ThaiPublica > Sustainability > Contributor > มาตรการกระตุ้นศก.จากโควิด-19 ได้คำนึงสิ่งแวดล้อมพอหรือยัง – ข้อสรุปจากรายงานใหม่จาก UN

มาตรการกระตุ้นศก.จากโควิด-19 ได้คำนึงสิ่งแวดล้อมพอหรือยัง – ข้อสรุปจากรายงานใหม่จาก UN

26 มีนาคม 2021


พรพรหม วิกิตเศรษฐ์

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราได้ต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์จาก ‘วิกฤติสาธารณสุข’ เป็น ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’ อันนำมาซึ่งการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระบบ ทำให้แต่ละประเทศทั่วโลกไต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า “บาซูก้า” ทางการคลัง อันเป็นหนึ่งแนวทางที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจอย่างสูง โดยเป็นการเจาะจงการกระตุ้นเศรษฐกิจไปที่อุตสาหกรรม “สีเขียว” หรือที่เรียกว่า green recovery spending และเพื่อความเรียบง่ายต่อผู้อ่านบทความนี้ จะเรียกมาตรการนี้สั้นๆ ว่า “บาซูก้าเขียว”

โดยเฉพาะในปี 2020 มีการคำนวณออกมาว่า 50 ประเทศ ที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก ได้มีการใช้มากถึง 3.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐไปกับ “บาซูก้าเขียว” โดยมียุโรปและเอเชียเหนือเป็นแกนหลัก และช่วงกลางปี ทางสหภาพยุโรปได้ประกาศว่า 37% ของแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวม 7.5 แสนล้านยูโร จะต้องเป็นการใช้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ส่วนทางด้านเอเชียเหนือทางเกาหลีใต้มีแผน Green New Deal ที่จะใช้ 5.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากถึง 15% ของแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด

หน่วยงานที่ได้มีการติดตามแผนการใช้เงินกับ “บาซูก้าเขียว” อย่างใกล้ชิด คือ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) ซึ่งเมื่อต้นเดือนนี้ได้มีการเผยแพร่งานวิจัยใหม่ “Are We Building Back Better” ซึ่งร่วมทำกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อวิเคราะห์และสรุปความคืบหน้าของการลงทุนในอุตสาหกรรม “สีเขียว” ของ 50 ประเทศผู้นำ รายงาน UNEP นี้ได้มีการเจาะลึกถึง 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย พลังงาน ขนส่ง อาคาร ต้นทุนธรรมชาติ และวิจัยและพัฒนา

บทความนี้ขอสรุปรายงาน UNEP แบบสั้นๆ โดยพูดถึงรายละเอียดของ 5 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (เช่น ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการอะไร ลงทุนไปเท่าไหร่ โอกาสในอนาคตเป็นอย่างไร ข้อกังวลอยู่ตรงไหน) และตอบคำถามสำคัญ ซึ่งคือ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมพอหรือยัง”

ภาพรวมของ “บาซูก้าเขียว”

สำหรับภาพรวมของการเล็งเป้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปที่อุตสาหกรรมสีเขียวนั้น รายงานนี้ยังมองไปในเชิงลบ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ใช้มาตรการนี้ (โดยเฉพาะไทยที่ถูกจัดอยู่ในหมวดของประเทศที่ green recovery spending เท่ากับ 0%) แม้กระทั่งประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนต่อ GDP สูง ซึ่งจะต้องรีบบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสก็ยังเคลื่อนตัวช้า และแย่ไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่กลับไปอัดฉีดเงินเข้าช่วยอุตสาหกรรมที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เช่น จีนและอินเดีย ที่หันกลับมาสนับสนุนถ่านหิน ส่วนสหรัฐฯ และแคนาดาเน้นไปที่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และยิ่งมากไปกว่านั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการส่งเสริมการเพิ่มทักษะแรงงานของแต่ละประเทศยังน้อยเกินไปและไม่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งนับว่าเป็นการพลาดโอกาสทองเป็นอย่างมาก

พลังงาน

เมื่อนึกถึงอุตสาหกรรมสีเขียว คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นรายใหญ่อย่างการผลิตก๊าซเรือนกระจก รายงาน UNEP คำนวณว่า มีการใช้ 6.61 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่ง 2.53 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเป็นการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนใหม่และ 1.85 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเป็นงานลงทุนในอุตสาหกรรมไฮโดรเจน

ประเทศตัวอย่างที่ได้รับการชื่นชม คือ สเปนที่ใช้มากถึง 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (energy transition) หรือ ทางเยอรมนี ที่สนับสนุนสมาคมไฮโดรเจนแห่งยุโรป (European Hydrogen Society) 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และลงทุนในโครงการไฮโดรเจนในประเทศมากถึง 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทางรายงานมองว่า เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียว) คือโอกาสสำคัญในอนาคต เนื่องจากใช้ได้ทั้งพลังงาน ขนส่ง และที่สำคัญอย่างในอุตสาหกรรมหนัก (เหล็กหรือปูนซีเมนต์) ที่วันนี้ยังเป็น “hard-to-abate” sector หรือเป็นด้านที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนด้านการลดมลพิษ

สำหรับข้อกังวลทางรายงาน UNEP ได้ตั้งข้อสังเกตถึง 2 เรื่อง คือ

    1) การลงทุนด้านแบตเตอรี่ ระบบการกักเก็บพลังงาน และเชื้อเพลิงชีวภาพที่ยังไม่เพียงพอ
    2) การที่หลายประเทศได้หันกลับมาสนับสนุนพลังงานที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ขนส่ง

ภาคขนส่ง มีส่วนต่อ 23% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเป็นส่วนสำคัญของ “บาซูก้าเขียว” มีการลงทุนมากถึง 8.61 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มากกว่าภาคพลังงาน) ซึ่งแยกเป็นเงินอุดหนุนสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV subsidy (2.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ), การลงทุนในระบบขนส่งมวลชน (2.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ), มาตรการแลกรถเก่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ), การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ), โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินและจักรยาน (4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

นอกเหนือจากนี้ ในเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รายงาน UNEP มองว่า โอกาสในภาคขนส่งอยู่ที่การลงทุนในระบบขนส่งมวลชนที่ต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะเป็นการสร้างใหม่ ปรับปรุง หรือเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า) โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ และการออกแบบนโยบายขนส่งที่คำนึงถึงเรื่องเพศ หรือ gender-responsive ส่วนข้อกังวลเน้นไปที่มาตรการชักจูงการซื้อรถยนต์สันดาปใหม่ โดยเฉพาะที่เกาหลีใต้และอิตาลี

อาคาร

อาคารเป็นสถานที่ศูนย์รวมคนและเป็นที่ที่มีการใช้พลังงานสูง ซึ่งทำให้กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำหรับการลดปริมาณมลพิษ รายงาน UNEP คำนวณการลงทุนในอาคารทั้งหมด 3.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการปรับปรุงอาคารเพื่อลดพลังงาน หรือ retrofit program (3.06 หมื่นล้าน USD) นำโดยฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในกรณีของฝรั่งเศส สัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของ “บาซูก้าเขียว” คืองบสำหรับ retrofit และอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy efficient) ส่วนสหราชอาณาจักร มีนโยบายออกบัตรกำนัลสำหรับเจ้าของบ้านที่ลงทุนในการ retrofit ซึ่งสำหรับประชากรรายได้ต่ำนั้น บัตรกำนัลครอบคลุม 100% ของต้นทุนที่ไม่เกิน 13,300 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 400,000 บาท

ทางรายงานมองโอกาสของภาคอาคารไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในการสร้างเคหสถานที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะตอบโจทย์ได้ทั้งในด้านสังคมจากการจัดเพิ่มที่อยู่ให้กับประชากร และด้านสิ่งแวดล้อมจากการลดพลังงาน ซึ่งทางรายงานก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางนี้ยังมีมากเกินไป และแถมยังมีโครงการเคหสถานใหม่ทั่วโลกมากมาย (จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ) ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมอะไรทั้งสิ้น

ต้นทุนธรรมชาติ

ต้นทุนธรรมชาติ คือ การรักษาและคงไว้ของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า น้ำ ดิน หรือพื้นที่สาธารณะ สำหรับงบ “บาซูก้าเขียว” การลงทุนด้านต้นทุนธรรมชาติรวมเป็น 5.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียว (1.91 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ), โครงการปลูกต้นไม้และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (1.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ), มาตรการการอนุรักษ์ระบบนิเวศ (5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

มาตรการปลูกป่าของประเทศปากีสถานได้ถูกยกเป็นตัวอย่าง ช่วงมิถุนายนปีที่แล้วทางรัฐบาลมองว่าการลงทุน 90 ล้านเหรียญสหรัฐในการปลูกต้นไม้จะได้ประโยชน์สองต่อ คือ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (ปกป้องสิ่งแวดล้อมและการสร้างแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ carbon sink) และด้านเศรษฐกิจ (สร้างงานและรายได้ให้กับประชากร โดยเฉพาะผู้หญิงและกลุ่มเปราะบาง) แต่มาตรการนี้ยังมีปัญหาอยู่ เช่น ค่าแรงที่ต่ำมาก พิกัดของโครงการปลูกป่าที่กระทบต่อชุมชนในพื้นที่ หรือการปลูกต้นไม้ชนิดเดียว (monoculture) กลายเป็นภัยต่อระบบนิเวศ

โอกาสสำคัญสำหรับการลงทุนในต้นทุนธรรมชาติประกอบด้วย 3 อย่าง คือ

    1) ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติโดยเฉพาะจากพายุและน้ำท่วม
    2) การฟื้นฟูการท่องเที่ยว (อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมักสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาธรรมชาติจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภาพรวม)
    3) การจ้างงาน (โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนแรงงานไร้ฝีมือสูง)

วิจัยและพัฒนา (R&D)

สุดท้าย คือ การลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) หรือการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรม (เหล็กหรือปูนซีเมนต์) รายงาน UNEP คำนวณว่า มีการใช้ 2.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในด้านนี้ ซึ่งประกอบด้วย R&D ของภาคพลังงาน (9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ), R&D ของภาคอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงาน อุตสาหกรรม และเกษตร (7 พันล้านเหรียญสหรัฐ), R&D ของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ (5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

จากข้อมูลรายงาน ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้งบมากถึง 1.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะสำหรับงบ R&D ที่มีกรอบจากพลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงเรื่องอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตและการพัฒนาเมือง (urbanization) ส่วนสำหรับโอกาสของ R&D ทางรายงานให้น้ำหนักไปที่ด้านการเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรม ที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา (ไม่เหมือนกับภาคพลังงานที่มีพลังงานหมุนเวียน ที่วันนี้แข่งขันทางราคากับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ หรือภาคขนส่งที่มีรถยนต์ไฟฟ้า)

บทสรุป

คำตอบของคำถาม “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมพอหรือยัง” คือยังไม่พอ แม้อาจจะมีตัวอย่างการใช้ “บาซูก้าเขียว” ที่เห็นชัด มีแค่ไม่กี่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับมาตรการนี้ และได้ลงมือทำจริงซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เจริญแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้เรายังทำดีไม่พอ แต่วิกฤติโควิด-19 ก็ยังไม่จบง่ายๆ ซึ่งเราจะใช้เป็นโอกาสในการยกระบบในการใช้มาตรการ “บาซูก้าเขียว”

แม้วันนี้ โควิด-19 คือศัตรูหลัก แต่เราไม่ควรลืมว่าศัตรูที่สำคัญที่สุดของเราคือ climate change ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนได้ และ “บาซูก้าเขียว” คืออาวุธที่จะช่วยให้เราหนีพ้นจากวิกฤติของวันนี้และสร้างภูมิต้านทานสำหรับวิกฤติของวันข้างหน้าไปพร้อมๆ กัน