ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ตั้งแต่ 26 เมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 เครื่องบิน Air China 3 ลำ ทยอยบินมาลงยังสนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์, สนามบินนานาชาติ กรุงพนมเปญ และสนามบินนานาชาติ กรุงย่างกุ้ง
เครื่องบินแต่ละลำบรรทุกกล่องพัสดุขนาดใหญ่ ลำละไม่น้อยกว่า 10 กล่อง ที่ถูกปกคลุมไว้อย่างแน่นหนา ควบคุมอุณหภูมิ ไม่ยอมให้อากาศจากภายนอกแทรกซึมเข้าไปได้ ด้านข้างของทุกกล่องเขียนอักษรภาษาอังกฤษสีแดง CHINA AID
ในกล่องเหล่านี้คือวัคซีน Sinopharm ซึ่งผลิตโดย China National Pharmaceutical Group ที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดส่งมาช่วยลาว กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทั้งรุนแรงและรวดเร็ว
วัคซีน Sinopharm 300,000 โดส เดินทางถึงสนามบินนานาชาติวัดไต สปป.ลาว ในตอนเย็นวันที่ 26 เมษายน อีก 400,000 โดส เดินทางถึงสนามบินนานาชาติพนมเปญ กัมพูชา ตอนค่ำวันที่ 29 เมษายน และอีก 500,000 โดส มาถึงสนามบินนานาชาติย่างกุ้งของเมียนมา ในวันที่ 2 พฤษภาคม
มีเมียนมาเพียงประเทศเดียวที่เพิ่งได้รับวัคซีน Sinopharm ลอตแรก อันเป็นความช่วยเหลือจากจีน ส่วนวัคซีนที่ลาวและกัมพูชาได้รับรอบนี้ เป็นความช่วยเหลือลอตที่ 3 แล้ว ที่จีนส่งให้กับประเทศทั้งสอง…

หลังโควิด-19 เริ่มระบาดในเมียนมาระลอกแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 จีนเคยให้ความช่วยเหลือโดยส่งอุปกรณ์การแพทย์ หน้ากากอนามัย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาแก่กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา แต่ยังไม่เคยบริจาควัคซีนให้มาก่อน
ก่อนการรัฐประหาร รัฐบาลเมียนมาที่มีพรรค NLD เป็นแกนนำ ได้สั่งซื้อวัคซีน COVISHIED จากประเทศอินเดียจำนวน 30 ล้านโดส อองซาน ซูจี แกนนำพรรค NLD ออกมาแถลงเรื่องนี้ด้วยตนเองทางสถานีโทรทัศน์ MRTV ตอนเช้าวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นเหมือนสารอวยพรวันปีใหม่สากลที่เธออยากบอกแก่ประชาชนเมียนมา
COVISHIED คือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่อินเดียพัฒนาร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มอบหมายให้สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) เป็นผู้ผลิต
วันที่ 22 มกราคม อินเดียได้ส่งวัคซีน COVISHIED ลอตแรกมาให้เมียนมาก่อน 1.5 ล้านโดส เป็นลอตให้ฟรีตามโปรแกรมความช่วยเหลือที่อินเดียมอบแก่ประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงสาธารณสุขและกีฬานำวัคซีนลอตนี้ไปฉีดแก่คนที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นก่อน 7.5 แสนคน ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม
หลังการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 อินเดียค่อยเริ่มส่งวัคซีนลอตที่เป็นการสั่งซื้อแก่เมียนมา
รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ระบุว่าอินเดียได้ส่งวัคซีนให้เมียนมาแล้ว 2 ล้านโดส จากยอดสั่งซื้อ 30 ล้านโดส คงเหลือวัคซีนที่อินเดียต้องทยอยส่งมอบให้อีก 28 ล้านโดส
เมื่อรวมกับลอตแรกที่เป็นการให้ฟรี 1.5 ล้านโดส ปัจจุบันเมียนมาได้รับวัคซีน COVISHIED จากอินเดียแล้วทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส

ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ถึง 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาได้ฉีดวัคซีน COVISHIED ให้ประชาชนเมียนมาทั่วประเทศแล้ว 1.88 ล้านคน ในนี้เป็นผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มแรก 1.54 ล้านคน และมีผู้ที่ได้ฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 3.4 แสนคน
คงเหลือวัคซีน COVISHIED ในสต็อกของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬาอีก 1.62 ล้านโดส ที่จะทยอยฉีดเป็นเข็ม 2 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แก่ผู้ที่ถูกฉีดเข็มแรกไปแล้ว (ดูรายงานภาพรวมเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2564)

ยอดวัคซีนที่ถูกฉีดไปแล้วนี้ ไม่รวมถึงวัคซีน Sinopharm 500,000 โดสลอตแรก ที่จีนเพิ่งส่งมาช่วยเมียนมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม
นอกจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐสภาแล้ว รัฐบาลเมียนมาได้ใช้วิธีตั้งกองทุน ระดมเงินจากประชาชนทั่วประเทศมาซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19
วันที่ 6 มกราคม 2564 กระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพเปิดบัญชีกับธนาคาร Myanma Economic Bank สาขากรุงเนปิดอ 2 บัญชี ได้แก่ บัญชีเลขที่ EDC 600012 สำหรับรับบริจาคเงินที่เป็นสกุลต่างประเทศ ตั้งเป้ารับบริจาคไว้ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 338 พันล้านจัต และบัญชีเลขที่ OA 013733 เพื่อรับบริจาคเงินสกุลจัต ตั้งเป้ารับบริจาคไว้ 1 พันล้านจัต
27 เมษายนที่ผ่านมา อู วิน เฉ่ง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการระดมทุนเพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 สรุปยอดเงินบริจาคจากประชาชน ระหว่างวันที่ 6 มกราคมถึง 23 เมษายน 2564 ใน 2 บัญชี มีผู้บริจาครวม 10,093 คน ได้รับเงินทั้งสิ้น 29,784.25 ล้านจัต กับอีก 3,140,149.53 ดอลลาร์ เมื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนของภาครัฐ ขณะนี้เมียนมามีเงินทุนสำหรับซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 30,784.25 ล้านจัต และ 253.14 ล้านดอลลาร์
รัฐบาลเมียนมาได้จ่ายเงินให้รัฐบาลอินเดียไปแล้ว 75 ล้านดอลลาร์ สำหรับซื้อวัคซีน COVISHIED 30 ล้านโดส เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ดังนั้นจึงเหลือเงินสำหรับใช้ซื้อวัคซีนอยู่อีก 178.14 ล้านดอลลาร์ ในบัญชีที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ
ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เมียนมากำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ที่เริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2563 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างชัดเจน หลังผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน
วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ทั่วเมียนมา มีผู้ป่วยสะสม 376 คน หายป่วยแล้ว 331 คน เหลือรักษาตัวอยู่เพียง 39 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย
27 กันยายน 2563 ก่อนเริ่มต้นการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ป่วยสะสมในเมียนมาเพิ่มมาเป็น 10,734 คน หายป่วยแล้ว 2,862 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 7,646 คน และเสียชีวิตรวม 226 ราย
7 พฤศจิกายน 2563 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 1 วัน ผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 60,348 คน หายป่วยแล้ว 44,666 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 14,286 คน เสียชีวิตรวม 1,396 ราย
31 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหาร เมียนมามีผู้ป่วยสะสม 140,145 คน หายป่วยแล้ว 125,072 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 11,942 คน เสียชีวิตรวม 3,131 ราย
จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา ต้องระดมกำลังแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้น
ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 การตรวจคัดกรองเชื้อจากประชาชนทั่วประเทศ ทำได้เฉลี่ยวันละ 20,000 คน ประชากรเมียนมาที่ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 มี 780,572 คน เพิ่มเป็น 2,390,347 คน ในวันที่ 31 มกราคม 2564 มีผู้ป่วยใหม่ที่ถูกตรวจพบแต่ละวันเพิ่มเฉลี่ยวันละ 800-1,000 คน

แต่หลังเกิดรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แม้ยังคงมีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอยู่ทุกวัน แต่ประสิทธิภาพการตรวลดลงไปมาก โดยเฉพาะหลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา
สาเหตุสำคัญเพราะ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมหยุดงานประท้วงการรัฐประหาร ตามกระบวนการอารยะขัดขืน (CDM) โรงพยาบาลในหลายเมืองหยุดรับคนไข้ใหม่ ทำให้เหลือแพทย์ พยาบาล ที่ยังทำงานอยู่น้อยลง ส่วนใหญ่เป็นแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลทหาร
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวนประชากรที่ได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แล้ว มี 2,399,366 คน เพิ่มเป็น 2,587,501 คน ในวันที่ 7 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นเพียง 188,135 คน ในเวลา 3 เดือนเศษ ความสามาถในการตรวจหาเชื้อลดเหลือเฉลี่ยวันละ 1,500 คน และพบผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยวันละ 15-20 คน เท่านั้น
ยอดผู้ป่วยสะสมของเมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มี 140,354 คน หายป่วยแล้ว 125,324 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 11,892 คน เสียชีวิตรวม 3,138 ราย
วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ผู้ป่วยสะสมในเมียนมาเพิ่มเป็น 142,934 คน หายป่วยแล้ว 132,004 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 7,720 คน เสียชีวิตรวม 3,210 ราย
3 เดือนเศษนับแต่เกิดการรัฐประหาร จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 สะสมในเมียนมาเพิ่มขึ้นเพียง 2,580 คน คนที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,680 คน ผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ลดลง 4,172 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 72 ราย
ขณะที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก ออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน ตามเมืองใหญ่น้อยหลายแห่ง รวมถึงการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ และการอพยพหนีภัยจากสงครามในหลายหมู่บ้าน เกิดขึ้นให้เห็นอยู่ทุกวัน!!!
ตัวเลขที่นำมาเสนอเหล่านี้ เป็นสถิติอย่างเป็นทางการที่กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมารวบรวมไว้ และเผยแพร่สู่สาธารณะทุกวัน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักว่า โควิด-19 ยังไม่ได้ไปไหน ยังคงระบาดต่อเนื่องอยู่ในเมียนมา
แต่ที่น่าห่วง คือ ตามพื้นที่เขตปกครองตนเองชายแดนเมียนมา-จีน ในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่เหล่านี้ เมื่อมีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ฝ่ายสาธารณสุขของจีนในพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกันจะข้ามมาช่วยเหลือ ดูแลรักษาร่วมกับฝ่ายสาธารณสุขในท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา มีบทบาทร่วมในการรักษาน้อยมาก
สำคัญที่สุด คือ สถิติ ข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ตามพื้นที่เหล่านี้ ไม่ได้ถูกนำไปรวมไว้ในฐานข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ไม่มีโอกาสรับรู้สถานการณ์ที่เป็นจริงของแต่ละพื้นที่เลยว่าเป็นเช่นไร…

ช่วงคริสต์มาสต์ปีที่แล้ว พื้นที่เขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า ได้พบการระบาดของโควิด-19 ต้นตอการระบาดเกิดจากหญิงชาวจีนคนหนึ่ง ที่เดินทางมาจากเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ไปพักในเขตว้าที่เมืองป้อก ก่อนข้ามกลับเข้าจีนผ่านชายแดนเมืองป๋างซาง (ปางคำ) เมืองหลวงของสหรัฐว้า
หญิงผู้นี้ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ที่ด่านคัดกรองในฝั่งจีน (ดูแผนที่เส้นทางการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในเขตว้า ประกอบ)
มีการประกาศล็อกดาวน์เมืองลา เมืองป้อก และป๋างซาง ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ห้ามประชาชนออกนอกบ้านยกเว้นจำเป็น ธุรกิจ ร้านค้า โรงเรียน ทุกแห่งถูกสั่งปิด


เมืองลาอยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากเมืองฮาย ในสิบสองปันนา ข้ามฝั่งมาตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้นอยู่ในเมืองลา อย่างไรก็ตาม ในเมืองลาไม่พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19
สหรัฐว้าอยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ก่อนโควิด-19 ระบาดในเขตว้า กองกาชาดเมิ่งเหลียนได้นำอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT/PCR มูลค่า 3,140,000 หยวน หรือประมาณ 477,421 ดอลลาร์สหรัฐ 1 เครื่อง มามอบให้ฝ่ายสาธารณสุขของว้าเพื่อช่วยเหลือในภารกิจป้องกันโควิด-19

เมื่อเกิดการระบาดในช่วงคริสต์มาส มีการระดมทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์จำนวนมากจากเมิ่งเหลียน ข้ามมาตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตว้า
ว้าเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์จึงค่อยคลี่คลาย มียอดผู้ป่วยสะสมประมาณ 160 คน
เป่า โหย่ว เสียง ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐว้าเอง ยังต้องเดินทางข้ามเข้าไปในจีน เพื่อให้แพทย์จีนเฝ้าดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 เพิ่งกลับเข้าไปยังเมืองป๋างซาง เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 เพจ Wa Nation society lifestyle โพสต์คลิปการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับทหารว้า โดยไม่ได้บอกรายละเอียดใดๆ จากนั้นอีก 2 วัน ได้โพสต์คลิปการสัญจรบนถนนในเขตว้าที่กลับมาเป็นปกติ รวมถึงคลิปการประชุมหน่วยทหารว้า และเขียนบรรยายสั้นๆ ว่า เป็นการยกย่องชัยชนะในการต่อสู้กับโควิด-19

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพจเดียวกันโพสต์ภาพกราฟิก เป็นรูปมือ 2 ข้าง กำลังกุมมือกัน สีพื้นของมือแต่ละข้างเป็นธงชาติว้าและจีน เขียนคำบรรยายสั้นๆ ใต้โพสต์เป็นภาษาพม่าว่า “ขอบคุณวัคซีน” และเขียนคำบรรยายภาษาจีนในภาพว่า “คณะแพทย์จีนได้เดินทางมาถึงว้าแล้ว” และ “ขอบคุณประเทศจีน ที่สนับสนุนกลุ่มว้า”…
วันที่ 22 เมษายน 2564 หลังโควิด-19 ระบาดระลอกแรกในเขตว้าคลี่คลายได้ไม่ถึง 2 เดือน มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 อีกครั้ง ในเมืองป้อก จากนั้นวันที่ 24 เมษายน ฝ่ายสาธารณสุขสหรัฐว้า มีคำสั่งปิดถนนเชื่อมเมืองป๋างซางกับเมืองป้อกไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2564
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดการระบาดระลอกใหม่ในเขตว้าถูกเผยแพร่ออกมา แต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2564 เฟซบุ๊กส่วนตัวของ อู ญี ราน โฆษกกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งประจำอยู่ในเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานเหนือ มีโพสต์สั้นๆ เขียนว่า “เพื่อป้องกันโควิด-19 ระบาด สหรัฐว้าได้ปิดเส้นทางเข้า-ออกพื้นที่ทุกจุดไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว”…

พื้นที่ชายแดนที่อยู่ถัดขึ้นไปจากเขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า เป็นเขตปกครองตนเองชาติพันธุ์โกก้าง อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง ในเขตจีน
เขตปกครองตนเองโกก้าง มีเมืองหลัก 2 แห่ง คือ เล่าก์ก่ายที่เป็นเมืองหลวง และเมืองชิงส่วยเหอ ซึ่งเป็นหน้าด่านเศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งหนึ่งในชายแดนรัฐฉาน-จีน ชิงส่วนเหอเป็นช่องทางเข้า-ออกสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างจีนและเมียนมา ที่มีมูลค่าการค้าสูงรองลงมาจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่ เพียงเล็กน้อย

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 ทางการกึ่งม้าได้สั่งปิดด่านสะพานข้ามแม่น้ำผาเหอ ที่ใช้เป็นช่องทางเข้า-ออกของรถบรรทุกสินค้า และเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างชิงส่วยเหอกับกึ่งม้า เนื่องจากมีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ในชิงส่วยเหอถึง 7 คน โดยคำสั่งปิดชายแดนที่ถูกประกาศออกมา มีผลบังคับไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564
เช่นกัน…ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่โกก้าง แต่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพจ Lashio Media โพสต์ภาพข่าว ฝ่ายปกครองเขตปกครองตนเองโกก้าง ได้ออกคำสั่งล็อกดาวน์ทุกพื้นที่ในเขตโกก้าง พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขออกตั้งจุดตรวจคัดกรองเชื้อชาวโกก้างทุกคน และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยงทุกจุด

คำสั่งล็อกดาวน์มีผลตั้งแต่เช้าวันที่ 4 พฤษภาคม ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564…
ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2564 อาสาสมัครกาชาดจากเมืองหล่งชวน ตรงข้ามรัฐคะฉิ่น ได้นำวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้ามแดนไปฉีดให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) หลายแห่ง ตามแนวชายแดนคะฉิ่น-ยูนนาน เช่น ค่าย N Hkawng Pa ค่าย Lana Zup Ja ค่าย Bum Tsit ซึ่งค่ายเหล่านี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)

หล่งชวนเป็นอำเภอหนึ่งของเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน มีชื่อในภาษาไตว่า “เมืองวัน” ตั้งอยู่ทางเหนือของรุ่ยลี่ เมืองหน้าด่านเศรษฐกิจสำคัญของเต๋อหง ที่อยู่ตรงข้ามเมืองหมู่เจ้ ภาคเหนือของรัฐฉาน (ดูแผนที่ตั้งเมืองวัน หมู่เจ้ และชิงส่วยเหอประกอบ)

ไม่มีรายละเอียดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนรัฐคะฉิ่น แต่การที่ฝ่ายกาชาดเมืองวันต้องถึงกับข้ามแดนไปฉีดวัคซีนให้กับชาวคะฉิ่นครั้งนี้ เชื่อว่าต้องเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตรอยต่อระหว่างรุ่ยลี่-หมู่เจ้ ที่เริ่มพบตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่คลี่คลาย…
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ฝ่ายปกครองเมืองรุ่ยลี่ ได้สั่งปิดทุกช่องทางที่สามารถเดินทางเข้า-ออก ระหว่างรุ่ยลี่กับหมู่เจ้ ห้ามทั้งรถ ทั้งคนผ่านเข้า-ออก โดยเด็ดขาด พร้อมกับเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร สะพายอาวุธครบมือ ตั้งด่านตรวจตราทุกจุดอย่างเข้มงวด

หมู่เจ้-รุ่ยลี่ เป็นประตูการค้าระหว่างเมียนมา-จีนที่สำคัญและมีมูลค่าสูงที่สุด ในภาวะปกติ มูลค่าซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ แต่ละปีสูงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่เมียนมานำเข้าจากจีนและสินค้าส่งออกจากเมียนมาเข้าไปจีน เกือบทั้งหมด ต้องผ่านช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่
ทางการรุ่ยลี่ให้เหตุผลในการปิดพรมแดนครั้งนี้ว่า เนื่องจากวันที่ 29 มีนาคม ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในตลาดซื้อขายหยกในเขตเจ้เก่า ฝั่งรุ่ยลี่ 8 คน ทำให้ต้องสั่งปิดตลาดหยก ล็อกดาวน์เมือง ห้ามคนผ่านเข้า-ออกพื้นที่ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะปิดชายแดนไปถึงเมื่อใด
ต่อมาทางการรุ่ยลี่ได้ผ่อนปรนให้รถบรรทุกสินค้าจากเมียนมาที่จะส่งเข้าจีน สามารถข้ามแดนเข้าไปในรุ่ยลี่ได้ แต่รถทุกคันต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่เข้มงวดและใช้เวลานาน จนสินค้าที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากได้รับความเสียหาย

5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ฝ่ายสาธารณสุขหมู่เจ้ ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 4 ราย โดยพบในตำบลป่างซ้าย 1 ราย และในศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักไมล์ 105 อีก 3 ราย
ศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักไมล์ 105 เป็นจุดที่รถสินค้าทุกคันต้องเข้ามาผ่านกระบวนการศุลกากร และตรวจคัดกรองโควิด-19 รถบรรทุกสินค้าจากทุกพื้นที่ของเมียนมาต่างมารวมตัวกันที่นี้ ก่อนข้ามชายแดนเข้าไปในจีน ตรงกันข้าม รถบรรทุกสินค้าจากจีนก็ต้องมารวมกันอยู่ที่นี่ ก่อนนำสินค้าข้ามไปกระจายในเมียนมา
แต่ละวัน มีรถบรรทุกสินค้าทั้งใหญ่-เล็ก นับพันคัน วิ่งผ่านเข้า-ออก ศูนย์ขนถ่ายสินค้าหลักไมล์ 105 และคนขับรถสินค้านับร้อยคน มักลงมาจับกลุ่มพูดคุยกัน ระหว่างรอขั้นตอนตรวจจากหน่วยงานต่างๆ

วันที่ 7 พฤษภาคม สำนักข่าว Tai Freedom รายงานว่า ทางการเมืองรุ่ยลี่ได้ประกาศปิดช่องทางเข้า-ออกตลอดแนวชายแดนรุ่ยลี่-หมู่เจ้ ต่อไปอีก 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดในพื้นที่รุ่ยลี่-หมู่เจ้ ยังไม่คลี่คลาย!!!
สถานการณ์ของโควิด-19 ในเมียนมา ขณะนี้ จึงไม่สามารถไว้วางใจได้จริงๆ…