Krungthai COMPASS แนะธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อมปรับใช้เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัล รับมือ 3 กระแสเปลี่ยนโลก
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยชี้การปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ ภายใต้แรงกดดันจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า พร้อมทั้งยกระดับความสามารถในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป คาดภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้าหรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในขณะที่ภาคธุรกิจทุ่มเทสรรพกำลังในการพลิกฟื้นจากผลกระทบของวิกฤติ Covid-19 ให้ได้โดยเร็ว แต่ก็ต้องไม่ลืมหันมาเตรียมพร้อมกับ New Normal ด้วยเช่นกัน โดยเทรนด์ที่เด่นชัดคือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มาพร้อมกับ 3 กระแสเปลี่ยนโลก ได้แก่
-
1) การมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน
2) การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
3) การประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจ
ทั้งนี้ การลงทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) คาดว่าจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปี ข้างหน้า หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 4% จากระดับปัจจุบัน
ดังนั้น ในปีนี้ ศูนย์วิจัยจึงให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “สายกรีน” เป็นอย่างมาก เพราะว่าสำหรับธุรกิจของประเทศไทยแล้ว กระแสธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนับเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับไทยที่มีธุรกิจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร
“หากธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จากฐานเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพไทยที่มีความหลากหลาย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัลอย่างเหมาะสม ในการพัฒนาและต่อยอดในหลายอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมและความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน” ดร.พชรพจน์กล่าว
ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวเสริมว่าสภาวะของสภาพภูมิอากาศของโลก ตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมาที่มีการ กระจายฐานการผลิตและการลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา สภาพอากาศของโลกแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดและกำลังประสบกับสภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างที่เห็นได้จากเหตุการณ์อุทกภัยในเมืองไทยที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ผลสำรวจของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ชี้ว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมีความกังวลอย่างมาก รองจากนั้นคือปัญหาด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือสังคม เป็นต้น ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเมินว่าหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นตามค่าเฉลี่ยต่อไป จีดีพีต่อหัวของโลกจะลดลงมากถึง 23% ภายในปี 2100
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ได้ดำเนินมาตรการภาคบังคับด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ ประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการวางเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน 30-40 ปี ในภาคธุรกิจของไทยเองก็เริ่มมีการทำแบบนั้นบ้างแล้ว เช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเอสซีจี เคมิคอลส์ ทั้งนี้ สิ่งที่ธุรกิจในไทยควรให้ความสำคัญคือ การพยายามให้ผู้ประกอบการภายใต้เครือของตนปรับตัวให้สอดรับกับกระแสนี้
ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เพื่อปรับราคาของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าที่สูงกว่าการผลิตในสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน เช่น ต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่มากขึ้น หรือความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งในตลาดการค้าโลกที่ลดลง
อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในหลายประเภทอุตสาหกรรม เช่น เกษตรกรรมและอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก พลังงาน นอกจากนี้ จากการยกระดับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติในการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะทำให้เทรนด์นี้ที่มีอัตราการเติบโตที่สูง และมีสมรรถภาพการแข่งขันในระดับโลกในอนาคต
“หากผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจให้ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัล ก็จะสร้างประโยชน์แบบ win-win โดยจะช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของตน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของภาคธุรกิจในระยะยาว”