ThaiPublica > คอลัมน์ > “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” 30,000 เมกะวัตต์: สู่ยุคใบสั่งทหาร – อวสานเทคโนแครต?

“เมกะโซลาร์ฟาร์ม” 30,000 เมกะวัตต์: สู่ยุคใบสั่งทหาร – อวสานเทคโนแครต?

4 มีนาคม 2021


ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน

ที่มาภาพ : สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

เป็นที่งงงวยไปตามๆกันเมื่อมีข่าวกองทัพบกเข้ามารับบทบาทใหญ่ผลักดันโครงการอภิมหา “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” 30,000 เมกะวัตต์ โดยจะนำพื้นที่ของกองทัพบกทั่วประเทศกว่า 4.5 ล้านไร่มาพัฒนา

ข่าวความร่วมมือระหว่างกองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อ “ศึกษาความเป็นไปได้” ของโครงการ ได้พัฒนาต่อไปเป็นข่าวบริษัทพลังงานกว่า 30 บริษัทตบเท้าเข้าพบ พลโท รังษี กิติญาณทรัพย์ ในฐานะตัวแทนกองทัพบก เพื่อแสดงเจตจำนงในการขอร่วมลงทุนและขอรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เอกชนบางบริษัท มีท่าทีสนับสนุนไอเดียของกองทัพบก ว่าจะนำพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค

แต่สำหรับผู้สังเกตการณ์อื่นๆที่ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรง คงมีข้อกังขาและคำถามมากมายต่อบทบาทและท่าทีที่ฮึกเหิมของกองทัพบกในครั้งนี้ ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการกำหนดนโยบายและแผนพลังงานหรือไม่อย่างไร

การกำหนดนโยบายและแผนพลังงานในประเทศไทยที่ผ่านมา เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่สงวน สำหรับผู้เชี่ยวชาญหรือนักเทคโนแครตด้านพลังงาน จนบางครั้ง “ความเชี่ยวชาญ” ถูกนำมาใช้เป็นเกราะในการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่อย่างไรก็ดี ความภูมิใจในความเป็นมืออาชีพ มีส่วนช่วยตีกรอบไม่ให้นโยบายและแผนพลังงานหลงทางออกไปไกลจากหลักการและแนวการปฏิบัติที่มีการยอมรับได้มากนัก

ดังนั้น (อย่างน้อยในเชิงวาทกรรม) การวางแผนกิจการไฟฟ้าแบบมืออาชีพ จะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ให้เพียงพอต่อความต้องการ ระบบมีความมั่นคง และไม่ก่อให้เกิดภาระ เกินควรต่อผู้ใช้ไฟ อีกทั้งยังคำนึงถึง การกระจายความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

แต่แล้วความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบความเชี่ยวชาญเป็นมืออาชีพ (Technocracy) ที่เคยปกครองการกำหนดนโยบายและแผนพลังงานประเทศไทย ก็ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อบริษัทพลังงานกว่า 30 บริษัทตบเท้าเข้าพบ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เพื่อขอรับทราบเงื่อนไขในการร่วมชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนโตโครงการเมกะโซลาร์ฟาร์มมูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมดังกล่าว เกิดขึ้นที่อาคารสำนักงานของช่อง 5 ไม่ใช่ที่กระทรวงพลังงาน และไม่มีรายงานว่ามี ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้แต่อย่างใด

หรือนี่จะเป็นสัญญาณว่า ประเทศไทย กำลังจะก้าวสู่ยุคใหม่ที่กระทรวงพลังงาน และความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่สั่งสมมากำลังจะหมดความหมาย ไร้ความจำเป็น หลักการที่ว่าการจัดหาไฟฟ้าควรเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าของประเทศ ก็ดูเหมือนว่าจะล้าสมัยด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดที่ 28,637 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวโตช้ากว่าที่คาดไว้ ในขณะที่กำลังการผลิตติดตั้งของประเทศอยู่ที่ 46,475 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงที่ถึงร้อยละ 59 นอกจากนี้ก็ยังมีโปรเจคอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แค่เฉพาะโครงการที่กลุ่มบริษัทกัลฟ์ (Gulf) มีส่วนเป็นเจ้าของ ก็จะนำกำลังผลิตใหม่เข้าระบบมากถึง 6,940 เมกะวัตต์

ไฟฟ้ามีความล้นเกินจนในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า IPP จำนวนถึง 8 โรงจากทั้งหมด 12 โรงไม่ได้เดินเครื่องเลยตลอดทั้งเดือน

ในสถานการณ์เช่นนี้ การเคาะโครงการใหม่ 30,000 เมกะวัตต์ จึงเป็นการวางแผนนโยบายพลังงานที่สวนทางกับความต้องการของประเทศอย่างสิ้นเชิง

คำถามต่อมาก็คือ ภาระจากการลงทุนเมกะโซลาร์ฟาร์ม ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

ในกรณีของโรงไฟฟ้า IPP 8 โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องเลย แม้จะไม่ถูกใช้งานเนื่องจากไม่มีความต้องการไฟฟ้า แต่ก็ยังก่อให้เกิดต้นทุนภาระค่าไฟมูลค่านับพันล้านบาทต่อเดือนที่ผู้ใช้ไฟต้องแบกรับ เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าถูกออกแบบให้ มีการประกันกำไรให้แก่นักลงทุนไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะมีการเดินเครื่องหรือไม่

นอกจากนี้ มีข่าวว่ารัฐบาลคิดจะแก้ปัญหาไฟฟ้าล้นเกิน โดยการยกเลิกการใช้กำลังผลิตสำรองร้อยละ 15 มาเป็นเกณฑ์ในการวางแผนระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการคิดที่มักง่ายและดูถูกสติปัญญาของคนไทยมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย (กำลังผลิตส่วนเกินก็ยังอยู่ในระบบและยังคงเป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟจะต้องจ่าย) ยังเป็นการเปิดทางให้มีการลงทุนเพิ่มเติมโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ซ้ำเติมปัญหาและภาระไฟฟ้าล้นเกินของผู้ใช้ไฟ

สำหรับโครงการเมกะโซลาร์ฟาร์ม ถึงแม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด แต่เนื่องจากเป็นการร่วมมือกันระหว่าง กองทัพบก และ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการจัดหาไฟฟ้า จึงไม่แปลกใจเลย หากต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าฟาร์มจะถูกส่งเป็นภาระต้นทุนแก่ผู้ใช้ไฟในที่สุด

บทบาทของกองทัพบกในการเคาะ “mega-deal” ในครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ฉีกหน้ากระทรวงพลังงาน ฉีกตำราว่าด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านไฟฟ้า แต่ยังอาจถือเป็นการฉีกกฎเกณฑ์และกฎหมายอีกด้วย

พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ได้จัดตั้งและมอบอำนาจ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจและหน้าที่ ในการกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า อีกทั้งยังกำหนดให้การจัดหาไฟฟ้าเน้นการแข่งขันและมีส่วนร่วม เพื่อดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ดังนั้น กองทัพบกมิได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการวางแผนนโยบายพลังงาน หรือกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม หรือตัดสินใจว่าบริษัทใดควรมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมการลงทุน

การดำเนินงานของ กกพ. ที่ผ่านมาได้ถูกตั้งคำถามในเรื่องประสิทธิภาพและความเป็นกลาง (รัฐบาลที่แล้วได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแทรกแซงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ทั้งชุด)

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงคอยลุ้นให้ กกพ. ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ผู้บริโภคอย่างเป็นกลางและมีประสิทธิผล มิฉะนั้นแล้ว กกพ. ก็คงไม่ต่างไปจากตรายางราคาแพงของฝ่ายการเมือง เพิ่มภาระค่าไฟฟ้านับพันล้านบาทต่อปีโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ในขณะนี้ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก แต่หากวิธีการจัดหาเป็นไปโดยขาดการแข่งขันและขาดความโปร่งใส อีกทั้งยังไม่มีความต้องการรองรับ แทนที่โครงการเมกะโซล่าฟาร์มจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด อาจจะกลายเป็นตัวถ่วงสร้างภาระซ้ำเติมผู้บริโภคและภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังย่ำแย่จากวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องจากโควิด

ระบบการวางแผนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคแม้จะมีปัญหา แต่ในภาพรวมแล้ว ระบบ “ใบสั่งทางการเมือง” แบบ Top-down ที่มาแทนที่น่าจะแย่กว่า

ดังนั้น สิ่งที่ภาคพลังงาน (และภาคอื่นๆ) ต้องการและก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่การแทรกแซงของทหาร แต่เป็นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล

ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน เป็นนักวิจัยอิสระและอดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน