ThaiPublica > คอลัมน์ > เขาเก็บภาษีเงินดิจิทัลกันอย่างไร?

เขาเก็บภาษีเงินดิจิทัลกันอย่างไร?

19 เมษายน 2018


ทพพล น้อยปัญญา

คุณผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอนนอกจากความตายและภาษี” (Nothing is certain but death and taxes) นะครับ คำกล่าวนี้ก็เห็นจะจริงเพราะเรื่องของเงินดิจิทัล ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าเงินดิจิทัลคืออะไร และจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร แต่ตอนนี้เขาก็มีการเก็บภาษีเงินดิจิทัลกันแล้ว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ก็เรียกว่าทางกระทรวงการคลังเตรียมจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเงินดิจิทัลทั้งหลาย เช่น Bitcoin Ether หรือ Litecoin และอื่นๆ ก็นับว่ามีความทันสมัยไม่เบา แต่ทว่าช้ากว่ากรมสรรพากรของสหรัฐฯ ไปแค่ 3 ปี

ทั้งนี้เพราะ Internal Revenue Service (IRS) หรือกรมสรรพากรของสหรัฐฯ ได้จัดทำแนวทาง(guidance)ออกมาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2557 ในคำชี้แจงนี้ได้วางหลักการของการเก็บภาษีเงินดิจิทัลทั้งหลายไว้ว่า ในทางภาษี เงินดิจิทัลถือเป็น “ทรัพย์สิน” (property) ไม่ใช่เงินตรา (currency) ดังนั้น หลักการของกฎหมายภาษีที่ใช้กับธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินก็จะนำมาใช้ในธุรกรรมเกี่ยวกับเงินดิจิทัลด้วย

ในแนวทางฉบับนี้ IRS ได้จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเงินดิจิทัลในลักษณะของคำถาม – คำตอบไว้หลายประการ เช่น

คำถาม: ถ้ามีกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลจะต้องเสียภาษีหรือไม่?

คำตอบ: ไม่ เพราะเมื่อเงินดิจิทัลไม่ได้ถือว่าเป็นเงินตรา ในทางภาษีจึงไม่มีกำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน

คำถาม: ผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลในการชำระราคาของสินค้าหรือบริการจะต้องนำราคาตลาด (fair market value) ของเงินดิจิทัลมาคำนวณรายได้รวมหรือไม่?

คำตอบ: ใช่ ผู้ที่ได้รับเงินดิจิทัลจากการชำระราคาของสินค้าหรือบริการจะต้องนำรายได้นั้นมาคำนวณเป็นรายได้รวม โดยนำราคาตลาดของเงินดิจิทัลในวันที่ได้รับมาคิดเป็นเงินดอลลาร์

คำถาม: จะคำนวณราคาตลาดของเงินดิจิทัลอย่างไร?

คำตอบ: โดยที่ในการคำนวณภาษีธุรกรรมเกี่ยวกับเงินดิจิทัลต้องคิดคำนวณเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ผู้เสียภาษีก็จะต้องคำนวณราคาตลาดของเงินดิจิทัลนั้นเงินดอลลาร์สหรัฐในวันที่ชำระเงินหรือได้รับมา

ถ้าหากเงินดิจิทัลนั้นซื้อขายอยู่ในศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน และอัตราแลกเปลี่ยนนั้นได้ถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน ราคาตลาดของเงินดิจิทัลก็กำหนดโดยการแปลงเงินดิจิทัลนั้นเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ (หรือเงินตราอื่นใดที่สามารถแปลงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้) ในอัตราแลกเปลี่ยนนั้น

คำถาม: ผู้เสียภาษีจะมีกำไรหรือขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นทรัพย์สินอื่นหรือไม่?

คำตอบ: ใช่ ถ้าหากราคาตลาดของทรัพย์สินที่ได้รับในศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสำหรับเงินดิจิทัลสูงกว่าค่าที่ผู้เสียภาษีระบุมา ในกรณีเช่นนี้ถือว่าผู้เสียภาษีมีรายได้ที่ต้องนำมาเสียภาษี

คำถาม: ถ้าผู้เสียภาษี “ขุด” (mining) เงินดิจิทัล ถือว่ามีรายได้จากเงินดิจิทัลที่ขุดได้นั้นหรือไม่?

คำตอบ: ใช่ เมื่อผู้เสียภาษีประสบความสำเร็จในการ “ขุด” เงินดิจิทัล ราคาตลาดของเงินดิจิทัลในวันที่ได้รับเงินนั้นมาต้องนำมารวมเป็นรายได้

คำถาม: เงินดิจิทัลซึ่งจ่ายโดยนายจ้างเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำถือเป็นค่าจ้างตามกฎหมายภาษีหรือไม่?

คำตอบ: ใช่ ตามปกติ ตัวกลาง (medium) ในการจ่ายค่าตอบแทนไม่ถือเป็นสาระสำคัญในการกำหนดว่าค่าตอบแทนนั้นเป็นค่าจ้างสำหรับการคิดภาษีการจ้าง ดังนั้น ราคาตลาดของเงินดิจิทัลซึ่งจ่ายเป็นค่าจ้างจึงต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อทางการ

คำถาม: การจ่ายเงินโดยใช้เงินดิจิทัลจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่?

คำตอบ: การจ่ายเงินโดยใช้เงินดิจิทัลต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในหลักการเดียวกันกับการจ่ายด้วยทรัพย์สิน ดังนั้น ผู้ที่จ่ายเงินดิจิทัลจะต้องขอเลขประจำตัวภาษีของผู้รับเงินด้วย

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างโดยสังเขปเท่านั้น ในแนวทางดังกล่าวยังมีแนวปฏิบัติอีกหลายประการตามกฎหมายอเมริกัน ผู้ที่สนใจสามารถที่จะไปดูได้ที่

ถึง IRS ออกกฎเกณฑ์แบบนี้มาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ก็มีผู้เสียภาษีจากรายได้ที่เกี่ยวกับเงินดิจิทัลนี้น้อยมาก จากตัวเลขของบริษัทที่ให้บริการยื่นแบบภาษี (ที่อเมริกามีบริษัทที่ให้บริการกรอกและยื่นแบบภาษีให้ผู้เสียภาษีได้ แต่ก็ต้องจ่ายสตางค์ค่าบริการนะครับ) ตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการยื่นภาษีมีอยู่เพียง 0.04% ของผู้ยื่นภาษีที่แจ้งกำไรหรือขาดทุนจากเงินดิจิทัล ในขณะที่ประมาณกันว่ามีคนอเมริกันราว 7% ของประชากรทั้งหมดที่เป็นเจ้าของ Bitcoin หรือเงินดิจิทัลสกุลอื่น คาดว่าในปี 2561 นี้ IRS คงจะเอาจริงกับการเก็บภาษีมากขึ้น ดูได้จากการไปขอคำสั่งศาลเพื่อเข้าตรวจสอบผู้ซึ่งซื้อขายเงินดิจิทัลกว่า 14,000 รายในตลาดซื้อขายเงินดิจิทัลชื่อ Coinbase

ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในขณะที่หน่วยงานด้านภาษียังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องการเก็บภาษีจากเงินดิจิทัล แต่ในแคว้น (canton) บางแคว้น เช่น Lucerne และ Zug ก็ได้ออกวิธีปฏิบัติของตนเอง โดยมีหลักการอย่างเช่น เงินดิจิทัลถือเป็นทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษี ในการตีราคาของเงินดิจิทัลเมื่อสิ้นปีเพื่อเสียภาษีก็จะใช้วิธีการตีราคาของ Swiss Federal Tax Administration (“SFTA”) ถ้า SFTA ไม่ได้ตีราคาไว้ถึงเงินดิจิทัลประเภทนั้นและไม่มีราคาซื้อขายในท้องตลาดที่จะมากำหนดได้ ก็ให้ใช้ราคาที่ซื้อเงินดิจิทัลนั้นมาแทน

นอกจากนี้ ยังมีรัฐบาลของประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่ประกาศจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับเงินดิจิทัลนี้ เช่น ออสเตรเลีย หรือเกาหลี

ตอนนี้ในบ้านเราก็จะเก็บภาษีเงินดิจิทัลกันแล้วอย่างที่บอกข้างต้น ตามข่าวบอกว่ากระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลไว้ จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

สำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่นๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่นๆ

ก็แปลว่าของไทยเราก็ถือว่าเงินดิจิทัลเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่เงินตราเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ โดยให้คำนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ว่า

“ทรัพย์สินดิจิทัล” หมายความว่า
1. คริปโทเคอร์เรนซี
2. โทเคนดิจิทัล
3. ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

“คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด

“โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

ตอนนี้ร่างพระราชกำหนดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลก็คงประกาศใช้ทันทีเพราะเป็นพระราชกำหนด ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องของการเก็บภาษี ถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติธรรมดากว่าจะออกได้ก็คงใช้เวลา คนที่จะเสียภาษีก็คงเตรียมมาตรการไว้หลบเลี่ยงกันหมด เลยต้องออกเป็นพระราชกำหนดที่มีผลบังคับทันที แล้วค่อยเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้การรับรองอีกที

ถ้าพระราชกำหนดออกแล้วเมื่อไหร่ เนื้อหาจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ เราค่อยมาว่ากันอีกทีนะครับ