ThaiPublica > เกาะกระแส > ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม (1): ธปท.ชี้ 24 ปี รายได้ดีขึ้น แต่ทรัพย์สินแย่ลง

ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม (1): ธปท.ชี้ 24 ปี รายได้ดีขึ้น แต่ทรัพย์สินแย่ลง

24 ธันวาคม 2019


ที่มาภาพ : https://ideas.darden.virginia.edu/economic-inequality-part-1

ภายใต้ปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ในเวลาอันใกล้ อีกด้านหนึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับดูเหมือนจะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถูกซ้ำเติมจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและไม่ได้เติบโตได้ดีเหมือนแต่ก่อน และนำไปสู่ความยากลำบากในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งสองด้านไปได้พร้อมๆกัน โดยเฉพาะในมิติของความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการศึกษาอย่างจริงจังเท่าใดนัก

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ชุดรายงาน “ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม” ซึ่งประกอบด้วย 3 บทความเกี่ยวกับมิติต่างๆของความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่ภาพรวมของความเหลื่อมล้ำจนถึง ความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ และความเหลื่อมล้ำในมิติของอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆและต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของรายได้ตามสภาพดินฟ้าอากาศต่างๆ

ในรายงานแรก ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21 โดยนายณัฏฐภัทร์ กิ่งเนตร เศรษฐกร ธนาคารแห่งประเทศไทย, นางสาวพรชนก เทพขาม เศรษฐกร ธนาคารแห่งประเทศไทย และนางสาวณัฐนรี มณีจักร นักศึกษาฝึกงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ส้านักงานภาคเหนือ ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 24 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำ “ด้านรายได้” ของไทยลดลงจาก 0.46 ในปี 2534 เหลือ 0.36 ในปี 2558 จากดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้หรือที่เรียกว่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ซึ่งวัดความแตกต่างระหว่างรายได้ของกลุ่มคนทีมีรายได้สูงและต่ำ โดยค่าอยู่ระหว่าง 0-1 และค่า 1 สะท้อนความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดที่คนเพียงคนเดียวถือครองรายได้ทั้งหมดและค่า 0 สะท้อนความเท่าเทียมที่ทุกคนมีรายได้เท่ากัน ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังสอดคล้องกับสัดส่วนครัวเรือนที่ยากจนที่ลดลงด้วยเช่นกันจาก 61%  ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในปี 2531 เหลือ 18% ในปี 2550 และเหลือ 2% ในปี 2558

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับอีกหลายประเทศในโลกจะพบว่าความเหลื่อมล้ำของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับสูง จากรายงานของ World Economic Forum ในปี 2561 ชี้ว่าระดับความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลก สูงกว่าเวียดนาม (อันดับที่ 29)  สิงคโปร์ (อันดับที่ 36) อาร์เจนติน่า (อันดับที่ 45) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 87)  ขณะที่ความแตกต่างของคนรวยและคนจนโดยเฉลี่ยพบว่าคนรวยที่มีรายได้สูงที่สุด 20% ยังมีรายได้สูงกว่าคนจนที่มีรายได้ต่ำที่สุด 20% สูงถึง 10.3 เท่าในปี 2558 โดยคนกลุ่มบนนี้มีรายได้รวมกันมากกว่ารายได้ครึ่งหนึ่งของคนทั้งหมดในประเทศมาตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในมิติของจำนวนคนจนพบว่ากว่า 50% ของคนจนทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรที่ขยายตัวต่ำ ตามราคาสินค้าเกษตรหลักที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาตลาดโลก รวมถึงจากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ

สุดท้ายความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูงหรือปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลในรายงาน The Inclusive Development Index 2018 ของ World Economic Forum ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5% ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 – 2561) และได้อันดับที่ 10 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้้าด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดจากทั้งหมด 107 ประเทศทั่วโลก

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสยังสูง พิจารณาจากการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน การสำรวจปี 2560 พบว่า ครัวเรือนไทยที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วน 24.8% และ 64.4% ตามลำดับ โดยอัตราการเข้าถึงสิ่งจำเป็นนี้แตกต่างกันตามรายได้ของครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังคงเห็นความเหลื่อมล้้า ด้านโอกาสทางการศึกษาในเชิงพื้นที่ ซึ่งพิจารณาจากระดับคะแนน PISA ของนักเรียนระดับมัธยมที่แยกตามภูมิภาค พบว่าคะแนนของนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ อาทิ  ภาคเหนือตอนบน ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคอีสานตอนล่างอย่างมีนัยสำคัญในทุกสาขาวิชา ซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคตด้วย

“กระนั้นความเหลื่อมล้ำมีมุมมองได้หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ด้านรายได้  ด้านโอกาส และด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งระดับความเหลื่อมล้ำแต่ละด้านมีทั้งด้านที่เพิ่มขึ้นและด้านที่ลดลง นอกจากนี้ การประเมินระดับของความเหลื่อมล้ำมีการใช้มาตรวัดที่หลากหลาย กอปรกับความครบถ้วนแม่นยำของข้อมูลโดยเฉพาะมูลค่าสินทรัพย์ของแต่ละครัวเรือนไทยทั้งประเทศก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียง อยู่เสมอ ดังนั้นจึงอาจเห็นผลการประเมินความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจไทยที่แตกต่างกันได้ ซึ่งทำให้สังคมไทย ยังมีความเข้าใจต่อความเหลื่อมล้ำไม่ตรงกัน” รายงานระบุ