ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศุกร์บอกไม่ล็อก–อาทิตย์ล็อกไม่บอก ราชกิจจาฯ สวนคำนายกฯ เผยแพร่กลางดึก” และ “ญี่ปุ่นมอบแอสตร้าฯ ให้ไทย 1.05 ล้านโดส”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศุกร์บอกไม่ล็อก–อาทิตย์ล็อกไม่บอก ราชกิจจาฯ สวนคำนายกฯ เผยแพร่กลางดึก” และ “ญี่ปุ่นมอบแอสตร้าฯ ให้ไทย 1.05 ล้านโดส”

4 กรกฎาคม 2021


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2564

  • ศุกร์บอกไม่ล็อก–อาทิตย์ล็อกไม่บอก ราชกิจจาฯ สวนคำนายกฯ เผยแพร่กลางดึก
  • พลิกอีกตลบ กทม. ขอยกเลิกข่าวเยียวยาผู้ค้ารายย่อยรายละ 5 พัน ตกเย็น ครม. ให้ 3 พัน
  • รวมความสับสนที่ภาครัฐสร้างแก่ประชาชนนับแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา
  • ญี่ปุ่นมอบแอสตร้าฯ ให้ไทย 1.05 ล้านโดส

  • ศุกร์บอกไม่ล็อก–อาทิตย์ล็อกไม่บอก ราชกิจจาฯ สวนคำนายกฯ เผยแพร่กลางดึก

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    “คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ เราใช้คำว่าควบคุมกิจการ พื้นที่ คลัสเตอร์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ… เป็นการควบคุมโรคเป็นพื้นที่เป็นกลุ่ม ถ้าพูดว่าล็อกดาวน์มันน่าตกใจไปหมด พูดว่าล็อกดาวน์คือทุกคนอยู่บ้าน มันก็มีปัญหาอีก”

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

    ข้อความข้างต้น เกิดขึ้นในวันที่ 25 มิ.ย. 2562 นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวว่าจะปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น พร้อมทั้งและย้ำว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่การล็อกดาวน์

    แต่แล้ว ผ่านไปได้เพียงวันเดียว พอถึงเวลา 01.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. 2564 ก็กลับมีประกาศข้อกำหนดเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่นอกจากจะมีข้อกำหนดเรื่องการปิดแคมป์ก่อสร้างดังที่นายกฯ กล่าวไปก่อนหน้า ยังมาพร้อมกับคำสั่งที่ให้ร้านอาหารต่างๆ งดการรับประทานในร้าน โดยให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว โดยเริ่มมีผลในวันที่ 28 มิ.ย. 2564

    สรุปข้อกำหนดดังกล่าว (ที่มา: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ)

      1.สั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง สั่งหยุดทำงานก่อสร้าง อย่างน้อย 30 วัน และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราว
      2.การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ โรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เปิดบริการเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
      3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึง 21.00 น. โดยงดให้บริการโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ ศูนย์อาหาร
      4.โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดได้ตามเวลาปกติ แต่ให้งดการจัดประชุม การสัมมนา และจัดเลี้ยง
      5.ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีบุคคลจำนวนรวมกันเกินกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค
      6.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการสั่งปิดเขตชุมชน หรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ — ราชกิจจาฯ ประกาศ คำสั่งล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 4 จังหวัดภาคใต้ มีผล 28 มิ.ย.
    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา — ข้อกำหนด ออกตำมความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๕)
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — โควิด-19: นายกฯ เลือกไม่ล็อกดาวน์กทม. แต่สั่งปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน จำกัดการเคลื่อนย้าย
    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ — นายกฯ สั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือน
    เว็บไซต์มติชนออนไลน์ — เดือด! จวก รบ.ประกาศล็อกดาวน์ ตอนตี 1 ชี้ไม่เห็นหัว ปชช. จี้ลาออก #ประยุทธ์ออกไป พุ่งติดเทรนด์

    พลิกอีกตลบ กทม. ขอยกเลิกข่าวเยียวยาผู้ค้ารายย่อยรายละ 5 พัน ตกเย็น ครม. ให้ 3 พัน

    ช่วงเช้าของวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ภายหลังประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ครั้งที่ 40/2564 ซึ่งมีการหารือถึงการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยในที่ประชุมได้ขอให้สำนักงานเขตสำรวจผู้ค้ารายย่อยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม สำนักงานเขตละ 200 ราย เพื่อรับเงินช่วยเหลือเยียวยา รายละ 5,000 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นทุนสำรองในการดำรงชีพของประชาชนต่อไป

    แต่แล้ว ณ เวลา 10.06 น. ของวันเดียวกัน เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังมีข่าวดังกล่าวออกไป ก็มีข่าวออกมาว่าทาง กทม. ได้ขอยกเลิกว่าจะมีการเยียวยาดังกล่าว โดยจินดารัตน์ ชโยธิน ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้แจ้งข้อความเรื่องการขอยกเลิกดังกล่าวในกลุ่มไลน์สื่อมวลชนประจำ กทม. ด้วยการระบุว่า “รบกวนสื่อช่วยลบข่าวนี้ออกจากหน้าเพจของต้นสังกัดด้วยนะคะ เป็นความเข้าใจผิดของจนท.ข่าวของสำนักประชาสัมพันธ์กทม.ซึ่งหากเผยแพร่ออกไปจะสร้างให้เกิดความเข้าใจผิดกับประชาชนอย่างมาก ต้องขออภัยด้วยนะคะ”

    อย่างไรก็ดี ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมรมติให้เยียวยาผู้ค้ารายย่อยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนของประกันสังคม รายละ 3,000 บาท โดยต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ PPTVHD36 — เช็กเลย! กทม.เคาะเยียวยา 5,000 บาท ให้ผู้ค้า 10,000 ราย บวกของรัฐบาล ได้ 8,000 บาท
    เซบุ๊กแฟนเพจกรุงเทพธุรกิจ — ถูกเบรก? “กทม.”แจ้งขอยกเลิกข่าวจ่ายเยียวยา “ผู้ค้า” 5 พันบาท กลุ่มนอกประกันสังคม แจงเป็นความเข้าใจผิด จนท.สำนักประชาสัมพันธ์ รอตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง

    รวมความสับสนที่ภาครัฐสร้างแก่ประชาชนนับแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา

    ตลอดปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาครึ่งปี การมีคำสั่งที่สร้างความสับสนแก่ประชาชนของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบที่เกิดขึ้นในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 อย่างหนึ่งแต่ในประกาศของราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 27 มิ.ย. 2564 (ประกาศลงวันที่ 26 มิ.ย. 2564) กลับบอกอีกอย่างหนึ่ง หรืออย่างการขอยกเลิกข่าวการเยียวยาผู้ค้ารายย่อยรายละ 5,000 บาท ได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งคราว ดังนี้

    ไม่ทันข้ามวัน นายกฯ ฉีกประกาศ กทม. ยอมให้กินข้าวในร้านได้ถึงสามทุ่ม

    วันที่ 4 ม.ค. 2564 ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการออกประกาศของกรุงเทพมหานคร ที่มีการพิจารณาเวลาเปิดทำการของร้านอาหาร และเห็นชอบให้จำหน่ายอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้านได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 19.00 น. จากนั้นเวลา 19.00 น. ถึง 06.00 น. หากทีการจำหน่าย ต้องเป็นการจำหน่ายให้นำกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น

    ทว่า ประกาศดังกล่าวของกรุงเทพมหานครออกมาได้ไม่ทันข้ามวัน และไม่ทันถึงเวลา 19.00 น. ของวันที่ประกาศ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็แถลงหลังการประชุมกับ ศบค. ว่า การจำหน่ายอาหารแบบรับประทานที่ร้านนั้นให้ทำได้จนถึงเวลา 21.00 น. เนื่องจากได้รับข้อเสนอจากสมาคมภัตตาคารไทยมา

    ศบค. หัก สธ. ไม่ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด แค่ “ทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา”

    วันที่ 4 มกราคม 2564 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ที่ประชุม ศบค. ได้ตัดสินใจตามข้อเสนอแนะ ที่จะล็อกดาวน์ 5 จังหวัดที่มีตัวเลขการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนมากและมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด โดยงดเดินทางเข้าออก ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาต

    ทว่าในวันที่ 5 ม.ค. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ก็ชี้แจงถึง 5 จังหวัดดังกล่าวว่า เมื่อถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จะให้อำนาจฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข เข้าไปกระชับพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ และดูแลไม่ให้มีการแพร่กระจายของโรค พร้อมกับย้ำด้วยว่า “ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา”

    ทวีศิลป์กลับลำ ไม่โหลด “หมอชนะ” ไม่ผิดกฎหมาย

    วันที่ 7 ม.ค. 2564 สื่อต่างๆ ประโคมข่าวคำกล่าวของโฆษก ศบค. ที่ว่า “ต่อไปนี้หากเจ้าหน้าที่พบว่าใครที่ติดโรค COVID-19 และพบว่าไม่มีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ก็จะถือว่าละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 17”

    งานนี้ทำเอาโลกออนไลน์แทบลุกเป็นไฟ ร้อยถึงอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า ตนได้นำเรียนกับ นายกฯ ว่าประกาศจะเป็นการทำให้ประชาชนมีปัญหามากขึ้น เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่มีโทรศัพท์ หรือมีโทรศัพท์ที่ไม่สามารถโหลดแอปหมอชนะได้ ซึง่นายกฯ เห็นด้วยจึงแก้ไขคำสั่งให้ใช้เอกสารแทน และอนุทินก็ยืนยันว่าการไม่โหลดแอปหมอชนะนั้นไม่มีความผิดแต่อย่างใด

    ทว่าต่อมา อนุทินกลับลบข้อความดังกล่าวไปโดยไม่ได้แจ้งสาเหตุ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์

    ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ More ทวีศิลป์ เพื่อขออภัยที่ทำให้ทุกคนเข้าใจผิด พร้อมทั้งชี้แจงเพิ่มเติมถึงข้อความเต็มๆ ว่า “หากท่านติดเชื้อ และปิดบังข้อมูล..รวมถึงไม่พบแอปหมอชนะมีความผิดตามข้อกำหนด”

    ขออภัยครับ
    หากทำให้เข้าใจผิด…
    ในข้อความเต็มคือหากท่านติดเชื้อ และปิดบังข้อมูล..รวมถึงไม่พบแอปหมอชนะมีความผิดตามข้อกำหนดครับ

    Posted by More ทวีศิลป์ on Thursday, January 7, 2021


    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์มติชนออนไลน์ — กทม.ติดเชื้อโควิดแล้ว 229ราย ตาย 1 เข้มห้ามนั่งกินในร้าน 1ทุ่ม-6 โมงเช้า เริ่มพรุ่งนี้
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — นายกฯ หักผู้ว่าฯ กทม. สั่งใหม่ นั่งกินที่ร้านได้ถึง 3 ทุ่ม
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ด่วน ศบค. ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด งดเดินทางเข้า-ออก คุมโควิด-19
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — โควิด-19: ยกระดับ 5 จังหวัด เป็นพื้นที่ “ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — อนุทิน โร่แจงปมวุ่น หลัง ‘หมอทวีศิลป์’ บอกใครไม่โหลดแอพ ‘หมอชนะ’ อาจติดคุก!
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ More ทวีศิลป์
    เว็บไซต์ไทยพับลิก้า — บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19

    ญี่ปุ่นมอบแอสตร้าฯ ให้ไทย 1.05 ล้านโดส

    29 มิ.ย. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีน #Astrazeneca จำนวน 1.05 ล้านโดส ให้รัฐบาลไทย โดยจะมีการลงนามบ่ายวันนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ

    รัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีน #Astrazeneca จำนวน 1.05 ล้านโดส ให้รัฐบาลไทย โดยจะมีการลงนามบ่ายวันนี้! (29 มิถุนายน 2564)…

    Posted by รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล on Tuesday, June 29, 2021

    นายกรัฐมนตรีขอบคุณในไมตรีจิตและความห่วงใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้มอบ #วัคซีนโควิด19 ให้กับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย โดยจะจัดส่งให้ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มอบวัคซีนให้ไต้หวันและเวียดนามแล้ว

    วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนการบริจาคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของฝ่ายไทย เพื่อรับมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca จากรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 1.05 ล้านโดส โดยสาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระบุให้รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็น ดังนี้

    1.นำวัคซีนโควิด-19 ไปใช้อย่างเหมาะสมและเป็นการเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย โดยห้ามใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการทหาร

    2.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ยกเว้นรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ ซึ่งครั้งนี้ ไทยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งจากญี่ปุ่น ประมาณ 10- 99 ล้านเยน หรือ 2.9 – 28.7 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุข มีงบประมาณรองรับส่วนนี้ไว้แล้ว

    3.เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เมื่อได้รับการร้องขอ

    4.ไม่ส่งต่อวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคคล หน่วยงาน รัฐบาลอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการล่วงหน้า

    5.รายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ ข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนจะจัดทำโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ และหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐบาลไทย คือกระทรวงสาธารณสุข

    สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ที่รัฐบาลญี่ปุ่น จะส่งมอบให้รัฐบาลไทย มี 2 ประเภท ได้แก่ 1)ผลิตโดยใช้หัวเชื้อยาจากโรงงานบริษัท Catalent ของสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท KM Biologics Co., Ltd. ของญี่ปุ่นเป็นผู้ผสมและบรรจุวัคซีน และ 2)ผลิตโดยใช้หัวเชื้อยาจากโรงงานบริษัท Catalent ของสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท Daiichi Sankyo Co., Ltd. ของญี่ปุ่นเป็นผู้ผสมและบรรจุวัคซีน

    อ่านเพิ่มเติม
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ รัชดา ธนาดิเรก — รัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีน #Astrazeneca จำนวน 1.05 ล้านโดส ให้รัฐบาลไทย โดยจะมีการลงนามบ่ายวันนี้! (29 มิถุนายน 2564) ที่กระทรวงการต่างประเทศ