ThaiPublica > คอลัมน์ > คำถามพันล้านของบิล เกตส์: “แผนสำหรับปูนซีเมนต์ของคุณเป็นอย่างไร?”

คำถามพันล้านของบิล เกตส์: “แผนสำหรับปูนซีเมนต์ของคุณเป็นอย่างไร?”

13 พฤษภาคม 2021


พรพรหม วิกิตเศรษฐ์

ช่วงนี้ถ้าพูดถึง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ทุกคนจะนึกถึงข่าวการประกาศแยกทางกับเมลินดา เกตส์ ภรรยาที่อยู่ด้วยกันมานานกว่า 27 ปี และผู้ร่วมดำเนินกิจการ “มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์” องค์กรการกุศลที่เน้นเรื่องการสนับสนุนการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานและสุขอนามัยของประเทศกำลังพัฒนา การควบคุมโรคติดเชื้อและมาลาเรีย และการวิจัยด้านการเกษตร

แต่บทความนี้ไม่ได้จะพูดถึงบิล เกตส์ ในมิติของเรื่องส่วนตัว ความสำเร็จทางธุรกิจ หรือบทบาทด้านสาธารณสุขโลก แต่จะพูดถึงบทบาทและมุมมองอันสำคัญของเขาต่อเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ในเรื่องนี้ ด้านแรกของบิล เกตส์ คือด้านการลงทุนในนวัตกรรมของพลังงานสะอาด ผ่านการก่อตั้งกองทุน Breakthrough Energy Ventures ที่มุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ โดยในช่วยริเริ่มบิล เกตส์ ได้ทุ่มเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

ยุทธศาสตร์ของกองทุนนี้ไม่ได้เน้นแค่การทำกำไร แต่เจาะจงไปที่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพอันเพียงพอที่จะสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง ซึ่งเกณฑ์ของข้อนี้จะถูกวัดโดยความสามารถในการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างน้อยปีละ 500 ล้านเมตริกตัน (metric ton)

เมื่อปลายปี 2020 QuantumScape (สตาร์ทอัพที่ผลิตแบตเตอรีชนิดแข็ง (solid-state battery) และที่ได้รับการลงทุนมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ Volkswagen) กลายเป็นสตาร์ทอัพแรกที่กองทุนนี้สนับสนุนที่ได้ Initial Public Offering หรือ IPO ส่วนยังมีสตาร์ทอัพมากศักยภาพอื่นๆอีกมากมาย โดยเฉพาะ 5 บริษัทที่ทางนิตยสาร Forbes ได้พูดถึงในบทความ “Bill Gates Is Betting On These Cleantech Outfits To Help Save The Planet”

ด้านที่สองคือด้านสื่อสารและการให้ข้อมูล ซึ่งปีนี้บิล เกตส์ได้เขียนหนังสือ “How to Avoid a Climate Disaster” ที่อธิบายถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมของปัญหา ความซับซ้อน หรือแนวทางในการต่อสู้

วันนี้หลายคนมีความหวัง ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดนั้นเห็นชัด สำหรับการผลิตไฟฟ้าเรามีพลังงานแสงอาทิตย์ ที่วันนี้ราคาลดลงอย่างเกินคาด รายงาน World Energy Outlook 2020 ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA: International Energy Agency) ได้เสนอว่าปัจจุบันไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานโซล่านั้นถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ ถูกกว่าจากการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในประเทศส่วนมาก และถูกกว่าตัวเลขที่ IEA ได้คาดการในปีก่อนถึง 20-50%

ส่วนสำหรับภาคขนส่ง เป็นที่ยอมรับว่าอนาคตของอุตสาหกรรมอยู่ที่รถยนต์ EV และวันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นการพัฒนาของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ สามารถช่วยให้ EV ได้ก้าวข้ามปัญหาต่างๆที่เคยเป็นจุดอ่อนเช่นระยะการเดินรถหรือเรื่องราคา ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการว่า EV จะมีต้นทุนที่เท่าเทียม (cost parity) กับรถยนต์สันดาปภายในปี 2024

แต่ปัญหาสภาพอากาศนี้ไม่ได้มาจากแค่พลังงานไฟฟ้ากับภาคขนส่งเท่านั้น…

บิล เกตส์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับมนุษย์เปรียบเสมือนกับ “น้ำสำหรับปลา” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตเราตลอดเวลา ที่เราคุ้นเคยที่สุด จนทำให้เราไม่เคยได้คิดว่ามันสำคัญกับเราขนาดไหน

สิ่งที่เราต้องการในวันนี้ที่ใช้พลังงานฟอสซิลนั้นมีมากกว่าแค่ไฟฟ้ากับน้ำมันสำหรับรถยนต์ แต่อยู่ในทุกๆอย่างมากเกินกว่าที่เราจะนึกถึง มันคือปุ๋ยที่ใช้ปลูกผักผลไม้สำหรับอาหารเรา ผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างโพลีเอสเตอร์ที่อยู่ในเสื้อผ้าเรา แม้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็ต้องใช้ชิ้นส่วนต่างๆที่ถูกผลิตจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือถ้าจะใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าก็หนีไม่พ้นเหล็กที่ใช้สำหรับรางรถไฟ

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/How-Avoid-Climate-Disaster-Breakthroughs/dp/059321577X

บิล เกตส์ได้แยกหมวดหลักของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ออกเป็น 5 หมวด และได้คำนวนสัดส่วนของแต่ละหมวดต่อการปล่อยคาร์บอนระดับโลก

1) Making things (ภาคอุตสาหกรรม เช่นปูนซีเมนต์ เหล็ก พลาสติก) เท่ากับ 31%

2) Plugging In (ภาคพลังงานไฟฟ้า) เท่ากับ 27%

3) Growing Things (ภาคเกษตรกรรม) เท่ากับ 19%

4) Getting around (ภาคขนส่ง) เท่ากับ 16%

5) Keeping Warm and Cool (พลังงานความร้อม ความเย็น) เท่ากับ 7%

ในหนังสือเล่มนี้ บทที่ 3 ได้ใช้หัวข้อ “Five Questions to Ask in Every Climate Conversation” หรือ 5 คำถามที่จะต้องถามในทุกบทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งคำถามที่น่าสนใจที่สุดคือ “แผนสำหรับปูนซีเมนต์ของคุณเป็นอย่างไร?” เป็นคำถามที่อาจจะฟังดูแปลกๆ แต่มีนัยยะที่สำคัญอย่างยิ่ง

“แผนสำหรับปูนซีเมนต์ของคุณเป็นอย่างไร?” เจาะจงไปที่หมวด “Making Things” หรือภาคอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนมากถึง 31% (ปูนซีเมนต์เป็นแค่หนึ่งองค์ประกอบของหมวดนี้ ยังมีเหล็ก พลาสติก ปุ๋ย แก้ว กระดาษ อลูมิเนียม และอีกมาก)

และข่าวร้ายคือการที่ปัจจุบันนี้เรายังไม่มีทางออกที่ชัดเจน หรือ “go-to solution” เลยว่าจะลดคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร ไม่มีอะไรที่เท่าเทียบกับพลังงานโซล่าในภาคพลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV ในภาคขนส่ง

แม้จะทำดีในด้านอื่นสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังมี 31% นั้นที่ยังเป็นชนักติดหลัง…

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ขั้นตอนการปล่อยคาร์บอนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้น

1)คาร์บอนจากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการดำเนินการในโรงงาน

2)คาร์บอนจากพลังงานความร้อน เช่นกระบวนการถลุงในการผลิตเหล็ก

3)คาร์บอนจากขั้นตอนการผลิต เช่นแคลเซียมที่ใช้ในคอนกรีตมาจากการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างหินปูนกับพลังงานความร้อน ซึ่งอีก end-product คือคาร์บอนไดออกไซด์

ขั้นตอนที่ 1 นับว่าง่ายที่สุดเนื่องจากความคือหน้าของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เรารู้กันดี เช่นจากแสงอาทิตย์หรือลม นอกเหนือจากการช่วยลดมลพิษแล้ววันนี้การติดแผงโซล่าบนหลังคาโรงงานนั้นมีประโยชน์ทางธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟหรือการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล

ขั้นตอนที่ 3 นั้นยากที่สุด เพราะว่ามันคือคาร์บอนที่เกิดจากวิธีการผลิตวัสดุล้วนๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนเลย ซึ่งวันนี้สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญๆเช่นคอนกรีต เหล็ก พลาสติก เรายังไม่วิธีการผลิตแบบอื่นที่ใช้ได้หรือที่คุ้มทุน

หลายคนมองถึงเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ที่ดักจับก๊าซคาร์บอนจากโรงงานแล้วฉีดอัดก๊าซลงสู่ใต้ดินเพื่อไม่ให้เข้าสู่บรรยากาศ หรือนวัตกรรมดักจับ CO2 (Direct Air Capture) ที่ดักจับคาร์บอนที่ลอยอยู่ในอากาศผ่านฟิลเตอร์และแปรสภาพเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ทั้งสองมีความน่าสนใจอย่างยิ่งแต่ยังติดปัญหาว่า 1) ทั้งคู่เน้นการแก้ปัญหาจากปลายทาง (รอให้คาร์บอนถูกปล่อยมาก่อนแล้วค่อยจัดการ) มากกว่าการแก้ปัญหาจากต้นทางหรือการหาแนวทางใหม่ๆสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนขึ้น และ 2) ปัจจุบันราคายังสูงมาก

ส่วนขั้นตอนที่ 2 ที่เกี่ยวกับพลังงานความร้อนนั้นมีความน่าสนใจ เนื่องจากแม้วันนี้ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนเหมือนกับขั้นตอนที่ 1 แต่ก็ยังพอมีทางเลือกมากกว่าขั้นตอนที่ 3

อย่างแรกเราสามารถใช้พลังงานไฟฟ้า (ที่สะอาด) ในการผลิตความร้อนได้ (นึกถึงกาน้ำร้อน) ซึ่งแม้วันนี้อาจจะใช้ได้แค่เฉพาะสำหรับอุณหภูมิที่ไม่สูงมากแต่มีการศึกษาและการทำวิจัยอย่างมากในการใช้แนวทางนี้สำหรับระดับอุณหภูมิที่ทางภาคอุตสาหกรรมต้องการได้

ส่วนอย่างที่ 2 คือการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เมื่อพูดถึงเชื้อเพลิงไฮโดรเจนคนมักจะนึกถึงรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicles) ที่พยายามแข่งกับรถยนต์ EV อยู่ (และกำลังแพ้อยู่) แต่ที่จริงบทบาทสำคัญของไฮโดรเจนไม่ใช่ในภาคขนส่งแต่เป็นในภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสามารถทำให้เกิดความร้อนในอุณหภูมิที่สูงพอสำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม (เหมือนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล) และที่สำคัญที่สุดคือการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Zero) – ซึ่งบทความถัดไปผมจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ไม่ว่าจะเป็นข้อดี ข้อเสีย บทบาทในอนาคต และข้อกังวลต่างๆ

วันนี้เราทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันถกเถียง และช่วยกับผลักดันภาครัฐให้ตื่นตัวและวางแผนเกี่ยวกับเรื่องการลดมลพิษของภาคอุตสาหกรรม และเราต้องไม่ติดกับดักการชะล่าใจว่าเรามีแผนสำหรับภาคไฟฟ้าและขนส่งแล้ว

เพราะแม้เราจะมีการติดตั้งพลังงานโซล่าทุกหลังคาบ้าน หรือมีรถยนต์ EV อยู่เต็มท้องถนน เราก็ยังแก้ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปัญหาทั้งหมด (แค่ 43%)

ถ้าเรายังไม่สามารถตอบคำถาม “แผนสำหรับปูนซีเมนต์ของเราเป็นอย่างไร” ของบิล เกตส์ได้ เป้าหมายที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสอาจจะไกลเกินเอื้อม