ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศาลปกครองกลางชี้ ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องจ่ายสินไหมจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านและ “กองทัพเมียนมาประกาศหยุดยิง 1 เดือน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศาลปกครองกลางชี้ ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องจ่ายสินไหมจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านและ “กองทัพเมียนมาประกาศหยุดยิง 1 เดือน”

4 เมษายน 2021


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 27 มี.ค. – 2 เม.ย. 2564

  • ศาลปกครองกลางชี้ ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องจ่ายสินไหมจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้าน-ยับยั้งยึดทรัพย์ ด้านวิษณุยัน ความผิดยังอยู่
  • แอมเนสตี้ ชี้ สลายหมู่บ้านทะลุฟ้าเป็นการใช้กฎหมายโดยมิชอบ-รัฐต้องยุติการปราบปรามคนเห็นต่าง
  • ประยุทธ์แจ้งเรื่องผลักดันผู้ลี้ภัยพม่า “ทำตามหลักมนุษยธรรม-เดือดร้อนจริงไม่ปฏิเสธ”
  • การยาสูบเตรียมผลิตบุหรี่ราคาถูกขาย หวังชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืน
  • กองทัพเมียนมาประกาศหยุดยิง 1 เดือน แต่ยืนยันจะตอบโต้การขัดขวางความมั่นคงและการบริหารประเทศต่อ

  • ศาลปกครองกลางชี้ ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องจ่ายจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้าน-วิษณุยัน ความผิดยังอยู่

    วันที่ 2 เม.ย. 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ที่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องชดใช้ค่าสินไหมจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทเพื่อชดเชยความเสียหายจากการปล่อยให้มีการทุจริตโครงการจำนำข้าวและไม่ยับยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ราชการ

    ศาลฯ ให้เหตุผลในการยกเลิกคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าวว่าเพราะคำสั่งฯ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการทุจริตเกิดขึ้นในเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติซึ่งมีหลายคน แต่กลับไม่มีการสอบสวนให้ได้ความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่คนใดควรต้องรับผิดชอบเป็นเงินจำนวนเท่าใด อีกทั้งอดีตนายกฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสัญญาระบายข้าวนอกจากนี้ กระทรวงการคลังเองก็ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านางสาวยิ่งลักษณ์ทำผิดโดยตรง และขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

    อย่างไรก็ดี แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งเช่นนั้น แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ายิ่งลักษณ์ยังคงมีความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกา และเพราะศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเช่นนั้น ที่ผ่านมารัฐจึงสามารถเริ่มดำเนินการยึดทรัพย์ของยิ่งลักษณ์เพื่อขายทอดตลาดชดเชยความเสียหายดังกล่าว โดยนายวิษณุบอกว่าทรัพย์ที่เริ่มยึดไปแล้วนั้นเป็นเพียงในหลักสิบล้าน ซึ่งเมื่อมีคำสั่งของศาลปกครองกลางมาเช่นนี้ก็ต้องพักกระบวนการไว้ แต่รัฐเองก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ภายในสามสิบวัน และส่วนที่ยึดมาแล้วก็จะยังไม่คืนให้ เพราะหากหลังจากนี้ศาลสั่งให้ยึดอีกก็จะต้องเอากลับไปกลับมา

    อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับพวกรวม 5 คน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 457 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2559 กรณีจงใจกระทำละเมิดให้ราชการเสียหาย จากการนำข้าวตามสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐมาเวียนขายให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทษ โดยแต่ละคนนั้นต้องชัดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินระดับพันล้านบาท

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่ง “คลัง” ให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ จำนำข้าว 3.5 หมื่นล.
    เว็บไซต์มติชนออนไลน์ — ‘วิษณุ’ ไม่กังวล ศาลเพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ ‘ปู’ ระบุรัฐมีสิทธิอุทธรณ์ ย้ำคำพิพากษาศาลฎีกา ความผิดยังคงอยู่
    เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ — “บุญทรง-ภูมิ” และพวก ถูกพิพากษาชดใช้ค่าเสียหายระบายข้าว 2 หมื่นล้าน ศาลชี้แบ่งหน้าที่ทุจริต

    แอมเนสตี้ ชี้ สลายหมู่บ้านทะลุฟ้าใช้กฎหมายโดยมิชอบ-รัฐต้องยุติการปราบปรามคนเห็นต่าง

    การชุมนุมภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ที่ปักหลักค้างคืนข้างทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปล่อยนักกิจกรรมทางการเมือง ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และเปิดพื้นที่รับฟังปัญหาในประเด็นที่หลากหลาย ได้ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มี.ค. 2564 และมีการสลายการชุมนุมอีกครั้งในช่วง 18.00 น. ของวันเดียวกัน รวมการสลายการชุมนุมทั้งสองครั้งมีการจับกุมผู้ชุมนุมไปทั้งหมด 99 คน

    แอมเนสตี้แถลงกรณีสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาล…

    Posted by Amnesty International Thailand on Monday, March 29, 2021

    การจับกุมดังกล่าว ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (องค์การนิรโทษกรรมสากล) ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่าการสลายการชุมนุมดังกล่าวนั้นเป็นการปราบปรามที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการตอกย้ำข้อกังวลที่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้ออ้างในการย่ำยีความเห็นที่แตกต่าง โดยอ้างเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความมุ่งหมายจะปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐ อีกทั้งการจับกุมโดยพลการและมิชอบด้วยกฎหมายตอกย้ำว่า ตำรวจไม่ใส่ใจต่อสิทธิของบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และเป็นไปตามกระบวนการอันควรของกฎหมาย

    นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ปล่อยตัวผู้ชุมนุม และให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมดโดยทันที รวมทั้งยืนยันว่าการควบคุมตัวเด็กนั้นต้องเป็นมาตรการสุดท้าย และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ — “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ปักหลักข้างทำเนียบ ตั้งจุด “คัดกรอง-ลงทะเบียน” เข้ม
    เว็บไซมติชนออนไลน์ — คฝ.บุกสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าแต่เช้ามืด จี้เก็บของ 3 นาที มัดมือ ‘ยาใจ’ รวบตัวกว่าครึ่งร้อย
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ The Momentum — ตำรวจ ‘หิ้ว’ ผู้ชุมนุมทะลุฟ้ารอบ 2 หลังมวลชนกลับมารวมตัวอีกครั้ง
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ Amnesty International Thailand — แอมเนสตี้แถลงกรณีสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาล แนะทางการต้องยุติการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

    ประยุทธ์แจ้งผลักดันผู้ลี้ภัยพม่า “ทำตามหลักมนุษยธรรม-เดือดร้อนจริงไม่ปฏิเสธ”

    การต่อต้านรัฐประหารในเมียนมายังคงรุนแรงขึ้นทุกวัน และล่าสุดมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางส่วนแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร พร้อมทั้งประกาศจะยืนเคียงข้างประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติ โดยเฉพาะแนวทางอารยะขัดขืน อีกทั้งยังมีบางกลุ่มที่เปิดฉากรบกับกองทัพรัฐประหารของเมียนมาไปแล้ว และบางกลุ่มก็ประกาศว่าหากกองทัพเมียนมาไม่หยุดใช้กำลังปราบปรามสังหารประชาชน พวกเขาก็จะโต้กลับ

    ท่าทีดังกล่าว ทำให้กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่หมู่บ้านกะเหรี่ยงในฐานที่มั่นของสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (The Karen National Union: KNU) เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม 2564 และตามมาด้วยการถล่มเหมืองทอง ส่งผลให้พลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต และอีกเกือบ 3,000 คนต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมายังฝั่งไทย

    การอพยพข้ามแดนดังกล่าว ตามมาด้วยกระแสข่าวว่าทางการไทยได้ผลักดันชาวบ้านที่ข้ามแดนมาเหล่านั้นกลับไปยังฝั่งเมียนมา จนไทยตกเป็นข้อครหาว่าทั้งทำผิดกฎหมายและไร้มนุษยธรรม แต่ก็มีการออกมาปฏิเสธอย่างไม่เป็นทางการไปว่าไม่ได้มีการผลักดันกลับประเทศแต่อย่างใด โดยเหล่าผู้อพยพยังอยู่ในเขตไทยบริเวณแม่น้ำสาละวิน ไม่ได้เข้ามาใกล้กว่านั้น และอยู่ในการควบคุมของทหารไทย

    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า

    ตนดูจากภาพที่สื่อนำออกมาเผยแพร่แล้ว คิดว่ายังไม่ถึงขั้น “ทะลัก” ซึ่งในความเป็นจริงได้มีการเจรจาพูดคุย ซึ่งผู้อพยพหลายคนมีการเข้ามาตามหมู่บ้านต่างๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่พบก็ได้พูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งหากไม่ใช่พื้นที่ที่ประสบปัญหาก็ขอความร่วมมือให้กลับไปก่อน ซึ่งเห็นว่านี่คือ “มนุษยธรรม”

    “พอเจอเราก็ชี้แจง ถามเขาว่ามันมีปัญหาอะไรในประเทศของเขาในส่วนที่ทำอยู่ตอนนี้เขาก็บอกว่าไม่มี หากไม่มีก็กลับไปก่อนได้ไหม ไม่ได้เอาปืนผาหน้าไม้ไปจี้ไล่เขาเมื่อไหร่ ก็จับไม้จับมืออวยพรให้กันด้วยซ้ำไป คือมนุษยธรรมนะเอาไว้สถานการณ์รุนแรงขึ้นแล้วก็ค่อยๆ แก้ไปแล้วกัน”

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ไทยมีประสบการณ์เรื่องนี้มาหลายปีแล้ว มีศูนย์อพยพประมาณ 9 ศูนย์ รองรับผู้อพยพมาประมาณ 10-20 ปี จำนวนกว่า 400,000 คน ซึ่งปัจจุบันเหลือประมาณ 100,000 คนที่ต้องดูแล

    “เดิมก็เคยสัญญาว่าจะเอากลับ เพราะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็ต้องหยุดไว้อีก ของใหม่ก็ต้องเตรียมการให้พร้อม เราต้องดูแลมนุษยธรรม ประสบการณ์เราเยอะในเรื่องนี้ ไม่ต้องห่วง เราผลักดันไปไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเขารบกันอยู่จะผลักดันไปได้อย่างไร ถ้าหากไม่มีก็กลับไปก่อนได้ไหม”

    เมื่อถามว่าสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา มีชาวเมียนมาอพยพเข้ามาหวังพึ่งไทย เรามีการเตรียมรับอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ทำไมตนต้องพูดตรงนี้ มันเป็นเรื่องของความมั่นคง ถ้าถึงเวลาตนก็ตัดสินใจเอง การจะไปประกาศรับโน่นนี่มันใช่ เข้ามาแล้วจะทำอย่างไรต่อไปเราก็เตรียมแผน จำเป็นก็เข้ามาแล้วก็ดูแลเขาเท่านั้นเอง อย่าเปิดประเด็นเลยเรื่องนี้

    เมื่อถามว่า ได้มอบนโยบายเจ้าหน้าที่ชายแดนอย่างไร เพราะมีการแจ้งว่ารับนโยบายให้บล็อกผู้ลี้ภัย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เราก็จำเป็นเพราะเป็นเขตแดนไทย การจะเข้ามาก็ต้องเข้ามาโดยกฎหมายเป็นอันดับแรก แต่ในสถานการณ์การสู้รบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันเกิดภัยพิบัติมาเกิดการบาดเจ็บล้มตายตรงนู้นเขาก็อาจจะเข้ามา เราก็ต้องหามาตรการของเรา ผมเตรียมเรื่องนี้ไว้แล้ว

    เมื่อถามย้ำว่าจะไม่มีการผลักดันให้ผู้อพยพลี้ภัยกลับประเทศใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ผลักดัน ถ้าเดือดร้อนจริงๆ มีการสู้รบกันไทยก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้ประกาศโครมครามได้ยินดีรับใครเข้ามามันไม่ใช่

    เมื่อถามว่าสั่งการให้เจ้าหน้าที่มีแนวปฏิบัติอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า มีหมดในสิ่งที่ตนพูด สั่งทั้งผู้บัญชาการทหารบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปแล้ว เขามีวิธีการของเขา เรื่องอะไรที่มันอันตรายอย่าเพิ่งไปกระพือข่าวนักเลย เมื่อถามว่าหากมีจำนวนผู้อพยพเข้ามามากขึ้นเราจะประสานสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องประสาน เขามาอยู่แล้วไม่ต้องกลัว มีมาตลอด บางทีมาแล้วก็ไปไม่ได้ในตอนนี้ การจะไปอยู่ประเทศโน้นประเทศนี้แล้วไปได้กี่คน มันก็ค้างอยู่ในนี้ ทุกคนมีความหวังที่จะไปประเทศโน้น

    “เราคุยกันเฉยๆ ในหลักการ ไม่ได้แก้ตัว วันนี้นายกฯ ใจเย็นที่สุดแล้ว พูดกับสื่อต้องยิ้ม เดี๋ยวชอบหาว่าเราหน้างอหน้าหงิก บางทีคิดมันก็เครียด หน้าตาก็เลยเครียด จริงๆ แล้วเป็นคนใจดี ทุกคนรู้นิสัยฉันอยู่แล้ว”

    เมื่อถามว่า ไทยแบกภาระตามแนวชายแดนมากไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สื่อถามว่าเราจะรับหรือเปล่า นายกฯ ก็บอกว่ารับแล้วจะเป็นภาระต่อไปอย่างไร มันเป็นคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าถามคำถามที่สองไปหาคำตอบจากคำถามที่หนึ่ง เมื่อถามว่าห่วงเชื้อโควิดที่จะเข้ามาด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราได้เตรียมมาตรการไว้แล้ว ทั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าและแนวร่วมในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ก็ให้เขาปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย ไปห้ามใครไม่ได้อยู่แล้ว”

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยพับลิก้า — กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา
    เว็บไซต์ประชาไท — กองกำลังชาติพันธุ์ในพม่าประกาศจะ ‘โต้กลับ’ หากกองทัพยังเข่นฆ่าประชาชน
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — สำรวจกองกำลังชาติพันธุ์ในพม่า และหนทางสู่สงครามกลางเมือง
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — ไทยปฏิเสธข่าวดันผู้อพยพกว่า 2,000 คนกลับเมียนมา หลังทหารรัฐบาลบินถล่มฐานทัพกะเหรี่ยง
    เว็บไซต์ไทยพับลิก้า — นายกฯ แจงปม “ผู้ลี้ภัยเมียนมา” ยึดหลักมนุษยธรรม – มติ ครม.ตั้ง กบช. บังคับนายจ้างออมเงินให้ลูกจ้าง

    การยาสูบเตรียมผลิตบุหรี่ราคาถูกขาย หวังชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืน

    การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เมื่อปี 2561 ได้ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) สูญเสียรายได้อย่างต่อเนื่อง จนมาถึงปี 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ยสท. กู้เบิกเงินเกินบัญชี วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานและรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาทางรายได้ ซึ่งส่งผลต่อภาษีสรรพสามิตอีกทอด ล่าสุด ยสท. ได้มีแนวคิดจะออกบุหรี่ใหม่มาจำหน่ายภายในปี 2564 โดยจำหน่ายในราคา 50-55 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาบุหรี่ต่ำสุดในท้องตลาดขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ 60 บาท

    ยสท. ให้เหตุผลถึงแนวคิดดังกล่าวว่า เนื่องจากต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยปัจจุบันจากโครงการอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่มี 2 ขั้น (เทียร์) คือ 20% และ 40% ทำให้ ยสท.ขายบุหรี่ถูกสุดได้ 60 บาทต่อซอง ซึ่งเหลือกำไรเฉลี่ยซองละ 0.50 บาท จากเดิมที่เคยมีกำไรเฉลี่ยที่ 6 บาทต่อซอง โดย ยสท. มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 56% จากเดิมที่ 79% จึงต้องวางแผนรักษาส่วนแบ่งการตลาดกลับมาให้ได้

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยพับลิก้า — 6 เดือน หลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบรายได้หาย-กำไรหด เกษตรกร 5 หมื่นราย ถูกตัดโควตา – ขายใบยา
    เว็บไซต์ AMARIN 34HD — คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง ครม.อนุมัติ การยาสูบ กู้เงิน 1.5 พันล้าน หลังยอดขายตก 50%
    เว็บไซต์ไทยโพสต์ — ยาสูบลุยขายบุหรี่ซอง50บาทหวังทุบของเถื่อน

    กองทัพเมียนมาหยุดยิง 1 เดือน แต่จะตอบโต้การขัดขวางความมั่นคง-การบริหารประเทศ

    ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในพม่า ที่กองทัพใช้กำลังทหารปราบปรามการชุมนุมต้านรัฐประหารของพลเรือน จนมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 500 คน ล่าสุด สถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมา ได้แถลงการณ์ว่ารัฐบาลทหารขอให้กองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธกลุ่มต่างๆ รักษาสันติภาพ และทางกองทัพจะยุติปฏิบัติการต่างๆ เพียงฝ่ายเดียวตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. 2564 ทว่า จะยังคงเดินหน้าตอบโต้ผู้ที่ขัดขวางความมั่นคงและการบริหารประเทศต่อไป

    ต่อแถลงการณ์ดังกล่าว ผู้นำกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เชื่อว่านี่ไม่ใช่การหยุดยิงจริง แต่เป็นเรื่องการปรับกำลังตามชายแดนมากกว่า

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — รัฐประหารเมียนมา : กองทัพประกาศหยุดยิง 1 เดือน แต่จะตอบโต้ผู้ที่ “ขัดขวาง”
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — กองทัพพม่า ประกาศหยุดยิง 1 เดือน แต่ไม่ยอมบอกชัดจะหยุดยิงฝ่ายไหน