ThaiPublica > คอลัมน์ > Bitcoin กับการพนัน

Bitcoin กับการพนัน

14 มกราคม 2021


ทพพล น้อยปัญญา

ความร้อนแรงของราคาเงินดิจิทัลที่มีชื่อว่า Bitcoin นั้นกำลังเป็นที่จับตามองจากคนที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม 2564 ที่ผ่านมามูลค่าของ Bitcoin ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยขึ้นไปสูงสุดแตะระดับ 41,000 ดอลลาร์ หรือ 1.2 ล้านบาทก่อนที่จะตกลงมาอยู่แถวๆ 32,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 960,000 บาท

ราคาร้อนแรงอย่างนี้ก็เลยมีคนออกมาให้ความเห็นว่า การลงทุนใน Bitcoin ไม่ใช่ลงทุน ไม่ใช่การเก็งกำไร แต่เป็นการพนัน! ก็เลยทำให้ผู้เขียนอยากจะเขียนเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าการพนันตามกฎหมายขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง

อันที่จริงสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ก็มีลักษณะคล้ายกับการพนันอยู่หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การประกันชีวิต

ในชีวิตของเรานั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุวันไหนก็ได้ เดินอยู่ดีๆ บนท้องถนน ก็อาจมีรถเบรกแตกพุ่งมาชนถึงตายหรือบาดเจ็บได้ เพราะฉะนั้น เราก็เลยไปทำประกันชีวิตว่าถ้ามีอะไรมาเกิดกับตัวเรา ทายาทของเราก็จะได้รับเงินก้อนไปเลี้ยงชีวิตต่อไป หรือถ้าเราโชคดีถูกรถเบรกแตกชนไม่ตาย เราก็ยังได้ค่าสินไหมทดแทนไปรักษาพยาบาล

เพราะฉะนั้น ถ้าเราพูดอย่างง่ายๆ ไม่มีหลักวิชาการอะไรคือ การที่เราไปประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิต เราก็เหมือนกับเราไปพนันกับบริษัทประกันว่า ถ้าเราประกันแล้วไม่เจออุบัติเหตุเลย เราก็เสียเบี้ยประกันภัยฟรีๆ แต่ถ้าเราเจออุบัติเหตุ เราก็จะรับได้ค่าสินไหมทดแทน

แต่ความจริงแล้ว การประกันชีวิตจะมีหลักข้อหนึ่งว่า เราจะประกันได้ก็ต่อเมื่อเรามีส่วนได้เสียในชีวิตนั้น เช่น ชีวิตของตัวเรา เราย่อมมีส่วนได้เสียแน่นอน อย่างนี้ย่อมจะประกันได้ เคยมีนายจ้างไปทำประกันชีวิตของลูกจ้าง เพราะลูกจ้างเป็นคนขับรถบรรทุกน้ำมันของนายจ้าง แล้วเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย บริษัทประกันไม่ยอมจ่ายเงิน อ้างว่าเป็นการพนันชีวิตของลูกจ้าง (แล้วรับประกันไปทำไม) ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า

“โจทก์เป็นนายจ้าง นายเนื่องเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันให้โจทก์ และอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นในระหว่างอายุสัญญาจ้างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง …รถบรรทุกน้ำมันของโจทก์ย่อมจะมีราคาไม่ใช่น้อย โจทก์จะต้องใช้บุคคลที่มีความชำนิชำนาญและไว้วางใจไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะมาขับรถบรรทุกน้ำมันกันได้ทั้งนั้น เมื่อรวมเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามความหมายในมาตรา 863 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เมื่อโจทก์มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายเนื่องลูกจ้างดังกล่าว การประกันภัยรายพิพาทนี้จึงไม่ใช่การพนันขันต่อและหาเป็นโมฆะไม่” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2516)

เพราะฉะนั้น การที่เราจะประกันชีวิตใครได้จึงต้องมี “ส่วนได้เสีย” ในชีวิตของคนนั้น ไม่ใช่เราจะไปประกันชีวิตของใครก็ได้ สมมติตัวอย่างที่เว่อร์หน่อย เช่น เราขอประกันชีวิตของท่านนายกฯ ประยุทธ์ โดยที่เราไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับท่านนายกฯ ประยุทธ์เลยนั้น อย่างนี้จะทำไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ การประกันชีวิตแม้จะมีลักษณะคล้ายการพนัน แต่ด้วยความที่มีส่วนได้เสียในชีวิตนั้น และชีวิตนั้นมีความเสี่ยงความไม่แน่นอนที่จะเกิดอุบัติเหตุ จึงไม่ถือกันว่าเป็นการพนัน

ในตอนที่ตั้งตลาดหลักทรัพย์บ้านเราใหม่ๆ ผู้คนก็เข้ามาซื้อขายหุ้นกันมากมาย ซื้อขายหุ้นกันอย่างสนุกสนาน ราคาหุ้นก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเกิดตลาดแตกขึ้นมา ราคาหุ้นก็ตกลงมาอย่างมากมาย ก็มีนักลงทุนเป็นจำนวนมากก็เลยเบี้ยวการชำระค่าหุ้นที่ซื้อไว้ให้โบรกเกอร์ เพราะซื้อไว้ด้วยราคาสูงก็ตอนนี้ตกลงเหลือราคาต่ำไม่กี่บาท เรื่องอะไรจะมาจ่ายราคาแพง

ตอนจะเบี้ยวค่าหุ้นก็ไม่รู้จะอ้างอะไรดี เพราะตัวเองได้สั่งซื้อหุ้นนั้นจริง ก็เลยอ้างว่า การซื้อขายหุ้นเป็นการพนัน เพราะเมื่อเป็นการพนันแล้วจะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมาฟ้องร้องเรียกเอาอะไรไม่ได้

โบรกเกอร์ก็เลยต้องไปฟ้องร้องที่ศาล คดีต่อสู้กันหลายปีถึงศาลฎีกา สุดท้ายศาลฎีกาตัดสินว่า

การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามปกติแม้จะมีการเก็งกำไรกัน และมีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคอยู่บ้าง ก็หาใช่เป็นการพนันขันต่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 ไม่ (คดีนี้อ้างฎีกาที่ 2523/2527) (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2529)

ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2527 ที่ศาลอ้างถึงก็ตัดสินว่า

“การตั้งตัวแทนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น วัตถุประสงค์อันแท้จริงเป็นการค้าเก็งกำไรตามราคาหุ้นที่ขึ้นลงมากกว่าประสงค์ที่จะให้มีการโอนใบหุ้นใส่ชื่อผู้สั่งซื้อ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และการซื้อขายหุ้นในลักษณะดังกล่าวมิใช่เป็นการพนันขันต่อตามความหมายในมาตรา 853 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

เหตุผลที่คำพิพากษาฎีกาให้ไว้ก็คือ ตามปกติแม้จะมีการเก็งกำไรกัน และมีลักษณะเป็นการเสี่ยงโชคอยู่บ้าง ก็หาใช่เป็นการพนันขันต่อไม่ เพราะอะไร ก็เพราะตามปกติผู้ที่พนันขันต่อกันนั้นไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พนัน แต่การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายคือหุ้นกันจริง ไม่ว่าราคาจะสูงหรือต่ำเป็นเท่าไหร่ ก็ยังมีหุ้นนั้นส่งมอบให้เสมอ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการซื้อขายของจริง ส่วนราคาจะสูงหรือต่ำหรือมีการเก็งกำไรอย่างใดก็เป็นคนละส่วนกัน

Bitcoin นั้นเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างหนึ่ง มีกฎหมายรับรองไว้คือพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับรองว่าเป็น “เงินตรา” อย่างเงินบาท เงินดอลลาร์ หรือเงินเยน อย่างที่เรารู้จักและใช้กันอยู่ การรับรองในที่นี้เป็นการรับรองว่า เงินดิจิทัลซึ่งไม่มีรูปร่างเพราะเป็นของทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็น “สินทรัพย์” ที่ผู้คนยอมรับขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมมีราคาซื้อขายกันได้ ตัวอย่างเช่นการไปเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟที่ผู้ซื้อสิทธิก็ไม่ได้อะไรที่จับต้องได้อย่างแท้จริง คงมีแต่สิทธิที่จะไปเล่นกอล์ฟได้เท่านั้น แต่ผู้คนก็ยอมรับซื้อขายกันด้วยราคาแพงๆ

มีร้านค้าที่ยอมรับ Bitcoin ให้ใช้ซื้อสินค้าและบริการของตนได้เช่น ร้าน 7-Eleven ในญี่ปุ่น หรือร้านอาหารหลายแห่งในประเทศไทย และเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว PayPal ซึ่งเป็นธุรกิจการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกก็ได้ประกาศว่า จะยอมรับ Bitcoin เข้าระบบให้ผู้คนได้ใช้ Bitcoin เพื่อการชำระราคาในการซื้อสินค้าและบริการได้

มีคนมากมายพยายามหาค่าและความเคลื่อนไหวของราคาของ Bitcoin ด้วยวิธีต่างๆ อย่างเดียวกับการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ซึ่งการวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้นแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis) และการวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ Bitcoin นั้นเรียกว่าทำไม่ได้เลย เพราะ Bitcoin ไม่ได้รองรับด้วยสินทรัพย์อันใด เกิดมาก็เป็นเงินดิจิทัลเลย ไม่มีประวัติหรือที่มาของการเติบโตทางธุรกิจอันใดที่จะวิเคราะห์เหมือนสินทรัพย์อื่นได้ คงเหลือแต่การวิเคราะห์ทางเทคนิคที่อาศัยเหตุการณ์แวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และความเคลื่อนไหวของราคาที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนดแนวโน้มของราคาในอนาคตเท่านั้น

ในตลาดหุ้นทุกแห่งจะมีคนที่เข้ามาลงทุนอยู่ 2 ประเภทคือ “นักลงทุน” กับ “นักเก็งกำไร” ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนชื่อดังเคยกล่าวไว้ว่า

“ในตลาดหุ้นไทยนั้น ใครที่ซื้อหุ้นแล้ว “ถือยาว” ก็เรียกกันว่า “นักลงทุน” ส่วนคนที่ซื้อแล้วขายในระยะเวลาอันสั้นก็มักถูกเรียกว่า “นักเก็งกำไร” เท่าไรถึงจะเรียกว่ายาวหรือสั้นก็ไม่ชัดเจนแล้วแต่ใครจะคิด บางทีตอนซื้อก็คิดว่าจะถือสั้น “เก็งกำไร” แต่พอหุ้นตกติดหุ้นก็เลยต้องถือยาวกลายเป็น “ลงทุน” การแบ่งแยกว่าใครเป็นนักเก็งกำไรหรือใครเป็นนักลงทุนนั้น บ่อยครั้งไม่ใคร่ชัดเจน แม้แต่เจ้าตัวเองบางทีก็ไม่รู้จริง คนจำนวนมากคิดว่าตนเองเป็นนักลงทุนแต่จริงๆ แล้วพฤติกรรมที่ทำอยู่เป็นการเก็งกำไรก็มีไม่น้อย”

ตลาดของ Bitcoin ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน ข้อสำคัญที่สุดคือ นักลงทุนต้องเข้าใจว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เราพร้อมที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่