นายกฯยอมรับจัดโผครม.ชุดใหม่เสร็จแล้ว ปัดตอบโยก “สุริยะ” คุมพลังงาน ย้ำต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้คุมโควิดฯ -ไม่เกี่ยวชุมนุมการเมือง มติ ครม. เพิ่มค่าอาหาร “เราเที่ยวด้วยกัน” จาก 600 บาท เป็น 900 บาท ตั้งรักษาการแทน “6 รมต.ลาออก”- วิษณุควบ 3 เก้าอี้
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม ครม. เป็นการแถลงมติ ครม. โดยทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ไม่มี ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้แจ้งต่อผู้สื่อข่าวอีกครั้งในภายหลังว่า โฆษกฯ ได้ส่งใบลา (ลากิจส่วนตัว) ตามระเบียบของการลาราชการ จึงไม่สามารถมาแถลงข่าวได้
ทำให้ผู้สื่อข่าวถามกับนางสาวรัชดา ธนาดิเรก และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล 2 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า “อาจารย์แหม่มจะเป็นรัฐมนตรีแล้วไม่มาแถลงแล้วหรอ” ซึ่ง 2 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต่างมองหน้ากันแล้วตอบเพียงว่า “ท่านโฆษกแจ้งว่าติดภารกิจค่ะ”
ยอมรับจัดโผครม.ชุดใหม่เสร็จแล้ว ปัดตอบโยก “สุริยะ” คุมพลังงาน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการปรับ ครม. ว่า จะดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน คือ เมื่อมีคนตอบรับก็จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ เสนอโปรดเกล้าฯ และเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ โดยกล่าวย้ำว่า ขอให้สบายใจได้ว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ต่อคำถามว่า หนักใจหรือไม่ขณะนี้ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปเป็นโควตาของนายกฯ หรือของพรรค พปชร. พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาความขัดแย้งใดๆ ตนได้คุยกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. แล้ว
“ในเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ผมคิดว่าไม่มี ผมคุยกับรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ไม่ได้มาพูดถึงว่าโควตาของใคร ผมจัดสรรให้เหมาะสมก็แล้วกัน ผมขอบคุณพรรคพลังประชารัฐทุกคนด้วยแล้วกัน ทุกคนก็มีสิทธิ์จะพูดแต่คนตัดสินใจคือผมด้วยการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็มีความเห็นชอบด้วยกันอยู่แล้วในท้ายที่สุด”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุม ครม. รัฐบาลหารืออย่างรอบคอบในทุกมิติทุกประเด็น และได้ขอความร่วมมือกับ ครม. และรัฐมนตรีทุกท่าน ให้เข้าใจในเรื่องของการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากในสถานการณ์พิเศษในช่วงนี้มีหลายอย่างที่เข้ามา ในช่วงเวลานี้สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรักษาความมีเสถียรภาพไปให้ได้ เพราะทุกคนคือประเทศไทย
วันนี้มีหลายมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจในช่วงนี้ และคงจะต้องหารือในเรื่องเศรษฐกิจและ ครม. ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการดำเนินการในช่วงต่อไปตนคิดว่าอีกไม่นานจะมีการปรับ ครม. อย่างที่บอก เป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ
“ทุกคนก็หวังดี ผมก็เข้าใจถึงความหวังดีที่ทุกท่านก็อยากให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นผมไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร เพียงแต่ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน และดำเนินการให้เหมาะสมถูกต้องตามช่องทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
เมื่อถามว่า โผ ครม. ใหม่มีชื่อนายบรรสาน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ใน ครม. หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ใครเสนอ ก็พูดกันไปกันมา ผมจำได้ว่าท่านเป็นรองเลขาฯ อยู่ไม่ใช่หรือ”
เมื่อถามว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะยังทำหน้าที่ต่อหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยังไม่รู้ คอยผมประกาศสิ โธ่”
เมื่อถามว่า แสดงว่าขณะนี้รายชื่อ ครม. ใหม่เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็คงงั้น ก็ต้องตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ที่จะเข้ามาต้องกรอกคุณสมบัติ รับรองตัวเอง เร่งเคลียร์ เรื่องคนคงไม่มีปัญหาหรอกมั้ง”
เมื่อถามว่า แสดงว่ารายชื่อทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยอมรับว่า ก็คงเป็นไปตามนั้น และเมื่อถามถึงเรื่องที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ยังยืนยันอยากจะอยู่ในตำแหน่ง รมว.พลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่รู้เหมือนกัน ใครอยากได้ ก็พูดกันมาตลอดว่านายกฯ เป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่หรือ จะได้ไม่ได้ก็ไม่รู้ ก็แล้วแต่นายกฯ เป็นผู้ตัดสินใจ”
เมื่อถามย้ำว่า แต่มีข่าวว่านายสุริยะยืนยันและออกตัวแรงในเรื่องนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “อ๋อเหรอ เดี๋ยวรอดู”
ในช่วงสุดท้าย เมื่อถามว่ามีชื่อของ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในโผ ครม. หรือไม่ นายกฯ ถอนหายใจร้อง “เฮ้ย” ก่อนเดินออกจากโพเดียม แล้วกล่าวว่า “เดี๋ยวก็รู้เอง”
ย้ำต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้คุมโควิดฯ-ไม่เกี่ยวชุมนุมการเมือง
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการพิจารณาขยาย/ยกเลิก การใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เนื่องวันนี้จากที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ข้อสรุปเตรียมเสนอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะหมดอายุวันที่ 31 กรกฎาคม นี้ออกไปอีก 1 เดือน โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ โดยระบุว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการพิจารณาเพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 6 และจะพิจารณาต่อไปถึงความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยยืนยันว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมใดๆ แต่เป็นเพราะกฎหมายที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมเพียงพอในการดำเนินการภายใต้สภาวะการแพร่ระบาดโควิดฯ
“สิ่งสำคัญคือกฎหมายฉบับนี้มีไว้ใช้เพื่ออะไร ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้ว เพราะหลายกฎหมายไม่ครอบคลุม ผมไม่ได้เอากฎหมายนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมอะไรทั้งสิ้นเลย ไม่เกี่ยวเลย การชุมนุมมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบังคับอยู่แล้ว ผมไม่ต้องไปสั่งการอะไรเพิ่มเติม ผมเป็นห่วงกังวลในการที่จะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ ผมได้สั่งการอย่างเดียวว่าให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง”
ทั้งนี้ ตนรู้สึกเห็นใจเยาวชน นิสิต ศึกษา และเป็นห่วงแทนผู้ปกครองของเขาด้วย ขอให้ระมัดระวังการละเมิดก้าวล่วง ซึ่งตนคิดว่าประชาชนคงไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งไม่สมควรจะเกิดสำหรับประเทศไทยของเรา ตนจะไม่พูดมากในเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็น
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า การพิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 6 มีความจำเป็นไม่ใช่เพียงว่ารัฐบาลประกาศมาตรการออกไป แต่ตนต้องการให้ทุกคนทุกฝ่ายช่วยดูแลพื้นที่ในทุกขั้นตอน โดยต้องช่วยกันดูแลให้รอบคอบจะได้ไม่เกิดผลกระทบอีกในภายหลัง เพราะต้องสร้างสมดุลให้ได้ระหว่างเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจระดับฐานราก ในวันนี้จะเห็นได้ว่ามีความเดือดร้อนมากมาย ตนเข้าใจดีว่ามีคนไม่เห็นชอบและเห็นชอบ แต่ทุกคนต้องช่วยกันคำนึงถึงภาพโดยรวมด้วย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมองทั้งสองด้าน
เล็งปรับวันหยุดชดเชยสงกรานต์ต่อเนื่องช่วงสุดสัปดาห์
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการหยุดชดเชยวันสงกรานต์ที่เหลืออีก 2 วัน ว่า ตนจะดูให้ และจะหาในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมให้เป็นวันหยุดที่ติดต่อกันในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวไปด้วย ให้ภาคเอกชนได้เดินหน้าไปได้ด้วยดี
เตือนโรงแรมฉวยโอกาสขึ้นค่าห้อง ระวังติด “แบล็กลิสต์”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีโรงแรมหลายแห่งปรับขึ้นราคาห้องพัก เพิ่มจากที่รัฐจ่ายให้ในมาตรการ “เราไปเที่ยวกัน” ว่า กรณีดังกล่าว ตนได้สั่งการไปแล้ว มีการหารือในที่ประชุมโดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปดู ถ้าใครที่ขึ้นบัญชีไว้กับรัฐบาลแล้วมีการปรับขึ้นราคาที่มากกว่าที่ตกลงกันไว้จะดำเนินการขึ้นบัญชี (แบล็กลิสต์) ไว้ทั้งหมด
โดยก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงแรมแล้วว่าราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ และควรลดราคาเท่าไหร่ แต่หลายโรงแรมก็ฉวยโอกาสขึ้นราคาเมื่อคนไปพักมากๆ อย่างไรก็ตามส่วนนี้ก็จะมีการขึ้นแบล็กลิสต์ไว้หมด
“วันนี้มีการผ่อนคลายให้กับโรงแรมต่างๆ ได้อีกจำนวนหนึ่ง เพราะผมได้ให้ความสำคัญกับโรงแรมขนาดเล็กด้วยซึ่งมีห้องพักให้บริการ วันนี้มีการเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 900 บาท หากมีใครขึ้นราคาก็จะต้องถูกแบล็กลิสต์ ในวันข้างหน้าขอให้ทุกคนผู้ประกอบการทุกคนต้องช่วยกัน ภาคธุรกิจเอกชนหากเราทำไม่ดีก็ไม่ส่งผลดีกับโรงแรมและธุรกิจของท่านเอง เราควรมีความซื่อสัตย์สุจริตให้กัน รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารคนจำนวนมากในหลายภาคส่วนด้วยการที่เกี่ยวข้อง แน่นอนต้องมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา”
พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลต้องการให้มีการท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น และต้องการให้มีการท่องเที่ยวในวันธรรมดาให้มากขึ้น ซึ่งต้องไปจัดวงรอบในการท่องเที่ยวให้ดี บางคนมีเงินอยู่แล้ว บางคนไม่มีก็ใช้เงินตรงนี้ไปจอง ซึ่งได้ปรับวงเงินให้แล้วเป็น 900 บาท
หวั่นงบฯ 64 ล่าช้า หลังที่ประชุม กมธ.ล่ม วอนทุกฝ่ายร่วมหาทางออก
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแก้ไขปัญหาการประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณ 2564 ไม่สามารถจัดประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่พอใจของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่งผลให้การทำงานล่าช้า ว่าการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เป็นเรื่องของผู้เกี่ยวข้องในพรรคการเมืองและทุกฝ่าย ที่ต้องไปหาวิธีการดำเนินการพูดคุยว่าปัญหาเกิดจากตรงไหนอย่างไร หาทางออกร่วมกันให้ได้
“หากไม่คุยกันก็ตกลงไม่ได้ก็เป็นอยู่อย่างนี้เดินหน้าประเทศต่อไปไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็มีปัญหาในการจัดทำงบประมาณปี 2564 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะอยู่ในช่วงเวลาของการเปิดปิดสภาต่อไปด้วย เนื่องจากในแต่ละปีจะต้องมีการเปิด-ปิดสภา 2 ครั้งก็ขอให้เร่งดำเนินการอย่าให้เกิดความขัดแย้งกันเลย จะได้พิจารณางบประมาณปี 2564 ได้”
มติ ครม. มีดังนี้
ยกเว้นค่าธรรมเนียมเลี้ยงสัตว์น้ำถึงสิ้นปี 65
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึง 31 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เสียรายได้ 59 ล้านบาทต่อปี
ผ่านกฎกระทรวงยกเว้นค่า FEE รับรองสินค้าอุตสาหกรรม
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมจะมีผลบังคับใช้ 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยคาดว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ปีละ 84.4 ล้านบาท
“มาตรการนี้เป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้ช่วงนี้มีรายได้ที่ลดลงและมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากโควิด-19 ถือว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลานี้”
อนุมัติเงินกู้ 4,924 ล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 โครงการ
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติการใช้เงินกู้แบ่งเป็น 3 โครงการการจ้างงานและโครงการเยียวยาลูกจ้างที่ไม่เข้าข่ายการได้รับเงินเยียวยาของรัฐบาลและประกันสังคม รายละเอียดดังนี้
- โครงการแรก คือ โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 1,080 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงานของประชาชนที่เป็นอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 – กันยายน 2564 โดยคนที่เข้ามาร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หลังจากนั้นคนเหล่านี้จะมีทักษะความรู้ดูแลผู้สูงอายุและสามารถหารายได้จากอาชีพดังกล่าวได้ต่อไป อีกด้านหนึ่งผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับมีเป้าหมายรายได้จะเพิ่มได้ 932 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงานและสร้างนักบริบาลอิสระมืออาชีพ 15,548 คน
- โครงการที่สอง คือ โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 2,701 ล้านบาท โดยเป็นการจ้างคนในระดับปริญญาตรีเพื่อรวบรวมข้อมูลระดับหมู่บ้านและชุมชน เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาแผนการพัฒนาชุมชนทั้งในระดับหมู่บ้านและตำบล โดยรายละเอียดการเก็บข้อมูลจะมีการวางแผนร่วมกันระหว่างสำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คาดว่าจะจ้างงานในทุกตำบล 14,510 คน ตำบลละ 2 คน อัตราค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ระยะเวลาจ้าง 12 เดือนระหว่างเดือนสิงหาคม 2563 – กันยายน 2564 เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,700 ล้านบาท และเกิดประโยชน์จากข้อมูลเป็นฐานข้อมูลแบบบูรณาการ และนำไปจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่จากข้อมูลด้วย
- โครงการที่สาม คือ โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟ สร้างรายได้ชุมชน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 246.69 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ จำนวน 9,137 คน โดยได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรฐานกรมบัฐชีกลาง 300 บาทต่อวัน เฉลี่ย 30 วันต่อเดือนต่อคน 2) เฝ้าระวังและลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟป่า และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาไฟป่า มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 – พฤษภาคม 2564 และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ 1) สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน รวม 246.69 ล้านบาท 2) เพิ่มการจ้างงานให้แก่ประชาชน จำนวน 9,137 คน
- โครงการที่สี่ คือ โครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฯ ของกระทรวงแรงงาน วงเงินรวม 896.64 ล้านบาท โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 59,776 คนสำหรับการจ่ายเงินเยียวยาทางสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม 2563) รวมเป็นเงิน 15,000 บาท โดยจ่ายเพียงครั้งเดียว
เห็นชอบกรอบความร่วมมือตลาดทุนไทย-สหรัฐฯ
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการระดมทุนและการสร้างตลาดทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ไทย-สหรัฐอเมริกา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยมีสาระสำคัญคือกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาได้ยกร่างกรอบความร่วมมือฯ ขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาตลาดเงินสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“โดยคู่ภาคีจะร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการทำงานร่วมกัน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในด้าน 1) การพัฒนาและเพิ่มสภาพคล่องแก่ตลาดตราสารหนี้ 2) การเสาะหาและคิดค้นเครื่องมือและโครงสร้างทางการเงินใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน 3) การส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการแบ่งปันองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากกรณีศึกษาของนานาชาติ และ 4) การพัฒนาขีดความสามารถด้านการเงินและด้านเทคนิคต่างๆ ร่วมกัน”
สำหรับแนวทางในการดำเนินงาน คู่ภาคีจะจัดตั้งคณะทำงานร่วม ประกอบด้วย ผู้แทนอาวุโสของแต่ละฝ่าย เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการและศึกษาถึงโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ผ่านรูปแบบกิจกรรมความร่วมมือที่เน้นการฝึกอบรม การสัมมนาและหลักสูตรต่างๆ รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งของภาคีเครือข่าย ส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย จะมุ่งเน้นศึกษาและขจัดปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดสำหรับการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยและตามที่ได้ตกลงร่วมกัน
“การจัดทำร่างกรอบความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้สร้างความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคีกับต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกัน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ไทยที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีตลาดทุนขนาดใหญ่และมีนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพเหมาะแก่การระดมทุนเพื่อมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ลงนามในกรอบความร่วมมือฯ กับสหรัฐอเมริกาแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลี และเวียดนาม”
ตั้งรักษาการแทน “6 รมต.ลาออก”- วิษณุควบ 3 เก้าอี้
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เนื่องจากมีรัฐมนตรีลาออก 6 คน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
- รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายเทวัญ ลิปปตพัลลภ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทน นายอุตตม สาวนายน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รักษาการแทน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล
เพิ่มค่าอาหาร “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็น 900 บาท
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ขยายวงเงินในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในส่วนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-voucher) โดยเพิ่มวงเงินสำหรับไปใช้เป็นค่าอาหาร และค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว เป็นวันละ 900 บาทต่อห้อง จากเดิมวันละ 600 บาทต่อห้อง แต่มีเงื่อนไขคือใช้ได้เฉพาะการไปเที่ยวในวันธรรมดาเท่านั้น
สำหรับค่าห้องที่เคยให้วันละ 600 บาทต่อห้องนั้น จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามารถใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าตามโครงการโอทอปได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโอท็อปมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ครม. ยังได้รับทราบรายงานจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงกรณีที่มีบางโรงแรมเพิ่มราคาค่าห้องพักในช่วงนี้ โดยจะไปตรวจสอบและหากพบว่าเป็นรายใดจะถูกตัดออกจากโครงการทันที ส่วนการอนุญาตให้โรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการนั้น ที่ประชุม ครม. ยังไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือ
ต่ออายุต่างด้าวอยู่ไทย ถึง 26 ก.ย.นี้
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเดิมจะหมดอายุในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ก็จะเป็นการต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563-26 กันยายน 2563โดยเป็นการขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและเป็นการขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย พร้อมทั้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศกำหนดระยะเวลาให้คนต่างด้าวมาดำเนินการตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 กันยายน 2563
เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกป่า 24 ก.ค.นี้
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบโครงการปลูกป่าพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นี้ ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการและปฏิบัติงานร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ด้วย
สำหรับโครงการนี้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า โดยครอบคลุมถึงป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ป่าพรุ และที่ดินของรัฐ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกป่าทั่วประเทศในวันดังกล่าว
เห็นชอบกลุ่มบีจีเอสอาร์ คว้างานก่อสร้างมอร์เตอร์เวย์ 3.9 หมื่นล้าน
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา ซึ่งเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 2 โครงการ คือ กิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท กัลฟ์เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยเป็นผู้เสนอค่าตอบแทนต่ำที่สุด ดังนี้
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา 21,308 ล้านบาท จากราคากลาง 33,258 ล้านบาท
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 17,801 ล้านบาท จากราคากลาง 27,828 ล้านบาท
โดยเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด โดยรัฐจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ในค่าบำรุงรักษาและค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยเอกชนได้รับค่าตอบแทน มีระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ
ทั้งนี้ บีจีเอสอาร์จะต้องจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่เพื่อลงนามในสัญญา ซึ่งระยะเวลาดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ร่วมทั้งสิ้นไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่เริ่มต้นงาน และระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา รวม 30 ปี นับแต่วันเปิดให้บริการ โดยเอกชนจะต้องออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน ดูแล บำรุงรักษาเพื่อให้เปิดกิจการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก ส่วนหน้าที่ของกรมทางหลวง คือ การบำรุงรักษาในเรื่องงานโยธา และการจ่ายค่าตอบแทนให้เอกชนเป็นรายไตรมาส
“ค่าผ่านทางให้เป็นไปตามประกาศกฎกระทรวงที่ได้ผ่านความเห็นชอบ ครม. ไปแล้ว เช่น สายบางปะอิน-นครราชสีมา จะมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 15 บาท และสูงสุดไม่เกิน 240 บาท และจะมีการปรับขึ้นทุก 5 ปี”
เคาะปิดประชุมสภาฯ 19 ก.ย.นี้
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. …. ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้
- ปีที่ 1 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 – 18 กันยายน 2562 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563
- ปีที่ 2 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 – 18 กันยายน 2563 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564
- ปีที่ 3 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 – 18 กันยายน 2564 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565
- ปีที่ 4 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 – 18 กันยายน 2565 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2563 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น บัดนี้ ใกล้จะสิ้นกำหนดเวลา 120 วันตามสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 สมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563 จึงเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
ตั้ง “สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข” นั่งผู้ว่า กทพ.
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข เป็นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 380,000 บาท ตามมติคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 และครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และให้นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ลาออกจากการเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจก่อนลงนามในสัญญาจ้างด้วย
เห็นชอบกฟภ.ลงทุน Microgrid เกาะพะลวย 172 ล้าน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จ.สุราษฎร์ธานี ตาทที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ในวงเงินลงทุนรวม 172 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 129 ล้านบาท และเงินรายได้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 43 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ กฟภ.ดำเนินการทยอยกู้ตามกรอบวงเงินดังกล่าวตามความจำเป็นจนกว่าจะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่างในการลงทุน (FIRR=-205.27) แต่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR=177.21) ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่เกาะพะลวย และสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสใช้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ไม่อยู่ในขอบเขตที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ต้องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า กฟภ.อาจพิจารณาขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ เนื่องจากกรพัฒนาระบบไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการดำเนินงานที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาระบบไฟฟ้านี้อาจก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวบนเกาพะลวย ส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟ้เพิ่มขึ้น จึงควรให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่บนเกาะพะลวย เพื่อเป็นทิศทางในการควบคุมการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงป้องกันการเติบโตแบบไร้ทิศทางที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมได้ อีกทั้งควรขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่เกาะที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในระยะต่อไป
อนุมัติเงินกู้ให้สธ.แก้ปัญหาโควิดฯ 101 ล้าน
รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. อนุมัติแผนงานโครงการของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แผนงานโครงการกลุ่มที่ 1 หรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ตามกรอบพ.ร.ก.เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2563 เห็นชอบ แบ่งเป็นการอนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 101.8372 ล้านบาทโดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด
1) โครงการพัฒนาศักยภาพของการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีนและยาชีววัตถุสำหรับโควิดของประเทศ โดยปรับลดวงเงินจาก 50.5 ล้านบาทเหลือเพียง 48.6574 ล้านบาท
2) โครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอันตรายและโควิด โดยปรับลดลงจาก 3.94 ล้านบาทเหลือเพียง 2.9394 ล้านบาท
3) โครงการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในการป้องกันและการตรวจโรคติดเชื้อโควิด เพื่อการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย โดยปรับลดจาก 64.93 ล้านบาทเป็น 50.2404 ล้านบาท
ทั้งนี้ ครม. ยังรับทราบผลการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอของแผนงานหรือโครงการฯ ของกระทรวงสาธารณสุขอื่นๆในภาพรวมประกอบด้วย จำนวน 234 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 51,985.54 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการที่พิจารณาเห็นควรอนุมัติ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 119.3700 ล้านบาท ซึ่งปรับลดเหลือ 101.84 ล้านบาทและเห็นชอบในวันนี้ 2) โครงการที่พิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 42 โครงการ วงเงินรวม 45,868.02 ล้านบาท 3) โครงการที่เห็นควรให้หน่วยงานวิจัยร่วมกลั่นกรอง จำนวน 32 โครงการ วงเงินรวม 1,260.89 ล้านบาท และ 4) โครงการที่พิจารณาแล้วเห็นควรทบทวน จำนวน 157 โครงการ วงเงินรวม 4,737.26 ล้านบาท
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2563เพิ่มเติม