ThaiPublica > คอลัมน์ > ปฏิวัติในเมียนมา..ไทยจะไปทางไหนดี?

ปฏิวัติในเมียนมา..ไทยจะไปทางไหนดี?

11 กุมภาพันธ์ 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการ สถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

ออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาในโอกาสเปิดบ้านพักครูและบุคคลากรทางการศึกษาในย่างกุ้ง เดือนธันวาคม 2562 ที่มาภาพ : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-state-counsellor-faces-facebook-teething-troubles.html

ในฤดูร้อนปี พ.ศ. 2530 สมัยที่ผมกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดปีสุดท้ายและเป็นพระภิกษุไทยรูปเดียวที่เรียนอยู่ที่นั้น มีสตรีพม่าคนหนึ่งมาเคาะประตูที่ห้องพัก เธอรูปร่างเล็ก และแนะนำตัวเองว่า ชื่อ “ซู” เธอขี่จักรยานพาลูกชายของเธอชื่อ “คิม” อายุ 3 ขวบซ้อนท้ายจักรยาน มาทำบุญกับผมที่กุฏิใน Oriel College เธอบอกว่าไม่ได้พบพระมานานแล้ว และเอาอาหารพม่าที่ตนเองทำมาใส่บาตร และได้สนทนาพูดคุยกันกับผมอยู่พักใหญ่อยู่พักใหญ่

ผมพบว่า “ซู” เป็นคนที่รักชาติมาก ดวงตาทั้งสองข้างมีประกายที่ไม่เหมือนใคร เหมือนกับสัตว์ที่เคยถูกทำร้าย จนแค้นสุดแค้น ได้รับความเจ็บปวดอย่างมากที่สุดมาแล้ว ต่อมาเธอได้นิมนต์ผมไปที่บ้านพักของตน เป็นทาว์นเฮ้าส์เล็ก ๆ ชานเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้พบกับลูกชายคนโตชื่อ “อเล็กซ์” และสามีของเธอซึ่งเป็นอาจารย์สอนผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ภาษาและวัฒนธรรมทิเบตชื่อ Michael Aris ครอบครัวของเขาเพิ่งย้ายกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นหลังจากทำงานที่นั่นหลายปี ต่อมาจึงทราบว่าสตรีพม่าคนนั้นคือ อองซานซูจี ลูกสาวของนายพลอ่องซาน วีรบุรุษผู้ปลดแอกพม่าจากการเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายพลอองซานถูกสายลับของอังกฤษฆ่าตายในสำนักงานของตนเมื่ออายุได้ 32 ปี ในขณะนั้นลูกสาวของเขาอายุได้เพียง 2 ขวบเท่านั้น

โชคชะตาพลิกผันให้ “ซู” มาเติบโตที่ประเทศอังกฤษ และได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และพบรักกับติวเตอร์ของเธอเองซึ่งเป็นชาวอังกฤษและต่อมาเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งนี้

ซูเป็นคนที่มีความคิดที่ฝังหัว เชื่ออะไรแล้วยากที่จะมีใครมาเปลี่ยนใจเธอได้ เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งสุนัขที่เธอเลี้ยงไว้นั้นหายไป เธอได้ขี่จักรยานตระเวนไปทั่วเมือง เอาประกาศที่มีรูปถ่ายของสุนัขของเธอพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ให้ผู้ที่พบเห็นติดต่อกลับมา แต่หลายสัปดาห์ผ่านไป ไม่มีวี่แววเรื่องสุนัขของเธออีกเลย ซูจึงมีความเชื่อฝังใจว่า สุนัขของเธอนั้นถูกเพื่อนบ้านลักไปกินเป็นอาหารเสียแล้ว แม้สามีจะอธิบายว่าคนอังกฤษเขาไม่กินเนื้อสุนัข อธิบายเท่าใดเธอก็ไม่เชื่อ เธอยังคงฝังใจอยู่ว่าสุนัขของเธอถูกเพื่อนบ้านจับไปกินเป็นอาหารเรียบร้อยไปแล้ว

ซูเป็นที่รักชาติอย่างที่สุด สามีของเธอเล่าให้ฟังว่า วันที่ทั้งคู่แต่งงานกันนั้น ซูได้ทำกติกากับสามีของเธอว่า “ประเทศชาติต้องมาก่อนครอบครัวของฉันเสมอ” และสักวันหนึ่งเธอจะกลับไปช่วยเหลือประเทศของตนและทิ้งครอบครัวไว้อย่างแน่นอน

วันนั้นก็มาถึงจริง ๆ เมื่อแม่ของซูป่วยหนักและอยากเห็นหลานชายคนเล็ก ซูจึงกลับไปเยี่ยมแม่พร้อมกับเด็กชายคิม ในครั้งนั้นเองนักการเมืองพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย จึงเข้ามาพบและขอร้องให้เธอทำหน้าที่เป็นผู้นำพรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าเล่นการเมืองของ ออง ซาน ซูจี

ซูเป็นคนที่เกลียดชังกองทัพพม่าอย่างมาก และมีความเชื่อว่ากองทัพพม่าฉ้อราษฎร์บังหลวงและเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา แต่เธอเองก็ไม่อยากเอาอย่างประเทศไทย ในความเห็นของเธอ ซูวิจารณ์ประเทศไทยไว้ว่า “ประเทศไทยเหมือนต้นไผ่ รอดการเป็นอาณานิคมของตะวันตกได้ก็เพราะลู่ตามลม ส่วนเราพม่าคือต้นสัก” และเป็นที่แน่ชัดว่าซูเป็นนักการเมืองที่ยึดอุดมการณ์และความรักชาติเป็นสรณะอันสูงสุด ใครจะตำหนิติเตียนประเทศอันเป็นที่รักของเธอมิได้ และขณะเดียวกันเธอต้องการปลดปล่อยประเทศจากอำนาจของทหาร อย่างชนิดที่เรียกว่า “ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ”

เมื่อซูนำทัพลงเลือกตั้งครั้งแรกก็ชนะพรรคการเมืองของทหารอย่างถล่มทะลาย ขณะนั้นกองทัพก็นึกว่า เธอจะโอนอ่อนผ่อนปรน ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าแบบรัฐบาลในประเทศไทย จะให้ทหารรั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะรัฐมนตรีบ้าง แต่ตรงกันข้ามเธอปลดทหารและคนที่รับใช้ทหารออกจากคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ทหารจึงถือโอกาสปฏิวัติและจำกัดบริเวณเธอให้อยู่เฉพาะในบ้านเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี กว่าเธอจะได้รับอิสระภาพและลงเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อห้าปีที่แล้ว ซึ่งเธอได้รับชัยชนะอย่างถล่มทะลายอีก ในครั้งนี้เธอได้รับบทเรียนที่สำคัญ และเริ่มที่จะต้องประนีประนอมกับทหาร และทำงานการเมืองจนครอบวาระ และได้คะแนนมากเสียยิ่งกว่าเดิมในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันกองทัพของพม่าได้พัฒนาติดต่อกันมากว่าหกสิบปี ทำให้ทหารเหมือนชนอีกวรรณะหนึ่งของประเทศ มีสิทธิและอำนาจเหนือราษฎรทั่วไป มีเครือข่ายธุรกิจเป็นของตนเองและหมู่ญาติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้าขายหยก อัญมณี น้ำมัน ป่าไม้ ฯลฯ แถมยังมีรัฐธรรมนูญที่พวกของตนเขียนมาเพื่อผูกขาดอำนาจในเมียนมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และที่สำคัญที่สุดคือทหารพม่ามีความเชื่อว่าประเทศนี้เป็นของทหารเท่านั้นไม่ใช่ของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเมียนมาเปิดโอกาสให้ทหารปฏิวัติยึดอำนาจได้

อันที่จริงรัฐบาลทหารนั้นไม่อยากที่จะให้มีการเลือกตั้ง ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอะไรเลย ทั้งนี้เพราะไม่อยากให้พวกพ้องตนเองสูญเสียอำนาจไปเลยแม้แต่น้อย ที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญ และเปิดทางให้มีการเลือกตั้งนั้นก็เพราะความจำเป็น แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปต่างรุมแซงชันประเทศของตน นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทหารทั้งหลายกังวล แต่เพราะการแซงชันนั้นทำให้เมียนมาต้องพึ่งพาอาศัยจีนเป็นพิเศษ จีนจึงกลายเป็นปิยะมิตรของเมียนมา สินค้าที่ขายมาจากจีนทั้งหมด ชาวจีนผ่านเข้าออกเมียนมาโดยเสรีไม่มีพรหมแดน นักธุรกิจจีนได้เข้าซื้อที่ดินและกิจการต่าง ๆ ของเมียนมาจนนับบริษัทไม่ถ้วน ด้วยความกลัวว่าประเทศของตนจะกลายเป็นทิเบตสอง นายพลเหล่านี้จึงจำยอมให้มีการร่างรัฐธรรนูญและให้มีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วจึงเป็นฝันร้ายของนายพลทั้งหลายของกองทัพเมียนมา นอกจากที่พรรคการเมืองฝ่ายของตนจะพ่ายแพ้ยับเยินให้แก่พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กองทัพยังประสบกับปัญหาความแตกแยก อันเป็นรอยร้าวลึกระหว่างทหารผู้ใหญ่กับนายทหารชั้นผู้น้อยยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความที่เมียนมาเป็นรัฐทหารเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว ผู้นำทหารจึงจำเป็นต้องปฏิวัติ เพื่อป้องกันอำนาจที่มีอยู่เดิมของตนมิให้สูญไป และเพื่อเยียวยาสร้างความสมานฉันท์ระหว่างนายทหารชั้นผู้ใหญ่กับชั้นผู้น้อย

ผู้ประท้วงในเมืองมะริด ชูภาพมือสามนิ้วในลักษณะที่แตกต่างกัน ที่มาภาพจาก Myeik Online Tv

นายพลทั้งหลายของเมียนมาพบว่าการยึดอำนาจในครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา แม้ว่าจะได้ควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี และแกนนำพรรคของเธอได้ไม่ยากเมื่อเช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กระนั้นสังคมเมียนมาได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เมื่อยี่สิบปีที่แล้วประชาชนยังไม่ตื่นรู้ในระบอบประชาธิปไตยเท่าในปัจจุบัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจทางสังคมของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เมียนมาไม่เคยเห็นก็เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้ง

เริ่มจากการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเคาะกระป๋อง กระทะ และหม้อต่าง ๆ ทำให้เกิดเสียงดัง ด้วยความเชื่อในวัฒนธรรมพม่าที่ว่าเสียงเหล่านี้จะขจัดปัดเป่าเสนียดจันไรให้พ้นจากบ้านเรือนของตนได้ จนลุกลามไปถึงการลงเดินถนนของประชาชนนับแสนในเมืองใหญ่ ๆ ทั้งประเทศ จนทำให้นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการปฏิวัติครั้งนี้ต้องออกโทรทัศน์ปราศรัยกับคนทั้งชาติ ประกาศเคอร์ฟิวและห้ามประชาชนชุมนุมกันเกินห้าคน แต่ผลลัพธ์คือ ประชาชนจำนวนมากยังคงออกมาประท้วงการปฏิวัติครั้งนี้ และเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ในทันที

นับตั้งแต่วันที่ทหารเมียนมาได้ยึดอำนาจ ชาวเมียนมาออกมาประท้วง ซึ่งในวันแรก ๆ เป็นการเคาะกระทะ เครื่องครัวและอุปกรณ์โลหะต่าง ๆ แต่ต่อมาก็เริ่มเดินลงถนน ประท้วงรัฐบาลทหารด้วยจำนวนที่มากขึ้นทุกที และนำภาพถ่าย ออง ซาน ซูจี ธงแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคของเธอ และการชูสามนิ้ว ซึ่งแน่นอนว่านำมาจากการประท้วงในประเทศไทย

ไม่เฉพาะชาวเมียนมาที่ออกมาเดินขบวนประท้วงในครั้งนี้เท่านั้น ผู้นำประเทศมหาอำนาจได้จัดประชุมด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิวัติในเมียนมาครั้งนี้ แม้เลขาธิการสหประชาชาติเองได้นำเรื่องนี้เข้าประชุมเร่งด่วนในสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แม้ว่าจะไม่มีมติเอกฉันท์ออกมาในการประณามรัฐประหารครั้งนี้ก็ตามแต่ ได้มีถ้อยแถลงให้มีการปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี และแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย

การปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี นั้นเป็นสิ่งที่ทหารเมียนมาไม่อาจทำได้เลย เพราะถ้ากระทำตามนั้นก็เท่ากับเป็นการปล่อยเสือเข้าป่า และเป็นเสือตัวที่ดุมากเสียด้วย แต่ครั้นรัฐบาลทหารจะบริหารงานบ้านเมืองต่อไปก็ไม่อาจทำต่อไปได้ ประชาชนเกือบทั้งประเทศไม่ให้ความร่วมมือ แม้ข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ในโรงเรียนและสถาบันต่าง ๆ คณะแพทย์และพยาบาล เรื่อยไปถึงคนกวาดถนนไม่มีใครให้เกียรติกับทหาร

จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติ ในเมื่อหน่วยงานและข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ นัดหยุดงานทั้งแผ่นดิน ประเทศเมียนมาเป็นอัมพาต และแถมผู้นำต่างชาติ ประเทศแล้วประเทศเล่า ประกาศไม่ค้าขายกับเมียนมา ไม่รับรองรัฐบาลทหาร เศรษฐกิจของชาติก็จะเข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ครั้นทหารจะใช้กำลังตำรวจจับกุมแกนนำก็จะไม่มีคุกเพียงพอที่จะเป็นที่กักขังคนเหล่านี้ ยิ่งจับกุมประชาชนก็ยิ่งออกมามาก ครั้นทหารจะสลายม็อบโดยใช้กำลังเข้าประหัตประหารก็จะเป็นเหตุนองเลือดประชาชนนับร้อยนับพันจะเสียชีวิต ความรุนแรงก็จะขยายวงกว้าง ประชาชนยิ่งเกลียดชังทหารมากยิ่งไปกว่าเดิมอีก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือคลิปเหตุการณ์รุนแรงก็จะกระจายไปยังสื่อมวลชนทั่วโลก

สถานการณ์ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารเป็นต่อนั้นอันที่จริงแล้วตกที่นั่งกลืนไม่เข้าคายไม่ออก นายพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จึงเป็นผู้ที่ขึ้นไปขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ฉันใดก็ฉันนั้น รอหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามาถึงอยู่ทุกขณะ เขาจึงได้ออกมาปราศรัยว่าจะส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเหมือนเดิมและจะจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีภายในหนึ่งปี ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะได้จากการเรียนรู้รัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2557 ซึ่ง คสช.มีโรดแมบประกาศแก่สาธารณชนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการลดแรงต้านทานจากประชาชนในประเทศไทยไปได้จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่

แต่ในปี พ.ศ. 2557 นั้น คสช.มีความชอบธรรมในการเข้ามายึดอำนาจ เพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนไทยในประเทศ คนไทยสองกลุ่มเกลียดชังซึ่งกันและกัน จนเกือบปะทุขึ้นมาเป็นสงครามกลางเมือง คสช.จึงมีความชอบธรรมในการยึดอำนาจรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ในขณะที่รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมานั้น ประเทศชาติสงบดี ประชาชนมีความรู้สึกว่าลูกหลานของเขามีอนาคต เห็นโอกาสทางธุรกิจ บ้านเมืองกำลังไปได้ด้วยดี และกำลังฟื้นตัวจากการถูกกดขี่จากรัฐบาลทหารมาถึง 60 ปี การยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้ความหวัง ของคนเมียนมาเกือบทั้งประเทศสูญหายกลายเป็นอากาศธาตุไปโดยพลัน

รัฐบาลทหารของเมียนมากำลังเผชิญหน้ากับประชาชนที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

การที่รัฐบาลทหารจะลดความตึงเครียดในประเทศได้นั้น มีทางออกอยู่ทางเดียวคือ ทำตามเงื่อนไขที่ประชาชนเรียกร้องมา นั่นคือการปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยยากมาก และเท่ากับเป็นการยกธงขาวของรัฐบาลทหาร เท่ากับเป็นการยุติบทบาททางการเมืองของทหารพม่าอย่างถาวร ยังมีอีกสถานการณ์หนึ่งที่ทำให้ทหารมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป คือสร้างความรุนแรงขึ้นในประเทศ แต่เป็นความรุนแรงที่ไม่ใช่เกิดจากการใช้กำลังทหาร นั่นคือ ประชาชนสองกลุ่มออกมาประหัตถ์ประหารกันเอง แต่วิธีการนี้ก็จะถูกเปิดโปงซึ่งจะนำมาสู่การลดทอนความน่าเชื่อถือในที่สุดอยู่ดี

โดยสรุปคือ รัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้เป็นความผิดพลาดอย่างแสนสาหัสของนายพลมิน อ่อง หล่าย เขาได้ขุดหลุมศพเพื่อฝังตัวของเขาเองโดยไม่รู้ตัว ชื่อของเขาจะถูกจดจำในฐานะผู้ร้ายคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศเมียนมาและประวัติศาสตร์โลกต่อไปอีกนานแสนนาน

กระนั้นเองทุกวิกฤติก็คือโอกาส ยังไม่สายเกินไปที่นายพลท่านนี้จะกลับตัวลดอุณหภูมิความขัดแย้งในประเทศเริ่มต้นด้วยการมีกัลยาณมิตรที่เข้าไปพูดคุยชี้ทางสว่างให้ นำไปสู่ทางออกชนิดที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น คืนอำนาจให้ประชาชน ปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ แก้ไขปัญหาเร่งด่วนของชาติ คือการแพร่ระบาดของ COVID-19 และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น เมียนมาก็จะได้กลับเข้าสู่ประชาคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรีอีกครั้งหนึ่ง โดยทุกฝ่ายมีชัยชนะ

ปัญหาสำคัญคือ “ใครคือกัลยาณมิตรคนนั้น?”

กัลยาณมิตรท่านนี้จำเป็นต้องเป็นคนที่นายพลมิน อ่อง หล่าย ให้ความเคารพนับถือ อาจจะด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์ในชีวิตที่เขาไม่มี ควรเป็นนายทหารกองทัพบกด้วยกัน ประสบความสำเร็จในการบริหารบ้านเมือง มีวิสัยทัศน์และที่สำคัญคือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐบาลทหารของเมียนมา ในโลกนี้ผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้มีอยู่เพียงคนเดียวคือ ลุงตู่ของคนไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั่นเอง

ผู้ประท้วงในเมืองมะริด ขับมอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มยื่นมือชูสามนิ้วบนถนน ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3128477137379344&id=2216707851889615

โดยวัยวุฒิ ลุงตู่อายุมากกว่าผู้นำทหารของเมียนมา เป็นนายพลเอกด้วยกันทั้งคู่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เองก็มาประเทศไทยหลายครั้งหลายหน คุ้นเคยเป็นอย่างดีกับนายทหารอาวุโสของไทยอยู่แล้ว ลูงตู่ยังมีประสบการณ์ทำรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เข้ามาบริหารบ้านเมืองในขณะที่ประเทศไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พร้อมที่จะปะทุขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองได้ตลอดเวลา และเป็นรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ไม่มีการเคลื่อนกำลังทหารรวมทั้งรถถังเข้ามาในนครหลวง แม้จะได้อำนาจมากจากการยึดอำนาจทางทหารก็ตาม แต่ลุงตู่ได้รับการยอมรับจากผู้นำระดับโลกอย่างรวดเร็ว และยังได้แสดงความสามารถในการบริหารบ้านเมืองฝ่าวิกฤตินับครั้งไม่ถ้วน จนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนเป็นที่ยอมรับในหมู่อารยะประเทศทั่วโลก

อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของเมียนมา มีพรหมแดนที่ยาวที่สุดกว่าประเทศทั้งหลายในอาเซียน ประเทศไทยมีแรงงานเมียนมาทำงานอยู่ไม่ต่ำกว่าสองล้านคน และที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่เมียนมาต้องพึ่งพาอีกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทหารได้ทำการยึดอำนาจเรียบร้อย และเมียนมาเคยถูกประเทศมหาอำนาจลงโทษไม่ค้าขายด้วยมานานหลายสิบปี เหตุผลเหล่านี้ทำให้คำพูดของลุงตู่เป็นสิ่งที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ต้องฟังด้วยความสนใจและความเคารพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านนายพลเอกอาวุโสท่านนี้ได้มีหนังสือส่วนตัวมาถึงนายกลุงตู่เรียบร้อยแล้ว ลุงตู่จึงมีฐานะที่เหมาะสมที่สุดและมีแต้มต่อมากว่าผู้นำประเทศคนใด ๆ ในโลกนี้ที่จะเข้าไปเจรจากับผู้นำทางทหารของเมียนมาอย่างมีน้ำหนักและทรงพลังยิ่งนัก

กระนั้นเอง การที่ลุงตู่จะเดินทางไปคุยกับผู้นำทหารพม่าไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุผลสำคัญคือกติกาของอาเซียนซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกไม่เข้าไปก้าวก่ายการเมืองภายในประเทศของกันและกัน นั่นหมายถึงการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีหรือข้าราชการในหน่วยงานใด ๆ ของรัฐอันเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศสมาชิก ผู้ที่คุมกติกานี้คือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกทั้งสิบประเทศนั่นเอง ในประวัติศาสตร์ของอาเซียนเองไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่ผู้นำประเทศหนึ่งจะเข้าไปให้คำแนะนำผู้นำอีกประเทศหนึ่ง

ขณะที่รัฐบาลไทยยังคงนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ในเมียนมาตลอดมา รัฐบาลของมาเลเซียและสิงคโปร์ออกโรงแสดงความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ละวางสายตา

ยิ่งไปกว่านั้นองค์การสหประชาชาติและรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและเตือนผู้นำทหารของเมียนมาทุกวัน ให้ปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี และสมาชิกพรรคทั้งหลายของนาง พร้อมการเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนเมียนมา ซึ่งออกมาประท้วงด้วยความบริสุทธิ์ใจในแต่ละวัน และมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

การพูดคุยกับพลเอกอาวุโสท่านนี้ตามลำพังฝ่ายเดียวย่อมไม่เป็นการเพียงพอ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ ออง ซาน ซูจี เอง มิใช่คนที่ยอมอะไรใครง่าย ๆ นางเป็นผู้นำที่ใจเด็ดที่สุดคนหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็นหญิงเหล็กของเมียนมาก็ว่าได้ และเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอย่างถล่มทะลาย อย่างที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองใด ๆ ของเมียนมาได้มาก่อน อาจจะยากกว่าที่ลุงตู่จะเข้าไปคุยกับผู้นำทหารของเมียนมาด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเธอบอกว่า “ไม่” นั้นคือ “ไม่” ต่อให้เอาช้างมาฉุดเธอก็ไม่ยอม ในที่สุดบทบาทของผู้นำประเทศย่อมวกกลับมายังพื้นเพอุปนิสัยของผู้นำท่านนั้น ๆ ซึ่งการตัดสินใจของผู้นำแต่ละคนมีผลถึงประชาชนหลายห้าสิบล้านคนในประเทศ

เงื่อนไขสำคัญที่จะเจรจาต่อรองกับ ออง ซาน ซูจี ได้คือ การใช้ตรรกะของพระพุทธศาสนา ซึ่งนางเองเป็นชาวพุทธเถรวาทที่เคร่งครัดมากคนหนึ่ง แต่การที่นางจะฟังลุงตู่ในฐานะทหารคนหนึ่งที่เคยทำรัฐประหารมาก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก อาจจะยากยิ่งกว่าที่ลุงตู่เจรจากับพลเอกอาวุโสท่านนี้ด้วยซ้ำ ผู้ที่เข้าไปเจรจากับนางอ่องซานซูจี จำเป็นต้องทราบพื้นเพความคิดของเธอเป็นอย่างดี และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับทุกฝ่าย เข้าไปพูดจาด้วยความปรารถนาดีมีฐานของการเจรจาที่ประโยชน์สุขของประชาชนเมียนมาเป็นสรณะนั่นเอง

สำหรับกรณีของออง ซาน ซูจี รองนายกรัฐมนตีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ย่อมเป็นบุคคลที่เหมาะสมมากที่สุดในการเข้าไปเจรจา

ในขณะนี้เมียนมาวิกฤติหนักแล้ว วิกฤติการทางการเมืองครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาคมอาเซียนทุกประเทศ ไม่มากก็น้อย แม้ว่ากติกาที่สมาชิกประชาคมทั้งสิบประเทศมีอยู่ว่าจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิกก็ตาม การวางอุเบกขากับสถานการณ์ที่มีท่าทีจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเสียเลยนั้นย่อมไม่เป็นการสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง ในประเทศสมาชิกเหล่านี้ทั้งหมด ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้มากที่สุด เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านเดียวของไทยที่มีพรหมแดนติดต่อกันยาวมากที่สุดหลายพันกิโลเมตร

วิกฤตการณ์ทางการเมืองของเมียนมาย่อมทำให้เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมากที่จะไหลบ่าข้ามพรหมแดนเข้ามาในประเทศไทย จะเป็นปัญหาผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ไทยต้องแบกภาระรับผิดชอบ วัฒนธรรมไทยกับเมียนมานั้นก็คล้ายคลึงกันอย่างมาก ประเทศไทยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในครั้งนี้ได้เลย ประชาคมอาเซียนจึงจำเป็นต้องทบทวนกติกาข้อนี้เสียใหม่ ให้เกิดความยืดหยุ่น มีน้ำใจไมตรีมากยิ่งขึ้นด้วยสำนึกที่ว่า ความทุกข์ของเพื่อนบ้านคือความทุกข์ของเราเช่นกัน หากเป็นเช่นนี้แล้วประชาคมอาเซียนก็จะมั่นคง มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะเป็นที่พึ่งพิงทางเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังเป็นมิตรแท้ในยามยากอีกด้วย

ในขณะเดียวกันผู้นำประเทศของไทย ทั้งนายกฯและรองนายกฯเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำประเทศเมียมาฝ่าทางตันครั้งนี้ได้ และหากเจรจาได้สำเร็จจะเป็นการลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยได้อีกด้วย ประเทศไทยก็จะได้รับเครดิตในหมู่นานาประเทศ โดยสรุปคือดีกับเมียนมา ประชาคมอาเซียน ประเทศไทย และต่อโลกครั้งนี้ ปัญหาคือ ลุกตู่จะกล้าหรือไม่เท่านั้นเอง!!