นายก ฯ ชี้ยอดคนติดโควิดฯเพิ่ม เพราะคัดกรองเชิงรุก -ปัดตอบขึ้นค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” – มติ ครม.ลดภาษีที่ดิน 90% มอบสำนักงบ ฯจัดสรรงบ ฯชดเชยรายได้ให้ อปท. 41,445 ล้านบาท – ปรับเกณฑ์จ่าย “โบนัส” พนง.สลากฯ ตามผลกำไร – อนุมัติงบ ฯสปสช. ปี 65 วงเงิน 201,094 ล้าน
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยยังเป็นการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เช่นเดิม
ขอบคุณพรรคร่วมฯ ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสู่ภาคปฎิบัติ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่ได้มีการขับเคลื่อนทั้งในด้านกลไกปฏิบัติของกฎหมายกฎระเบียบกฎกระทรวงที่จำเป็นต้องมีการปรับและในส่วนของสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาล ขอบคุณรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยทุกกระทรวงที่ให้คำปรึกษาหารือกัน ให้ข้อสังเกตซึ่งกันและกันในห้องประชุมไปตามกฎหมายทุกประการ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
“ยืนยันในการทำงานของรัฐบาลในรูปแบบของ ครม. ในรูปแบบของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งทุกคนก็รับนโยบายของ ครม. ไปนโยบายของนายกรัฐมนตรีไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเพราะจำเป็นต้องมีการขออนุมัติโครงการต่างๆ งบประมาณต่างๆ จากพระราชบัญญัติในการจะใช้เงินของรัฐบาลโดยการปรึกษาหารือกันอย่างรอบคอบ”
แจงบัญชีกลางทวงเบี้ยคนชราคืนหลวง
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีผู้สูงอายุรายหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ถูกกรมบัญชีกลางส่งหนังสือเรียกเก็บเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืนรวมดอกเบี้ย เป็นเงินเกือบ 1 แสนบาท เหตุเพราะองค์การบริหารส่วนตำบลเพิ่งตรวจพบว่าผู้สูงอายุคนดังกล่าวได้รับเงินบำนาญ และมีผู้สูงอายุอีกหลายท่านที่ประสบปัญหาดังกล่าว ว่า ในเรื่องของผู้สูงอายุนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจข้อเท็จจริงแล้วว่าจะดูแลกันอย่างไรต่อไป ซึ่งตนเชื่อว่าปัจจุบันเหตุการณ์นี้คงไปไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
“วันนี้เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น อันนี้เป็นเหตุการณ์หลายปีมาแล้ว เพราะวันนี้ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ กับกรมบัญชีกลางแล้ว วันนี้ก็เป็นเรื่องของการพบปะหารือพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว”
ปัดตอบขึ้นค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว”
พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม กรณีมาตรการชะลอการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวอัตราใหม่ 15-104 บาท ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
ชี้ยอดคนติดโควิดฯเพิ่ม เพราะคัดกรองเชิงรุก
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตรการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 20 (ศบค. ชุดใหญ่) ในวันที่ 29 มกราคม 2564 ว่า ในเรื่องของการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ อย่ามองแต่ว่าเราจะได้รับแต่ข่าวดี ไม่ดี ก็ต้องมีทั้งข่าวดีและข่าวไม่ดี แต่รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคมต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะตรวจพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นหรือน้อยลงก็ตามก็ต้องดูในภาพรวมทั้งหมดว่าเราจะตัดสินใจกันอย่างไร
“ในกรณีที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นนั้นก็จะเกิดจากเราได้ตรวจหาหรือเร่งตรวจสอบคัดกรองในเชิงรุก ทั้งนี้เพื่อจะเปลี่ยนพื้นที่บางพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงให้จบเร็วที่สุด ส่วนมาตรการผ่อนคลายก็คงจะต้องดูเป็นพื้นที่พื้นที่ไป ทำพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางของโรคและพื้นที่โดยรอบ ว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้มีการแพร่ระบาดต่อไป”
ยัน PM 2.5 เป็นปัญหาระดับชาติ วอนเกษตรหยุดเผา
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยยังคงยืนยันว่า ปัญหา PM 2.5 ยังเป็นปัญหาระดับชาติอยู่ โดยรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาในเชิงรุก ซึ่งในการประชุมครมหลายครั้งที่ผ่านมาได้มีการหารือกันในเรื่องเหล่านี้มาตรการต่างๆ ในเรื่องของการทำงานเพื่อลด PM 2.5 ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว พร้อมขอความรวมมือจากภาคเอกชนและภาคเกษตร เนื่องจากความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลแก่ประชาชนโดยรวม
“ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนวันนี้ก็ทำงานด้วยกันทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ทหาร ก็ขอความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วยเพราะมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งโรงงานอุตสาหกรรมด้วยอะไรด้วย ในการเผาพื้นที่เกษตร และเรื่องของการประกอบการเกษตรของพวกเราด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเหมาะสม”
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีการหารือตลอดเวลาทั้งในส่วนพื้นที่สีแดงที่ติดต่อกัน อย่างที่เรียนแล้วว่าอากาศเชื่อมโยงกันทั้งหมด ปัญหาอาจไม่ได้เกิดจากพื้นที่ชายแดนอย่างเดียวแต่มาจากพื้นที่ตอนในด้วย โดยรัฐบาลได้มีการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกพื้นที่ทุกมิติหลายช่องทางด้วยกัน ทั้งด้านความมั่นคง ทั้งกระทรวงมหาดไทยในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เชื่อมต่อกันของไทยและของเขาด้วยในรอบบ้านของเรา
โยน ทบ.สอบครูฝึกซ้อมทหารเกณฑ์ “ผิด-ถูก” ว่าตามวินัยทหาร
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี 2 ทหารเกณฑ์ถูกครูฝึกซ้อม หลังแอบสูบกัญชาในค่ายทหารที่จังหวัดชลบุรี ว่า ทหารเกณฑ์ที่ครูฝึกดำเนินการไม่เหมาะสม หลังพบว่าแอบสูบกัญชาและมีปัสสาวะสีมั้งนั้นตนได้รับรายงานขั้นต้นแล้ว ซึ่งกองทัพบกก็จะต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นการทำผิดโทษที่ลงนั้นมากเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือไม่ กรณีนี้อาจจมากเกินไป แต่ก็ต้องมีการลงโทษทางวินัยอย่างไรก็ต้องไปว่ากัน เพราะมีระเบียบในเรื่องของ “วินัยทหาร” ชัดเจนอยู่แล้ว
“ก็ขอให้รอผลการตรวจสอบใครผิดก็ต้องรับโทษไป ผมก็ได้เตือนไปหลายครั้งแล้วว่าการลงโทษใดๆ ต้องพิจารณาให้เหมาะสมให้เป็นไปตามการลงโทษในเรื่องของวินัยทหารที่มีอยู่ประมาณ 9 ข้อถ้าจำไม่ผิด คิดว่าจะไม่น่าผิดเพราะเคยใช้มาตลอดตั้งแต่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่าง ก็ใช้หลักการนี้มาโดยตลอดก็ขอความร่วมมือก็แล้วกันอย่าลงโทษที่นอกกรอบวินัยทหารก็จะทำให้เกิดปัญหาอย่างเช่นที่เกิดขึ้นนี้ ก็ขอให้เข้าใจซึ่งกันและกันและถ้าไม่ไปเล่นยาเสพติดอีกก็จะไม่ต้องถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันสองฝ่ายหลายอย่างต้องแก้การส่องทางเสมอ”
มอบดอกไม้ให้กำลังใจ ผว.สมุทรสาคร
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวแสดงความห่วงใยอาการป่วยของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และได้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดมาทุกระยะ พร้อมได้มอบผู้แทนส่งดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจผู้ว่าฯ และครอบครัว โดยมีทีมแพทย์ที่เฝ้าดูแลอาการและรักษาเป็นพิเศษ
“ทีมแพทย์ได้มีการหารือกันโดยตลอดผมได้รับคำชี้แจงเพราะว่าเป็นเรื่องของการที่จะต้องปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมในการที่แก้ปัญหาเรื่องของช่องคอ ช่องอก เพราะการใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลาค่อนข้างที่จะมีปัญหาในช่วงนี้ ต้องมีการเจาะคอบ้าง อันนี้เป็นเรื่องของทางการแพทย์ กราบเรียนเพื่อทราบขอให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรงให้ได้โดยเร็วๆ รัฐบาลก็ขอขอบคุณในการเสียสละของท่านจนถึงวันนี้ผมคิดว่าบุญกุศลที่ท่านได้ทำไว้จะทำให้ท่านปลอดภัยขอให้จงปลอดภัยเป็นปกติสุขโดยเร็ว กำลังใจจากผมเองซึ่งผมได้ไปเยี่ยมเยียน 3 ครั้งแล้วและทางกระทรวงสาธารณสุขโดยท่านรองนายกก็ได้เยี่ยมเยียนเป็นพิเศษอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนในที่ประชุม ครม. ร่วมส่งกำลังใจให้ผู้ว่าฯ และครอบครัว พร้อมกำชับให้ประชาชนดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดอีกด้วย โดยขอประชาชนอย่าได้เชื่อข่าวจากแหล่งข่าวหรือข่าวที่ปล่อยออกมาโดยไม่มีที่มาและสร้างความสับสน ขอให้ติดตามจากการแถลงของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ที่เป็นเจ้าของไข้ และรักษาอยู่เท่านั้น
มติ ครม. มีดังนี้
เร่งบรรจุ ขรก.เพิ่ม 29,831 คน-จ้าง พนง. 2 แสนอัตรา รับคนตกงาน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าในการเร่งรัดการสรรหา สอบคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งบุคคล เข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณและอัตราตั้งใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสการทำงานของประชาชน บรรเทาผลกระทบของการว่างงานในสถานการณ์ โควิด-19 โดยสำนักงาน ก.พ. ได้รายงานการดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ดังนี้
- การเร่งรัดการดำเนินการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ สำนักงาน ก.พ. ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่ร่วม เพื่อจัดสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ประจำปี 2564 ให้เสร็จสิ้นในช่วงกลางปีและประกาศผลสอบภายในเดือนสิงหาคม 2564 โดยสามารถรับจำนวนผู้สมัครสอบในปีนี้ได้ถึง 847,528 ที่นั่ง
- ประสานหน่วยงานราชการให้เร่งรัดการเรียกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการจากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้รวม 29,831 คน จาก 142 บัญชี ที่ส่วนราชการเองสามารถเรียกบรรจุได้ทันทีเมื่อมีอัตราว่าง ซึ่งขณะนี้มีส่วนราชการที่อยู่ระหว่างการจัดสอบแข่งขัน จำนวน 35 ส่วนราชการ มีอัตราว่างที่จะบรรจุ จำนวน 885 อัตรา
- สนับสนุนการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการโดยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีการสอบแข่งขัน เช่น การบรรจุผู้มีความรู้ความชำนาญสูง (Lateral Entry) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ขอให้หน่วยงานจำนวน 149 ส่วนราชการ เร่งสำรวจสถานะอัตราว่างของตนเอง เพื่อวิเคราะห์สรุปรายงานต่อไป
- แนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของส่วนราชการ ได้แก่ การจ้างพนักงานตามกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ รอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2567) จำนวน 219,849 อัตรา และกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ได้รับจัดสรรเพื่อรองรับการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ จำนวน 1,308 อัตรา รวมทั้งสิ้น 221,157 อัตรา ซึ่งยังคงมีกรอบอัตรากำลังที่ว่างประมาณ 10,537 อัตรา
เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว ส่วนราชการก็จะสรรหาบุคคลเป็นพนักงานราชการต่อไป พร้อมกันนี้ สำนักงาน ก.พ. ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณ ในการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเป็นกรณีพิเศษให้แก่ส่วนราชการเพื่อจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 2 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 หากได้รับงบประมาณแล้วจะเร่งจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการให้แก่ส่วนราชการตามความจำเป็นต่อไป
“การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในภาคราชการพลเรือน เพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งยังเป็นช่องทางให้ส่วนราชการได้คัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ทักษะสมรรถนะที่สอดคล้องกับภารกิจจำเป็นของหน่วยงานเข้าสู่ระบบราชการด้วย”
ยันรับ ขรก.เกษียณทำงานต่อ เฉพาะนักวิชาการ-ผู้ทรงคุณวุฒิ-เชี่ยวชาญพิเศษ
นายอนุชา กล่าวว่าถึง กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีการอนุมัติให้พนักงานในส่วนของข้าราชการสามารถเกษียณอายุได้เกิน 60 ปีขึ้น ว่า จากประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาค 2562 มีมติ ครม. เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปนั้น ผู้ที่ได้รับการพิจารณาจะต้องเป็นผู้ที่ดำรงอยู่ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษ
โดยให้สามารถนำระยะเวลาที่เคยดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญหรือระดับผู้ทรงคุณวุฒิหรือตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสหรือระดับทักษะพิเศษแล้วแต่กรณี เป็นเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนำมาใช้เป็นคุณสมบัติในการพิจารณาให้รับราชการต่อไปได้
ทั้งนี้ ตำแหน่งที่จะรับราชการต่อไปนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งที่ผู้นั้นคลองอยู่เดิม แต่ต้องไม่เป็นการกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากรในสาขาที่เป็นภารกิจสำคัญของรัฐและเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย
“อาจจะมีเฟคนิวส์ออกมาเรื่องของการที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติให้เกษียณอายุราชการได้มากกว่า 60 ปี อันนั้นไม่ใช่ทุกท่านนะครับเป็นเฉพาะอย่างที่ผมเรียนให้ทราบตามที่กล่าวก่อนหน้านี้”
ลดภาษีที่ดิน 90% มอบสำนักงบ ฯจัดชดเชยรายได้ อปท. 41,445 ล้าน
นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยของตนเอง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รายละเอียดดังนี้
- มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2564 ในอัตราร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
- มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 เฉพาะการซื้อขาย ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ จากผู้จัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือห้องชุดจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอาคารชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ การจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยจะต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้มีการบรรเทาผลกระทบให้อปท.ที่ต้องสูญเสียรายได้ จากมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ในปีภาษี 2564 ประมาณ 41,445 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ตามความเหมาะสมต่อไป
ยืดเวลาจ่ายภาษีเงินได้ – หัก ณ ที่จ่าย – VAT
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระรอกใหม่ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการโดยทั่วไป กระทรวงการคลังจึงได้มีการดำเนินการ ดังนี้
- การขยายเวลายื่นแบบบแสดงรายการและชำระภาษี ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2563 ที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจากเดิมภายในเดือนมีนาคม 2564 ออกไปเป็นภายนวันที่ 30 มิถุนาย 2564 รวมระยะเวลา 3 เดือน
โดยการขยายเวลาดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำให้สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะส่งผลให้กระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บรายได้นี้เลื่อนออกไป อย่างไรก็ตามจะส่งผลให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นประมาณ 10,600 ล้านบาท
- การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และการนำส่งหรือการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งยื่นแบบแสดงรายการหรือนำส่งภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ของเดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ต้องยื่นนำส่งและชำระภายในเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมิถุนายน 2564 แล้วแต่กรณีออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ สำหรับ แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.1) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.2) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.3) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 69 ทวิ และการเสียภาษีตามมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.53) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจำหน่ายเงินกำไร ตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ และการเสียภาษีตามมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.54) แบบยื่นรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.30) และแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.36)
โดยการขยายเวลานี้ไม่ได้ทำให้สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะส่งผลให้กระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บรายได้นี้เลื่อนออกไป อย่างไรก็ตามจะส่งผลให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 1) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นเวลา 5 เดือน เดือนละประมาณ 21,500 ล้านบาท และ 2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นระยะเวลา 5 เดือน เดือนละประมาณ 29,520 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 147,600 ล้านบาท
ลดเงินสมทบลูกจ้าง ม.33 เหลือ 0.5% เป็นเวลา 2 เดือน
นายอนุชา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม 2564 ดังนี้
- ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิมร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
- สำหรับฝ่ายนายจ้างให้คงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
- รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิมร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
- สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือนให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน
การปรับลดอัตราเงินสมทบฯ ดังกล่าวจะทำให้นายจ้าง 486,192 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,387 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง มีนาคม 2564 จำนวน 23,119 ล้านบาท ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 7,166 ล้านบาท และหากรวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่หนึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ครั้งที่สองตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2563 และการลดอัตราเงินสมทบปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 เงินสมทบทั้งหมดรวมกัน 9 เดือนจะลดลงประมาณ 68,669 ล้านบาท
ขยายวีซ่าแรงงานต่างด้าว 1.8 ล้านคน อยู่ต่อ 6 เดือน
นายอนุชา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คาดว่าจะตรวจสุขภาพและต่อวีซ่าไม่ทันภายในกำหนด รวมถึงการชะลอการส่งกลับผู้ต้องกักที่ได้รับโทษหรือดำเนินคดีเสร็จสิ้น จากมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทำให้การส่งกลับทำได้ล่าช้ากว่าปกติ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2,335,671 คน ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย กลุ่มแรงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,162,443 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และกลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 237,944 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
- กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU จำนวน 434,784 คน ได้แก่ กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 119,094 คน และกลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU วาระการจ้างงานครบ 2 ปี จำนวน 315,690 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565
- กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียนคาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometics) เพื่อการพิสูจน์ ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด- 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้วให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ ยังให้สถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถร่วมตรวจโควิดฯ ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดฯ เร่งด่วน และสถานพยาบาลของรัฐอาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการตรวจตามกำหนดภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 โดยอัตราค่าตรวจโควิดฯ ต้องไม่เกิน 2,300 บาท ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
สำหรับกลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่มีประมาณ 500 คน อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ ให้สามารถทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องส่งกลับประเทศต่อไป
“เนื่องจากประเทศต้นทางไม่รับคนกลับประเทศในขณะนี้และมีมาตราการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดด้วย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องดูแลผู้ที่กักตัวต่อไป โดยใช้งบประมาณต่อกรณีดังกล่าวประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน”
ตั้งงบ ฯ 3,283 ล้าน รองรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคปี 65
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 3,283.10 ล้านบาท โดยมาจากงบรายจ่ายปี 2565 จำนวน 2,342.28 ล้านบาท และงบรายจ่ายปี 66 จำนวน 940.82 ล้านบาท โดยขอให้แต่ละหน่วยงานจะพิจารณาความจำเป็น เหมาะสมของภารกิจและวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม และไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณมากเกินความจำเป็นด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคฯ และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 – พฤศจิกายน 2565 ทั้งสิ้นถึง 15 การประชุม ประกอบด้วยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรี 9 ครั้ง และการประชุมระดับผู้นำ 1 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการประชุมและ/หรือกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมตามที่ส่วนราชการจะเป็นเจ้าภาพ เช่น การจัดกิจกรรมสัปดาห์ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Week) และการดำเนินโครงการโรงเรียนเครือข่ายเอเปค เป็นต้น
ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ในปี 2565 โดยจะเป็น “ยุคปกติใหม่” ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก ทำให้ไทยสามารถส่งเสริมประเด็นที่ไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึง ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร ในบทบาทที่ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารให้แก่โลก รวมทั้งการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการหารือประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย-แปชิฟิก อาทิ การร่วมมือกันต่อสู้ บรรเทา และฟื้นฟูภูมิภาคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะเร่งรัดการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้า เวชภัณฑ์ บริการด้านการแพทย์และบุคลากรที่จำเป็น อนาคตของเอเปคภายหลังการสิ้นสุดของเป้าหมายโบกอร์ เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้างมีพลวัตพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายใน ค.ศ. 2040 การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรีเปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติโปร่งใส และคาดการณ์ได้ การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยคณะรัฐมนตรียังมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วย
“ไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือของเอเปค ในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เช่น การช่วยเหลือนักธุรกิจและ MSMEs การสนับสนุนการเพิ่มการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์และสินค้าที่จำเป็นของประชาชน รวมทั้งผลประโยชน์อื่นๆ จากนโยบายที่เอเปคผลักดัน อาทิการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและเข้าถึงตลาดโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ อีกด้วย”
ขยายพื้นที่อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองเก่า
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. …. โดยปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมือเก่า พ.ศ.2564 โดยเพิ่มพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์จากเดิม 3 บริเวณ (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์) เป็น 4 บริเวณ
โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนขยายบริเวณที่ 4 คือพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอกตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง (คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง) แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก โดยมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น คลองผดุงกรุงเกษม วัดไตรมิตรฯ วังบางขุนพรหม (ธปท.) นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขชื่อหน่วยงานในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 อีกด้วย
ปรับเกณฑ์จ่าย “โบนัส” พนง.สลากฯ ตามผลกำไร
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานตามระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ โดยปรับให้สำนักงานสลากฯ เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่ 2 ประเภทที่จัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไรเพื่อการจัดสรรโบนัส เนื่องจากมีกำไรจากการดำเนินงาน จากเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่ 5 ประเภทจ่ายโบนัสพนักงานคงที่ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่ผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป
สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานสลากฯ เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานตามระบบประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจะเป็นดังนี้
- ผลการประเมินในระดับ 5 คะแนนหรือดีเยี่ยม จะได้รับวงเงินเพื่อจัดสรรโบนัสร้อยละ 11 ของกำไร แต่ไม่เกิน 8 เท่าของเงินเดือนหรือค่าจ้าง และลดหลั่นลงมาตามลำดับ
- 4 คะแนน หรือระดับ ดีมาก จะได้รับการจัดสรรโบนัสร้อยละ 10 ของกำไร แต่ไม่เกิน 6เท่าของเงินเดือน
- 3 คะแนน หรือดี จะได้รับวงเงินจัดสรรโบนัสร้อยละ 9 ของกำไร แต่ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน
- 2 คะแนนหรือพอใช้ จะได้รับเงินจัดสรรโบนัสร้อยละ 8 ของกำไร แต่ไม่เกิน 4 เท่าของเงินเดือน
- 1 คะแนน หรือปรับปรุง จะได้รับวงเงินจัดสรรโบนัสไม่เกินร้อยละ 7 ของกำไร แต่ไม่เกิน 2 เท่าของเงินเดือน
ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงานว่า สำนักงานสลากฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานด้านการเงินที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี คือปี 2558-2562 พบว่า มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 3,451 ล้านบาท และมีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินเฉลี่ย 2,480 ล้านบาท สำหรับในปี 2562 สำนักงานสลากมีสินทรัพย์รวม 43,719 ล้านบาท หนี้สินรวม 29,494 ล้านบาท รายได้รวม 8,729 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 2,666 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,063 ล้านบาท นำส่งรายได้แผ่นดินจำนวน 4,933 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเดิมเมื่อปี 2560-2562 พนักงานได้รับโบนัส 3.75 เท่าของเงินเดือนซึ่งเป็นระบบคงที่ ถ้าใช้ระบบใหม่โดยพิจารณาตามคะแนนประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ในปี 2560 พนักงานจะได้รับโบนัส 5.5 เท่า ปี 2561 ได้รับโบนัส 6 เท่าของเงินเดือน และปี 2562 ได้รับโบนัส 7 เท่าของเงินเดือน โดยสำนักงานสลากฯจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของโบนัสพนักงาน และลูกจ้างประจำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 62.40 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรสุทธิของสำนักงานสลากฯและการจัดเก็บรายได้แผ่นดินของกระทรวงการคลัง
สธ.ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี “นวดแผนโบราณ-สปา”
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการสปา และกิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงามเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในจุดนี้ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องปิดกิจการหรือมีรายได้ลดลง
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วกิจการสปาจะเสียค่าธรรมเนียมรายปี ปีละ 1,000 บาท สำหรับกิจการการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อความงามจะเสียค่าธรรมเนียมรายปีปีละ 500 บาท โดยการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 มกราคมนี้นั้น อาจมีการพิจารณาคลายล็อคให้กับกิจการและกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นขอให้ติดตามผลการประชุม ศบค.อีกครั้ง
อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีประเภทกิจการสปาจำนวน 896 ร้าน กิจการนวดเพื่อสุขภาพและเพื่อเสริมความงามจำนวน 9,918 ร้าน ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปีรวมเป็นเงิน 5,828,000 บาท แต่การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาและลดภาระและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจต่อไป
ขยายเวลาเยียวยาชาวสวนลำไยถึง 31 ม.ค.นี้
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวว่า ครม. มีมติขยายเวลาโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 ออกไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ พร้อมปรับหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่กำหนดไว้จำนวน 200,00 ครัวเรือน เป็น “ไม่จำกัดจำนวนครัวเรือนเกษตรกร” และให้เยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยในส่วนที่เกินจากเป้าหมายเดิม จำนวน 2,013 ครัวเรือน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกำหนดให้เกษตรกรชาวสวนลำไยที่ได้ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 จำนวน 200,000 ครัวเรือน ในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ภายใต้กรอบวงเงินรวม 3,440 ล้านบาท และหลังจากสิ้นสุดโครงการมีเกษตรกรได้รับการเยียวยา ทั้งสิ้น 202,013 ครัวเรือน มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้จำนวน 2,013 ครัวเรือน
ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงาน 3 จว.ชายแดนใต้ – ขยายเพิ่มอีก 4 อำเภอ
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมคือ โรงงานจำพวกที่ 2 (โรงงานที่มีเครื่องจักร แรงม้ารวมไม่เกิน 75 แรงม้า และมีคนงานไม่เกิน 75 คน) และโรงงานจำพวกที่ 3 (โรงงานที่มีเครื่องจักร แรงม้ารวมมากกว่า 75 แรงม้า และมีคนงานมากกว่า 75 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ) ซึ่งโรงงานต้องตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ครม. ยังมีมติเพิ่ม 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา อำเภอจะนะ และอำเภอนาทวี ให้มีผลบังคับใช้ตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้น เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ขยายโรงงาน ค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามกำหนดเวลา เป็นต้น
แก้ กม.ขอใบอนุญาตขาย “สุรา-ยาสูบ-ไพ่” ผ่านออนไลน์
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา พ.ศ.2560 กฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงอนุญาตขายไพ่ พ.ศ. 2560
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับเน้นการเพิ่มช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ยื่นคำขอกับเจ้าพนักงานสรรพสามิตตั้งแต่การยื่นคำขอ แจ้งผลการตรวจสอบคำขอ แก้ไขเพิ่มเติมคำขอ การส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม และ แจ้งผลการพิจารณาคำขอ โดยลำดับต่อไปจะส่งให้กฤษฎีกาตรวจพิจารณา
เห็นชอบไทยเป็นเจ้าภาพประชุมความร่วมมือดิจิทัลอาเซียน ฯ
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน (Framework for Developing Digital Readiness among ASEAN Citizens) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลกับประเทศสมาชิกอาเซียนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- สนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และคนพิการ
- เสริมทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และกำหนดทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลโดยผ่านการฝึกอบรมขั้นพื้นฐาน
- รัฐบาลต้องผลักดันการใช้ดิจิทัลในองค์กรระดับชุมชน ธุรกิจ และองค์กรภาครัฐ
นายก ฯสั่งทุกหน่วย สกัดขบวนการลักลอบนำเข้ากระเทียม
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันปัญหาการลักลอบสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกระเทียม เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคทเป็นช่วงผลิตผลล้นตลาด โดยเบื้องต้นวางแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นโดยให้ภาคเอกชนสั่งซื้อกระเทียมล่วงหน้า ส่วนระยะกลางและระยะยาวคือหาตลาดใหม่ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกระเทียมออร์แกนิค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
เพิ่มงบ ฯอุดหนุนค่าใช้จ่าย ขสมก.ปี 63 เป็น 1,917 ล้าน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ปรับวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณประจำปีงบประมาณ 2563 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากวงเงินเดิม 1,775.653 ล้านบาทเพิ่มเป็น 1,917.380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141.727 ล้านบาท และเห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ของขสมก.จำนวน 2,338.266 ล้านบาท รวมเป็นภาระที่รัฐต้องรับชดเชยผลขาดทุนให้กับขสมก.ทั้งสิ้น 2,479.993 ล้านบาท
สำหรับการปรับวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณประจำปีงบประมาณ 2563 ของ ขสมก. จากวงเงินเดิม 1,775.653 ล้านบาทเพิ่มเป็น 1,917.380 ล้านบาทนั้น เป็นการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายพนักงานในรายการค่าเงินเดือน ค่าจ้าง จำนวน 347.609 ล้านบาท แต่ได้ปรับลดค่าเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์(E-Ticket) และระบบ Clearing House ลงจำนวน 205.882 ล้านบาท จึงเหลือต้องปรับวงเงินเพิ่มรวม 141.727 ล้านบาท ซึ่งเมื่อยกเลิกสัญญาเช่าระบบ E-Ticket ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น
อนุมัติงบ ฯสปสช. ปี 65 วงเงิน 205,230 ล้าน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินรวม 201,094 ล้านบาท แยกเป็นงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 198,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 4.4 และงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 2,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.9
สำหรับงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 198,891 ล้านบาท มีรายละเอียดการใช้จ่ายรวม 11 รายการดังนี้
- ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว รวมวงเงิน 158,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.92
- ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ผู้มีสิทธิจำนวน 445,964 คน วงเงินรวม 3,521.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.50
- ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงินรวม 9,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.11
- ค่าบริการเพื่อควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ผู้มีสิทธิจำนวน 9,7,280 คน วงเงินรวม 1,093 ล้านบาท การบริการผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน 61 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.72
- ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 207 แห่ง วงเงินรวม 1,490.28 ล้านบาท
- ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน วงเงินรวม 990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.15
- ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (ทีม PHC) วงเงินรวม 319 ล้านบาท
- ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงินรวม 2,769.93 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.9
- ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคโควิด -19 เป้าหมายบริการตรวจคัดกรอง และบริการรักษาพยาบาล วงเงินรวม 825.08 ล้านบาท
- เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการเป้าหมาย 1,657 คน วงเงินรวม 283.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7
- ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป้าหมายจำนวน 66,210,000 คน วงเงินรวม 19,265 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม. ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขในด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับบุคคลในพื้นที่ และบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในส่วนบริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อตามมาตรา 18 (14) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และควบคุมดูแลสปสช.ให้บริหารกองทุนให้เป็นไปตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 26 มกราคม 2564 เพิ่มเติม