ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > นายกฯมั่นใจ มาตรการศบค. คุมโควิดระลอกใหม่ได้ ยันหน้ากากอนามัยพอ

นายกฯมั่นใจ มาตรการศบค. คุมโควิดระลอกใหม่ได้ ยันหน้ากากอนามัยพอ

18 เมษายน 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ:https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7016

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความมั่นใจว่ามาตรการที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ที่มีมติเห็นชอบในการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ทั่วประเทศ และการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการที่เดินทางกลับหลังเทศกาลสงกรานต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการลดการแพร่เชื้อที่สัมพันธ์กับสถานบันเทิง การรวมกลุ่ม การสังสรรค์ และปัจจัยที่ทำให้มีการระบาดในวงกว้าง ซึ่งมาตรการต่างๆได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบแล้วนั้น จะสามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้โดยเร็ว และไม่แพร่กระจายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมาตรการที่สำคัญต่างๆ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ (18 เม.ย. 64) เป็นต้นไป โดยรัฐบาลตัดสินใจหลีกเลี่ยงที่จะออกมาตรการล๊อคดาวน์ หรือมาตรการเคอร์ฟิว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนมากเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลยังคงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนอีกครั้งในการร่วมมือร่วมใจกันปฎิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อผลสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ในระลอกนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ในปี 2564 นี้ เนื่องจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งภายในปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 63 ล้านโดส ที่รัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว และที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 10 ล้านโดส สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จะสามารถดำเนินการได้ตามที่วางแผนไว้ กล่าวคือ ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคนภายในปี 2564 นี้

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี มีความมั่นใจ เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดในระลอกนี้ ว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลยังมีเงินเกือบ 3.8 แสนล้านบาทสำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แยกเป็นเงินจำนวน 2.4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินจากงบกลางปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็นอีก 98,500 ล้านบาท และงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 36,800 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัยกันขาดแคลน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางป้องกันการขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง มีกระบวนการติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัย ผ่านคณะอนุกรรมการบูรณาการการบริหารพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีหน้ากากอนามัยและพัสดุที่เกี่ยวข้องใช้อย่างเพียงพอ ทั้งในสถานพยาบาลและประชาชนทั่วไป รวมถึงได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม ซึ่งล่าสุด คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมและประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยมี สาระหลัก คือ

1)กำลังการผลิตจากโรงงาน 63 แห่งภายในประเทศ ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยในท้องตลาด ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านา (เดือนมกราคม-มีนาคม 2564) รวมวันละ 4-5 ล้านชิ้นต่อวัน มีการนำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 28.69 ล้านชิ้น และที่ไม่ได้ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 228.13 ล้านชิ้น หน้ากากผ้าลิขสิทธิ์ จำนวน 238.23 ล้านชิ้น และหน้ากากกันฝุ่นในโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 992.98 ล้านชิ้น

2)มีการเตรียมการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้มีความพอเพียงกับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศในช่วงนี้แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ

3)กรมการค้าภายใน สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัยในท้องตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดำเนินการจับกุมผู้ลักลอบนำหน้ํากากอนามัยใช้แล้วมาจําหน่ายใหม่
และควบคุมราคาจำหน่ายให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้กำหนดราคาจำหน่ายและการแจ้งข้อมูลหน้ากากอนามัย โดยผู้ขายจะต้องขายหน้ากากอนามัย (Surgical mask) ไม่เกิน 2.50 บาทต่อชิ้น การส่งออกต้องขออนุญาตและเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ท่ีเก่ียวข้อง หากประชาชนพบข้อมูลเบาะแสการจำหน่ายเกินราคาสามารถแจ้งสายด่วน กรมการค้าภายใน หมายเลข 1569 ได้ทันที

2,000 เตียงจังหวัดชายแดนใต้พร้อมคุมเข้ม 4ด่านทางบก

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการบริหารจัดการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และ 4อำเภอในจังหวัดสงขลา ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 นับจากวันที่ 1-17 เม.ย. จำนวน 539 ราย พบในจังหวัดสงขลา 179 ราย (ส่วนใหญ่ติดจากสถานบันเทิง) นราธิวาส 348 ราย (ส่วนใหญ่ติดจากเรือนจํา) ปัตตานี 6 ราย ยะลา 5 ราย และ สตูล 1 ราย ในขณะที่ประเทศมาเลเซียที่มีชายแดนติดกัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มประมาณ วันละ 1,500 – 2,000 ราย ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้อำนวยความสะดวกคนไทยที่จะเดินทางกลับมาจากมาเลเซีย พร้อมปฏิบัติตามมาตรสาธารณสุขในการคัดกรองโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

สำหรับการดำเนินการเพื่อรองรับการแพร่ระบาด ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานว่า ศอ.บต.ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 12 คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ และองค์กรทางศาสนา โดยแบ่งเป็น 1)การจัดหาเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งเตียงในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel มีจํานวน รวม 1,933 เตียง (ณ 11 เมษายน ) แยกเป็น จังหวัดนราธิวาส 1,245 เตียง สงขลา 171 เตียง ปัตตานี 218 เตียง ยะลา 179 เตียง และสตูล 120 เตียง 2)การซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาตามประกาศของสํานักงานจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด เพื่อผู้เกี่ยวข้องจะได้สื่อสารให้ประชาชนได้ทราบและถือปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงเทศการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และ 3)การดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด ในระยะแรก แต่ละจังหวัดได้รับ 10,000 โด๊ส รวม 50,000 โด๊ส

ส่วนการบริหารจัดการด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย ที่ประกอบด้วย ทางบก 7 ด่าน ทางน้ํา 2 ด่าน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน จึงอนุญาตให้คนไทยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียเข้าทางด่านถาวรทางบกเพียง 4 ด่าน (สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส, ด่านเบตง จังหวัดยะลา, ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา และด่านวังประจัน จังหวัดสตูล) สัปดาห์ละ 3 วัน (วันจันทร์ พุธ และศุกร์) ด่านละไม่เกิน 125 คนต่อวัน ทั้งนี้ การจำกัดการเดินทางเข้าประเทศดังกล่าว ไม่กระทบการค้าชายแดน เพราะยังคงมีการนําเข้าและส่งออกสินค้าเป็นปกติโดยเฉพาะสินค้าที่จําเป็นในการอุปโภคและบริโภค และดําเนินการตามมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด

“นายกรัฐมนตรียังได้ส่งความปรารถนาดีไปยังพี่น้องชาวไทยมุสลิมภาคใต้ ที่ปฏิบัติศาสนกิจสำคัญในเดือนรอมฎอน และขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในทุกๆด้าน เพื่อความปลอดภัยสุขภาพของพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกคน” นางสาวรัชดา ฯ กล่าว