ThaiPublica > คอลัมน์ > จะแก้ไขปัญหาวัยรุ่นยกพวกตีกันอย่างไร

จะแก้ไขปัญหาวัยรุ่นยกพวกตีกันอย่างไร

23 มีนาคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

วัยรุ่นยกพวกตีกัน เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยตลอดมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี โดยเฉพาะนักเรียนช่างกลและอาชีวะ บางโรงเรียนซึ่งจองเวรกันมาหลายชั่วอายุคน วัยรุ่นหลายคนต้องเสียชีวิตไป หลายคนต้องเสียอนาคตเพราะถูกตำรวจจับดำเนินคดี ความรุนแรงเหล่านี้เมื่อไหร่จะหมดไปจากประเทศของเราเสียที

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 นำเสนอข่าววัยรุ่นยกพวกตีกันที่ถนนใต้เขื่อนลำนางรอง โนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ด้านสารวัตรนักเรียนเล่าว่า ขณะที่ตนเองดูแลความเรียบร้อย ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอยู่ที่บริเวณเขื่อน ลำนางรอง หลังจากเมื่อวันเสาร์เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันที่เขื่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าระงับเหตุและผลักดันกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุออกจากพื้นที่เขื่อน ตั้งแต่วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ก็มีกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียนอายุประมาณ 13-15 ปี ทราบภายหลังว่ามาจากอำเภอละหานทรายและอำเภอโนนดินแดง มาเที่ยวและนั่งดื่มกินสังสรรค์กันที่ริมเขื่อนอีก กระทั่งตกเย็น วัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวรวม กว่า 50 คน ก็ได้ก่อเหตุยกพวกตีกันที่กลางถนนด้านล่างเขื่อนลำนางรอง ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตน ในฐานะสารวัตรนักเรียน ก็พยายามตะโกนห้ามปราม แต่เนื่องจากกลุ่มวัยรุ่นมีจำนวนหลายคนและมีอาวุธ ด้วย จึงไม่กล้าเข้าไปใกล้ เพราะกลัวจะโดนลูกหลง จึงได้แจ้งเหตุไปยังตำรวจในพื้นที่ ไม่นานกลุ่มวัยรุ่นดัง กล่าวก็สลายตัว และทราบว่ามีวัยรุ่นในอำเภอโนนดินแดงได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีก 1 คน

ปัญหานี้เมื่อไหร่จะหมดไปจากสังคมไทยเสียที

ปัญหาความรุนแรงในสังคม “วัยรุ่นยกพวกตีกัน” นั้นมิได้เกิดขึ้นในเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เคยเกิดเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม ประเทศฝรั่งเศสมาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อนนี้ และทางรัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก มีการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาวัยรุ่น นักสังคมสงเคราะห์ นักการศึกษา นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และข้อสรุปของรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นน่าสนใจอย่างมาก

โดยสรุปคือ วัยรุ่นเหล่านี้อยู่ในวัยคึกคะนอง การยกพวกตีกันเป็นการระบายความรู้สึกกดดันของพวกเขา ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงหาทางแก้ไขโดยการส่งเสริม “มวยไทย” อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเขาเชื่อกันว่า มวยไทยนั้นเป็นการออกกำลังกายที่ใช้ทุกส่วนของร่างกาย ทำให้วัยรุ่นทั้งหลายได้ระบายออกทางอารมณ์ และอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา นโยบายนี้จึงทำให้เกิดความนิยมมวยในอย่างมากในฝรั่งเศส มีค่ายมวยหลายแห่งเปิดรอบกรุงปารีสและในเมืองใหญ่ๆ เป็นยุคทองที่นักชกชาวไทยได้เผยแพร่ศิลปมวยไทยให้เป็นที่รู้จักกันในทวีปยุโรป และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้นคือ ความรุนแรงของวัยรุ่นลดลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ประเทศไทยของเรามีของดีในวัฒนธรรมมากมาย ไม่ใช่แต่เพียงอาหารไทย นวดแผนไทย แพทย์แผนไทยเท่านั้น แต่ศิลปะแม่ไม้มวยไทย การฟันดาบกระบี่กระบอง ของไทยในปัจจุบัน หาครูที่รู้จริงสอนได้น้อยเต็มที ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งศิลปะการป้องกันตัวของชาติเหล่านี้มิได้ดีกว่าศิลปะการป้องกันตัวของไทยเลย …

ปัญหาที่น่าถามคือ ทั้งญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้มีอะไรดี ยูโดของญี่ปุ่นและเทควันโดเกาหลีใต้นั้นต่างได้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกของโลกไปแล้ว แต่ทำไม ศิลปะมวยไทยของเราจึงไม่ได้รับการยอมรับเช่นนั้นบ้าง

กระนั้นเอง การบรรจุหลักสูตร “มวยไทย” ในโรงเรียน วิทยาลัย หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นโครงการระดับชาติที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครูแนะแนว สมาคมและมูลนิธิ แม้กระทั่งหน่วยงานทางราชการ ใครจะเป็นคนจัดทำหลักสูตร และแต่ละหลักสูตรจะต้องมีตัวชี้วัดอะไรบ้าง ประเทศไทยจะใช้กติกาแบบประเทศฝรั่งเศสหรือไม่ เช่น การใช้ขาเตะและขึ้นเข่าได้อย่างเดียว แต่ห้ามใช้การตีศอกอย่างเด็ดขาด หรือจะให้นักเรียนหญิงเรียนได้เท่ากับนักเรียนชาย แม้แต่จะอนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นชกบนสังเวียนได้หรือไม่ และเป็นเพราะเหตุผลอะไร

ยิ่งไปกว่านี้ ประเทศไทยควรสนับสนุนให้กีฬา “มวยไทย” ได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิก เช่น ยูโดของญี่ปุ่นและเทควันโดของเกาหลี ถ้าจะเป็นไปได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงใด และอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ มีแผนการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ในทำนองเดียวกันกีฬาฟันดาบไทย วิชากระบี่กระบองและศิลปะป้องกันตัวของไทยแบบต่างๆ นั้นรัฐบาลควรสนับสนุนไปด้วยพร้อมๆ กัน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการประกวดการไหว้ครูโดยไม่ต้องขึ้นชกบนเวที เหมือนที่เทควันโดทำโดยจัดการประกวดท่าทางต่างๆ โดยไม่มีการต่อสู้กันจริงจัง และหลักสูตรควรจะดำเนินการโดยมีมาตรฐานเดียวกัน และปลอดภัยต่อทั้งผู้เรียนและผู้สอน มีหมวกใส่และเสื้อเกราะใส่ เพื่อลดการกระแทกดังเช่นกีฬามวยสากลและเทควันโด …การศึกษาและดูงานการพัฒนาทั้งยูโดและเทควันโด มาประยุกต์ในการพัฒนาและส่งเสริมมวยไทยให้ก้าวเข้าสู่การเป็นที่ยอมรับของวงการกีฬาทั่วโลก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะที่ยูโดมีการแบ่งสาย เช่น สายขาว สายเขียว สายฟ้า สายน้ำตาล และสายดำ มวยไทยควรจะใช้มาตรฐานการแบ่งกลุ่มตามทักษะเหล่านี้บ้างหรือไม่ เพราะการแบ่งระดับนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมคุณภาพของนักกีฬาได้เป็นอย่างดี และเมื่อมีการปรับสายก็ต้องมีการสอบ ทั้งหมดนั้นเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่นักกีฬาไทย และเช่นเดียวกัน ครูมวยไทยก็จำเป็นต้องแบ่งระดับอีกเช่นกัน มิใช่สอนกันตามยถากรรม ศิษย์ของใครก็ศิษย์ของมัน ไม่มีการประสานงานเลย มาตรฐานของลำดับชั้นของทั้งอาจารย์และศิษย์นี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่สังคม

เมื่อได้หลักสูตรและการกำหนดมาตรฐานของผู้เรียนผู้สอนแล้ว จึงเป็นเรื่องของการทำโครงการนำร่องในโรงเรียน วิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อประเมินผลและดูกระแสตอบรับจากประชาชน เพราะเหตุว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่และภูมิภาคของประเทศนั้นแตกต่างกัน

ในยุคนี้ปัญหาที่สำคัญของสังคมทั่วโลกในหมู่เยาวชนคือการติดเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทางโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ใจร้อน และเมื่อผิดหวังในสิ่งใดก็เกิดอาการซึมเศร้า เพราะในขณะที่เล่นเกมอยู่นั้น เกมทั้งหลายเข้าไปสร้างสร้างค่านิยมในจิตใต้สำนึกให้เกิดนิสัยใจร้อน มีอะไรจะต้องเอาให้ได้ แต่เมื่อผิดหวังเพราะไม่ได้ดังใจก็เกิดอาการซึมเศร้าจนทำให้ฆ่าตัวตายกันมามากต่อมาแล้ว ปรากฏการณ์นี้มิใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่เกิดทั่วโลก

การดึงเยาวชนรุ่นใหม่ให้ออกจากการติดเกมนั้นย่อมเป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นปัญหาที่ท้าทายนักการศึกษาและนักจิตวิทยาทั่วโลก คำตอบหนึ่งคือการส่งเสริมศิลปะป้องกันตัวของไทย ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย ฟันดาบไทย กระบี่กระบองไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จเท่ากับเป็นการ “ยิงนกนัดเดียวได้สองตัว” ซึ่งนั่นอาจรวมถึงนาฏศิลป์ไทยและศิลปะไทยสาขาอื่นๆ เช่น ดนตรีไทย ฟ้อนรำไทย ฯลฯ

หากรัฐบาลประสงค์จะให้เยาวชนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาด้วยความรักชาติ มีความจำเป็นที่ต้องทราบความจริงตามธรรมชาติของคนไทยว่า ความรักชาตินั้นมีหลายมิติในตนเอง ไม่ใช่เกิดจาก “คำสั่ง” ของพ่อแม่ ครูอาจารย์ในโรงเรียน หรือคำสั่งของรัฐบาล หากเกิดจากการตระหนักในคุณค่าของ “ความเป็นไทย” ซึ่งมีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมเป็นหลัก

ในเรื่องศิลปะการป้องกันตัวของไทย ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย กระบี่กระบอง การฟันดาบไทย สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ชาวต่างชาติได้เห็นคุณค่ามานานแล้ว แต่คนไทยที่มีการศึกษาสูงให้ความสำคัญน้อยเสียเหลือเกิน