ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เอไอเอส จับมือ 13 องค์กร ชูต้นแบบเครือข่าย “กรีนพหลโยธิน” ขจัด E-Waste อย่างถูกวิธี

เอไอเอส จับมือ 13 องค์กร ชูต้นแบบเครือข่าย “กรีนพหลโยธิน” ขจัด E-Waste อย่างถูกวิธี

19 กรกฎาคม 2020


เอไอเอสจับมือ 13 พันธมิตรและเครือข่าย “กรีนพหลโยธิน” เปิดตัวโครงการ “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน”

เอไอเอสจับมือพันธมิตรและเครือข่าย “กรีนพหลโยธิน” เปิดตัวโครงการ “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน” ชวนแข่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์-สร้างแรงจูงใจ เปลี่ยนขยะเป็นคะแนนแลกของ

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าส่วนงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเอไอเอสได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะทุกประเภท รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่เอไอเอสมุ่งมั่นค้นหาแนวทางในการคัดแยกและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง จึงได้พัฒนาโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ในปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไปให้สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ, หูฟัง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กล้องถ่ายรูป และเครื่องเล่น MP3 มาทิ้งได้ที่ถังรับ E-Waste ที่ AIS Shop ทั่วประเทศ, AIS Telewiz, ที่ทำการไปรษณีย์ไทย, ศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล, มหาวิทยาลัย, อาคารชุดและคอนโดต่างๆ รวมกว่า 1,800 จุด

  • เอไอเอส สานต่อภารกิจ “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย” เปิดแคมเปญ “คนไทยไร้ E-Waste”
  • ภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากเอไอเอสเปิดตัวโครงการดังกล่าว เอไอเอสสามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนทั้งสิ้น 51,786 ชิ้น เทียบเท่าการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 517,860 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์

    นางสาวนัฐิยา กล่าวอีกว่าปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วทั้งโลก ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกปี สวนทางกับปริมาณขยะที่ได้รับการจำกัดอย่างถูกวิธี ทำให้ขยะที่ไม่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีอาจสร้างารพิษกลับมาทำลายสุขภาพและก่อให้เกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

    นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าส่วนงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส

    ล่าสุดเอไอเอส เปิดตัวโครงการ “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน” โดยร่วมมือกับ “บริษัท คิดคิด จำกัด” สำหรับการพัฒนารูปแบบโครงการ คิวอาร์โค้ด และแอปพลิเคชั่น ECOLIFE และ “บริษัท เทส จำกัด” สำหรับการรับ-ส่งขยะ E-Waste ไปกำจัดอย่างถูกวิธี

    นอกจากนี้ยังจัดตั้งเครือข่าย “กรีนพหลโยธิน” ผนึก 13 องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนบนถนนเส้นพหลโยธิน ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย สำนักงานเขตพญาไท, สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ, โรงพยาบาลพญาไท 2, บุญเติม, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, ธ.ออมสิน สำนักงานใหญ่, ธ.กสิกรไทย สำนักพหลโยธิน, ธ.กรุงไทย สาขาซอยอารีย์, ธ.เกียรตินาคิน สาขาพหลโยธิน, ธ.ยูโอบี สาขาถนนพหลโยธิน 8, ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารี, IBM และ Exim Bank

    นางสาวนัฐิยากล่าวถึงโครงการ “E-Waste The Battle ถ้ารักษ์จริง…มาทิ้งแข่งกัน” ว่าจะเป็นการแข่งขันการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี โดยนำองค์กรต่างๆ บนถนนเส้นพหลโยธินมาแบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ทีม A และ ทีม B ทั้งสองทีมจะต้องเชิญชวน พนักงาน ลูกค้า หรือผู้เข้ามาติดต่อให้เข้ามาร่วมทิ้งขยะ E-Waste ที่จุดรับทิ้งของแต่ละองค์กร และสแกนคิวอาร์โค้ด ณ จุดรับทิ้งเพื่อบันทึกข้อมูลการทิ้งขยะ E-Waste โดยการแข่งขันจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ทีมที่ชนะและทีมที่แพ้จะได้รับเงินบริจาค เพื่อนำไปให้กับองค์กรหรือมูลนิธิที่เลือกไว้ ทั้งนี้เอไอเอส จะร่วมสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

    “การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์กรเครือข่ายกรีนพหลโยธินที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการทิ้งและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างไม่ถูกวิธี โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรเครือข่ายกรีนพหลโยธินจะเป็นต้นแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน (From Green Network to Green Society) ต่อไป” นางสาวนัฐิยากล่าว

    นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส(ขวาสุด) ผนึก ECOLIFE แอปฯรักษ์โลก ศิริพันธ์ วัฒนจินดา / พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด

    นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด กล่าวว่า ขยะ E-Waste เป็นประเด็นสังคมไทยไม่ค่อยพูดถึง ประกอบกับความสนใจของ “คิดคิด” ที่ต้องการทำงานเกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี

    นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า “วิธีการคือพอเอา E-Waste มาใส่ในกล่อง ก็ขอให้สแกนคิวอาร์โค้ด หลังจากนั้นจะได้พ้อยท์เพื่อไปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และมีการเก็บดาต้าของแต่ละที่ว่าในอาคารทิ้งกันไปจำนวนเท่าไร และมีการแข่งขันกัน ผมอยากให้เป็นเกมทำให้มันสนุกมากขึ้น ไม่ได้ซีเรียสถึงผลว่าใครจะแพ้หรือชนะ แต่ถ้าเรามีแรงจูงใจให้พนักงานเขาจะรู้สึกว่ามีส่วนร่วม”

    นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า ในอนาคตอาจมีการพัฒนาโครงการรูปแบบดังกล่าวไปใช้กับถนนเส้นอื่นๆ และนำไปใช้ในสถานศึกษา โดยใช้การแข่งขันเป็นแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมให้สังคมบริหารจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี

    “สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคน ถ้าวันนี้เราไม่ได้ทำอะไรเลย ลูกหลานของเราจะเติบโตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้สมบูรณ์ ผมว่ามันน่าเสียดาย สิ่งที่พวกเราสามารถทำเพื่อให้สิ่งแวดล้อมมันดีขึ้นได้” นายพิพัฒน์กล่าว

    ส่วนขยะ E-Waste ที่เก็บรวบรวมได้จากโครงการจะถูกส่งไปกำจัดด้วยกระบวนการ Zero Landfill โดยบริษัท เทส จำกัด

    นางกรวิกา ชัยประทีป ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เทส จำกัด กล่าวว่าหลังจากเอไอเอสส่งมอบขยะ E-Waste มาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการคัดแยก โดยขยะแต่ละประเภทจะต้องแยกส่วนประกอบแต่ละชิ้น จากนั้นส่งไปที่โรงงานในสิงคโปร์ แล้วจะทำการลดขนาดให้น้อยกว่า 1 มิลลิเมตรแล้วเข้าสู่กระบวนการทางเคมี แล้วนำองค์ประกอบทางเคมีขายคืนให้กลับผู้ผลิตเพื่อนำไปผลิตต่อไป

    “เทสขออาสาเป็นผู้จัดการ E-Waste เพียงแค่ทุกท่านทิ้งขยะตามกล่องของเอไอเอส หลังจากนั้นเทสจะอาสานำ E-Waste เพื่อสกัดโลหะมีค่าออกมา ถึงเวลาแล้วที่เราจะช่วยกันเป็นหนึ่งในการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด”

    ทั้งนี้ เอไอเอสและพันธมิตรตั้งเป้าให้มีผู้ทิ้งขยะ E-Waste จำนวน 100,000 ชิ้นภายในเวลา 6 เดือน บนถนนเส้นกรีนพหลโยธิน และตั้งเป้าให้มีขยะ E-Waste ที่ 500,000 ชิ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปี สำหรับจุดรับทิ้งขยะทั่วประเทศกว่า 1,800 จุด ขณะที่ภาพรวมขยะ E-Waste ทั้งประเทศในปี 2562 อยู่ที่ราว 10 ล้านชิ้น