ThaiPublica > คอลัมน์ > ผิดหวังพฤติกรรมมนุษย์

ผิดหวังพฤติกรรมมนุษย์

1 พฤษภาคม 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

แนวคิด “Less is More” (“น้อยลง” คือ “มากขึ้น”) ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในปัจจุบัน แต่มีอุปสรรคเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ที่ชอบจะคิดในเชิง “บวกเลข” มากกว่า “ลบเลข” นักจิตวิทยาได้ศึกษาหาความจริงเพื่อแก้ไขไม่ให้โลกเต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ขยายมากขึ้นทุกทีอย่างขาดสมดุล

“Less is More” เป็นวลีที่ Robert Browning กวีเอกชาวอังกฤษ ใช้เป็นคนแรกใน ค.ศ. 1855 และใช้กันต่อ ๆ มาในความหมายว่าสิ่งที่มีขนาดเล็กสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าสิ่งที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีนัยยะว่าสิ่งที่ง่ายและธรรมดาสามารถเหนือกว่าสิ่งที่มากล้นได้ เช่น การพูดที่กระชับและสั้นสร้างความเข้าใจได้ดีกว่าการพูดที่ยาวเยิ่นเย้อ ทรัพยากรไม่ว่าเงินหรือเวลาหากใช้อย่างประหยัดและถูกกาละเทศะก็เกิดประโยชน์กว่าการมีมาก ๆ

สถาปัตยกรรมที่ธรรมดาบนไอเดียที่ไม่ฟู่ฟ่าใช้วัสดุน้อย กะทัดรัดนำไปสู่แนวคิด minimalist (มาจาก minimum) ในศิลปะ แนวคิด “จิ๋วแต่แจ๋ว” และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในเวลาต่อมา หัวใจของ “Less is More” คือ “น้อยลง” ซึ่งจะทำให้เกิดการ “มากขึ้น”

วารสาร Nature ของเดือนเมษายน 2021 ตีพิมพ์บทความซึ่งมาจากการศึกษาของทีมอาจารย์จาก University of Virginia โดยใช้ข้อมูลจากการสังเกตการทดลองหลายรูปแบบ เช่น การต่อบล็อก Lego และแก้ไขเรียงความ ทีมงานพบว่าผู้เป็นตัวทดลองส่วนใหญ่จะเพิ่มบล็อกเข้าไปเพื่อปรับโครงสร้างของบล็อกที่ต่ออยู่แล้ว มีส่วนน้อยที่คิดจะรื้อเอาของเก่าออก ในการทดลองให้แก้ไขเรียงความ ส่วนใหญ่เพิ่มข้อความมีส่วนน้อยมากที่ตัดข้อความให้น้อยลง

มีการทดลองกับมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐให้เสนอคำแนะนำในการปรับปรุงมหาวิทยาลัย ข้อเสนอส่วนใหญ่มีแต่การเพิ่มขึ้นแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าหลักสูตรหรือทุนการศึกษา มีข้อเสนอน้อยมากที่เกี่ยวกับการเลิกหรือยุบ

ข้อสรุปที่ได้ก็คือการแก้ไขด้วยการเพิ่มหรือใช้แนวทางการ “บวกเลข” (addition) เป็นที่นิยมมากกว่าการลดน้อยลงหรือแนวทางการ “ลบเลข” (subtraction) เป็นอันมาก ซึ่งสวนทางกับแนวคิด “Less is More” อย่างจัง

ดังนั้นเราจึงเห็นแต่การเพิ่มในแทบทุกสิ่งในโลกเพื่อแก้ไขปัญหา ยากนักที่จะเห็นการแก้ไขด้วยการลดหรือตัดให้น้อยลง

มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีสิ่งที่เห็นกันส่วนใหญ่ก็คือเพิ่มหลักสูตรแปลกใหม่ เพิ่มวิชา เพิ่มกิจกรรมการศึกษา มีไอเดียใหม่ ๆ ในการเรียนการสอน ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยเห็นคือการแก้ไขในแนวทางตรงกันข้าม เช่นการพิจารณยุบเลิกหลักสูตรเก่า ทบทวนลดกิจกรรมการศึกษาบางอย่าง ลดจำนวนผู้สอน ปรับตัดบางวิชาเพื่อแก้ไขหลักสูตร ลดการค่าใช้จ่าย ฯลฯ

เหตุใดพฤติกรรมมนุษย์จึงเป็นไปในทิศทางของการเพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง? คำตอบที่ทีมงานพบก็คือ

(

    1) มนุษย์ไม่ได้คิดถึงด้าน “ลบเลข” เลยแม้แต่น้อย
    (2) มีความเป็นไปได้ว่ามนุษย์คิดพิจารณาทางเลือกด้าน “ลบเลข” เพียงแต่ตัดสินใจไม่เลือก

นักจิตวิทยาชื่อ Daniel Kahneman ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ ใน ค.ศ. 2020 จากการบุกเบิกความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เขาพบว่ามนุษย์นั้นขี้เกียจในการคิดจนมักใช้สัญชาตญาณ หรือสิ่งที่เรียนรู้จากอดีตมาใช้ในการตัดสินใจ

เขาให้โจทย์เลขง่าย ๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ขี้เกียจคิด และมักตัดสินใจตอบอะไรแบบง่าย ๆ และคิดว่าใช้ได้แล้ว โจทย์ข้อนี้ได้เอาไปถามนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ปรากฎว่าตอบถูกเพียงครึ่งหนึ่งของนักศึกษาในห้องเท่านั้น

คำถามมีว่าถ้าไม้ปิงปองและลูกมีราคารวมกัน $1.10 และไม้ปิงปองมีราคามากกว่าลูกปิงปองอยู่ $1 คำถามคือลูกปิงปองมีราคาเท่าใด? พอจบคำถามก็มีคำตอบมาทันทีว่า 10 เซนต์ ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด คำตอบที่ถูกคือ 5 เซนต์ หากคิดสักนิดก็จะตอบได้ถูกแต่มนุษย์ส่วนใหญ่ขี้เกียจคิดจึงตอบทันที

การขี้เกียจคิดและรีบตอบตามสัญชาติญาณคือคำตอบข้อ (1) ที่อธิบายว่าเหตุใดจึงไม่คิดด้าน “ลบเลข” เลย เพราะมันยากกว่าด้าน “บวกเลข” เนื่องจาก “ลบเลข” หรือตัดทอนลดโครงการหรือทรัพยากรนั้น ต้องพิจารณาว่าจะตัดตรงที่ใด มากน้อยเพียงใดซึ่งปวดหัวมากกว่า ส่วนการ “บวกเลข” คือการขยายหรือเพิ่มสร้างโครงการใหม่นั้นง่ายกว่ามาก

สำหรับคำตอบข้อ (2) ที่ว่าอาจคิดพิจารณาการ “ลบเลข” แต่ไม่เลือกนั้นก็เพราะว่าการ “ลบเลข” นั้น มีผู้เสียประโยชน์ เช่นตัดลดโครงการปรับหรือเลิกหลักสูตร ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่ปัญหาได้ ดังนั้นจึงเลือกที่จะสร้างหรือขยายโครงการมากกว่า อีกทั้งภาพฉาบฉวยของการขยายคือความก้าวหน้า ส่วนภาพการ “ลบเลข” คือการถอยหลัง

ทีมนักจิตวิทยานี้แสดงให้เห็นว่าฝังลึกในพฤติกรรมมนุษย์คือการตัดสินใจเพิ่มขยายสิ่งต่าง ๆ เพราะง่ายในการคิด ดังนั้นแนวคิด “Less for More ” ซึ่งชี้แนะการดำรงชีวิตอย่างง่าย พอเพียงและประหยัดทรัพยากรจึงต้องเผชิญหน้ากับการคิดแนว “บวกเลข” ของมนุษย์อยู่เสมอ

การแก้ไขปัญหาการบริโภคเกินความพอดีและการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างไร้ขีดจำกัดจึงมีความซับซ้อนเพราะเกี่ยวพันกับพฤติกรรมแนว “บวกเลข” ของมนุษย์

การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อชี้นำและบังคับให้มนุษย์มีพฤติกรรมในการคิดที่รอบด้านและรอบคอบจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกของเรา

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 27 เม.ย. 2564