ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเดินเครื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 15 ล้านล้านรูเปียะห์

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเดินเครื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 15 ล้านล้านรูเปียะห์

28 กุมภาพันธ์ 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2564

  • อินโดนีเซียเดินเครื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ
  • อินโดนีเซียประกาศรายชื่อธุรกิจ Priority Investment List
  • กัมพูชาแจงรายละเอียดภาษี Capital Gains ก่อนดีเดย์ 1 ม.ค. 2022
  • กัมพูชาเปิดยื่นภาษีเงินได้ทางออนไลน์มีนาคม
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ผ่อนคลายเกณฑ์หนุนการลงทุน
  • ธนาคารพาณิชย์เวียดนามติดอันดับโลก
  • รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะผลักดันการฟื้นฟูหลังโควิด-19
  • อินโดนีเซียเดินเครื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/business/economy/indonesian-banker-named-ceo-of-countrys-new-sovereign-wealth-fund

    อินโดนีเซียได้เปิดตัวกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Wealth Fund โดยใช้ชื่อว่า Indonesia Investment Authority (INA) อย่างเป็นทางการ หลังจากเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ได้ประกาศแต่งตั้งนายริธา วิรากุสุมะห์ อดีตประธานกรรมการ ธนาคารเพอร์มาตา (Bank Permata) เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ INA

    กองทุนความมั่งคั่งแห่งใหม่ของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงเงินจากต่างประเทศมาสนับสนุนโครงการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน

    นายริธาได้รับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บริหารระดับสูงของ Bank Permata และเป็นมืออาชีพที่มีชื่อเสียงมากกว่า 30 ปีจากการร่วมงานกับบริษัทในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มกองทุนส่วนบุคคล KKR & Co, เอไอจี (American International Group) และซิตี้แบงก์ (Citibank)

    นายโจโกยังประกาศรายชื่อคณะกรรมการบริหารของกองทุน ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำงานแบบมืออาชีพในระดับนานาชาติ และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกและบริษัทที่ปรึกษาในการจัดสรรบุคคลากรมืออาชีพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการจัดการจะไม่ผิดพลาดท

    โดยแต่งตั้งนายอารีฟ บุดิมาน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของเพอร์ตามินา (Pertamina) รัฐวิสาหกิจพลังงาน เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, นายสเตฟานุส อาเด ฮาดิวิดจาจา ผู้บริหารของกองทุนส่วนบุคคล Creador เป็น ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน และมีนางสาวมาริตา อลิสจาห์บานา ผู้บริหารด้านการจัดความเสี่ยงธนาคารซิตี้แบงก์ อินโดนีเซีย และนายเอ็ดดี้ พอร์วันโต จากกองทุนส่วนบุคคล Northstar Pacific เป็นกรรมการ

    นายริธากล่าวว่า INA กำลังมองหาเงินกองทุนที่ไม่ใช่เงินกู้ และได้รับข้อเสนอโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า ประมาณ 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐไว้แล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาผลตอบแทนที่ INA และผู้ร่วมลงทุนจะได้รับ

    ปัจจุบันกองทุนความมั่งคั่ง INA มีทุนประเดิมจำนวน 15 ล้านล้านรูเปียะห์จากเงินงบประมาณปี 2020 และใส่เงินเพิ่มอีก 75 ล้านล้านรูเปียะห์ (ประมาณ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2021

    จนถึงสิ้นปี 2563 รัฐบาลอินโดนีเซียได้รับคำมั่นที่จะลงทุนจากประเทศต่างๆ ตั้งแต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปจนถึงสหรัฐอเมริกาเป็นเงินจำนวน 30.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ที่มาภาพ:https://www.indonesia-investments.com/business/business-columns/indonesia-finally-has-a-sovereign-wealth-fund-indonesia-investment-authority-ina/item9376

    การจัดตั้ง INA เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย Omnibus Job Creation Law ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาคอขวดการลงทุนในอินโดนีเซีย รวมทั้งกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติที่กำลังมองอินโดนีเซีย แต่ไม่มั่นใจ เนื่องจากกฎหมายระดับสูงของประเทศมีความไม่แน่นอน

    สิ่งที่ทำให้ INA แตกต่างจากคณะกรรมการการลงทุนหรือ Investment Coordinating Board (BKPM) คือ เงินที่เข้ามาไม่ได้อยู่ในรูปของเงินกู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาในรูปของตราสารทุนหรือหุ้นด้วย

    รัฐบาลอินโดนีเซียยังตั้งเป้าให้ INA จ่ายเงินปันผลสูงสุด 30% ในแต่ละปี ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างปานกลางเมื่อเทียบกับเงินปันผลของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 20-45% ในช่วงหลายปีก่อนการระบาดใหญ่ของ COVID-19

    ด้วยเหตุนี้ INA จึงต้องสามารถจัดการทรัพย์สินของตนได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดหาผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสม

    เป้าหมายแรกของ INA คือ โครงการทางด่วน โดยนายริธากล่าวว่า จากการพิจารณาผลของตัวคูณ (multiplier effect) INA ให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงการทางด่วนเป็นอันดับแรกมากกว่าท่าเรือ สนามบิน หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น

    กระทรวงโยธาธิการและที่อยู่อาศัยของอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะสร้างถนนใหม่ 2,500 กิโลเมตร ในช่วงปี 2019-2024 หากสำเร็จ หมายความว่าจะมีถนนเก็บค่าผ่านทางที่ชาวอินโดนีเซียสามารถใช้งานได้ประมาณ 4,500 กิโลเมตร ณ สิ้นปี 2020 เครือข่ายทางด่วนของอินโดนีเซียมีเพียง 2,346 กิโลเมตร

    อินโดนีเซียประกาศรายชื่อธุรกิจ Priority Investment List

    ที่มาภาพ: https://www.aseanbriefing.com/news/indonesia-to-prepare-positive-investment-list/
    รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการลงทุน ตามกฎหมายการสร้างงานที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งครอบคลุมการยกเลิกข้อจำกัดบางด้านเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

    ข้อบัญญัติใหม่ของกฎหมายที่มีชื่อว่า Omnibus Law ที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงกฎหมายมากกว่า 70 ฉบับ ได้ตัดบัญชีธุรกิจที่มีข้อห้ามในการลงทุนหรือ negative investment list ที่รวมถึงธุรกิจที่ห้ามนักลงทุนต่างประเทศออกไป แม้ยังคงห้ามการลงทุนจากต่างประเทศในบางภาคธุรกิจ

    หลักเกณฑ์ใหม่ของการลงทุนเป็นหนึ่งในกฎระเบียบหลายสิบข้อที่ออกโดยรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้มีการบังคับใช้กฎหมาย Omnibus Law

    ภายใต้ประกาศประธานาธิบดีฉบับใหม่ negative investment list จะถูกแทนที่ด้วย priority list หรือภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการลงทุน ซึ่งเสนอสิ่งจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี หรือการยกเว้นลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในบางอุตสาหกรรม ธุรกิจเหล่านี้ ได้แก่ การผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากถ่านหิน การสำรวจการสำรวจแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ และการถลุงแร่ เช่น นิกเกิลและทองแดง

    ในปีที่แล้วเศรษฐกิจของอินโดนีเซียหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษ เนื่องจากการบริโภคในครัวเรือนตกต่ำและธุรกิจต่างๆ ชะลอการลงทุนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

    เจ้าหน้าที่รัฐคาดหวังว่า กฎหมาย Omnibus Law จะช่วยสนับสนุนการลงทุนโดยตรงในประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    นอกจากนี้ ยังมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนและภาคเวชภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน EV บางประเภทด้วย และรัฐบาลยังผ่อนปรนกฎสำหรับการลงทุนในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขนส่งทางบก ระบบข้อมูลการจราจรทางเรือ และการนำทางการบิน รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ

    กฎใหม่จะมีผลบังคับใน 30 วันนับจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์

    อย่างไรก็ตาม ยังคงข้อจำกัดไว้สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมมรดก ซึ่งรวมถึงการต่อเรือแบบดั้งเดิม ผ้าบาติก ยาแผนโบราณ และเครื่องสำอาง

    กัมพูชาแจงรายละเอียดภาษี Capital Gains ก่อนดีเดย์ 1 ม.ค. 2022

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/tax-official-defogs-capital-gains
    เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ กรมสรรพากรกัมพูชา (General Department of Taxation: GDT) ได้ประกาศรายการทรัพย์สินบางส่วนที่จะได้รับการยกเว้นภาษีจากภาษี capital gains tax หรือภาษีที่เก็บจากผลได้ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นในมูลค่าของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2022 และได้ให้รายละเอียดของภาษีเพิ่มเติม

    ภาษี capital gains นี้จะเรียกเก็บจากผลประโยชน์ของผู้เสียภาษีจากการขาย การโอน หรือจัดตั้งสิทธิในทรัพย์สิน หรือการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ตามประกาศเลขที่ 346 ซึ่งลงนามโดยนายอัน พรมณีโรท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เมื่อวันที่ 1 เมษายน

    บุคคลธรรมดาจะต้องจ่ายภาษี capital gains ในอัตราร้อยละ 20 จากผลกำไรที่คำนวณได้จากการขายทรัพย์สินบางอย่าง ซึ่งรวมถึงที่ดินอาคาร หุ้น พันธบัตร ใบอนุญาตสิทธิบัตร และเงินตราต่างประเทศ

    นายเคน สมบัติ รองอธิบดีกรม GDT กล่าวว่า ทรัพย์สินที่เป็นของสถาบันของรัฐ ภารกิจต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานความร่วมมือทางเทคนิคของรัฐบาล จะได้รับการยกเว้นภาษี

    รัฐบาลตัดสินใจที่จะยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขาย หรือโอนที่ดินเพื่อการเกษตร สำหรับที่ดินที่ยังใช้งานอยู่และที่ดินที่เจ้าของหรือผู้ดำเนินการอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันกับพื้นที่เพาะปลูก

    นายเคนกล่าวว่า ที่อยู่อาศัยหลักของผู้เสียภาษีที่อยู่มาอย่างน้อย 5 ปีก่อนการขายหรือโอนจะได้รับการยกเว้น และการยกเว้นจะมีผลเฉพาะกับที่อยู่อาศัยหลักของคู่สมรสที่มีที่อยู่ต่างกัน

    การยกเว้นยังครอบคลุมไปถึงการขายและโอนอสังหาริมทรัพย์ในเครือญาติตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับภาษีอากรแสตมป์ ระหว่างพี่น้อง, พ่อ แม่ และลูก, พ่อแม่สามี, พ่อตาแม่ยาย, ลูกสะใภ้, ปู่, ย่า, ตา, ยาย และหลานสะใภ้ (แต่ไม่ใช่ระหว่างสะใภ้หรือเขย) รวมไปถึงทรัพย์สินที่ขายหรือโอนเพื่อสาธารณประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืน

    นอกจากนี้ยืนยันว่า การจัดการกับภาษีกำไรจากการลงทุนจะเป็นการสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมให้กับนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษี หรือเป็นส่วนของการจัดเก็บภาษี

    “การเก็บภาษีจะทำให้รายได้จากภาษีเติบโตอย่างยั่งยืนตามโครงการปฏิรูปการบริหารการเงินภาครัฐและกลยุทธ์การระดมรายได้ปี 2019-2023” นายเคนกล่าวและว่า

    ภาษี capital gains จะควบคุมและกำกับการเก็งกำไรที่อยู่อาศัย เสริมสร้างเสถียรภาพของราคาอสังหาริมทรัพย์ และช่วยให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่แพง

    “ในแง่นี้จะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น สร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น ผลบวกที่เกิดขึ้นจะกระจายออกสู่ระบบเศรษฐกิจ” เขากล่าว

    ภาษี capital gains ไม่ครอบคลุมกำไรจากการลงทุนที่แจ้งและได้หักภาษีเป็นรายได้ธรรมดาไว้แล้ว และไม่ครอบคลุมสินทรัพย์ที่ขายตามราคาทุนหรือขาดทุน

    ผู้เสียภาษีสามารถเลือกวิธีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือการหักตามค่าใช้จ่ายตามจริง วิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อชำระภาษี capital gains ในอัตราร้อยละ 20

    ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตัดสินใจเลื่อนการบังคับใช้ภาษี capital gains จากวันที่ 1 มกราคม 2021 เป็น 1 มกราคม 2022 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 และเพื่อให้ผู้เสียภาษีมีเวลามากขึ้นในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางภาษี

    กัมพูชาเปิดยื่นภาษีเงินได้ทางออนไลน์มีนาคม

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/gdt-income-tax-e-filing-system-online-march
    กรมสรรพากรกัมพูชา (General Department of Taxation: GDT) พร้อมเปิดให้ยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ในเดือนมีนาคม หลังจากที่ได้ปรับขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้แบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ง่ายขึ้น

    กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินที่ควบคุม GDT ได้ประกาศคำสั่งเลขที่ 003 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ให้ GDT เปิดตัวระบบการยื่นภาษีรายได้ทางออนไลน์ หรือ e-filing system ได้

    GDT ระบุว่าระบบ e-filing system มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการที่ดีขึ้นสำหรับผู้เสียภาษี ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการจัดเก็บรายได้ และสร้างความโปร่งใส สะดวก ตรงต่อเวลา รวดเร็วและมั่นใจในบริการที่เรามีให้”

    ผู้เสียภาษีแบบประเมินตนเอง จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ผ่านระบบ ToI e-filing ตั้งแต่เดือนมีนาคม

    แอนโทนี กัลลิอาโน ซีอีโอกลุ่ม บริษัท Cambodian Investment Management ที่ให้บริการทางการเงิน กล่าวว่า การยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้พลิกโฉมกระบวนการจัดเตรียมและการยื่นภาษีในประเทศ จากที่ต้องใช้คนซึ่งใช้เวลานาน และมีประสิทธิผลต่ำเพราะเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายโดยไม่จำเป็น เช่น GDT และธนาคาร เป็นระบบอัตโนมัติและบูรณาการที่สำคัญ เพราะระบบนี้กำลังปฏิวัติการยื่นภาษีในยุคดิจิทัลสมัยใหม่ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของระบบ จากที่ประมวลผลภาษีรายเดือนเพียงอย่างเดียว

    การพัฒนาเทคโนโลยีของ GDT ให้ดีขึ้น จะช่วยให้การจัดเก็บภาษีดีขึ้นมาก จากฐานข้อมูลของผู้เสียภาษีที่ได้มาจากการยื่นแบบรายเดือนและรายปี รวมทั้งการตรวจสอบผู้เสียภาษีและวิเคราะห์ข้อมูลง่ายขึ้นรวมทั้งการตรวจจับการหลีกเลี่ยงภาษีได้สะดวกกว่าเดิม

    ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ผ่อนคลายเกณฑ์หนุนการลงทุน

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/business/business-news/2019/11/04/philippines-central-bank-chief-says-2019-policy-easing-over
    เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อให้ประชาชนสามารถลงทุนผ่านการบริหารโดยผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่จะขยายการมีส่วนร่วมในตลาดการเงินของประเทศ

    การมีส่วนร่วมของนักลงทุนในฟิลิปปินส์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหุ้น แต่ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกับประชากรทั้งหมด

    ในแถลงการณ์ หน่วยงานด้านนโยบายของธนาคารกลางประกาศว่า ได้ลดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีสำหรับกิจกรรมการจัดการการลงทุนเหลือ 100,000 เปโซ (2,082 ดอลลาร์) จาก 1 ล้านเปโซ

    กิจกรรมการจัดการการลงทุนหมายถึง การที่ทรัสต์หรือผู้จัดการการลงทุนได้รับการติดต่อให้บริหารเงินลงทุน หรือบริหารพอร์ตการลงทุนใดๆ ในนามของลูกค้า

    “เราหวังว่าผู้ออมจะเปลี่ยนมาเป็นนักลงทุนมากขึ้น” นายเบนจามิน ดิโอคโน ผู้ว่าการธนาคารกลาง กล่าว “การผ่อนคลายกฎเณฑ์เพื่อให้ไปตามเป้าหมายประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น”

    นอกจากนี้ยังจะเพิ่มฐานนักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้จัดการการลงทุนมืออาชีพให้คำแนะนำ

    จากฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ฟิลิปปินส์มีบัญชีซื้อขายหุ้น 1.23 ล้านบัญชี ไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากร ณ สิ้นปี 2019 นักลงทุนรายย่อยคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการซื้อขายในตลาดหุ้นในเดือนมกราคม ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ผ่านมาที่นักลงทุนสถาบันครองตลาด

    ธนาคารกลางยังอนุญาตให้บัญชีการลงทุนที่มีการจัดการด้วยมืออาชีพ สามารถรวมกองทุนกับผู้ให้บริการรายอื่น และลงทุนในกองทุน ETF ตราสารหนี้ และตราสารการเงินระยะสั้น (commercial papers)

    ธนาคารพาณิชย์เวียดนามติดอันดับโลก

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnamese-banks-continue-to-ascend-global-brand-rankings-4239961.html
    ธนาคารพาณิชย์ของเวียดนาม 9 แห่ง โดยที่เป็นธนาคารของรัฐ 5 แห่ง ได้ติดอันดับแบรนด์ธนาคารที่มีมูลค่ามากที่สุด 500 แห่งของโลก

    อะกริแบงก์ (Agribank) ซึ่งเป็นธนาคารรัฐ และเป็นหนึ่งในธนาคารของรัฐขนาดใหญ่ 4 อันดับแรกหรือ Big 4 พุ่งขึ้น 17 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 173 ในการจัดอันดับประจำปีโดยบริษัทที่ปรึกษา Brand Finance จากสหราชอาณาจักร ส่วนธนาคารพาณิชย์ของรัฐรายอื่น คือ เวียตคอมแบงก์ (Vietcombank) และเวียตตินแบงก์ (VietinBank) อันดับขยับมาที่ 180 และ 216 ตามลำดับ ส่วนธนาคาร BIDV ติดอันดับที่ 246 และ ธนาคาร MB อยู่ที่ 374

    ด้านธนาคารเอกชน วีพีแบงก์ (VP Bank) กระโดดมาอยู่ที่อันดับ 243 และเทคคอมแบงก์ (Techcombank) ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 270 ส่วน ซาคอมแบงก์ (Sacombank) และเอซีบี (ACB) เลื่อนมาที่อันดับ 392 และ 397 ตามลำดับ

    รายงานระบุว่า ในปีที่แล้วเวียตคอมแบงก์เป็นหนึ่งใน 10 ของธนาคารที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

    “ภาคการธนาคารของเวียดนามมีการเติบโตของมูลค่าแบรนด์ที่มากที่สุดเมื่อเทียบเป็นรายปีกับประเทศอื่นๆ ในการจัดอันดับ โดยเติบโต 23%” ที่ปรึกษากล่าว

    “ความสามารถของเวียดนามในการควบคุมและสกัดการแพ่ร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพทำให้สวนทางกับมูลค่าแบรนด์ที่ลดลงของภาคธุรกิจได้

    “การปฏิรูปภายใน ได้เสริมสร้างความน่าเชื่อถือในภาคการเงินของเวียดนาม ซึ่งมีผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นและสร้างชื่อเสียงและความไว้วางใจให้กับแบรนด์ด้วย”

    ภาคการธนาคารของเวียดนามมีการเติบโตของมูลค่าแบรนด์สะสมถึง 753% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับสองในการจัดอันดับ

    “นับตั้งแต่รัฐบาลเวียดนามได้ใช้กลยุทธ์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความแข็งแกร่งของภาคธนาคาร รวมถึงข้อกำหนดด้านเงินทุนที่เข้มงวดมากขึ้นและความโปร่งใสที่มากขึ้น มุมมองของลูกค้าก็ดีขึ้น

    รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะผลักดันการฟื้นฟูหลังโควิด -19

    ที่มาภาพ: https://furamavietnam.com/26th-asean-economic-ministers-retreat/
    รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมกันหารืออย่างจริงจังเกี่ยวกับการผลักดันการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM Retreat) ครั้งที่ 27 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2021

    ในปีนี้บรูไนดารุสซาลามในฐานะประธานอาเซียน 2021 นำเสนอแนวคิด “We Care, We Prep, We Prosper” ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน การเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาส และความไม่แน่นอนในอนาคต ตลอดจนการเติบโตไปพร้อมกัน เป็นภูมิภาคที่เป็นหนึ่งเดียว

    ในแถลงการณ์ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) กล่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจจะหารือเกี่ยวกับการติดตามผลการดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (Asean Comprehensive Recovery Framework: ACRF)แผนการดำเนินงาน และกลยุทธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระตุ้นการฟื้นตัวและความสามารถในการปรับตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค

    AEM Retreat ซึ่งเป็นการประชุมตามกำหนดการครั้งแรกสำหรับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะพิจารณาถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จตามลำดับความสำคัญ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไน การดำเนิการตามแผนงานประชาคมอาเซียน หรือ Asean Economic Community (AEC) Blueprint 2025 และความคืบหน้า

    รัฐมนตรีจะหารือเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะทำงานระดับสูงเกี่ยวกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ (HLTF-EI) ต่อ AEM ตลอดจนการตัดสินใจของผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

    ดาโต๊ะ สรี โมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมจะนำคณะผู้แทนมาเลเซียเข้าร่วมการประชุม

    “มาเลเซียให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการดำรงตำแหน่งประธานของบรูไนดารุสซาลาม และมุ่งหวังที่จะประสานความร่วมมือและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ในการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งดำเนินการตามวาระการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคตามแผนงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมกับการสร้างอนาคตของ AEC หลังปี 2025”

    การประชุมประจำปีของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจะมีการจัดขึ้นไปพร้อมกัน

    “เนื่องจากอาเซียนเห็นว่า การสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนวาระของ AEC มีความสำคัญ เพราะการประชุมนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันผลักดันความพยายามในการฟื้นฟูภูมิภาคผ่านการดำเนินการ ACRF อย่างทันท่วงที จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอาเซียนโดยรวม”