นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการเตรียมความพร้อมเร่งกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ทั่วถึงอย่างเร่งด่วนตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้สำนักงานประกันสังคม บูรณาการร่วมกับภาคเอกชนทุกภาคส่วนและ สปสช. กลุ่มผู้ประกันตนเสี่ยงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยในกลุ้ม 7 โรคเรื้อรัง ส่งขอมูลให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวได้ลงทะเบียนหมอพร้อมไปแล้ว
สำหรับในด้านการบริหารจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระยะแรก โดยจะเริ่มดำเนินงานฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน ในต้นเดือนมิถุนายน 2564 สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง ได้ประสานไปยังสถานประกอบการให้ส่งข้อมูลรายชื่อผู้ประกันตนที่ต้องการฉีดวัคซีนผ่านระบบ Web-Sevice โดยมีผู้ประสงค์ฉีดทั้งหมดมากถึง 80% พร้อมจัดหาสถานที่เพื่อฉีดวัคซีน
ในขณะนี้ 45 แห่ง โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ในการฉีดวัคซีน พร้อมแพทย์ พยาบาลในสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว ในระยะถัดไปในเดือนกรกฎาคม 2564 จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนใน 9 จังหวัดเศรษฐกิจ อีก 22 แห่ง จากนั้นจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
นายนนทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากการเร่งตรวจสอบฐานข้อมูลของกลุ่มผู้ประกันตนตามสถานประกอบการต่างๆของกระทรวงแรงงาน พบผู้ประกันตนจำนวนประมาณ 6 ล้านคน มีผู้ประกันตนประมาณร้อยละ 80 ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 80 แห่งทั่วประเทศยินดีให้ความช่วยเหลือในการฉีดวัคซีน ซึ่งในเดือนมิถุนายน ที่มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกจำนวน 1.5 ล้านโดส ได้วางแผนเตรียมการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ลงทะเบียนเข้ามาแล้ว จำนวนประมาณ 2 ล้านคน
ในเบื้องต้น ผู้ประกอบการใดที่แจ้งเข้ามาก่อนจะได้สิทธิก่อน โดยจะทยอยดำเนินการในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม นี้ โดยให้สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 12 เขต ประสานหน่วยงานในท้องที่ ทั้งในส่วนราชการ โรงพยาบาลเอกชน ในการจัดพื้นที่ในการฉีดวัคซีน เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ที่ใกล้เคียงกับสถานประกอบการ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมและวางแผนอย่างชัดเจน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งคณะทำงานจำนวน 6 ชุดเพื่อดำเนินการตามแผนการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ประกันตนแล้ว
โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กรณีการลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ นั้น ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังดำเนินการที่ชัดเจน ขอให้มั่นใจว่า การลงทะเบียนจะไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากข้อมูลที่ลงทะเบียนจะไปอยู่ในฐานเดียวกัน
สำหรับโรงพยาบาลที่ใช้รองรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมนั้น เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ได้มีการเชิญชวนเข้ามาเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญา ซึ่งมีกว่า 80 แห่ง โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการตรวจ Swab หากพบว่าบุคคลใดติดเชื้อโควิด-19 จึงจะส่งรักษาตามสิทธิ์ของแต่ละบุคคล ยืนยันว่า Hospitel มีจำนวนเพียงพอ สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติมได้อีก 5 – 6 พันเตียง สำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้ว สามารถติดต่อไปยังสายด่วน 1506 มีคู่สายในช่วงเวลาทำการกว่า 200 คู่สาย เพื่อช่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงถึงการเยียวยาลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและโดนเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการ หรือลดคนงาน นั้น นายจ้างจะต้องแจ้งประกันสังคมก่อนเลิกจ้าง เพื่อให้ประกันสังคมจ่ายเงินว่างงานแก่ลูกจ้างที่โดนเลิกจ้างหรือลาออก ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์จากเดิมร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นร้อยละ 70 ของเงินเดือน ภายในระยะเวลา 200 วัน โดยร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดูแลผู้ประกันตน หากลูกจ้างเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้าง
โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม ยังเผยถึงมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกอบการ อาทิ การลดอัตราเงินสมทบทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ในเดือนมิถุนายน – สิงหาคม จากเดิมร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 รวมกับมาตรการต่อระยะเวลาโครงการ ม. 33 เพิ่มเงินให้แก่ผู้ร่วมโครงการอีก 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 บาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่าหนึ่งแสนล้านบาท พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการเสริมสภาพคล่องให้แก่นายจ้าง โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) กรณีขอสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ต่อปี กรณีการขอสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกันดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี โดยกระทรวงแรงงานยังขอความร่วมมือให้คงการจ้างงานอย่างน้อยร้อยละ 80 เพื่อให้ลูกจ้างได้มีงานทำ และกระทรวงแรงงานยังเร่งเดินหน้าเรื่องการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากประกาศปิดสถานประกอบการในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ด้วย