ThaiPublica > คอลัมน์ > จะจัดการกับทรัพย์มรดกทางดิจิทัลอย่างไร?

จะจัดการกับทรัพย์มรดกทางดิจิทัลอย่างไร?

7 สิงหาคม 2018


ทพพล น้อยปัญญา

เด็กสาวอายุ 15 ปีชาวเยอรมันถึงแก่กรรมด้วยรถไฟใต้ดินชนเมื่อปี 2012 คุณแม่ของเธอได้ยื่นคำร้องต่อศาล Federal Constitutional Court (ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ) เพื่อขอเข้าบัญชี Facebook ของบุตรสาวเพื่อที่จะหาข้อมูลว่า บุตรสาวของเธอถึงแก่กรรมโดยอุบัติเหตุหรือฆ่าตัวตาย เหตุที่ต้องมาขอศาลเพราะว่า Facebook ไม่ยอมให้เธอเข้าไปดูบัญชีโดยอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนตัวของผู้ตาย

ศาลได้ตัดสินว่าสัญญาที่บุตรสาวของเธอมีกับ Facebook เป็นมรดกของเธอซึ่งตกทอดแก่ทายาทคือมารดาของเธอ ดังนั้น ผู้เป็นมารดาจึงมีสิทธิที่จะเข้าถึงบัญชีของบุตรสาวอย่างเต็มที่ ซึ่งก็รวมถึงสิ่งทั้งหลายที่เธอโพสต์ รวมทั้งข้อความต่างๆ ที่เป็นส่วนตัวด้วย

คดีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหากฎหมายในโลกยุคสมัยใหม่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางดิจิทัลที่เราจับต้องไม่ได้

ในสมัยนี้คนส่วนมากก็จะมีบัญชีออนไลน์กัน ถ้าเรามานับดูจะรู้ว่าเรามีบัญชีดังกล่าวมากกว่าที่คิดไว้เยอะ เช่น หลักๆ ก็จะมีบัญชีพวกสื่อสังคม (social media) ต่างๆ เช่น

  • บัญชีที่ใช้แสดงถึงกิจกรรมของเรา เช่น Facebook
  • บัญชีที่ใช้คุยกับคนอื่นออนไลน์ เช่น Line, WhatsApp
  • บัญชีที่ใช้แสดงความเห็น เช่น Twitter
  • บัญชีที่ใช้แสดงรูปภาพ เช่น Instagram
  • บัญชีที่ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ เช่น LinkedIn
  • บัญชีจ่ายเงิน เช่น PayPal

นี่ยังไม่รวมถึงบัญชีซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต บัญชีเล่นเกมออนไลน์ บัญชีสมาชิกในการเข้าไปดูเว็บไซต์ต่างๆ ฯลฯ

ทรัพย์มรดกทางดิจิทัลเหล่านี้เก็บข้อมูลของเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ข้อมูลส่วนตัว ความคิดเห็นต่อบุคคลอื่น การใช้จ่ายเงิน ฯลฯ คราวนี้เมื่อเราต้องถึงแก่กรรมจากโลกนี้ไป เราจะจัดการบัญชีเหล่านี้อย่างไร?

เท่าที่ลองหาดูก็ไม่เห็นมีใครพูดถึง เห็นแต่มีผู้รู้มาสอนให้ทำ “พินัยกรรมชีวิต” บ้าง (ดูพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) หรือวิธีจัดการทรัพย์สินก่อนตายให้เรียบร้อยด้วยการทำพินัยกรรมหรือเอกสารที่แสดงเจตนาไว้บ้าง แต่ก็พูดถึงทรัพย์สินที่มีรูปร่างเป็นหลัก ไม่เห็นมีใครพูดถึงทรัพย์สินทางดิจิทัล

พอดีไปเจอกับข้อเขียนของสำนักกฎหมาย Hall & Wilcox ที่ประเทศออสเตรเลีย เขาได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกที่เป็นดิจิทัลโดยเฉพาะพวกบัญชีออนไลน์เหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ ก็เลยขอเอามาเผยแพร่เผื่อเป็นไอเดียแก่ท่านทั้งหลายที่จะจัดการทรัพย์สินทางดิจิทัลที่จะเป็นมรดกต่อไปในภายหน้า

พอรู้ว่าเรามีทรัพย์สินทางดิจิทัลอยู่เยอะ เราจะจัดการกันอย่างไร ในชั้นแรก เราก็ต้องหาดูว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นอยู่ที่ไหน? อยู่กับตัวเราโดยเก็บไว้ในเครื่อง (เช่น iPad) หรือเก็บไว้ใน cloud นั่นเลย ถ้าเก็บไว้ในเครื่อง เวลาเป็นอะไรไปก็ยังพอติดตามได้ แต่ถ้าอยู่ใน cloud ก็อาจจะยากหน่อย ขึ้นอยู่กับว่าข้อกำหนดและเงื่อนไขของคนที่ให้บริการ cloud นั้นว่าอย่างไร

บรรดาเว็บไซต์ต่างๆ ที่เราไปมีบัญชีไว้นั้นจะมีวิธีจัดการให้อย่างเช่น

Facebook ก็ยินยอมให้ผู้ใช้ตัดสินใจเองได้ล่วงหน้าว่า ยังต้องการให้มีบัญชีเหล่านี้อยู่ต่อไป (memorialised) หรือจะให้ลบโดยถาวร ถ้าเป็นบัญชีที่ผู้ใช้ประสงค์จะให้อยู่ต่อไป โดยบัญชีที่อยู่ต่อไปนั้นจะมีคำว่า “Remembering” แสดงไว้อยู่ถัดจากชื่อเจ้าของบัญชี รูปภาพและข้อความต่างๆ ที่โพสต์จะยังคงปรากฏอยู่ดังเดิม แต่บัญชีจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เว้นแต่ผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้โดยการทำสัญญาไว้ก่อนถึงแก่กรรม (legacy contract) ถ้าหากผู้ตายไม่ได้เลือกเอาไว้ และ Facebook ได้ทราบว่าเจ้าของบัญชีถึงแก่กรรม นโยบายมาตรฐานคือ memorialised บัญชีไว้

Instagram สามารถเก็บรักษาบัญชี (memorialised) ไว้ได้โดยผู้ใดก็ตามที่รู้จักกับผู้ตายได้ร้องขอโดยแสดงพยานหลักฐานเกี่ยวกับการตาย เช่น ประกาศแจ้งงานศพ (obituary) หรือข่าวเกี่ยวกับการตาย อย่างไรก็ตาม บัญชีดังกล่าวสามารถนำออกจากระบบได้โดยสมาชิกของครอบครัวที่แสดงหลักฐานได้ว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวโดยตรง เช่น หลักฐานจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พร้อมกับแสดงใบเกิดหรือมรณบัตรของผู้ตาย เป็นต้น

LinkedIn จะยอมให้ปิดบัญชีของผู้ตายเท่านั้น ไม่ยอมให้มีการคงบัญชีต่อไป ซึ่งเมื่อปิดบัญชีแล้ว ข้อมูลของผู้ตายจะถูกลบออกจากระบบ และไม่มีผู้ใดสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อีก

Twitter ก็เช่นเดียวกัน ที่ยอมให้มีการปิดบัญชีนั้นได้ โดย Twitter จะร่วมมือกับบุคคลซึ่งมีอำนาจในการกระทำแทนกองมรดก (เช่น ผู้จัดการมรดก) หรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ตายทำการปิดบัญชีนั้น

iCloud ไม่อนุญาตให้มีการโอนบัญชีและสิทธิใดๆ ซึ่งเกี่ยวกับ Apple ID หรือเนื้อหาในบัญชีจะถูกระงับให้สิ้นสุดลงเมื่อเจ้าของบัญชีถึงแก่กรรม เมื่อได้รับสำเนามรณบัตรเมื่อใด บัญชีนั้นก็จะถูกยกเลิกและเนื้อหาในบัญชีก็จะถูกลบออก

PayPal ในสัญญาระบุว่าเจ้าของบัญชีเท่านั้นที่จะปิดบัญชีได้ เว้นเสียแต่ว่าเจ้าของบัญชีถึงแก่กรรม ในกรณีที่เจ้าของบัญชีถึงแก่กรรม ในสัญญาของ PayPal ก็ระบุว่า ผู้ที่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดก จะต้องส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับ PayPal

ส่วนทรัพย์สินทางดิจิทัลอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้ ในประเทศออสเตรเลียก็ไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้โดยตรง (เช่นเดียวกับประเทศไทย) ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้ก็คือ

  • ถ้าคุณเป็นทนายที่ลูกความให้เขียนพินัยกรรม สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องให้ลูกความทราบถึงความจำเป็นในการที่จะต้องกำหนดทรัพย์สินทางดิจิทัลเหล่านี้ไว้ในพินัยกรรม
  • ลูกความควรที่จะทำรายการของบัญชีและทรัพย์สินทางดิจิทัลที่มีเก็บเอาไว้และมีสมาชิกในครอบครัวที่ไว้ใจได้ (คนหนึ่งหรือหลายคน) ทราบด้วย แต่รายการที่ว่ามานี้ไม่ควรที่จะระบุ password ของบัญชีต่างๆ ไว้ด้วยกันเพื่อความปลอดภัย
  • ในระบบกฎหมายของต่างประเทศนั้น นอกเหนือจากการทำพินัยกรรม (will) แล้ว ยังสามารถทำเอกสารอีกอันหนึ่งเรียกว่า letter of wishes ขึ้นมาประกอบกับพินัยกรรมได้ แต่ทว่าพินัยกรรมเท่านั้นที่มีผลตามกฎหมาย letter of wishes ไม่มีผลแต่อย่างใด แต่ถ้าได้ทำ letter of wishes ไว้ก็จะช่วยในแสดงเจตนาและตีความพินัยกรรมได้
  • ในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินทางเหล่านั้นไม่ได้ถึงแก่กรรม แต่ทว่าตกเป็นคนไร้ความสามารถ ในบัญชีดิจิทัลส่วนใหญ่มักจะไม่ได้กล่าวถึงไว้ มักจะกล่าวถึงกรณีที่ถึงแก่กรรมมากกว่า คนที่จะมาจัดการแทนที่กฎหมายเรียกว่า “ผู้อนุบาล” ก็จะต้องไม่ลืมที่จะให้มีการมอบอำนาจที่จะจัดการทรัพย์สินทางและบัญชีดิจิทัลไว้ด้วย
  • ในพินัยกรรม ควรระบุถึงทรัพย์สินทางดิจิทัลและบัญชีดิจิทัลต่างๆ ไว้ และให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินทางและบัญชีเหล่านี้ด้วย
  • ถ้าหากทำพินัยกรรมไว้ ก็ควรที่จะมาทบทวนอย่างน้อยทุก 3 ปี เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากโลกดิจิทัลนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

นี่แหละครับ โลกของดิจิทัลแม้จะเป็นโลกของเสมือน (virtual) แต่ก็มีเรื่องต้องให้ต้องจัดการเหมือนโลกแห่งความเป็นจริงเหมือนกัน