ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดยาเสพติดในยุคโควิด-19

ตลาดยาเสพติดในยุคโควิด-19

29 พฤษภาคม 2021


ศรีนาคา เชียงแสน รายงาน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบใหม่ที่ยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทำให้หน่วยงานวิจัยที่มีชื่อเสียงหลายสำนักต้องออกมาปรับประมาณการณ์และคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกันใหม่หลายรอบ แต่ไม่ว่าจะปรับตัวเลขกันกี่ครั้งๆ ผลการวิเคราะห์ก็ยังชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยยังสะดุดหัวทิ่ม ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ และแม้ว่าในระยะยาวยังไม่ถึงขั้นแตกสลายไปก็ตาม

ศูนย์วิจัยกรุงศรีมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ที่ -2.6% YoY คาดทั้งปีขยายตัว 2.0% GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ -4.2% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และหดตัวน้อยกว่าที่ศูนย์วิจัยกรุงศรี หรืออย่างผลสำรวจของ Bloomberg คาดไว้ที่ -3.3% และ -3.6% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายรัฐบาลและการเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวอีกครั้ง

การระบาดของไวรัสโควิดยังเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตและการจ้างงานสดใสขึ้นจากความคืบหน้าของข่าวความสำเร็จในการผลิตวัคซีนหลากหลายชนิดออกมาสร้างความหวังให้กับผู้คน แต่สำหรับประเทศไทย จากมาตรการและแผนงานการนำเข้าวัคซีน การบริหารและกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ดูแล้วยังไม่เป็นไปตามที่หลายๆ คนคาดหวัง และค่อนข้างทำได้ช้าสวนทางกับตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่พุงสูงขึ้นมาก อีกทั้งประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนบางชนิด จึงไม่มีความมั่นใจการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด สรุปได้ว่าในฐานะประชาชนอย่างเรายังต้องเหนื่อยและต้องลุ้นกันไปอีกนาน สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคของประชาชนหดตัวลง เพราะเป็นธรรมดาที่ผู้คนจะต้องพยายามเก็บออมสำรองเงินเผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือในห้วงที่สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นที่อาจจะเกินความคาดหมายก็เป็นได้

นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมหลายสำนักมักจะบอกเราว่า ในขณะที่เศรษฐกิจของโลกและประเทศกำลังหดตัวลง หรือในยามที่เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมสำคัญๆ หรือรุนแรงขึ้นในสังคม จะส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย เพื่อเก็บออมเงินไว้สำหรับสำรองในการใช้จ่ายในอนาคต ดูเหมือนคำกล่าวนี้จะสามารถนำมาอธิบายพฤติกรรมในวิถีชีวิตทั่วๆ ไปของเราได้ดียิ่ง แต่ไม่สามารถนำมาอธิบายธุรกิจในตลาดยาเสพติดได้เลย ในทางตรงข้ามข้อเท็จจริงที่ปรากฏทำให้เราต้องแปลกใจเมื่อพบว่า ในวิกฤติการณ์โควิดช็อกโลกที่เกิดขึ้น กลับส่งผลให้ธุรกิจยาเสพติดเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

วิกฤติการเมืองในเมียนมาเร่งให้ตลาดยาเสพติดเติบโต

เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญๆ ของเมียนมามากนัก ตรงกันข้ามความจำเป็นในการทำสงคราม ต้องหาเงินงบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สะสมเสบียงอาหาร หรือสะสมทุนเพื่อความมั่งคั่งท่ามกลางความไม่ปกติภายในประเทศ รวมทั้งภาคราชการของเมียนมาไม่มีกำลังพลและเวลาจะมามุ่มเทใส่ใจจัดการเรื่องยาเสพติดเหมือนในภาวะปกติ อีกทั้งบางส่วนยังเปิดทางอำนวยความสะดวกให้เพื่อแลกกับผลประโยชน์ใต้โต๊ะในห้วงที่บ้านเมืองกำลังข้าวยากหมากแพง ต่างๆ เหล่านี้ยิ่งเป็นปัจจัยให้กลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดต้องเร่งผลิตและจำหน่ายยาเสพติดให้ได้เพิ่มมากขึ้น

เราพบว่านับจากการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามียาเสพติดถูกลำเลียงเข้ามาพักรอในเขตพื้นที่ชายแดนไทย–เมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมได้เท่าไหร่ยาเสพติดก็จะย้อนกลับเข้ามามากกว่าที่จับได้หลายเท่าตัว

ยาเสพติดส่วนใหญ่ถูกลักลอบลำเลียงมาจากแหล่งผลิตบริเวณชายแดนเมียนมา–จีน โดยเฉพาะจากเขตปกครองพิเศษว้าภาคเหนือ และว้าภาคใต้ และจากเขตปกครองพิเศษที่ 4 เมืองลา รัฐฉาน โดยมีกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดจะใช้กองกำลังติดอาวุธเชื้อสายมูเซอ หรือบางส่วนเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ชายแดน (BGF) เชื้อสายมูเซอ มาทำหน้าที่รับจ้างลำเลียงขนยาเสพติดข้ามแดนเข้ามาให้

ปัจจุบันขบวนการค้ายาเสพติดมีสินค้ามากมายหลากหลายชนิดเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ตั้งแต่ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน ยาเค และฝิ่นดิบ โดยมีจุดพักคอยสำคัญในพื้นที่ชายแดนคือที่บ้านเปียงส่า เมืองยองปัง จังหวัดมืองสาด รัฐฉาน ก่อนจะค่อยๆ ลักลอบทยอยลำเลียงเข้าสู่ไทยตามช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนไทย–เมียนมา เข้ามาพักรอในเขตพื้นที่อิทธิพลของเครือข่าย ในพื้นที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง และอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

บางส่วนที่ใช้กลุ่มผู้ลำเลียงเป็นกลุ่มม้ง ก็จะใช้วิธีการลำเลียงยาเสพติดผ่านเข้าในพื้นที่ของ สปป.ลาว ก่อนจะลักลอบนำเข้าไทยในพื้นที่อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และในพื้นที่อำเภอภูซาง และอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เพื่อเตรียมลักลอบลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนในต่อไป

ทั้งนี้พบว่าเฉพาะในห้วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีความถี่ในการลำลอบลำเลียงยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. พบว่า เฉพาะในห้วงเดือนเมายน 2564 ที่ผ่านมา มีสถิติการจับกุมคดีสำคัญๆ สูงถึง 22 คดี (ทั้งพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ตอนใน) คิดเป็นของกลางยาบ้า จำนวน 3,605,632 เม็ด, ไอซ์ จำนวน 610.20 กิโลกรัม, เฮโรอีน จำนวน 0.50 กิโลกรัม, เคตามีน จำนวน 56 กิโลกรัม และฝิ่นดิบ จำนวน 98.5 กิโลกรัม

รูปแบบการลำเลียงเหมือนเดิม แต่รูปแบบการค้าเปลี่ยนไป

จากการติดตามและประมวลข่าวสารจากการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในคดีสำคัญๆ พบว่ารูปแบบการลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ชายแดนเข้าสู่พื้นที่ตอนในของไทย ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดยังอาศัยรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ที่นิยมกันมากคือ การดัดแปลงทำช่องลับในรถยนต์ส่วนบุคคลต่างๆ เพื่อซุกซ่อนยาเสพติด โดยเฉพาะในรถยนต์บริเวณห้องโดยสาร หรือบริเวณท้ายกระบะบรรทุก หรือทำช่องเก็บของต่างๆ ในรถยนต์หรือในยางอะไหล่ หรือการดัดแปลงทำช่องลับแล้วอำพรางยาเสพติดมากับรถบรรทุกพืชผลทางการเกษตรหรือสินค้าอื่นปิดทับอำพรางตบตาเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจต่างๆ

ในขบวนการลักลอบลำเลียงของมือขนยาเสพติด หรือกลุ่มที่เรียกกันว่า “นักบิน” เหล่านี้ จะมีทีมงานที่ร่วมกันเป็นทีม มีรถยนต์ระวังหน้าระวังหลัง เพื่อคอยป้องกัน และแจ้งเหตุ หากพบด่าน หรือการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีทีมนำทางท้องถิ่นมาช่วยเสริมช่วยนำทางในเส้นทางสายรองต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงด่านตรวจบนเส้นทางหลัก

มิต้องกล่าวถึงรถยนต์หรือยานพาหนะที่กลุ่มคนพวกนี้นำมาใช้ ล้วนแต่เป็นรถยนต์ยี่ห้อดีๆ สมรรถนะสูงๆ ยากที่รถยนต์ของเจ้าหน้าที่ราชการจะติดตาม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันมีการแบ่งงานกันซับซ้อน มีการตัดตอนเป็นช่วงๆ แต่ละทีมจะทำหน้าที่เฉพาะส่วนที่ได้รับมอบหมายมาให้ทำ ทำให้ยากในการตรวจสอบติดตามของเจ้าหน้าที่ เช่น พบการนัดหมายทิ้งยาเสพติดไว้บริเวณพื้นที่ป่า หรือพื้นที่สาธารณะระหว่างรอลำเลียงหรือส่งมอบให้กับทีมงานอีกชุด หรือการซุกซ่อนยาเสพติดในกระเป๋าสัมภาระไปเก็บไว้ที่จุดนัดหมายที่ไม่ใช่จุดน่าสงสัยของคนทั่วไป เช่น ร้านซักผ้าสาธารณะ เพื่อให้ทีมงานชุดอื่นมารับของไปต่อ ดังนั้นในหลายๆ ครั้งที่ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมตัวบุคคลได้ หรือจับได้ก็ได้แค่มือขน ไม่อาจสาวไปถึงผู้บงการใหญ่ได้

โดยรวมอาจกล่าวได้ว่ารูปแบบการลักลอบขนยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ตอนในยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปบ้างคือ มีเทคนิค ลูกเล่น เข้ามาตบตาเจ้าหน้าที่ มีการทำงานเป็นทีมที่ซับซ้อน มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสาร มาใช้ในการติดต่อประสานงาน

และที่สำคัญที่สุดคือ มีการดึงคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้ามาเป็น “นักบินรุ่นใหม่” มากขึ้น ทำให้ได้นักบินรุ่นใหม่ที่ใจกล้าบ้าบิ่นกว่าเดิมมากขึ้น

โควิดทำให้รูปแบบการค้าเปลี่ยนไป

สิ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ พยายามจะวิเคราะห์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้รูปแบบการค้าของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ซึ่งพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจพอสมควร

กล่าวได้ว่าขบวนการค้ายาเสพติดมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจของตัวเองมาตลอด โดยก่อนหน้านี้ในช่วงราวๆ หนึ่งถึงสองปีมานี้ กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดได้หันไปใช้เทคโนโลยีผ่านระบบแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีอยู่ในมือถือแทบทุกแอปมาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจของตน ตั้งแต่การติดต่อสร้างเครือข่ายลูกค้าในกลุ่มไลน์ห้องลับส่วนตัว การติดต่อซื้อขาย สั่งสินค้า หรือโฆษณาสินค้าตัวใหม่ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ รวมทั้งการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิงต่างๆ โดยผ่านบัญชีของบุคคลอื่นๆ ที่ได้มาด้วยวิธีการพิเศษ เช่น จากการรับจ้างเปิดบัญชี หรือการลอกลวงอื่นๆ เพื่อตัดตอนและไม่ให้เจ้าหน้าที่สืบสาวมาถึงตัวเองได้ เป็นต้น

แต่ในช่วงที่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาด เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนตกงาน เงินทองหายากมากขึ้น เราพบว่า กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดก็ได้อาศัยความยุ่งยากของชีวิตเหล่านี้ มาเป็นโอกาสทองของฝ่ายตนเช่นกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่อยากเน้นในที่นี้

1) กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดสามารถจูงใจดึงกลุ่มวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่อายุน้อยๆ เข้ามาร่วมขบวนการ โดยเฉพาะในขั้นตอนการรับ-ส่ง-ลำเลียง-ขนยาเสพติดได้มากขึ้น โดยมีเงินค่าจ้างอัตรางาม ได้เงินง่ายในเวลาสั้นๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจ โดยพบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้บางส่วนเคยเสพยามาก่อนเป็นทุนเดิม แต่ด้วยพิษจากโควิด เงินทองที่เคยมีหาได้ยากขึ้นหรือมีน้อยลง หรือคนรุ่นใหม่บางคนต้องตกงาน จำเป็นต้องหารายได้มาจุนเจือครอบครัวหรือเพื่อใช้จ่ายส่วนตัว จึงได้ตัดสินใจผันตัวเองเข้าสู่วงการ บางคนไม่เคยเสพยาก็อาจจะมาเป็นเด็กเดินยา หรือบางคนเสพยาอยู่ก่อนแล้วก็ผันตัวเองกลายมาเป็นผู้ค้ารายย่อย เพื่อจะได้ทั้งยาไว้เสพเอง และได้เงินกำไรจากการค้ายาไว้ใช้จ่าย

2) กลุ่มบวนการค้ายาเสพติด สามารถสร้างเครือข่ายผู้ค้ารายย่อยกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยใช้การติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ผ่านทางสื่อออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องติดต่อเห็นหน้ากันเหมือนก่อน แต่ใช้ระบบการเชื่อสินค้าส่งให้ไปขายก่อน แล้วค่อยโอนเงินให้ภายหลัง โดยมีโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม และคืนกำไรต่างๆ เป็นแรงจูงใจ (โดยมีวิธีการควบคุม ป้องกันการโกง หรือหักหลัง สำหรับแต่ละกลุ่มแต่ละเครือข่ายแตกต่างกัน)

3) จากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้สถานบันเทิง ผับ บาร์ ต้องปิดตัวลง กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดใช้วิธีการส่งยาถึงมือลูกค้าโดยตรงผ่านทางพัสดุของบริษัทเอกชน รวมถึงซุกซ่อนผ่านทางบริการส่งสิ่งของ และอาหารต่างๆ เรียกว่าแทบจะเหมือนระบบขายตรง ส่งถึงมือลูกค้า ทุกตรอกซอกซอยในพื้นที่ตำบลหมู่บ้าน หรืออาคารสถานที่ต่างๆ ในเขตเมือง

4) ที่น่าสนใจคือ พบว่าตอนนี้ในกลุ่มผู้เสพยาเสพติดเองนิยมสั่งซื้อยาเสพติดในแต่ละครั้งเป็นปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อความสะดวก ง่ายในการใช้สอยและเสพ ไม่ต้องเสี่ยงหาซื้อหลายหน การซื้อยาเสพติดในปริมาณที่มากขึ้นก็จะได้รับโปรโมชันในราคาเฉลี่ยที่ถูกลง สามารถเอามาแบ่งขายคืนกำไรกลับมาเป็นรายได้บางส่วน ในที่สุดก็ผันตัวเองจากแค่ผู้เสพเป็นผู้ค้ารายย่อยในกลุ่มเล็กๆ เฉพาะของกลุ่มตน และขยายเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวงจรธุรกิจประเภทนี้

รั้วชายแดนที่อ่อนล้าจนน่าห่วง

การจะหาซื้อยาเสพติดในตำบล หมู่บ้าน หรือตามละแวกบ้าน อาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนซื้อขนมกิน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับคนวงใน หรือคนที่รู้จักแวดวงเหล่านี้ ยิ่งกว่านั้นปัจจุบันเราพบว่าราคายาเสพติดถูกลงมาก แต่มีฤทธิ์เมายาได้มากกว่าเดิม ยิ่งทำให้มีกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่เข้ามาติดยาเพิ่มมากขึ้นเพราะหาซื้อได้ง่ายและราคาถูก

ยกตัวอย่างเช่น ราคายาบ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนปัจจุบันราคาตกเม็ดละ 20 ถึง 50 บาท หากหลุดเข้าไปในพื้นที่ชั้นในราคาเฉลี่ยประมาณ 50 ถึง 100 บาท หรือ แถวละ 400 ถึง 1,000 บาท หรือ แถวละ 5,000–8,000 บาท (1 แถวมีจำนวน 10 เม็ด/1 ถุง มีจำนวน 200 เม็ด) ขณะที่เกิดกลุ่มผู้ค้ารายย่อยทั้งขายเองเสพเองเพิ่มมากขึ้น

ในทางกลับกันสถานการณ์โควิดส่งผลให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำงานหนักมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือน ฯลฯ ที่เคยทำหน้าที่ตามจุดตรวจ จุดสกัด ที่มีภารกิจเน้นหนักด้านยาเสพติด ต้องหันไปทำหน้าที่ในการตั้งด่านตรวจตราเฝ้าระวังด้านการแพรระบาดของโควิดแทน นอกจากเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า หลายๆ ครั้งต้องกักตัวเองเพราะไปสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงเข้า

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้รั้วกั้นชายแดนที่เคยเข้มแข็งเริ่มอ่อนล้าลง เป็นจุดอ่อนให้กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดที่จ้องคอยหาจังหวะและเวลาลักลอบเข้ามาในเวลาที่เราเผลออยู่ร่ำไป

ดังนั้น ในยามที่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายครั้งใหญ่สุดในรอบชีวิตของเรา ซ้ำร้ายเรายังต้องมาเผชิญกับผีร้ายที่ค่อยอาศัยจังหวะเวลาที่เราอ่อนแอเข้ามารุมทึ้งสูบฉีดเลือดเนื้อของเราให้เป็นแผลร้าวลึกเข้าไปอีก ในวิกฤติเช่นนี้พวกเราควรหันมาทบทวนกันดูว่าจะช่วยกันประคองอนาคตของบ้านเมืองไปอย่างไรดี…อย่ามัวแต่เล่นการเมืองเพียงแค่หวังช่วงชิงอำนาจ หรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อกลุ่มและพวกพ้องตัวเองไปวันๆ…

ทำอย่างไรจะสามารถบริหารจัดการและจัดระบบและเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังตามแนวชายแดนให้กลับมาทำหน้าที่เข้มแข็งได้หมือนเดิม ทำอย่างไรจะสร้างขวัญและกำลังใจให้รั้วชายแดนที่เป็นด่านหน้าเฝ้าระวังภัยจากผีร้ายยาเสพติด และทำอย่างไรที่จะช่วยลดปริมาณความต้องการเสพและใช้ยาเสพติดในของคนในประเทศลงให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ตราบใดที่ยังมีความต้องการเสพยา การผลิตและการลักลอบขนยาก็ยังมีให้เห็นกันต่อไป จับเท่าไหร่ ปราบเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมดวันสิ้น