พรพรหม วิกิตเศรษฐ์

ปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ iPhone ถือว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีความนิยมมากที่สุดทั่วโลกและพอมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ทุกๆครั้งก็จะเป็นที่จับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะรอบล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่เปิดตัว iPhone 12
นอกเหนือจากเทคโนโลยีใหม่ๆและการออกแบบที่สวยหรู ประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมากคือการที่อุปกรณ์เสริมของรุ่นนี้มีแค่สายชาร์จ ไม่มีหัวปลั๊กและหูฟังเหมือนรุ่นก่อนๆ บริษัท Apple ให้เหตุผลว่าเป็นความตั้งใจในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะจะทำให้ใช้แพคเกจจิ้งน้อยลงซึ่งจะช่วยต่อการลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) จากการขนส่ง
ประเด็นนี้เลยกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก มีคนบางกลุ่มชื่นชมความพยายามของ Apple ในการทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติกำหนด (UN Sustainable Development Goal) ในเป้าหมายที่ 12 “ความรับผิดชอบในการผลิตและบริโภค” (Responsible and Production)
แต่แน่นอนว่าก็มีข้อวิจารณ์มากมาย เช่นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐเซาเปาโล ในประเทศบราซิล ได้ออกคำสั่งให้ Apple ต้องให้หัวชาร์จมาในกล่อง iPhone เพราะเหตุผลทางสิ่งแวดล้อมไม่มากพอ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติบริษัทอาจต้องเจอค่าปรับสูงถึง 75,000 ยูโร หรือประมาณ 2.75 ล้านบาท

นอกเหนือจากนั้น วันที่ 26 พ.ย. 2563 รายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมของรัฐสภาสหราชอาณาจักร (Environmental Audit Committees – EAC) ออกมาว่าบริษัท Apple มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลก
รายงานนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า Apple นั้นวางแผนออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่ควร อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคแยกชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เพื่อการซ่อมแซมด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนการซ่อมผลิตภัณฑ์ที่สูง และในเมื่อมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูง ผู้บริโภคเลยมักจะตัดสินใจเปลี่ยนผลิตภัณฑ์แทนเลย
ในรายงานแจ้งว่าปัจจุบันสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากนอร์เวย์ ในปี 2017 จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีจำนวนมากถึง 44.7 ล้านตัน โดย 9 ใน 10 ถูกกำจัดอย่างไม่ได้มาตรฐาน เช่น การฝังกลบ, เผาทิ้ง, ค้าขายโดยผิดกฎหมาย นอกเหนือจากนั้นทาง Basel Action Network เผยข้อมูลว่าทุกๆปีทางสหภาพยุโรปส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 1.3 ล้านตันซึ่งประเทศที่มีส่วนในเรื่องนี้มากที่สุดคือสหราชอาณาจักร
ปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์หนีไม่พ้นประเทศในทวีปเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียน เมื่อก่อนไทยเราก็เป็นอันดับต้นๆแต่นานมานี้เมื่อเดือนตุลาคม รัฐบาลประกาศแบนการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 148 ชนิด โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุกถึง 10 ปี ถือว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง
วันนี้โลกให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เหตุผลสำคัญเพราะว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นประกอบไปด้วยวัสดุต่างๆมากถึง 60 ชนิด ซึ่งการเกิดปฏิกิริยาเคมีจากวัสดุข้างในมีความอันตรายสูง หากมีการกำจัดอย่างผิดวิธีจะมีผลกระทบต่อผู้คนได้จากการเกิดสารพิษเจือปนในเนื้อดิน
แต่ในความอันตรายนั้นก็มีโอกาสอยู่เช่นกัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกนั้นมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 62.5 ล้านดอลลาร์ มีทอง,เงิน,ทองแดง,แพลตตินัมและธาตุหายาก (REEs) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งวัสดุเหล่านี้มีความต้องการสูงแถมยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่ปราศจากคาร์บอน หรือ carbon-free economy ของอนาคต การทิ้งวัสดุเหล่านี้เปล่าๆโดยไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่(Reuse) และแปรรูปมาใช้ใหม่ (Recycle) จะทำให้เสียโอกาสไปอย่างมหาศาล
Philip Dunne สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธาน EAC กล่าวว่า “การที่ไม่มีโอกาสนำวัสดุล้ำค่าเหล่านั้นกลับมาได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่เนื่องจากวัสดุเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิเช่น พลังงานลม, แผงโซล่าเซลล์ และ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า”

ทาง EAC มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาที่สำคัญหลายประเด็น ซึ่งแม้ข้อเสนอนี้จะเจาะจงไปที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรแต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลไทยที่จะศึกษาข้อเสนอเหล่านี้และนำมาใช้แก้ปัญหาภายในประเทศ
อย่างแรกคือการออกกฎหมาย “สิทธิในการซ่อมแซม” หรือ “Right to Repair” ทางองค์กร iFixit (เว็บไซต์สอนการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์) กล่าวว่าผู้บริโภคต้องมีสิทธิในการซ่อมสิ่งของของตัวเองได้อย่างอิสระแทนที่จะถูกจำกัดโดยผู้ผลิตสินค้า มีสิทธิในการเข้าถึงคู่มือการใช้และเครื่องมือตรวจเช็คอุปกรณ์ที่ทางบริษัทซ่อมบำรุงใช้ และมีสิทธิในการปลดล็อคและเจลเบรคซอฟแวร์ของอุปกรณ์
สหภาพยุโรปได้มีการเริ่มมาตรฐานการซ่อมขั้นต่ำ หรือ “Minimum Repairability Requirements” สำหรับสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ซื้อขายในตลาดอียูตั้งแต่โทรทัศน์ถึงเครื่องล้างจาน มาตรฐานนี้ผู้ประกอบการถูกกำหนดให้มีหน้าที่ที่จะต้องเก็บอะไหล่สำรองเป็นระยะเวลา 7 ถึง 10 ปีและสามารถจัดส่งถึงผู้บริโภคได้ภายใน 15 วันทำการ อีกทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลการซ่อมแซมและรักษาแก่ช่างฝีมือทั่วไป
อย่างที่สองคือการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของค่าซ่อมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าซ่อมและดึงดูดให้คนเลือกที่จะซ่อมอุปกรณ์แทนการซื้อชิ้นใหม่ นอกเหนือจากนั้นยังมีกลไกภาษีอื่นๆนอกเหนือจาก เช่น ในประเทศสวีเดน 50% ของค่าแรงการซ่อมอุปกรณ์สามารถลดหย่อนภาษีได้ หรือในประเทศออสเตรียค่าแรงเหล่านี้สามารถเบิกได้
อย่างสุดท้ายคือรัฐบาลควรบังคับให้ผู้ผลิตติดป้ายที่ให้ข้อมูลอายุการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละชนิดและกำหนด “Repairability Score” ดัชนีคะแนนความง่ายในการซ่อมอุปกรณ์ โดยดัชนีนี้จะถูกคำนวณจากการออกแบบอุปกรณ์ ราคาของอะไหล่อุปกรณ์ ความง่ายในการซ่อมอุปกรณ์ด้วยตนเอง และความสะดวกในการแปรรูปมาใช้ใหม่ (Recycle) และกำจัดขยะ (Waste Dismantlable)

ถึงแม้วันนี้ประเทศไทยจะมีการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแล้วแต่อย่าลืมว่าจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศยังมีอีกมหาศาล ปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวันและปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การร่วมมือกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยฝั่งผู้ผลิตต้องปรับธุรกิจของตนเองให้มีความรับผิดชอบในการผลิตมากขึ้น ฝั่งรัฐบาลต้องมีกฎเหมายและการบังคับใช้ที่ดี และฝั่งผู้บริโภคก็ต้องเริ่มตื่นตัวกับประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ถูกต้อง