ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > รัฐบาลระดมตรวจเชิงรุก กทม.-ปริมณฑลเจาะรายพื้นที่ มุ่งเป้าคัดกรองผู้ป่วยออกจากชุมชน

รัฐบาลระดมตรวจเชิงรุก กทม.-ปริมณฑลเจาะรายพื้นที่ มุ่งเป้าคัดกรองผู้ป่วยออกจากชุมชน

1 พฤษภาคม 2021


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ:https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7061

แถลงการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 1,891 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 67,044 ราย และมีผู้เสียชีวิต 21 ราย

ในภาพรวมผู้เสียชีวิตเป็นชาย 9 รายหญิง 12 รายอยู่ในกรุงเทพฯ 10 ราย ชลบุรี และสมุทรปราการ 2 ราย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี เพชรบุรีจังหวัดละ 1 ราย อายุอยู่ในช่วง 39 – 90 ปี มีโรคประจำตัวเป็น ความดันโลหิตสูง 10 ราย เบาหวาน 9 ราย โรคหัวใจ 4 รายไขมันในเลือดสูง 3 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 3 ราย มะเร็ง 2 ราย อ้วน 2 ราย โรคปอดเรื้อรัง 2 ราย โรคไตเรื้อรัง 4 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียง 4 ราย และก็มีความเสี่ยงส่วนมากมีประวัติใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ 11 ราย

ทางด้านการรักษามีจำนวนทั้งหมด 28,745 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 20,775 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 7,970 ราย มีอาการหนัก 829 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหลายใจ 270 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มีจำนวน 1,095,230 ราย และเข็มที่ 2 อีก 381,848 ราย

สถิติผู้ป่วยรายจังหวัดวันนี้ พบว่า ผู้ติดเชื้อสูงสุดยังอยู่ที่กรุงเทพเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานเป็น 739 ราย รองลงมาได้แก่สมุทรปราการ 142 ราย ชลบุรี 126 ปทุมธานี 64 เชียงใหม่ 61 ราย

นพ.ทวีศิลป์ รายงานว่า กรมควบคุมโรค โดย สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) คาดคะเนว่ารายงานสถานการณ์โควิด-19 ของกรุงเทพจะดีขึ้นได้ต้องมีผู้ป่วยรายวันไม่เกิน 400 ราย หรือโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละเขตต้องมีผู้ป่วยไม่เกิน 8 คน

ดังนั้นกทม.จึงมีการวางแผนการควบคุมและป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายเพื่อลดตัวเลขผู้ป่วยในกรุงเทพ โดยการซุ่มตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชน (active case finding) ตั้งแต่วันที่ 3 – 7 พฤษภาคม แบ่งเป็น

-วันที่ 3 ซุ่มตรวจในพื้นที่เขตพระนคร เขตพระโขนง เขตบางเขน เขตคลองสามวา เขตบางคอแหลม โดยมีเป้าหมายประมาณ 1,800 คน
-วันที่ 4 ซุ่มตรวจในพื้นที่เขตบางขุนเทียน เขตบางพลัต โดยมีเป้าหมายประมาณ 400 คน
-วันที่ 5 ซุ่มตรวจในพื้นที่เขตคลองเตย เขตปทุมวัน (ราชประสงค์ – สยาม) โดยมีเป้าหมายประมาณ 2,000 คน
-วันที่ 6 ซุ่มตรวจในพื้นที่เขตหนองแขม เขตมีนบุรี เขตมักกะสัน เขตปทุมวัน (ขุมชนพัฒนาบ่อนไก่) โดยมีเป้าหมายประมาณ 1,600 คน
-วันที่ 7 ซุ่มตรวจในพื้นที่เขตบางแค เขตสัมพันธวงศ์ (สำเพ็ง) เขตบางซื่อ เขตคลองสาน โดยมีเป้าหมายประมาณ 1,400 คน

รัฐบาลระดมตรวจเชิงรุก มุ่งเป้าคัดกรองผู้ป่วยออกจากชุมชน

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์โควิด-19 พบว่าจังหวัดส่วนใหญ่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้มากขึ้นแล้ว แต่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในกทม. และปริมณฑลระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน จำนวน 16,045 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.2 ของการติดเชื้อทั้งประเทศที่มีจำนวน 36,290 ราย ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เน้นให้ขยายการตรวจเชิงรุกเพื่อเร่งแยกผู้ป่วยออกจากประชากรทั่วไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง

ที่ผ่านมา ในชุมชนพื้นที่กทม. ตั้งแต่วันที่ 5- 30 เม.ย. ได้ให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงาน ได้ให้บริการตรวจเชิงรุกแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และ 40 ช่วงระหว่างวันที่ 17-30 เมษายนในกทม. และระหว่างวันที่ 24-30 เมษายน ในปทุมธานี ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ตรวจไปแล้วรวม 4.5 หมื่นราย ซึ่งจะส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อทุกคน ไปรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ทันทีตามอาการ

และตั้งแต่วันที่ 1 – 15 พ.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขเปิดตรวจคัดกรองโควิด- 19 โดยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน สำหรับประชาชนกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 และผู้ไปในสถานที่เสี่ยง ณ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ พร้อมรับ walk in วันละ 1,000 คน แจกบัตรคิวหน้างานช่วงเช้ารอบเดียวจนกว่าจะหมด ขณะที่กระทรวงแรงงานจะให้บริการตรวจโควิด-19 เชิงรุก ในพื้นที่สมุทรปราการ ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานวันที่ 1- 7 พ.ค. และกรุงเทพมหานครและปทุมธานี อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 5-11 พ.ค ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย -ญี่ปุ่น) และวิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี พร้อมประเมินเพื่อปรับการบริการให้สอดคล้องสถานการณ์ด้วย

อนึ่ง ปัจจุบันโรงพยาบาลสนาม ในสังกัด กทม. ข้อมูล ณ 28 เม.ย. มีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 1,700 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 1,000 เตียง ครองเตียง 451 เตียง ยังว่างอยู่ 549 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 230 เตียง (เสริม 30 เตียง) รพ.เอราวัณ 1(ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียงครองเตียง 38 เตียง ยังว่างอยู่ 62 เตียง และรพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 287 ยังว่างอยู่ 113 เตียง และเข้าHospitel 60 เตียง รวมครองเตียง 1,066 เตียง เตียงคงเหลือ 724 เตียง ซึ่งกทม. จะเร่งนำผู้ป่วยติดเชี้อ เข้าสู่สถานพยาบาล / รพ. สนาม/ hospitel ตามอาการ โดยศูนย์ เอราวัณ 1669 ตั้งเป้าต้องไม่มีผู้ป่วยตกค้างในระบบ สามารถส่งตัวแบบวันต่อวันได้