
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนตอกย้ำถึงคำมั่นของสหรัฐฯด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(climate change)และโอกาสทางเศรษฐกิจในการเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน และความมุ่งมั่นที่จะทำให้สหรัฐฯกลับมาเป็นศูนย์กลางของความพยายามระดับโลกในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกจากนานาชาติครั้งแรก(climate summit)ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 22 เมษายน 2564
ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศว่า สหรัฐฯจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% -52% ต่ำกว่าระดับการปล่อยในปี 2005 ภายในปี 2030 หรือสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งนับเป็นเป้าหมายที่สูง แม้เป้าหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสภาพภูมิอากาศของกรุงปารีสที่ประธานาธิบดีไบเดนนำสหรัฐฯกลับเข้าสู่ข้อตกลงอีกครั้งเมื่อเข้ารับตำแหน่ง แต่เป้าหมายนี้ก็ไม่มีผลผูกพัน และฝ่ายบริหารยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของแผนว่าสหรัฐฯมีแนวทางอย่างไร
เจ้าหน้าที่ได้เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดนและทีมงานของเขาได้ตัดสินใจกำหนดเป้าหมายในการประชุมที่ทำเนียบขาวเมื่อเช้าวันที่ 21 เมษายน
ประธานาธิบดีไบเดนได้เชิญผู้นำรัฐบาล 40 คนเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ในวันคุ้มครองโลก(Earth Day) โดยมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันผลที่เลวร้ายที่สุด จากการที่โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เริ่มการประชุมสุดยอดด้วยการกล่าวสุนทรพจน์จากห้องตะวันออกของทำเนียบขาว
ในคำกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดประธานาธิบดีไบเดนได้เปิดเผยวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ ซึ่งในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน และส่งผลให้มีการจ้างานเพิ่มขึ้น สำหรับคนทำงานที่ใช้แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่ประธานาธิบดีไบเดนให้ความสำคัญมาตลอดชีวิตการทำงาน
“นั้นเป็นเป้าหมายที่ประเทศเราจะไป และเป็นสิ่งที่เราจะทำได้ หากเราเริ่มสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เพียงเจริญรุ่งเรืองแต่ มีมั่นคงขึ้น เป็นธรรมมากขึ้น และสะอาดขึ้นสำหรับโลกทั้งใบ”
“ก้าวย่างนี้จะทำให้เศรษฐกิจอเมริกามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในไม่เกินปี 2050”
ประธานาธิบดีไบเดนคาดหวังว่า ผู้นำคนอื่นๆที่เข้าร่วมการประชุมจะใช้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำนี้ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ประกาศแผนการใหม่ที่รุกหนักกว่าเดิม และมีเป้าหมายเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเช่นกัน
“ไม่มีประเทศใดที่จะแก้ไขวิกฤติได้โดยลำพัง เราต้องเร่งให้มากขึ้น”
การประชุมสุดยอดมีผู้นำระดับโลกที่เข้าร่วมได้แก่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย นายกรัฐมนตรีอินเดียนเรนทรา โมดีและ นางอังเกลา แมร์เคิลนายกรัฐมนตรีเยอรมัน
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้สนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลกในเชิงรุก มีกำหนดการที่จะกล่าวปาฐกถาด้วย
ทำเนียบขาวได้วางกรอบนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับการเผชิญหน้าจีนมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นผู้นำคนแรกของประเทศอื่นที่ได้พูดตามหลังสหรัฐฯ จีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของสหรัฐฯในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและมีการสนับสนุนทางการเงินให้พลังงานถ่านหินในประเทศต่างๆ
“จีนมุ่งมั่นที่จะหันเหจากระดับการปล่อยคาร์บอนสูงสุด ไปสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนในระยะเวลาที่สั้นกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศ และต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเป็นพิเศษจากจีน” ประธานาธิบดีสีกล่าว “เราจะควบคุมโครงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอย่างเคร่งครัด เราจะจำกัดปริมาณการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นอย่างเคร่งครัด”
ประธานาธิบดีสียังให้คำมั่นว่า จีนยังคงยึดมั่นกับ “การพัฒนาสีเขียว” โดยยืนยันอีกครั้งว่า จีนจะบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2060 และปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดภายในปี 2030 และยังกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับโลกด้านสภาพภูมิอากาศว่า “เมื่อเร็วๆนี้ทั้งจีนและสหรัฐฯได้แถลงการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จีนมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯเพื่อร่วมกันพัฒนาธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมโลก”
ในขณะที่บางประเทศย้ำว่า กำลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายเดิมภายใต้ข้อตกลงปารีส นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดากล่าวว่าแคนาดาเพิ่มเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยมลพิษลง 40-45% ต่ำกว่าระดับปี 2005 ภายในปี 2030 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่จะลดการปล่อยก๊าซลง 30% ให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยในปี 2005 ภายในปี 2030
เรียบเรียงจาก
Biden announces US will aim to cut carbon emissions by as much as 52% by 2030 at virtual climate summit
At Climate Summit, Biden Stresses U.S. Commitment And Economic Opportunity