ThaiPublica > เกาะกระแส > กต.แจงสหรัฐฯลดระดับ “ค้ามนุษย์” ไทยลงมาอยู่ที่ “Tier 2-W”

กต.แจงสหรัฐฯลดระดับ “ค้ามนุษย์” ไทยลงมาอยู่ที่ “Tier 2-W”

2 กรกฎาคม 2021


นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
ที่มาภาพ : www.facebook.com/ThaiMFA/

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแจงกรณีสหรัฐ ฯประกาศปรับลดระดับ “ค้ามนุษย์” ไทยจาก “Tier 2” ลงมาอยู่ที่ “Tier 2 Watch List” ชี้ที่ผ่านมาออกมาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ทั้ง 3 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม ยืนยันยังเดินหน้าต่อไป

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยท่าทีไทยต่อการประกาศผลการจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนี้

ตามที่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น. (เวลากรุงวอชิงตัน) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. 2021 (2021 TIP Report) โดยในปีนี้ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch List ลดระดับจาก Tier 2 เมื่อปีที่แล้ว

ไทยรับทราบการจัดระดับดังกล่าว และรู้สึกผิดหวังที่การจัดระดับไม่ได้สะท้อนอย่างเป็นธรรมถึงความพยายามและพัฒนาการความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี การจัดทำรายงาน TIP Report เป็นการประเมินและจัดระดับประเทศต่าง ๆ จากมุมมองของสหรัฐฯ ซึ่งมิได้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ การดำเนินการเรื่องนี้ของไทยเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย และเพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้ชาวไทย ชาวต่างชาติ รวมถึงแรงงานต่างด้าวในไทยตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยมีพัฒนาการความคืบหน้าเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดห้วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย ก็มีพัฒนาการเชิงคุณภาพอย่างมีนัยสำคัญในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

    1) การดำเนินคดี มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลง โดยการพิจารณาคดีกว่าร้อยละ 90 เสร็จสิ้น ภายในระยะเวลา 1 ปี การลงโทษผู้กระทำผิดมีอัตราโทษที่สูงขึ้น โดยมีจำนวนผู้ได้รับโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 67 ของผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษจำคุกทั้งหมด มีการให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด และการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19

    2) การคุ้มครองดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ยังคงยึดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (victim-centered approach) และคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ (trauma-informed care) โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการจัดบริการและคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย

    3) การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้มีการขยายเวลาอนุญาตให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 จำนวน 240,572 คน ทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย และลดความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลแรงงาน อาทิ การยกระดับมาตรฐานที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกในเรือประมง และการอำนวยความสะดวกการออกหนังสือคนประจำเรือ อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเสี่ยงถูกแสวงหาประโยชน์เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลไทยจะเดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด ขณะเดียวกันไทยพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีเจตนาสร้างสรรค์ ทั้งภายในไทยและต่างประเทศ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปในที่สุด