ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ถอดบทเรียน ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ เส้นทางลดก๊าซเรือนกระจก “ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้-ไทยอีสเทิร์นฯ”

ถอดบทเรียน ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ เส้นทางลดก๊าซเรือนกระจก “ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้-ไทยอีสเทิร์นฯ”

1 มิถุนายน 2022


ที่มาภาพ : https://www.fpiautoparts.com/sd_report_th/

9 พฤษภาคม 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาหัวข้อ “Circular Economy ‘เส้นทางลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ’ ต้องทำอย่างไรเพื่อผนวก CE ในการทำธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน” ถอดบทเรียนแนวคิดการพาองค์กรสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน กับบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจแปรรูปยางพาราและบริหารจัดการกากอินทรีย์

‘ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้’ ชู Resources Recovery นำวัตถุดิบกลับมาใช้ซ้ำ

ดร.ศรุดา ศิริภัทรปรีชา กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI ให้ข้อมูลว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบแม่พิมพ์ ผลิตแม่พิมพ์ ขึ้นรูปพลาสติก มีกลุ่มลูกค้าทั้งรับจ้างผลิตแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) และธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนในกลุ่มอะไหล่ทดแทนแบบ REM (Replacement Equipment Manufacturing: REM) ส่งออก 140 ประเทศทั่วโลก

โดยหนึ่งในวัตถุดิบ-วัสดุที่ใช้ในกระบวนการผลิตคือ ‘พลาสติก’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ถูกจับตาอย่างทั่วโลก ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเศรษฐกิจเส้นตรง เป็น ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’

ดร.ศรุดา อธิบายความแตกต่างของแนวคิดเศรษฐกิจเส้นตรงและหมุนเวียนว่า “การเติบโตแบบเส้นตรงจะนำไปสู่ขยะ และไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว สุดท้ายกลับมาที่ปัญหาหลักคือการขาดแคลนทรัพยากร ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น เพราะเน้นการแปรรูปทรัพยากรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่คุณค่าของผลิตภัณฑ์จะลดลงจนเป็นขยะ แต่เศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งต้นว่าผลิตภัณฑ์และของเสียต้องไม่เท่ากับศูนย์ มีแนวคิดตั้งแต่ลดปริมาณการใช้(reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (recycle) และทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นพร้อมกับนำไปซ่อมแซม(repair) โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเน้นรักษาคุณค่าให้อยู่ได้นานที่สุด และนำกลับมาเป็นวัตถุดิบ-วัสดุต้นทางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

FPI จึงใช้เครื่องมือ Science-based Targets (SBT) กล่าวคือ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ขณะเดียวกันบริษัทก็มีเจตนารมณ์ไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ดร.ศรุดา เสริมว่า เหตุผลที่องค์กรนำแนวคิด Circular Economy มาใช้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าในยุโรปมีมาตรฐาน European Green Deal สอดคล้องกับที่ผู้ควบคุมมาตรฐานดังกล่าว (regulator) จับตากับอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่คาดหวังให้ภาคอุตสาหกรรมต้องมีวัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต

ดังนั้น เป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรจึงแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น-ภายใน 6 ปีจะลดก๊าซเรือนกระจก 25.2% หรือปีละ 4.2% และระยะกลางภายใน 10 ปี ลดก๊าซเรือนกระจก 42% และตั้งเป้าสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2040

นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าเป็น circular REM 93% ภายในปี 2027 และยกระดับความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวภายในองค์กร(Green Economy) จาก zero waste to landfill เป็น waste to value หรือการสร้างมูลค่าและคุณค่าจากของเสียทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ดร.ศรุดา ย้ำว่าหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการสร้างนวัตกรรมนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและรักษา-ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แต่ปัจจัยเหล่านี้จะทำไม่ได้หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้วัสดุใหม่ ลดต้นทุน และนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ซ้ำ (Resources Recovery) จนออกมาเป็น ‘Circular Product’

วิธีการของ FPI ในระดับการพัฒนาองค์กรเริ่มจาก การทบทวนห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจแล้วคิดเชิงระบบ จากนั้นพัฒนานวัตกรรม พร้อมประเมินระบบและดูแลรับผิดชอบตามมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) และสร้างคุณค่าอย่างสมดุล ที่สำคัญคือต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

“การลดก๊าซเรือนกระจกไม่จำเป็นต้องทำอิมแพคใหญ่ แต่ต้องเริ่มจากสิ่งที่ควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นของผู้นำในการกำหนดเป้าหมาย การสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียถึงแนวทางการสร้างคุณค่าตลอดห่วงโซ่ ความร่วมมือในการพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างวัฒนธรรมองค์กรเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้นำของเสียหรือวัสดุไม่ใช้แล้วหรือหมดอายุมาดำเนินการตาามหลัก 4R คือ Reduce Reuse Recycle Repair”

ถัดมาที่ระดับ กระบวนการผลิต เนื่องจาก FPI มีจุดเด่นเรื่อง resources recovery โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล 82% และนำพลาสติกมาใช้ซ้ำเป็นวัตถุดิบใหม่ได้ถึง 2 % ทำให้ภาพรวมแล้วบริษัทใช้วัตถุดิบหมุนเวียน 84% และใช้พลังงานหมุนเวียน 41%

ทั้งนี้ วิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ Circular Economy ของ FPI มีทั้งสิ้น 6 คุณสมบัติ ดังนี้

  1. ใช้วัสดุเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล
  2. ออกแบบให้มีน้ำหนักเบา
  3. ออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ให้ใช้ได้กับหลากหลายโมเดล
  4. ลดปริมาณการใช้สารต้องห้าม
  5. ลดการใช้วัตถุดิบและของเสียในการผลิต
  6. ใช้วัตถุดิบหมุนเวียนแทนการใช้วัตถุดิบจากฟอสซิล

“เมื่อก่อน ค่าใช้จ่ายในการฝังกลบอยู่ที่ 2,000 ถึง 3,000 บาท แต่ปัจจุบันขายได้ตันละ 5,000 บาท ตามหลักการ recovery ตลอดจนร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียในการส่งพลาสติกกลับบ้าน…โมเดลทั้งหมดต้องพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลที่เรียลไทม์”

ดร.ศรุดา กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือ ผู้นำองค์กรต้องมีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนให้ชัดเจน และเป็นต้นแบบให้กับพนักงานก่อนจะสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียในเวลาต่อมา

ท้ายที่สุด ดร.ศรุดา แนะนำถึงองค์กรที่สนใจหรือต้องการเริ่มสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์หรืออุตสาหกรรมใกล้เคียงว่า อันดับแรกควรเริ่มจากการประเมินจัดซื้อจัดจ้างสารที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ คำนึงถึงองค์ประกอบหรือการออกแบบสินค้าเหล่านั้น รวมถึงเรื่องเล็กๆ แต่สำคัญ เช่นการใช้หมึกในการพิมพ์ เพื่อช่วยลดความหนาของฟอนท์ เมื่อมองภาพรวมได้แล้วก็ไปต่อในขั้นของกระบวนการผลิตให้สามารถนำของเสียกลับมาใช้ซ้ำได้

‘ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ สร้างธุรกิจใหม่จาก Circular Economy

ยางพารา

ส่วนนางสาวสินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เล่าภาพรวมของธุรกิจว่า บริษัท ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก และ 1 กิจการร่วมค้าภายใต้ 11 บริษัทย่อยคือ ผู้ผลิตและแปรรูปยางธรรมชาติ และน้ำมันปาล์มดิบ และมีการผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพในพื้นที่อีอีซี เช่น การรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือโรงงานอุตสาหกรรม

นางสาวสินีนุช กล่าวต่อว่า ธุรกิจยางพารามีความท้าทายเรื่องการจัดการน้ำเสีย เพราะในกระบวนการผลิตเมื่อยางพาราได้รับแบคทีเรียจะเกิดการย่อยสลายอาหารทำให้ยางมีกลิ่น แต่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ และน้ำที่ออกมาจะมีค่าปริมาณออกซิเจนที่จุลชีพใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์หรือ BOD และค่าปริมาณออกซิเจนที่สารเคมีใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ หรือ COD ในระดับที่สูง ซึ่งระบบปกติยังไม่สามารถกำจัดของเสียเหล่านี้ได้ ทว่าเป็นของที่มีคุณค่า แต่สำหรับโรงงานถัดมาน้ำยางข้นประสบปัญหาเรื่องกลิ่น แม้ในน้ำจะมีค่า BOD และ COD ไม่สูงมาก สามารถกำจัดแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่สุดท้ายไม่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

สิ่งที่บริษัทพัฒนาคือระบบบำบัดน้ำเสีย (Water Management System) และต่อยอดเป็นระบบ Waste Water System เพื่อสร้างจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายทั้งกากไขมันในน้ำมันปาล์ม โดยในช่วงแรกของการทดลองบริษัทใช้น้ำมันดีเซลมาอบยางแท่ง แต่ต่อมาใช้ก๊าซ LPG มาทดแทนแทน เมื่อทดลองจนประสบผลสำเร็จ บริษัทจึงสามารถเปลี่ยนน้ำเสียเป็นไบโอแก๊ส และเปลี่ยนเป็นไบโอแก๊สที่สามารถให้พลังงานได้

“ลำพังต้นทางทำอย่างเดียวแต่ปลายทางไม่ทำ จะไม่เกิดการนำไปใช้ สำคัญคือทำแล้วใช้อะไร ได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า เราต้องปรับจูนเรื่อยๆ เป็น learning curve พอใช้กับยางแท่ง เห็นว่าผลิตแก๊สได้ดีกว่าเก่า เราปรับระบบหมักเพื่อให้ได้คุณภาพจุลินทรีย์ที่ดีขึ้น ทำให้วัตถุดิบเท่าเดิมแต่ได้แก๊สเยอะขึ้น ขายยางแท่งได้ และประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารู้ว่ามาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน”

นางสาวสินีนุช กล่าวต่อว่า ปี 2561 บริษัทเห็นว่าระบบไบโอแก๊สย่อยสลายได้เฉพาะน้ำเสีย (liquid waste) แต่ในโรงงานมีของเสียจากน้ำมันปาล์มคือไขมัน ซึ่งไม่สามารถย่อยกับน้ำได้ และมาเจอสารชนิดหนึ่งที่ได้จากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบและพบว่าสารดังกล่าวผลิตได้ถึงหลายพันตันต่อปี จากนั้นบริษัทเลยพัฒนาระบบ Multi Feeding Digestion

ที่สำคัญคือบริษัทพบธุรกิจใหม่จากการปรับตัวสู่ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ คือธุรกิจรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ จากเพนพ้อย (pain point) ของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มและเกษตรแปรรูปที่ธุรกิจมักไม่รู้ว่าจะจัดการกากของแข็งอย่างไร ทำให้บริษัททดลองนำกากของแข็งหมักกับระบบของตัวเองจนได้มาเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลาย

“Circular Economy ไม่ใช่แค่รายจ่าย แต่มันทำให้ต้นทุนลดลง ถ้าไม่รู้ว่าหลักคิดตอนเริ่มต้องทำอย่างไร สิ่งที่ต้องทำคือ ยืดอายุการใช้งานให้คุ้มค่าที่สุด จนค่อยมาดูว่าจะจัดการกับสินค้าเหล่านั้นยังไง”

หัวใจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของ “ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” คือเทคโนโลยีระบบจัดการน้ำและนำกลับมาใช้ซ้ำจนเป็นการใช้น้ำหมุนเวียน อีกทั้งยังมีกระบวนการกากของเหลือ เพื่อเอาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการถัดไปที่สร้างมูลค่าได้

ผลลัพธ์ที่ได้แบ่งออกเป็นคุณค่า 3 ด้าน ดังนี้

  1. คุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ในหนึ่งปีสามารถลดการใช้น้ำใหม่ 1,087,771 ลูกบาศก์เมตร รีไซเคิลน้ำได้ 89.4% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 93,613 ตัน
  2. คุณค่าด้านสังคม รับจัดการกากอินทรีย์ 196,198 ตัน ลดปัญหาการฝังกลบ 113,500 ตัน
  3. ด้านคุณค่าทางเศรษฐกิจ ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 19.55 ล้านกิโลวัตต์ ขายไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 22.37 ล้านบาท ลดการใช้ก๊าซ LPG 2,921,759 กิโลกรัม และลดการใช้ไฟฟ้าจากภายนอก 16.9 ล้านกิโลวัตต์

นางสาวสินีนุช กล่าวต่อว่า บริษัทเริ่มต้นการสร้างความยั่งยืนจากการกำหนดเป็นเป้าหมายองค์กร และตั้งเป้าตัวชี้วัด ‘Sustainability Index’ เและต่อยอดจุดแข็ง และทำให้พนักงานเห็นว่าสามารถทำอะไรก็ได้ที่ไปสู่ความยั่งยืนในทุกขั้นตอน

นางสาวสินีนุช เสริมว่า เมื่อบริษัทสร้างความยั่งยืนภายในองค์กรได้แล้ว จึงสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนโดยสนับสนุนให้เกษตรกรในภาคตะวันออกได้รับใบอนุญาตเรื่องการจัดการสวนปาล์มอย่างยั่งยืน เป็นผลพลอยได้ให้องค์กรมีความยั่งยืนทั้งห่วงโซ่การผลิต และสามารถบอกลูกค้าได้อย่างมั่นใจว่าบริษัทมีน้ำยางที่ผลิตจากสวนออร์แกนิค สอดคล้องกับความต้องการของมาตรฐานโลก

อ่านเพิ่มเติม www.setsustainability.com