ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > KKP Research > KKP Researchคาดการณ์ GDP ปี’64 โต 2% จับตาสามปัจจัยกำหนดเศรษฐกิจ

KKP Researchคาดการณ์ GDP ปี’64 โต 2% จับตาสามปัจจัยกำหนดเศรษฐกิจ

2 กุมภาพันธ์ 2021


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร บรรยายภาพรวมเศรษฐกิจในงานแถลงข่าวผลประกอบการ 2563 และทิศทางธุรกิจปี 2564 ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่จัดขึ้นแบบออนไลน์เมื่อวันที่2 กุมภาพันธ์ ระบุ KKP Research ได้ปรับลดอัตราการเติบโต GDP เป็นร้อยละ 2 พร้อมให้ติดตาม ‘มาตรการควบคุมโรค-วัคซีน-มาตรการกระตุ้น’ 3 ประเด็นหลักที่จะกำหนดเศรษฐกิจ

“KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า กระทบภาคส่วนต่างๆ แตกต่างกัน และมีความไม่แน่นอนสูง โดยได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2564 ลงจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 2.0 จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นำไปสู่การออกมาตรการจำกัดการระบาดและการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนต่างๆ อาจทำให้ความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศล่าช้าออกไปอีก ในกรณีเลวร้ายหากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จนต้องมีมาตรการจำกัดที่ยาวนานขึ้น และไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ -1.2 ในปีนี้

  • KKP Research วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปีฉลู การต่อสู้โควิดระลอกใหม่ เสี่ยงสะดุด 3 ปัจจัย
  • ทั้งนี้ สามปัจจัยหลักที่กำหนดเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่

    (1) ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดรอบใหม่ ผลกระทบจากมาตรการควบคุมของรัฐ และขีดจำกัดของระบบสาธารณสุข ซึ่งหากการแพร่ระบาดใช้ระยะเวลานานในการควบคุม หรือจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข อาจนำไปสู่การยกระดับความเข้มของมาตรการควบคุมภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศชะลอตัวลงอีกครั้ง

    การระบาดรอบใหม่นี้พบว่าผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงกว่า แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาควบคุมการแพร่ระบาดนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และไม่เข้มงวดเท่าปีที่แล้ว ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเบาลงแต่ยาวนานขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของประชาชนทั่วไป ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะทำให้ไม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้อย่างต่ำ 2 ไตรมาส อาจทำให้เศรษฐกิจไทยตกลงไปได้มากถึง 1.2%

    (2) ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และการกระจายวัคซีน หากวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนทั้งในแง่ประสิทธิผลของการป้องกัน ผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือความล่าช้าในการได้รับและการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน อาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาดและการเปิดการท่องเที่ยว

    มีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล หรือประเทศในสหภาพยุโรป คาดว่าภายในไตรมาส 2 ประเทศเหล่านี้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd community) ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนว่าจะสามารถป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หรือความล่าช้าในการได้รับและการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน อาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาดและการเปิดการท่องเที่ยว

    (3) นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ประคับประคองความอยู่รอดของภาคธุรกิจและแรงงาน และกระตุ้นเพื่อชดเชยกำลังซื้อและความต้องการในการลงทุนที่หายไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง

    KKP Research ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยทั้งที่ผ่านมาและภายในปีนี้จะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพเป็นอย่างมาก ผลกระทบในด้านต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเป็น ‘แผลเป็น’ หรือมีแนวโน้มทรุดตัวเป็นเวลานาน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกนโยบายการคลังและการเงินเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบัน

    ในด้านนโยบายการคลัง ที่ผ่านมามีการออกนโยบาย เช่น การออกพรก.การกู้เงิน หรือมาตรการเราชนะ ซึ่งการกู้เงินจำนวนมากของรัฐบาลอาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการกู้หนี้สาธารณะที่อาจเพิ่มขึ้นไปประชิดเพดานหนี้ (60% ของจีดีพี) จากในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 56-57% แต่เนื่องด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำ จึงเป็นโอกาสอันดีในการนำงบประมาณไปกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อสร้างประโยชน์ระยะยาวแก่ประชาชน เช่น การลงทุนในโครงการของรัฐ หรือโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น

    ส่วนนโยบายการเงิน ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยลงมาอยู่ที่ 0.5% อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยควรออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม การลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund: FIDF) เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และเพื่อให้ระบบธนาคารส่งผ่านส่งต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงแก่ผู้กู้ได้ นอกจากนี้ยังควรออกมาตรการเพื่อส่งต่อสภาพคล่องไปหาผู้กู้ รวมไปถึงสนับสนุนปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ผู้กู้ และช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

    ยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากการรับมือปัญหาเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นระยะยาวที่ KKP Research เห็นว่าควรได้รับความใส่ใจ คือ (1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากวิกฤตโควิด ทั้งโอกาสในการศึกษาและโอกาสด้านการทำงาน และ (2) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการแข่งขันในตลาดส่งออกและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะยิ่งเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภค โครงสร้างการค้า และห่วงโซ่การผลิตโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

    “ดังนั้นรัฐบาลจึงควรหาวิธีปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ และส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ ผ่านการกำจัดอุปสรรคต่างๆ ของการลงทุน และเตรียมความพร้อมสำหรับการรับเทคโนโลยีใหม่ๆ การเพิ่มทักษะของแรงงาน การพัฒนาการศึกษา เพื่อตอบรับกับการแข่งขันในโลกหลังโควิด-19” ดร.พิพัฒน์ กล่าว