พรพรหม วิกิตเศรษฐ์
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ซึ่งเป็นคณะนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการชั้นนำ ได้มีการตีพิมพ์และเผยเเพร่บทสรุปรายงานการประเมินฉบับที่ 6 ที่แม้รายงานนี้ประกอบไปด้วยการนำเสนอผลวิจัยมากกว่า 14,000 งานด้วยกัน แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นสำคัญที่สุดอยู่ที่ประโยคแรกซึ่งกล่าวว่า
“อิทธิพลของมนุษย์ได้ส่งผลต่อสภาพอากาศ มหาสมุทร และผืนดิน ให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่มีข้อสงสัย”
โดยบทสรุปผลการศึกษาวิจัยได้รายงานว่าอุณหภูมิของโลกในรอบสิบปีที่ผ่านมา สูงกว่าระยะเวลาใดๆ ในช่วง 125,000 ปี หรือปัจจุบันเราสามารถคำนวณถึงบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสถานการณ์อากาศเปลี่ยนเเปลงเฉียบพลันได้อย่างมีหลักเกณฑ์ตามทางวิทยาศาสตร์
แม้ว่ารายงาน IPCC นี้จะมีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงผลกระทบรุนแรงจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น และกำลังเรียกร้องขอความสนใจจากเพื่อนร่วมโลกทุกชีวิต แต่กลับเป็นว่าข้อความและข้อมูลเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไป ที่ไม่ใช่ผู้ที่เดิมที่มีความสนใจประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว หรือประชากรบางกลุ่ม เช่น ผู้จบการศึกษาระดับวิทยาลัย หรือผู้อยู่ในสังคมเมือง
ความท้าทายอยู่ที่การสื่อสาร ไม่ใช่นโยบายหรือการปฏิบัติ
ยิ่งผมใช้เวลาเป็นปีๆ ทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเท่าใด ผมยิ่งเข้าใจว่าความท้าทายมิได้อยู่ที่นโยบาย ทางแก้ไข หรือแม้แต่การปฏิบัติ แต่กลับอยู่ที่การสื่อสาร
กลยุทธ์การสื่อสารต่างๆ ที่ถูกใช้ในปัจจุบันยังถือเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้ผล เพราะไม่สามารถหาความพอดีระหว่างการสอนเชิงวิชาการที่มีความเยิ่นเย้อกับการสร้างความหวาดกลัวแบบเกินความเป็นจริงของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่ม (หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า environmental alarmist) ได้
โดยที่ข้อเสนอเชิงวิชาการนั้นอาจสร้างความงุนงงและยากที่จะเข้าใจให้กับผู้รับสาร อย่างเช่น ข้อตกลงปารีส (paris agreement) ที่มีมติเคร่งครัดในการลดอุณหภูมิโลกอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่วนฝั่ง environmental alarmist ที่เน้นการสื่อสารว่า “ความเฉยเมยเป็นความบาปที่ยิ่งใหญ่” มิได้เป็นการแสดงเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอสำหรับกลุ่มคนส่วนใหญ่ แถมมีแนวโน้มที่จะสร้างความรำคาญมากกว่าด้วยซ้ำ
แต่เราสามารถที่จะเเก้ไขประเด็นตรงนี้ได้ โดยที่สำคัญคือการทำความเข้าใจก่อนว่า เพราะอะไรการสื่อสารกับประชาชนจึงถือเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ประการแรกอยู่ที่ความท้าทายของการแสดงให้ผู้รับสารเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นคืออะไร มีผลกระทบอย่างไร และมีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
2 อุปสรรคต่อการสื่อสาร
ประการแรกคือการอธิบายขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีความซับซ้อนอย่างมาก เช่น สถานการณ์อากาศเปลี่ยนเเปลงเฉียบพลันในอนาคตมาจากอุณหภูมิสูงขึ้น ที่เกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก อันเป็นผลจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยมนุษย์ ฟังดูแล้วเหมือนกลับไปเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ม.ต้น นอกเหนือจากนั้นผลกระทบของปรากฏการณ์นี้มิใช่ผลกระทบระยะสั้น หรือมีผลโดยตรง หรือเกิดขึ้นเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง (แหล่งที่มาของภาวะมลพิษและที่ที่ได้รับผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติมิได้เกิดขึ้น ณ ที่เดียวกันเสมอไป)
กระบวนการดังกล่าวแตกต่างจาก PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งสามารถนำมาอธิบายเเละขยายความได้ง่ายกว่า โดย PM2.5 นั้นเป็นอันตรายต่อการทำงานของปอดหรือทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้หากมีการรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่สูง ซึ่งชัดเจนว่าผลกระทบของ PM2.5 เป็นผลกระทบระยะสั้น มีผลโดยตรง และเกิดขึ้นเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง อย่างการที่วิกฤติ PM2.5 ในกรุงเทพฯ นั้นเกิดจากรถยนต์ที่เผาไหม้ด้วยเชื้อเพลิงดีเซลที่วิ่งในกรุงเทพฯ เอง
ประการที่สองคือ การอธิบายเหตุผลของความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนนั้นเป็นภารกิจที่มีความท้าทาย เพราะผลประโยชน์ของการปรับวิถีชีวีตให้ “สะอาด” (ในเชิงสิ่งแวดล้อม) ไม่สามารถเห็นชัดหรือจับต้องได้ แต่ในทางกลับกันการทำให้เห็นภาพถึงปัญหาต่างๆ ในการปรับวิถีชีวิตให้ “สะอาด” นั้นกลับง่ายดายเหลือเกิน
กรณีตัวอย่างคือ เราสามารถอธิบายได้ว่าการลดก๊าซคาร์บอนจะทำให้สินค้ามีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามกัน และจะส่งผลกระทบเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นการอธิบายแค่ว่าการลดก๊าซคาร์บอนจะป้องกันปัญหาในอนาคต (โดยไม่มีระยะเวลาแน่ชัด) แต่จะทำให้มีค่าครองชีพจะสูงขึ้นกะทันหัน คงไม่ใช่แนวคิดที่สร้างแรงจูงใจได้เท่าไรนัก
แนวทางการสื่อสารใหม่
ต่อจากนี้ เราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรยายถึงหัวข้อดังกล่าวจะต้องมีความแตกต่างจากวิธีเดิมๆ
สิ่งที่ผิดที่สุดที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมักจะทำคือการเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมกับคุณธรรมจริยธรรม โดยตั้งข้อครหาว่าผู้ที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมคือผู้ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการสื่อสารแบบ “Us vs. Them” ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วม (หรือเป็น exclusive process)
ถ้าจะทำให้เรื่องนี้เป็นของ “ทุกคน” ได้ ก่อนอื่นคือการที่นักเคลื่อนไหวจะต้องยอมรับว่าไม่ใช่ “ทุกคน” ที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ (คนส่วนใหญ่เน้นเรื่องปากท้อง) และการที่เขาไม่ได้สนใจนั้นก็ไม่ได้แปลว่าผิด ทุกคนมักมีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน
โจทย์ใหญ่ของงานสื่อสารวันนี้คือทำยังไงให้คนเหล่านั้น (ซึ่งคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ) หันมาสนใจ ทำให้เขามองว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับตัวเขา และที่สำคัญที่สุดคือการที่เรื่องนี้จะสามารถเป็นโอกาสให้กับตัวเขาได้
“โอกาสสร้างรายได้”
อย่างแรกคือเราจะต้องวางภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นโอกาสสร้างรายได้ มากกว่าที่จะเป็นการทำความดีหรือเป็นพลเมืองที่ดี และจุดสนใจควรที่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลธรรมดา มากกว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานทางการเงินและเหตุผลในการตั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการเปลี่ยนเป็นระบบพลังงานเเสงอาทิตย์ (ปัจจุบันมีราคาที่ต่ำลงมาก มีราคาเทียบเท่ากับไฟฟ้ารูปแบบดั้งเดิม ที่เรียกว่าจุด grid parity) หรือเน้นไปทางด้าน CSR ที่ทำให้องค์กรมีภาพว่าสนใจเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลธรรมดา ก็มีหนทางการสร้างผลประโยชน์มากมายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (net metering) ที่ผู้ผลิตกระเเสไฟฟ้าของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือบุคคล สามารถขายพลังงานส่วนเกินกลับไปยังกริดพลังงานได้ จึงทำให้ผู้ที่ผลิตใช้ไฟฟ้าจากแผงพลังงานเเสงอาทิตย์สามารถผันตัวเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ในเวลาเดียวกัน หรือ “prosumer” และสามารถเปลี่ยนรูปแบบพลังงานที่ถูกผลิตเกินให้เป็นรายได้อย่างสม่ำเสมอ (passive income) ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าการลงทุนกับการติดตั้งแผงพลังงานเเสงอาทิตย์นั้นจะมีระยะเวลาในการคืนทุนอยู่เท่าใด และคาดการณ์ได้ว่าจะได้รับแต่กำไรเมื่อใด ซึ่งส่งผลสำคัญต่อการสนับสนุนให้มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ตามแต่ละครัวเรือน
อีกหนึ่งแนวทางคือมาตรการการปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยโดยใช้หน่อต้นไม้ของต้นที่ปลูกใหม่เป็นการจำนอง เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ซึ่งปัจจุบันมาตรการนี้ได้มีผลใช้ในประเทศอินเดีย และสามารถต่ออายุสินเชื่อดังกล่าวได้รายปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยลูกหนี้จะต้องจ่ายเงินกู้คืนเฉพาะในกรณีที่ต้นไม้ที่ถูกจำนองถูกโค่นลงเท่านั้น
“ความอยู่รอดของมนุษยชาติ”
อย่างที่สองคือ เราจะต้องดึงจุดสนใจไปที่ความอยู่รอดของมนุษยชาติ ปัจจุบันสิ่งที่มีบทบาทความสำคัญในการพูดถึงภูมิอากาศเป็นการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate mitigation) หรือพูดง่ายๆ คือการลดคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทนหรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นแผนนโยบายระยะยาว และไม่สามารถตอบโจทย์ของปัญหาระยะสั้นได้ เช่น การป้องกันจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ความมานะในการสื่อสารว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องที่เร่งด่วนจะต้องประกบด้วยการนำเสนอถึงข้อไขในระยะสั้นเช่นกัน โดยจุดสนใจจะถูกเปลี่ยนไปเป็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) ซึ่งเป็นมุมที่มองถึงการเตรียมพร้อม ปกป้อง และรอดพ้นจากภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่และไม่เคยมีมาก่อนนี้ ซึ่งอาจเป็นในลักษณะ “สีเทา” (เช่น โครงการวิศวกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงกันคลื่น หรือการใช้ระบบคันกั้นน้ำ) “สีเขียว” (เช่น การหาทางออกโดยใช้หลักการทางธรรมชาติ อย่างเช่นการปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง) หรือ “smart” (เช่น การเก็บและใช้ข้อมูลเพื่อจัดการและบรรเทาสาธารณภัย)
อาจกล่าวได้ว่า เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องเผชิญกับภัยเเล้งคงจะซาบซึ้งหากรัฐบาลมีการลงทุนในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างเช่นการกักเก็บน้ำใต้ดินตามชุมชน หรือการผันน้ำ มากกว่าที่จะนำภาษีไปเกื้อหนุนการติดตั้งแผงพลังงานเเสงอาทิตย์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถเข้าถึงประโยชน์ของนโยบายได้
ข้อไขต่างๆ เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่จับต้องและเข้าถึงได้โดยบุคคลทั่วไป พลเมืองทุกคนล้วนเข้าใจถึงหน้าที่ บทบาท และความสำคัญของตนเอง พวกเขาปกป้องประชากรของประเทศจากภัยธรรมชาติไม่ว่าความคิดเห็นหรือมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร และเพราะว่าโครงการที่กล่าวมาเหล่านี้นั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล จึงต้องให้ความสำคัญทางด้านการสื่อสารอย่างสูง โดยที่ประชาชนจะต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือ
นี่คือแผนระยะสั้น แผนระยะยาวคือการศึกษา
การเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารและบรรยายถึงประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเพียงทางออกในระยะสั้นเท่านั้น เพื่อเป็นการรับรองว่าจะมีการปฎิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเพียงพอ
เพราะ ณ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าประเด็นสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนมากไม่ได้ให้ความสำคัญ
ส่วนการปฎิบัติระยะยาวนั้น จะต้องประสานการอบรมด้านสภาวะอากาศเข้ากับหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างความคุ้นชินให้กับเยาวชน เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตท่ามกลางความคิด บทสนทนา และความกังวลด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หากเราสามารถผสมผสานประเด็นดังกล่าวกับระบบการศึกษาได้สำเร็จ คงจะมีปัญหาด้านการสื่อสารที่น้อยลงและมีเวลามากขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเปลี่ยนเเปลงได้อย่างแท้จริง