ThaiPublica > คอลัมน์ > เพราะหัวใจว่างโหวงดุจท้องเปรตจึงเสพติด

เพราะหัวใจว่างโหวงดุจท้องเปรตจึงเสพติด

30 พฤศจิกายน 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

ค.ศ. 1944 กาบอร์ มาเท (Gabor Maté) ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวชาวยิว ณ เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

สองเดือนหลังจากนั้น เยอรมันนาซีเข้ายึดครองฮังการี และเราต่างคงรู้กันดี ว่ากองทัพนาซีทำอะไรกับชาวยิว

ในเวลานั้น แม่ของมาเทโทรหากุมารแพทย์ ร้องขอให้ช่วยมาดูที เพราะมาเทร้องไห้ไม่หยุด กุมารแพทย์ผู้นั้นตอบว่าได้ แต่ในขณะเดียวกันก็บอกกับเธอว่า ตอนนี้ทารกชาวยิวทุกคนต่างก็ร้องไห้

66 ปีต่อมา ใน TEDxRio+20 มาเทที่บัดนี้คือนายแพทย์ผู้ประสบความสำเร็จ เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นและบอกว่า ทารกชาวยิวนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสงครามหรอก ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นยิว ไม่รู้จักนาซี ไม่รู้จักฮิตเลอร์ ไม่รู้จักเรื่องน่ากลัวที่นาซีจะทำกับยิว แต่ที่ร้องไห้ก็เพราะสัมผัสได้ถึงความเครียดของแม่ที่อยู่ในภาวะสงคราม และความเครียดนั้นทำให้ทารกรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการ

ความรู้สึกเช่นนั้นแฝงฝังติดตัวมาจนโต มาเทบอกว่า ในเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่เป็น “ที่ต้องการ” (wanted) เขาเลยพัฒนาตัวเองให้เป็น “ที่ขาดไม่ได้” (needed) มาเทเรียนและทำงานอย่างหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จในฐานะแพทย์ ซึ่งเขาทำได้จริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อประสบความสำเร็จอย่างนั้น มาเทต้องแลกมันมากับการไม่สนใจครอบครัวเท่าที่ควร มาเทยังหลีกหนีจากความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการซึ่งทำให้เขาต้องโดดเดี่ยวเมื่ออยู่ลำพังกับจิตใจตนเองด้วยการชอปปิง ไม่ใช่ชอปปิงธรรมดา แต่ถึงขั้นเสพติด ครั้งหนึ่งมาเทเคยใช้เงินไปกับการเสพติดนี้ถึงสัปดาห์ละ 8,000 ดอลลาร์ ครั้งหนึ่งเขาถึงกับทิ้งคนไข้ที่กำลังจะคลอดไปซื้อแผ่นเพลงคลาสสิกแล้วกลับมาไม่ทัน

“ผมไม่ได้อยากได้ แต่ผมห้ามตัวเองไม่ให้กลับไปที่ร้านไม่ได้”

หัวใจของมาเทมีรู เขาเทียบมันกับเปรต (hungry ghost) ในศาสนาพุทธ สิ่งมีชีวิตหนึ่งในภพภูมิหนึ่งแห่งกงล้อสังสารวัฏ เป็นเรือนร่างที่มีลำคอลีบเล็กและปากเท่ารูเข็ม ทำให้ไม่ว่าจะกินอะไรเข้าไปก็ไม่เคยเพียงพอจะเติมเต็มท้องโตอันว่างโหวงของตนเองได้ มาเทไม่ได้เปรียบเทียบผู้ติดยาเสพติดกับเปรตเพื่อบอกว่าเป็นผลจากบาปกรรมที่ตัวเองทำไว้ แต่เพื่อสื่อความหมายว่า ผู้เสพติด ไม่ว่าจะเสพติดสารเคมีหรือพฤติกรรมใดๆ ก็คือผู้ที่ไม่ว่าจะเสพอะไรเข้าไปเท่าไหร่ ก็ไม่อาจเติมเต็มที่ว่างในจิตใจตัวเองได้

นั่นกลายเป็นพื้นฐานสำคัญ อันนำมาสู่หนังสืออันโด่งดังของเขาที่ชื่อ In the Realm of Hungry Ghosts: Close Encounters with Addiction หรืออาจจะแปลได้ว่า ในภพภูมิแห่งเปรต: การเผชิญหน้ากับการเสพติดในระยะประชิด (แต่ในเมื่อรากฐานชื่อนี้มาจากศาสนาพุทธ เราอาจเปลี่ยน “ในภพภูมิแห่งเปรต” เป็น “ในเปตติวิสยภูมิ” ก็ได้”)

จากประสบการณ์และการศึกษาที่มาเทได้มาจากทั้งตัวเองและคนไข้ มาเทได้ข้อสรุปสำคัญว่า สาระสำคัญของการเสพติด ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีต่างๆ หรือเป็นพฤติกรรมใดๆ ก็คือ การเสพติดนั้นเป็นไปเพื่อบรรเทาความทุกข์ในใจตนเอง เพื่อให้หลงลืมความเจ็บปวดทางใจของตัวเอง เพื่อให้หลุดพ้นจากความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายของตัวเองไปได้แม้เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ดังตัวอย่างที่คนไข้หญิงคนหนึ่งบอกกับมาเทว่า ตอนที่ใช้เฮโรอีนครั้งแรก เธอรู้สึกอบอุ่นราวกับเด็กน้อยที่ได้รับอ้อมกอดจากมารดา

มาเทใช้ข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านประสาทวิทยามาเสริมข้อค้นพบและข้อเสนอนี้ว่า บ่อยครั้ง สภาพการณ์อันเลวร้ายที่คนเราต้องเผชิญในวัยเด็ก ได้ทำให้กระบวนการการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองผิดปรกติไปจากที่ควร นั่นทำให้หลายๆ คนนั้นอยู่ในสภาพ “พร้อมจะเสพติด” มาตั้งแต่ต้น

อธิบายง่ายๆ ก็คือ สมองนั้นพัฒนาขึ้นตามการโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อม หากโตมากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี วงจรต่างๆ ในสมองจะโตมาอย่างอ่อนไหวต่อความเครียดต่างๆ และด้วยทุนทางชีววิทยาที่เป็นไปในทางนั้น ผู้อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองเช่นนั้นย่อมมีแนวโน้มจะเข้าหาการผ่อนคลายที่ง่ายและไวโดยไม่ใส่ใจผลเสียระยะยาวที่จะตามมา แล้วสิ่งใดจะตอบสนองความต้องการนี้ได้ดีเท่าการเสพติด (ไม่ว่าจะสารเคมีหรือพฤติกรรมใด) ที่การทำงานหลักคือทำให้สารสื่อประสาทที่ช่วยสร้างความสุขเพิ่มขึ้นกว่าปรกติอย่างมหาศาลในเวลาอันสั้น และผลเสียในระยะยาวไม่อาจยับยั้งคนที่เติบโตมาในเงื่อนไขแบบนั้นจากการกลับไปใช้สารเคมีหรือพฤติกรรมที่ทำให้ตนเองมีความสุขนั้นซ้ำๆ ได้ และนั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดสารเคมีบางตัวหรือพฤติกรรมบางอย่าง แม้ในระยะยาวแล้วจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตในหลายๆ ด้านก็ตาม

การค้นพบและข้อเสนอเช่นนี้ของมาเทสำคัญอย่างไร คำตอบก็คือ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมมักมองว่าการเสพติดนั้นเป็นการ “ทำตัวเอง” ข้อเสนอของมาเทคือการบอกว่าการเสพติดนั้นไม่ใช่การตัดสินใจด้วยตัวเองไปทั้งหมด ในเมื่อส่วนใหญ่แล้วสมองของผู้เสพติดนั้นก่อร่างสร้างตัวมาเช่นนี้ตั้งแต่วัยเด็กที่ยังควบคุมอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ การเสพติดก็ย่อมเป็นผลพวงจากสภาวะเลือกไม่ได้ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก

อาจกล่าวได้ว่า ในมุมมองของมาเท พฤติกรรมการเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเสพติดสารเคมีหรือพฤติกรรมอื่นใด (เช่นที่เขาเสพติดการซื้อแผ่นเพลงคลาสสิก) เป็นผลลัพธ์ของ “การหลุดเลื่อนจากสังคม” (social dislocation) โดยปรกติแล้วคำว่า dislocation นี้ใช้กับอาการหลุดออกจากกันของข้อต่อในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหล่หลุด เมื่อไหล่หลุดแล้วแขนย่อมอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเกิดความเจ็บปวดฉันใด มนุษย์ผู้เลื่อนหลุดจากสังคมก็ย่อมโดดเดี่ยวและเจ็บปวดฉันนั้น และความเจ็บปวดนี้นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีผลแต่กับมนุษย์ผู้เลื่อนหลุดเพียงอย่างเดียว แต่คือส่งผลให้ทั้งสังคมไม่อาจเดินหน้าดำรงไปอย่างสมบูรณ์อีกด้วย

เรารักษาอาการไหล่หลุดด้วยการทำให้แขนที่หลุดจากไหล่กลับไปเชื่อมต่อกันฉันใด เราก็ต้องรักษามนุษย์ที่เลื่อนหลุดจากสังคมด้วยการพาเขากลับไปเชื่อมต่อกับสังคมฉันนั้น และการเข้าใจเรื่องนี้จะไม่เพียงทำให้เราสามารถ “รักษา” การเลื่อนหลุดได้เพียงอย่างเดียว แต่ในระยะยาวแลัว เราจะ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดการเลื่อนหลุดได้ดัวย

การมองผู้มีพฤติกรรมเสพติดว่าเป็นการทำตัวเอง จะยิ่งเป็นการกระทืบลงไปตรงรอยเลื่อนหลุดดังกล่าว และทำให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องหันไปพึ่งพายาเสพติดมากขึ้น

และนี่คือการทำความเข้าใจผู้มีพฤติกรรมเสพติด แบบที่จะไม่ทอดทิ้งให้เขาหรือเธอต้องต่อสู้ตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว แต่คือการที่ทั้งสังคมต้องเดินหน้าไปด้วยกันอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง