ThaiPublica > คอลัมน์ > เขาเก็บภาษีเงินดิจิทัลกันอย่างไร? (ตอนที่ 2)

เขาเก็บภาษีเงินดิจิทัลกันอย่างไร? (ตอนที่ 2)

17 พฤษภาคม 2018


ทพพล น้อยปัญญา

ได้กล่าวไว้ในบทความของผู้เขียนชื่อ “เขาเก็บภาษีเงินดิจิทัลกันอย่างไร?” ใน “ไทยพับลิก้า” นี้ว่า ถ้าพระราชกำหนดออกแล้วเมื่อไหร่ เนื้อหาจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ เราค่อยมาว่ากันอีกที

แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 พระราชกําหนดนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งพระราชกำหนดฉบับนี้ลงตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 135 ตอนที่ 33 ก เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561

พระราชกำหนดฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล (digital token) หรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrecy) หรือโทเคนดิจิทัล โดยในพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งประกาศใช้พร้อมกับพระราชกำหนดฉบับนี้ได้ให้คำนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ว่า

“คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด”

“คริปโทเคอร์เรนซี” ไม่ถือว่าเป็น “เงินตรา” แม้จะกฎหมายเรียกว่า “เคอร์เรนซี” ก็ตาม ซึ่งก็สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของนานาประเทศในโลกนี้ที่ยังไม่มีการยอมรับ “คริปโทเคอร์เรนซี” เป็นเงินตราตามกฎหมาย “คริปโทเคอร์เรนซี” จึงได้เป็นแค่ “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนระหว่างกันเอง เหมือนกับบัตรคูปองในศูนย์อาหารที่ใช้ซื้ออาหารได้ในศูนย์อาหารเท่านั้น แต่เอามาใช้ซื้ออาหารข้างนอกศูนย์ไม่ได้ นอกจากนี้ “คริปโทเคอร์เรนซี” ก็ยังจะรวมถึง “หน่วยข้อมูลเล็กทรอนิกส์” อื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะประกาศกําหนดในอนาคตต่อไปด้วย

ส่วน “โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

    (1) กําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ
    (2) กําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กําหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนดด้วย”

“โทเคนดิจิทัล” จึงเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในโครงการ เช่น เราไปซื้อ token มาจากการทำ ICO จากโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ เขาก็อาจจะกำหนดให้ผู้ถือ token มีสิทธิในการโหวตเวลาที่โครงการจะซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้ามา หรือกำหนดไม่ได้รับเงินปันผล หรือเขาก็จะกำหนดว่า token นี้มีสิทธิ เช่น ซื้อของจากโครงการในราคาที่ลดลง เป็นต้น

ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ได้กำหนดประเภทของเงินได้ขึ้นใหม่ คือ

1. เงินส่วนแบ่งของกําไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล

2. ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ใน ICO ถ้าหากผู้ที่ได้รับเงินของเราไปแล้วเอาไปทำโครงการที่เราสนับสนุน โครงการนั้นได้รับผลกำไร ถ้าเอาเงินส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์มาให้เราไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด จะเรียกว่าเป็นเงินปันผล ผลประโยชน์ที่ได้การลงทุน ดอกเบี้ย หรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าได้จากการเป็นเจ้าของถือครอง token แล้ว ก็ถือเป็นเงินได้ที่จะต้องเสียภาษี

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราถือเงินดิจิทัลแล้วเราโอนให้คนอื่น ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนเงินดิจิทัลไม่ว่าสกุลใด หรือหรือผลประโยชน์จากการโอน token เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุนหรือมีกำไรนั่นเอง กำไรนั้นก็ถือเป็นเงินได้ที่จะต้องเสียภาษี แต่ถ้าโอนไปแล้วขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีเพราะไม่มีผลกำไร แต่ทว่าผลของการขาดทุนนั้นก็จะเอามาหักจากเงินได้เพื่อผลประโยชน์ทางภาษีไม่ได้เช่นกัน

เงินได้พึงประเมินของทั้งสองกรณีนี้ให้คํานวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ พูดมาแค่นี้อย่าเพิ่งดีใจไปคิดว่าธุรกรรมเกี่ยวกับ token หรือเงินดิจิทัลจะเสียภาษีแค่ 15% เพราะเงินภาษีที่ถูกหักไป 15% นี้จะต้องเอาไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนปลายปีอีกทีหนึ่ง ถ้าภาษีที่ได้จากการรวมเงินรายได้ทุกอย่างของผู้เสียภาษีตอนปลายปีทำให้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น เช่น 25% อย่างนี้ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มให้ครบ 25% ไม่ใช่แค่หัก 15% แล้วก็จะจบกัน

อาจจะมีผู้สงสัยว่า อย่างดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารถ้าเรายอมให้ธนาคารหัก 15% แล้วก็เป็นอันจบเลยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีตอนปลายปีอีกไม่ใช่หรือ? คำตอบก็คือใช่ครับ แต่เพราะภาษีของดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีกฎหมายบอกยกเว้นให้ว่าไม่ต้องเอามารวมอีกได้ แต่ภาษีของ token หรือเงินดิจิทัลไม่มีกฎหมายยกเว้นให้แบบนั้น

สรุปก็คือ การเก็บภาษีของไทยไม่ได้แตกต่างไปจากของต่างประเทศ ที่ต่างประเทศเขาเก็บภาษีกันแต่อย่างใด เงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษีกับไม่ต้องเสียภาษี ผู้ที่สนใจสามารถไปดูได้จากบทความของผู้เขียนข้างต้น