ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > MRC ขอจีน ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง แชร์แผนปล่อยน้ำ ชี้ลดลงระดับน่ากังวล

MRC ขอจีน ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง แชร์แผนปล่อยน้ำ ชี้ลดลงระดับน่ากังวล

13 กุมภาพันธ์ 2021


ที่มาภาพ: https://www.mrcmekong.org/news-and-events/news/pr002-12022021/

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงระหว่างสถานีโรงไฟฟ้าเขื่อนจิ่งหง ในมณฑลยูนนานของจีน กับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekhong Delta) ในเวียดนาม ลดลงมากจนมาอยู่ในระดับที่น่ากังวล

ระดับน้ำลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ต้นปีเนื่องจากฝนตกน้อย การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในตอนบน การผลิตไฟฟ้าในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง และการจำกัดกระแสน้ำที่ออกจากเขื่อนจิ่งหง

“ระดับน้ำเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างฉับพลันในทางปลายน้ำของจิ่งหงและต่อเนื่องไปยังเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับหน่วยงานและชุมชนในการเตรียมรับมือและการตอบสนองกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้” ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าว

ข้อมูลจากการบันทึกปริมาณน้ำฝนรายเดือนของ MRC แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องโดยลดลง 25% ส่วนข้อมูลระดับน้ำที่ตรวจวัดได้ของคณะกรรมาธิการชี้ให้เห็นว่า กระแสน้ำที่สถานีจิ่งหงเมื่อวานนี้ (11 กุมภาพันธ์) มีปริมาณ 775 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของระดับปกติที่ประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากการบันทึกล่าสุดในเดือนธันวาคม

นับตั้งแต่การลดลงครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม ระดับน้ำที่ไหลออกจากจิ่งหงระหว่างวันที่ 1-7 มกราคมคงที่ในปริมาณ 785 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 15 มกราคม หรือเพิ่มขึ้น 1.07 เมตร จากนั้นน้ำที่ไหลออกลดลงเหลือ 740 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วง 15-23 มกราคมก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 990 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 29 มกราคม จากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ มาที่ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์

ในช่วงต้นเดือนมกราคม กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนได้แจ้งกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 ประเทศว่า จะจำกัดปริมาณน้ำที่จะไหลออกจากจิ่งหงไว้ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 5-24 มกราคม เนื่องจากต้องมีการซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กระทรวงไม่ได้ระบุระดับน้ำในแม่น้ำก่อนจำกัดการไหลออก หรือปริมาณที่จะกลับเข้ามาในวันที่ 25 มกราคม

ในปีที่แล้ว จีนตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูลระดับน้ำและปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปีกับ MRC ทั้งนี้ตามข้อตกลงกับ MRC จีนให้คำมั่นที่จะแจ้ง MRC และประเทศสมาชิกถึงระดับน้ำหรือการระบายน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจนำไปสู่น้ำท่วมฉับพลัน

“รูปแบบกระแสน้ำที่ต่อเนื่องแบบนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งทางแม่น้ำ การอพยพของปลา การเกษตร และการเก็บวัชพืชในแม่น้ำ” ดร.วินัยกล่าว “เพื่อช่วยให้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราขอเรียกร้องให้จีนและประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างร่วมกันแชร์แผนการปล่อยน้ำกับเรา”

ที่เชียงแสน สถานีตรวจวัดแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างจากจิ่งหงประมาณ 300 กิโลเมตร ตรวจวัดได้ว่าระดับน้ำลดลงอย่างมากประมาณ 1 เมตรในช่วงวันที่ 2-4 มกราคม ตั้งแต่นั้นมาระดับน้ำที่เชียงแสนมีความผันผวนระหว่าง -0.24 เมตร ถึง 0.29 เมตร นอกจากนี้ จากเชียงคานของไทยถึงเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ระดับแม่น้ำมีความผันผวนระหว่าง -0.32 เมตร ถึง 0.50 เมตร

ในแม่น้ำโขงสายหลักตั้งแต่จังหวัดนครพนม มุกดาหาร และโขงเจียมของประเทศไทย ถึงท่าแขก สะหวันนะเขต และปากเซใน สปป.ลาว ระดับน้ำลดลงจาก 0.04 เมตรเป็น 0.08 เมตร

เลยไปยังตอนปลายของน้ำในกัมพูชา ระดับน้ำริมโขงในสตึงเตรงและกระแจะผันผวนระหว่าง -0.02 เมตร ถึง 0.05 เมตร อย่างไรก็ตาม ระดับยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

ระดับแม่น้ำจากกัมปง จาม นา เฮือง และบา สักในพนมเปญและแปร็ค กะดัม ลดลงอย่างต่อเนื่องและยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาเมืองเหล่านี้มีปริมาณน้ำลดลงเฉลี่ยทุกวัน 0.20 เมตร

พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม จาก เตินเชิว บนแม่น้ำโขงและ เจิวด๊ก บนแม่น้ำบาสัก มักได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำในทะเลทุกวัน ระดับน้ำที่ทั้งสองสถานีมีความผันผวนต่ำกว่าและสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

แม่น้ำโขงกลายเป็นสีเขียวอมฟ้า

การที่กระแสน้ำที่ไหลน้อย ตะกอนในแม่น้ำลดลงอย่างช้าๆ และการมีสาหร่ายที่ก้นแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมฟ้า ซึ่งปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในปลายปี 2019

การวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ในเบื้องต้นของ MRC โดยมองไปที่สาเหตุและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีหลายปัจจัยที่มีผลเช่นเดียวกับในปี 2019

ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า กระแสน้ำที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงนี้ทำให้สีของน้ำเปลี่ยนไป รวมทั้งไม่พบตะกอนละเอียดที่โดยปกติแล้วจะพบในน้ำที่ไหลเร็วและน้ำลึกซึ่งเป็นตัวที่ทำให้แม่น้ำเป็นสีน้ำตาล จึงทำให้น้ำที่ใสขึ้น เมื่อแสงแดดกระทบแม่น้ำ น้ำที่ใสขึ้นนี้จะดูดซับสิ่งที่เรียกว่า “สีของคลื่นแสงที่มีความยาว” ตรงปลายสีแดงของสเปกตรัมแสง ทำให้แม่น้ำมีสีเขียวอมฟ้า

น้ำที่ใสขึ้นช่วยให้พืชหรือสาหร่ายขนาดเล็กสามารถเติบโตบนพื้นทราย และหินก้นแม่น้ำ ทำให้ขอบของแม่น้ำเป็นสีเขียว โดยปกติแล้วสาหร่ายจะถูกชะล้างไปตามกระแสน้ำของแม่น้ำ แต่เนื่องจากระดับน้ำต่ำจึงสะสมอยู่ในบางส่วนของแม่น้ำ

“เหมือนกับสถานการณ์ในปี 2019 ปรากฏการณ์น้ำสีเขียวอมฟ้าในวันนี้มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของแม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำต่ำ” ดร.โซ นาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักเลขาธิการ MRC กล่าว

ดร.นามอ้างถึงการวิเคราะห์ โดยกล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำที่ใสขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผลผลิตในแม่น้ำโดยอาหารสำหรับแมลงในน้ำ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลาขนาดเล็ก น้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของความหลากหลายทางชีวภาพในน้ำ การจับปลาได้น้อยลง และคุกคามการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น

ดร.นามตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะสีเขียวอมฟ้าของแม่น้ำโขงอาจยังคงมีอยู่จนกว่ากระแสน้ำจะเพิ่มขึ้น พร้อมกับการเริ่มต้นฤดูน้ำหลากครั้งต่อไป ซึ่งมักจะเริ่มในปลายเดือนพฤษภาคม น้ำอาจจะกลับมาสู่สภาพปกติได้ หากมีการปล่อยน้ำปริมาณมากออกจากแหล่งกักเก็บในเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน (ล้านช้าง) และเขื่อนในลำน้ำสาขา ซึ่งจะพัดพาตะกอนมาและทำให้แม่น้ำโขงกลับคืนสู่สภาพสีน้ำตาลตามปกติ

แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขารองรับผู้คนเกือบ 70 ล้านคนในลุ่มน้ำตอนล่าง โดยหล่อเลี้ยงการดำรงชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และดูแลระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงทำให้ความต้องการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภัยคุกคามต่อชุมชนริมแม่น้ำมีทั้งประชากรที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ และโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม และภัยแล้ง