ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > อัปเดต การฉีดวัคซีนโควิดประเทศต่างๆ รอบโลก

อัปเดต การฉีดวัคซีนโควิดประเทศต่างๆ รอบโลก

4 มีนาคม 2021


อัปเดตสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังมีการฉีดวัคซีนไปแล้วหลายประเทศ

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินมาเป็นเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่ปี 2019 มีผู้ป่วยโรคนี้แล้วมากถึง 112 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 2.5 ล้านคน แต่หลังจากที่เริ่มมีการประกาศใช้วัคซีนโควิดในหลายประเทศ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันค่อยๆ ลดลงเหลือประมาณ 3 แสนคนต่อวัน จากสถิติสูงสุด 8 แสนคนต่อวัน

นับตั้งแต่เริ่มต้นในเดือนธันวาคมปี 2020 ได้มีการเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลก จนกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการคาดการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก และหากสมมติว่าการฉีดวัคซีนไปตามที่คาดไว้ ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่น่าจะฉีดวัคซีนโควิดได้ราว 60-70% ของประชากรภายในกลางปี ​​2022 ผลกระทบแรกต่อเศรษฐกิจจะเห็นได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในช่วงกลางปี 2021

ณ วันที่ 2 มีนาคม 2021 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ทำการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วกว่า 247.8 ล้านโดส หรือเท่ากับ 3.2 โดสต่อคน 100 คน อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศที่มีทั้งทำการฉีดแล้ว 50% ของประชากร หรือยังไม่ได้ฉีดแม้แต่โดสเดียว

โดยที่ปริมาณวัคซีนโควิดยังมีจำกัดเมื่อเทียบกับทั้งโลก หลายประเทศจึงมุ่งฉีดวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น กลุ่มที่มีความเสี่ยงทางคลินิก คนที่มีอายุ 60 ปี 70 ปีขึ้นไป และบุคคลากรที่ปฏิบัติในแนวหน้า เช่น แพทย์และพยาบาล ซึ่งอิสราเอลมีการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชากรเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในอัตราส่วน 92.4 ต่อประชากร 100 คน

นอกจากนี้ แต่ละทวีปมีความแตกต่างกัน โดยประเทศที่ไม่ร่ำรวยจัดหาวัคซีนโควิดผ่านโครงการโคแวกซ์ (Covax) ที่มีเป้าหมายจัดหาวัคซีนโควิดให้ได้ 2 พันล้านโดสภายในสิ้นปีนี้

ประเทศในเอเชียที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั้งสิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะฉีดวัคซีนโควิดป้องกันประชากรจำนวนมากได้ภายในกลางปี 2022



ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกัน 10 ชนิด ตามข้อมูลของ Our World in Data โดยมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อไวรัสโคโรนาฃ 95% ใน 68 ประเทศ มีอีกหลายประเทศที่ได้อนุมัติวัคซีน แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ

วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องใช้สองโดส เพื่อให้ผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันเต็มที่ และเมื่อวันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชกรรม ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา

อิสราเอลประเทศแรกสร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด

ปัจจุบันอิสราเอลได้วัคซีนโควิด-19 ในปริมาณต่อหัวมากที่สุดในโลก มีชาวอิสราเอลที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคโดสแรกไปแล้ว ในสัดส่วน 53.7% ของประชากรทั้งหมด นับตั้งแต่การรณรงค์ฉีดวัคซีนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม โดยนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลวัย 71 ปีรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฯ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2020 และฉีดโดสที่สองในเดือนมกราคม

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลวัย 71 ปีรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฯ ที่มาภาพ: https://www.timesofisrael.com/nurse-who-almost-vaccinated-netanyahu-says-hospital-protocol-was-breached/

สำหรับประชากรที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสมีสัดส่วน 38.7% ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

อิสราเอลมีวัคซีนจำนวนมากจากไฟเซอร์ฯ ทำให้ยังไม่ได้แจกจ่ายวัคซีนของโมเดอร์นา (Moderna) ออกไป แม้ว่าจะได้รับอนุญาตในอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม

โครงการฉีดวัคซีนของอิสราเอล แสดงให้เห็นถึงสัญญาณแห่งความสำเร็จที่ชัดเจนแล้ว จำนวนการติดเชื้อลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในกลุ่มอายุนี้มีการติดเชื้อน้อยลง 56% เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง 42% และเสียชีวิตน้อยลง 35% หลังจากได้รับการฉีดโดสที่สอง

สหรัฐอเมริกาคืบหน้าเร็วหลังไบเดนสาบานตน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน รับการฉีดวัคซีนปลายเดือนธันวาคม 2020 ที่มาภาพ: https://www.npr.org/sections/coronavirus-live-updates/2020/12/21/948572720/biden-to-receive-covid-19-vaccine-monday

ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโควิด-19 คือสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ป่วย ณ ตอนนี้ 30 ล้านเคส และข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 5 แสนคน มากกว่าอันดับ 2 คือบราซิลถึง 2 เท่า และมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกและสงครามเวียดนามรวมกันเสียอีก

จำนวนประชากรสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 4.25% ของประชากรโลก แต่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดถึง 20% ของประชากรโลกที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด

“เราต้องไม่เฉยชาต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น” ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในพิธีจุดเทียน ณ ทำเนียบขาวที่ฉายในโทรทัศน์

“เราต้องไม่มองชีวิตเป็นเพียงข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ตัวเลขสถิติ หรือภาพอันเลือนราง เราต้องให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับ และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเป็นห่วงเป็นใยผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 78 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโดสแรกวันที่ 21 ธันวาคม 2020 ก่อนสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยเป็นวัคซีนของไฟเซอร์ที่ร่วมพัฒนากับไบโอเอ็นเทค ส่วนนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี รับการฉีดวัคซีนโดสแรกวันที่ 29 ธันวาคม 2020 โดยเป็นวัคซีนของ Moderna

การฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วหลังจากนายโจ ไบเดน ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี การรณรงค์ฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ ที่ทีแรกอยู่ในระดับต่ำได้เร่งตัวขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการแจกจ่ายวัคซีนไปแล้วในปริมาณมากกว่า 45 ล้านโดส แต่ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมากก่อนที่จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมากได้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวน 100 ล้านคนภายใน 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่ง แม้จะดูเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเกินไปในตอนแรก แต่ก็สามารถทำได้

สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่เป้าหมายดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่ม 60-70% ของประชากรให้เสร็จสิ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ยังมีสองประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ได้แก่ การตอบสนองที่ไม่ดีของรัฐบาลกลางต่อการแพร่ระบาดในระยะแรกกลายเป็นอุปสรรการกระจายวัคซีน และความลังเลใจในการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า ผู้พัฒนาวัคซีนไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานเกินไปในการทดลองวัคซีนโควิด-19 เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของโรค เพียงแค่ทดลองให้เหมือนกับวัคซีนสำหรับไข้หวัดทั่วไปก็เพียงพอแล้ว แม้ว่าผู้ผลิตวัคซีนส่วนใหญ่ได้ประกาศแผนที่จะปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของตนให้รองรับกับการกลายพันธุ์ของโรค เนื่องจากการทดลองขนาดเล็กจะเร่งกระบวนการตรวจสอบได้มาก

ยุโรปจัดการแจกจ่ายช้า

การแจกจ่ายวัคซีนในสหภาพยุโรปล่าช้า ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่และการล็อกดาวน์อีกรอบ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่กลุ่มเลือกที่จะใช้กระบวนการจัดซื้อร่วมกัน เพื่อให้ได้ราคาถูกและมีการจัดส่งพร้อมกันไปยังทุกประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม ระบบรวมศูนย์นี้ทำให้กระบวนการแจกจ่ายวัคซีนล่าช้า ประกอบกับไม่ได้มีการลงทุนในการผลิต

สหภาพยุโรปจึงถูกโจมตีอย่างหนักจากประเด็นเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนที่จัดซื้อในนามของสหภาพแก่สมาชิก เนื่องมาจากปัญหาเรื่องการผลิตและการขนส่ง จนนำไปสู่การเสนอแผนการกำหนดข้อบังคับการขนส่งยา (export controls) และต้องยกเลิกไปในที่สุด เนื่องจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย

นายอูเกอร์ เซฮิน ผู้ก่อตั้งบริษัทไบโอเอ็นเทค เปิดเผยว่า “กระบวนการต่างๆ ในยุโรปไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและตามขั้นตอนได้เท่ากับประเทศอื่นๆ”

สหภาพยุโรปได้เพิ่มจำนวนการสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคมากขึ้นเป็น 600 ล้านโดส ในขณะที่วัคซีนโมเดอร์นาและออกซ์ฟอร์ด-แอรต้ราเซนเนก้าเองก็ประสบปัญหาเดียวกันในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งก็คือปัญหาด้านการผลิตและขนส่ง คาดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องกับการขนย้ายข้ามเขตแดนระหว่างอังกฤษ-ประเทศยุโรปที่เหลือ อย่างเช่นพื้นที่ระหว่างประเทศไอร์แลนด์และเขตไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษ

ท่ามกลางความสงสัยต่อประสิทธิภาพของวัคซีนดังที่เห็นได้จากข่าวเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบในยุโรป แต่สหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 3 แหล่ง ได้แก่ Sanofi-GSK (300 ล้านโดส) Johnson & Johnson (400 ล้านโดส) และ CureVac (405 ล้านโดส)

ดังนั้นจึงคาดว่ายุโรปจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในฤดูใบไม้ร่วงหรือช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม เพื่อเลี่ยงการล็อกดาวน์รอบใหม่ แต่ก็เป็นช่วงที่คาดว่าจะมีการระบาดรอบใหม่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนจะหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยังคงบังคับใช้มาตรการรักษาระยะห่างตลอดทั้งปี

ส่วนฮังการี ซึ่งได้รับวัคซีนโคโรนาแวค จากบริษัทเภสัชกรรมแห่งชาติจีน ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และได้อนุมัติช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนแล้ว โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ผู้นำฮังการี นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน วัย 57 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก และนับเป็นคนแรกของประเทศ

นอกจากนี้ นายกฯ ฮังการียังเป็นผู้นำคนแรกและคนเดียวในทวีปยุโรป ที่ฉีดวัคซีนของจีน โดยฮังการีตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้กับชาวฮังการีให้ได้ 368,000 คนภายในสัปดาห์นี้

นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ฮังการี เข้ารับการฉีดวัคซีน ที่มาภาพ: https://www.euronews.com/2021/02/28/hungary-s-pm-viktor-orban-vaccinated-against-covid-with-chinese-sinopharm-vaccine

ญี่ปุ่นใช้เงินชดเชยจูงใจ

หลังจากประกาศว่าจะฉีดให้แก่ผู้ที่ทำงานในแนวหน้ารับมือกับโรคโควิด-19 แล้ว ประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่าจะฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มถัดไป แม้ว่าจะยังไม่มีมาตรการแน่ชัดว่าจะแจกจ่ายวัคซีนไปตามท้องที่อย่างไรบ้าง แต่จะจัดสรรตามสัดส่วนประชากรสูงวัยในแต่ละพื้นที่ แทนที่จะคำนวณจากจำนวนผู้ติดเชื้อ

“ในช่วงแรก เราจะแจกจ่าย (วัคซีน) แบ่งตามจำนวนประชากรในพื้นที่ และจะจำกัดพื้นที่รวมทั้งจำกัดเฉพาะประชากรสูงวัยเพราะปริมาณวัคซีนมีไม่มาก” นายโคโน ทาโร่ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านวัคซีนของญี่ปุ่นกล่าวในระหว่างออกรายการโทรทัศน์

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขจำนวน 40,000 คน

แพทย์เข้ารับการฉีดวัคซีน ในเมืองซากะ ที่มาภาพ: https://www.japantimes.co.jp/news/2021/02/23/national/kono-coronavirus-vaccines/

สำหรับประชากรในวัย 65 ปีขึ้นไปซึ่งมีจำนวน 36 ล้านคน คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุในเดือนเมษายน ตามระยะเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีที่ทำงานในสถานดูแลผู้สูงวัยยังจัดอยู่ในกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชิ้อแบบกลุ่มก้อน

หลังจากที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรในวัย 65 ปีขึ้นไปแล้ว กลุ่มต่อไปที่จะได้รับการฉีดวัคซีน คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้สูงวัย และขยายไปสู่ประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ เปิดเผยว่า หากมีผู้เสียชีวิตจากวัคซีนไม่ว่าจะมีสาเหตุจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่หรือจากผู้ผลิตวัคซีน รัฐบาลยินดีมอบเงินก้อนจำนวน 44.2 ล้านเยนแก่ครอบครัว รวมไปถึงสมทบเงินค่าทำพิธีศพอีกกว่า 2 แสนเยน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและจูงใจให้ฉีดวัคซีน เพราะประชาชนทั่วไปยังไม่ยอมฉีดวัคซีน เนื่องด้วยมีความวิตกต่อผลข้างเคียง

อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินชดเชยการเสียชีวิตจากวัคซีนนี้เป็นนโยบายที่มีอยู่แล้ว และใช้บังคับกับวัคซีนประเภทอื่นด้วย เพียงแต่นำกลับมาอ้างถึงอีกครั้งเพื่อจูงใจประชาชน

จีนใช้วัคซีนนำการฑูต

จีนเริ่มขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนโคโรนาไวรัสในเดือนมกราคม โดยช่วงแรกจะฉีดให้กับ 9 กลุ่มที่ถือว่ามีความสำคัญในอันดับต้นๆ โดยที่กรุงปักกิ่งเริ่มฉีดวัคซีนเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และกลุ่มคน 9 กลุ่มอายุระหว่าง 18 ถึง 59 ปีจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเทศกาลฤดูใบไม้ผลิปีนี้หรือวันที่ 12 กุมภาพันธ์

ทั้ง 9 กลุ่มนี้ ได้แก่ พนักงานขนส่ง บุคลากรทางการแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่ศุลกากรซึ่งจัดการกับสินค้าแช่แข็งนำเข้า พนักงานยกกระเป๋าที่ทางเข้าท่าเรือ เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการขนส่งระหว่างประเทศและในประเทศ ผู้ที่ถูกกำหนดให้เดินทางไปต่างประเทศด้วยเหตุผลด้านการทำงานหรือส่วนตัว เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ

ประชาชนนั่งรอรับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนชั่วคราวในปักกิ่ง ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/1/5/beijing-starts-mass-covid-19-vaccination-drive

ล่าสุด รัฐบาลจีนเพิ่งให้การอนุมัติวัคซีนของบริษัทชิโนฟาร์ม ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันยาชีววัตถุอู่ฮั่น ซึ่งผ่านการทดลองคลินิกในเฟส 3 ในหลายประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หลังจากที่มีการอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินในเดือนมิถุนายน จีนได้ส่งออกวัคซีนออกไปต่างประเทศถึง 43 ล้านโดส ในขณะที่เก็บไว้ใช้ในประเทศเพียง 34 ล้านโดส

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ทั้งจีนและอินเดียจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในวงกว้างช่วงปลายปี 2022 ไปแล้ว เพราะทั้งสองประเทศมีประชากรจำนวนมาก และบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพมีจำนวนจำกัด จึงนับเป็นความท้าทาย จีนและอินเดียได้เริ่มดำเนินการยุทธศาสตร์การทูตด้วยวัคซีน (ร่วมกับรัสเซีย) โดยจัดหาปริมาณให้กับประเทศที่เป็นเป้าหมายที่จะเพิ่มอิทธิพลหรือในที่ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการเมือง กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงอย่างมากเนื่องจากจีนและอินเดียจะต้องดิ้นรนเพื่อจัดหาทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกด้วยวัคซีน โดยใช้เวลาอย่างน้อยหลายเดือน แม้ไม่ถึงปี

เอเชีย-อาเซียนเริ่มแล้ว

ในเอเชียหลายประเทศได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน ทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศเอเชียอื่น เช่น บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย แต่ยังไม่มากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทั้งประเทศได้ ส่วนวัคซีนที่ใช้มีทั้งไฟเซอร์ และวัคซีนของจีน

  • สิงคโปร์
    นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียน ลุง รับวัคซีนคนแรกและโดสแรกของประเทศในวันที่ 8 มกราคม จากการเริ่มโครงการฉีดวัคซีน และรับวัคซีนไฟเซอร์ฯ โดสสองไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม

    ในสิงคโปร์มีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรก 360,000 คน ครอบคลุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่สายการบิน หลังจากมีการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเริ่มฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ

    สิงคโปร์คาดว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3 แม้ คาดว่าการจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ฯ จะมีความล่าช้าเนื่องจากการยกระดับการผลิตในโรงงานของไฟเซอร์

    สิงคโปร์กำลังดำเนินการผลิตวัคซีนลูนาร์ (Lunar) ของตัวเองอีกด้วย โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท Arcturus ของสหรัฐร่วมกับโรงเรียนแพทย์ Duke-NUS ซึ่งเป็นวัคซีนประเภท mRNA และใช้เพียงโดสเดียว คาดว่าวัคซีนจะพร้อมใช้งานในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ และยังคาดว่าจะได้รับวัคซีนโมเดอร์นาในเดือนมีนาคม

    นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง สิงคโปร์ รับการฉีดวัคซีน ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/leehsienloong/photos/pcb.3960042860725057/3960024854060191

  • อินโดนีเซีย
    ตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศเริ่มการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจำนวนกว่า 9 ล้านโดส ให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับโรคระบาด โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด รับวัคซีนซิโนแวคคนแรกของประเทศ วันที่ 13 มกราคม

    นายอัคมัด ยูริอันโต อธิบดีกรมควบคุมและป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย กล่าวถึงนโยบายการแจกจ่ายวัคซีนว่าจะทำการฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปีเท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงกังวลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอประชากรของตนราวๆ 268 ล้านคน เพราะว่านอกจากมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัคซีนที่มีราคาราว 20 ดอลลาร์ หรือ 200,000 รูเปียห์ะต่อโดส วัคซีนเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการรับรองฮาลาลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

  • มาเลเซีย

    รัฐบาลมาเลเซียระบุว่า จะทำการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวมาเลย์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่ประกาศว่าจะเก็บเงินค่ารักษาจากชาวต่างชาติที่อยู่ภายในประเทศ โดยที่จะทำการฉีดวัคซีนให้ได้ 12.8 ล้านโดส (ตามที่สั่งซื้อจากไฟเซอร์ฯ) เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ และมีเป้าหมายที่จะฉีดให้ได้ 80-100% ของประชากร

    เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มุห์ยิดดีน ยัสซีน เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว เป็นคนแรกของประเทศ

    นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มุห์ยิดดิน ยัสซีน รับการฉีดวัคซีน ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/pm-muhyiddin-receives-first-covid-19-vaccine-as-malaysia-kicks-off-mass-inoculation

  • ฟิลิปปินส์
    ฟิลิปปินส์ตั้งเป้าที่จะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรประมาณ 25 ล้านคน (ประมาณ 25% ของประชากร) ในปีนี้

    ฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบรุนแรงจากไวรัสและมีอัตราติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    บริษัทในประเทศกว่า 30 แห่งได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อซื้อวัคซีนอย่างน้อย 2.6 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และมีแผนที่จะบริจาควัคซีนส่วนใหญ่ให้กับรัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการฉีดวัคซีนตามแผน และใช้ส่วนที่เหลือในการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานของตนเอง

  • เมียนมา
    รัฐบาลเมียนมาในปัจจุบันเตรียมรับความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนจากโครงการ GAVI (Global Alliance for Vaccines and Immunization) และโครงการโคแวกซ์ (Covax) ขององค์การอนามัยโลก โดยตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยงที่สุดจำนวน 20% แรกก่อน

    หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทหารของเมียนมา ทำให้เมียนมาประสบปัญหาในการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชนได้เพียงพอ ทั้งในด้านงบประมาณและการขนส่ง ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไปสูงถึง 1.4 แสนคน

  • เวียดนาม
    สถาบันอนามัยและระบาดวิทยาแห่งชาติ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขของประเทศเวียดนาม ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทเมดิเจนวัคซีนจากไต้หวัน เพื่อสั่งจองวัคซีนจำนวน 3-19 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างทดลองเฟส 2

    ส่วนในประเทศอาเซียนอื่นนั้น ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เริ่มโครงการฉีดวัคซีนแล้วโดยรองนายกรัฐมนตรีท่านสมดี ดวงดี และผศ. ดร.บุนกอง สีหาวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับการฉีดวัคซีนคู่แรกของประเทศด้วยวัคซีนชิโนฟาร์มจากจีน วันที่ 27 มกราคม

    ในกัมพูชา นายพลฮุน มาเนต ลูกชายสมเด็จฮุน เซนนายกรัฐมนตรี เป็นคนแรกของกัมพูชาที่รับวัคซีนหลังจากได้รับวัคซีนชิโนฟาร์มจากจีน โดสแรก 10 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังได้รับวัคซีนลอตแรกผ่านโครงการโคแวกซ์จำนวน 324,000 โดสเมื่อวันที่ 2 มีนาคม

    ที่มาภาพ: https://www.voacambodia.com/a/cambodia-begins-vaccination-campaign-against-covid-19/5773188.html

    แอฟริการอวัคซีนนาน

    สถานการณ์ในแอฟริกาปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 1 แสนคน ท่ามกลางข้อกังวลเกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าของโครงการโคแวกซ์ ในขณะที่หลายประเทศจำเป็นต้องจัดซื้อเองโดยตรง หรือรับบริจาคจากประเทศต่างๆ เช่น จากจีน รัสเซีย หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

    นายแมตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า “การที่ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาที่อ่อนแอต้องรอวัคซีนเป็นเวลานานเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ในขณะที่ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำแต่ร่ำรวยกว่ากลับไม่ต้องกังวล (เรื่องวัคซีน)”

    ทั้งนี้ วัคซีนที่แอฟริกาพึงได้รับจากโครงการนั้น ก็ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอยู่ดี โดยที่วัคซีนที่ได้รับภายในปีนี้ครอบคลุมเพียง 20% ของประชากรทั้งหมด

    นายจอห์น เคนกาซอง หัวหน้าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของแอฟริกา เปิดเผยว่า วัคซีนที่ได้รับจากโครงการจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้โรคระบาดหายไปจากแอฟริกาได้

    เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดี พอล คากาเม แห่งประเทศรวันดา กล่าวในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า การจัดหาวัคซีนที่เป็นไปอย่างล่าช้านี้มาจากการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานและเป็นความไม่จริงใจ

    เรียบเรียงจาก
    EIU Global Outlook – A global view of vaccination progress
    Mass COVID-19 vaccination drive under way in Beijing
    Coronavirus Briefing: What Happened Today
    The F.D.A. tells companies that vaccines adapted for new variants won’t need lengthy clinical trials.
    Covid US death toll: Imagining what 500,000 lost lives look like
    Covid: What’s the problem with the EU vaccine rollout?
    Japan to distribute COVID-19 vaccines for older people based on population
    If you die from the COVID-19 vaccine in Japan, the government will give your family over ¥44 mil
    Coronavirus: China’s Sinopharm seeks general use green light for second vaccine
    COVID-19 Vaccine Roll Outs in ASEAN & Asia – Live Updates by Country
    Covid-19: Africa vaccine rollout off to a slow startCovid: US President-elect Joe Biden gets vaccine live on TV
    China begins COVID-19 vaccination drive; over 73,000 receive first shot
    Israel’s clever coronavirus vaccination strategy
    Hungarian PM Orban receives Chinese COVID-19 vaccine – Orban’s Facebook page