับอาสาสมัคร 100 คนในเดือน มิ.ย. นี้ โดยจะใช้ผลการทดสอบเทียบกับตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในต่างประเทศ และแอสตร้าเซนเนก้าจากประเทศไทย หากผลการทดสอบพบว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน ChulaCov19 เทียบเท่าหรือดีกว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า ก็น่าที่จะขออนุมัติเป็นการพิเศษเพื่อให้วัคซีนถูกนำมาใช้ในประเทศโดยเร่งด่วนได้
วัคซีน ChulaCov19 ใกล้ความจริง เทียบชั้น Pfizer-Moderna เริ่มทดลองกับมนุษย์ มิ.ย.นี้
วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก…
Posted by กวาง ไตรศุลี ไตรสรณกุล on Sunday, May 30, 2021
เตรียมตรวจสอบการตายพิธีกรบีบีซีว่าเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าฯ หรือไม่
ลิซา ชอว์ พิธีกรของบีบีซี หลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก เธอมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงอยู่หนึ่งสัปดาห์ และ 2-3 วันต่อมาก็ป่วยหนักด้วยอาการลิ่มเลือดอุดตันและเลือดออกในศีรษะ ที่ทำให้ต้องรักษาอาการอยู่หลายวัน ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 21 พ.ค. 2564
ใบมรณบัตรของเธอมีการยืนยันว่า มีการพิจาณาถึง “อาการแทรกซ้อนจากการรับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า” ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิต เพราะการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ
อนึ่ง เท่าที่ทางบีบีซีทราบคือ พิธีกรท่านนี้ไม่มีปัญหาสุขภาพอื่นใดอยู่
สำนักงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักร ได้แสดงความเสียใจกับกรณีดังกล่าว และระบุว่าทาง MHRA ได้ประเมินรายงานการตรวจสอบการเสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมถึงการประเมินรายละเอียดการชันสูตรศพหลังเสียชีวิตถ้ามี เช่นเดียวกับปฏิกิริยาต้องสงสัยที่รุนแรงต่างๆ และ “ขณะนี้กำลังตรวจสอบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดน้อยอย่างละเอียด”
อย่างไรก็ดี MHRA ระบุว่า การเกิดกรณีดังกล่าวยังคง “ต่ำมาก”