ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ผ่อนคลายนิติบุคคลต่างประเทศทำธุรกรรมเงินบาท

ธปท.ผ่อนคลายนิติบุคคลต่างประเทศทำธุรกรรมเงินบาท

5 มกราคม 2021


นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (onshore) ได้คล่องตัวขึ้น ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC) โดยนิติบุคคลต่างประเทศต้องมี ภาระการรับหรือจ่ายเงินบาทจากการค้าและการลงทุนโดยตรงในประเทศไทย และไม่ประกอบธุรกิจด้านการเงินและทองคำ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ ดังนี้

    1. สามารถบริหารความเสี่ยงค่าเงินบาทได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น โดยไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐาน และมีขอบเขตการทำธุรกรรมที่กว้างขึ้น เช่น การทำธุรกรรม Swap หรือ Forward ด้วยการใช้ประมาณการรายรับ รายจ่ายในอนาคต หรือใช้งบการเงินโดยรวม (balance sheet hedging)

    2. สามารถบริหารสภาพคล่องเงินบาทได้คล่องตัว โดยไม่จำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาทสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident Baht Account : NRBA) จากเดิมจำกัดยอดคงค้างไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการข้างต้นจะทำให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการกู้ยืมเงินบาทลดลง ธปท. จึงได้ปรับลดวงเงินคงค้างการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศแก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศแบบไม่มีภาระซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมในประเทศภายใต้โครงการ NRQC อีกด้วย

การดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่(FX ecosystem) ผ่านการปรับโครงสร้างการทำธุรกรรมเงินบาทในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มทั้งจำนวนผู้ทำธุรกรรม โดยเฉพาะนิติบุคคลต่างประเทศ และสภาพคล่องของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ รวมถึงเอื้อต่อการติดตามข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

วันที่ 5 มกราคม 2564 ธปท.ได้จัดให้มีการบรรยาย Media Briefing หัวข้อ : FX ecosystem และ NRQCโดยนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และนางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเงินบาทแข็งค่าเรื้อรัง และทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้ส่งออก ซึ่งสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้และปัจจัยภายในประเทศ ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดการเงิน

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งในปัจจุบัน ทั้งๆที่ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาการระบาดของโควิดรอบใหม่ เป็นผลจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งเร็ว จากเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market (EM) หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ออกมาชัดเจน เอื้อต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนในตลาดโลก รวมทั้งข่าวการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดที่มีความคืบหน้ามาก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความมั่นใจต่อตลาดการเงินมากขึ้นและออกไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูง

“โควิดระบาดใหม่ในไทย ค่าเงินบาทยังแข็งอยู่ ก็แสดงว่าปัจจัยภายนอกมีผลมากจริงๆ ส่วนปัญหาที่เงินบาทไทยแข็งมากกว่าเพื่อนบ้าน มีอาการแข็งเร็ว แข็งนำและแข็งนาน ก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา” นางสาวชญาวดีกล่าว

การบรรยาย Media Briefing หัวข้อ : FX ecosystem และ NRQCโดยนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ (ซ้าย)ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และนางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน

นางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น มาจาก 3 เรื่องสำคัญ คือ

ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องแรก คือ คนไทยลงทุนในประเทศน้อยและไม่ค่อยไปลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนในประเทศไม่ขยายตัวแต่กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนปี 2010 เติบโตสูงกว่า 20% แต่ปี 2019 โตไม่ถึง 10% และบางปีการลงทุนติดลบ นอกจากนี้สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ลดลงอีกด้วย โดยลดลงจาก 21 % ของ GDP ในปี 2012 มาที่ 17% ของ GDP ในปี 2019 และในช่วงเดียวกันการลงทุนภาครัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นโดยยังคงมีสัดส่วนที่ 6% ของ GDP

เมื่อการลงทุนน้อย ทำให้การนำเข้าเครื่องจักรผลิตลดลง ไทยจึงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องและสูงเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาคซึ่งเฉลี่ย 8% ของ GDP ในช่วง 5ปีที่ผ่านมา ขณะที่เงินออกไปลงทุนในต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ

นางสาวภาวิณี กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของเงินสกุลประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด พบว่า ประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าไทย คือ สิงคโปร์และไต้หวัน โดยสิงคโปร์เกินดุล 17% ของ GDP แต่สิงคโปร์เปิดให้นำเงินมาเป็นแลกเป็นเงินดอลลาร์ แล้วนำออกนอกประเทศได้ ส่งผลให้มีเงินออกนอกประเทศ 15% ของ GDP ทำให้สิงคโปร์สามารถกดค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ไว้ได้

ส่วนไต้หวันค่าเงินแข็งค่าราว 5% โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10% ซึ่งก็เปิดให้นำเงินออกไปได้เช่นกัน โดยไต้หวันมีสัดส่วนการออกไปลงทุนต่างประเทศ 12% จะเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่จะเปิดให้เอาเงินออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบัน กองทุนรวม บริษัทประกันต่างๆ เป็นต้น

“ส่วนของไทย มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 8% แต่มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศเพียง 1% เท่านั้น ดังนั้นเมื่อเงินไหลเข้ามาก็กดดันค่าเงินบาทแข็ง เพราะคนไทยไม่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากหลักเกณฑ์ธปท.ด้วย ซึ่งค่อนข้างเข้มงวดด้านการนำเงินออก แต่เปิดด้านเงินเข้า ประกอบกับมีบทเรียนปี 2540 ที่เมื่อเงินไหลออกแล้วเงินบาทอ่อน เขาไม่สบายใจที่จะเอาเงินออกไปนอกประเทศ “ นางสาวภาวิณีกล่าว

ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องที่สอง ผู้ประกอบการไทยมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของค่าเงินค่อนข้างสูง โดยเฉพาะผู้ส่งออก ซึ่งธปท. แบ่งเป็น2 กลุ่ม คือ

1 กลุ่มผู้ส่งออกไทยที่มีกำไรต่ำ มักได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ซึ่งจะเป็นผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง ส่วนใหญ่จะมีกำไรต่ำกว่า 5% เมื่อมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งหมดและนำมาแลกเป็นเงินบาทในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบต่อกำไรมาก ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มเกษตร ข้าว ยางพารา อาหาร นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการแข่งขันด้วยราคาอีก และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กจำนวนมากด้วย จึงเป็นกลุ่มที่น่าห่วง ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ควรต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และต้องทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

2 กลุ่มผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศต่ำ จะมีการกระจายตัวของกำไรที่ดีกว่า เนื่องจากผู้ส่งออกกลุ่มนี้จะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตเพื่อส่งออก เมื่อมีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศสามารถนำไปใช้ชำระค่าวัตถุดิบนอกประเทศได้ และเมื่อหักกลบสุทธิรายได้และรายจ่ายนอกประเทศ ทำให้ยอดสุทธิที่เป็นเงินตราต่างประเทศเหลือไม่สูงมาก เป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้ส่วนหนึ่ง ผู้ส่งออกกลุ่มนี้จะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับเป็นสินค้าที่ตั้งราคาขายสูงได้ จึงทำให้มีกำไรสูง ทำให้ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ากลุ่มแรก จึงเป็นกลุ่มที่ไม่น่าห่วง

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สาม คือ การแข่งขันการให้บริการธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ยังไม่มาก ทำให้ต้นทุนค่าบริการสูง ซึ่งประกอบด้วยค่าธรรมเนียมแลกเงิน 2.1% และค่าธรรมเนียมการโอน 4.5% ต่อรายการ เป็นผลมาจากผู้ให้บริการธุรกรรมของไทยกระจุกอยู่ในธนาคารพาณิชย์ถึง 99% ส่วนที่เหลือเป็นนอนแบงก์

นางสาวภาวิณี กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีสัดส่วนประมาณ 19-24% โดยฝั่งส่งออกมีการทำป้องกันความเสี่ยง 19% ของการส่งออกรวม และฝั่งนำเข้าทำป้องกันความเสี่ยง 24% ของการนำเข้ารวม

นอกจากนี้ หากแยกผู้ประกอบการขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี พบว่า รายใหญ่ทำป้องกันความเสี่ยงมากเกินครึ่งหรือราว 56% ของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมด ส่วนเอสเอ็มอีมีการป้องกันความเสี่ยงประมาณ 29% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด

“เหตุผลที่เอสเอ็มอีไม่ทำป้องกันความเสี่ยง ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งบอกว่าไม่รู้เรื่องการทำป้องกันความเสี่ยง อีกส่วนหนึ่งบอกไม่รู้วิธีการทำ และกลุ่มสุดท้ายรู้จักการทำป้องกันความเสี่ยง แต่การทำป้องกันความเสี่ยงมีต้นทุนแพง ซึ่งธปท.ได้เปรียบเทียบต้นทุนทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงของสถาบันการเงินไทยเทียบกับเพื่อนบ้าน พบว่า ของไทยมีต้นทุนสูงที่สุด เพราะฉะนั้น หากธปท.เปิดให้ผู้ให้บริการด้านนี้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการขยายให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงที่ต่ำลงได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นได้ในปลายไตรมาสแรกหรือต้นไตรมาส 2 นี้”นางสาวภาวิณีกล่าว

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สี่ เงินบาทอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก และการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศทำให้จำกัด ทำให้การบริหารจัดการด้านอัตราแลกเปลี่ยนทำได้น้อย โดยธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทเทียบกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีค่าเงินเพื่อนบ้านในระยะ 5 ปี พบว่า เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งหรืออ่อนค่าตามปัจจัยภายนอกกว่า 85% และเคลื่อนไหวตามปัจจัยในประเทศ 15%

“เมื่อพิจารณาจากปริมาณธุรกรรมเงินบาทแยกตามตลาดในช่วง 10 ปี เงินบาทเคลื่อนไหวในตลาดต่างประเทศมากกว่าเดิม จากปี 2010 ที่มีปริมาณธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศสัดส่วน 21% เพิ่มเป็น 61% ในปี 2019 แต่ไม่เห็นการเคลื่อนไหวของธุรกรรมในต่างประเทศ เพราะฉะนั้น ธปท.จะออกแบบนโยบายแก้ให้ตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหลายมาตรการดูแลแต่ไปไม่ถึงตลาดต่างประเทศ ธปท.ก็จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” นางสาวภาวิณีกล่าว

สำหรับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้พยายามปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ใน 4 ด้านด้วยกัน คือ

    1 การสนับสนุนให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้นสำหรับคนที่พร้อม อีกด้านหนึ่ง ธปท.จะเปิดให้นำสินทรัพย์ต่างประเทศเข้ามาให้ลงทุนในประเทศสำหรับคนที่ยังไม่พร้อม เพื่อเพิ่มโอกาสหาผลตอบแทนที่ดีขึ้นและช่วยให้คนไทยคุ้นเคยกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
    2 การปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าอาจไม่ทันกับสภาพแวดล้อมและไม่เอื้อให้คนไทยลงทุนได้ง่ายๆ
    3 ธปท.จะมีการเพิ่มผู้ให้บริการด้านการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากปัจจุบันที่มีธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้ให้บริการหลัก ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและลดต้นทุนการทำธุรกรรมให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน
    4 ธปท.จะติดตามมาตรการต่าง ๆที่ได้ออกไปและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เล่นในตลาดกับผลกระทบต่อค่าเงินบาท