ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ปี 2021 จุดเปลี่ยนแก้ไข Climate Change จาก 5 เหตุผล

ปี 2021 จุดเปลี่ยนแก้ไข Climate Change จาก 5 เหตุผล

2 มกราคม 2021


ที่มาภาพ:https://www.bbc.com/news/science-environment-55498657

2021 เป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการรายงานของจัสติน โรว์แลตต์ หัวหน้าข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งสำนักข่าวบีบีซี

ประเทศต่างๆมีเวลาจำกัดในการดำเนินการ หากโลกต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผล 5 ข้อที่ทำให้ปี 2021 เป็นปีที่สำคัญในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นประเด็นใหญ่ของปี 2020 ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้

แต่จัสตินคาดหวังว่าภายในสิ้นปี 2021 เมื่อมีวัคซีนออกใช้จะทำให้มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าไวรัส

ปี 2021 เป็นปีแห่งการบดขยี้ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า คิดว่านี่เป็นช่วงเวลา “ไปต่อหรือหยุดพัก” ของประเด็นนี้

แต่ก็มีเหตุผลที่เชื่อว่าปี 2021 จะทำให้คนที่มองโลกในแง่ร้ายจะงงงวย และเห็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในความมุ่งมั่นของโลกในเรื่องสภาพภูมิอากาศ

การประชุมสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญ

ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ผู้นำระดับโลกจะมารวมตัวกันที่กลาสโกว์เพื่อต่อยอดการประชุมที่สำคัญของปารีสปี 2015

ปารีสมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่างๆทั่วโลกมารวมตัวกันและเห็นพ้องต้องกันว่า พวกเขาต้องช่วยแก้ไขปัญหานี้

ปัญหาคือ ข้อผูกพันของประเทศต่างๆในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในขณะนั้น ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยที่ประชุม

ในปารีส ทั่วโลกตกลงที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการพยายามจำกัด การเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนอุตสาหกรรมภายในสิ้นศตวรรษนี้ และมีเป้าหมายที่จะให้เพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้

แต่เรากำลังหลุดเป้าหมาย ภายใต้แผนปัจจุบันคาดว่าอุณหภูมิโลกจะทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสภายใน 12 ปีหรือสั้นกว่านั้น และจะเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้

ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงปารีส ประเทศต่างๆให้คำมั่นว่าจะกลับมาพบกันทุกๆ 5 ปีและเพิ่มความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และนี่คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในกลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายน 2020 เนื่องจากการระบาดของโรคมีผลกระทบและทำให้การประชุมถูกเลื่อนออกมาเป็นปีนี้ ดังนั้นการประชุมที่กลาสโกว์ 2021 จึงเป็นเวทีที่สามารถลดคาร์บอนได้

ประเทศต่างๆได้ลงนามในการลดคาร์บอนลงอีกอย่างมาก

และมีความคืบหน้าแล้ว

การประกาศที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปีที่แล้ว ออกมาอย่างไม่คาดหมาย โดยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนประกาศว่า จีนตั้งเป้าที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/science-environment-55498657

นักสิ่งแวดล้อมพากันตกตะลึง การลดการปล่อยคาร์บอนมักถูกมองว่าเป็นงานที่มีต้นทุนสูงมาโดยตลอด แต่จีนเป็นประเทศที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนราว 28% ของโลก ได้ให้คำมั่นอย่างไม่มีเงื่อนไขว่า จะดำเนินการไม่ว่าประเทศอื่น ๆ จะทำตามหรือไม่

นี่เป็นการพลิกผันอย่างสิ้นเชิงจากการเจรจาที่ผ่านมา ทุกคนเกรงว่าอาจมีต้นทุนในการลดการปล่อยคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจของตัวเอง ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ยังคงได้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และก็ไม่ใช่จีนประเทศเดียว

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่แห่งแรกของโลกที่ทำข้อผูกมัดทางกฎหมาย เพื่อปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิในเดือนมิถุนายน 2019 ด้านสหภาพยุโรปทำข้อตกลงตามมาในเดือนมีนาคม 2020

จากนั้นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เข้าร่วม ตามที่สหประชาชาติได้ประเมินไว้ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมดกว่า 110 ประเทศที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในช่วงกลางศตวรรษ ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศเหล่านี้รวมกันแล้วมีสัดส่วนกว่า 65% ของการปล่อยทั่วโลกและมีสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจโลก

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้กลับมาเข้าร่วมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งและโจ ไบเดนคว้าชัยชนะ

ประเทศเหล่านี้ต้องให้ข้อมูลรายละเอียดว่า วางแผนที่จะบรรลุเป้าหมายใหญ่อันใหม่อย่างไร เพราะจะเป็นส่วนสำคัญของวาระการประชุมของกลาสโกว์ แต่ในความเป็นจริงการที่ประเทศเหล่านี้ประกาศว่า ต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก

พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ถูกที่สุดเท่าที่เคยมีมา

มีเหตุผลที่ดีว่า ทำไมหลาย ๆ ประเทศถึงประกาศว่า มีแผนที่จะให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ต้นทุนที่ลดลงของพลังงานหมุนเวียนกำลังเปลี่ยนการคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ในเดือนตุลาคมปี 2020 ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ(International Energy Agency) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศได้สรุปว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดีที่สุด เป็น “แหล่งไฟฟ้าที่ถูกที่สุดในประวัติศาสตร์”

หากจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ พลังงานหมุนเวียนมักมีราคาถูกกว่าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในส่วนใหญ่ของโลก และหากประเทศต่างๆทั่วโลกเพิ่มการลงทุนในพลังงานลม แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ราคาก็มีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีกจนถึงจุดที่มีราคาถูกมาก ก็จะเริ่มมีโอกาสเชิงพาณิชย์ที่จะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซที่มีอยู่และเข้าไปแทนที่ เพราะต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนเป็นไปตามตรรกะของการผลิตทั้งหมด ยิ่งผลิตมากก็ยิ่งถูกลง ยิ่งสร้างมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถูก และราคาถูกก็ยิ่งสร้างมากขึ้น

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/science-environment-55498657

เมื่อลองคิดดูแล้ว นักลงทุนก็ไม่ต้องถูกกดดันจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่ทำเพื่อผลตอบแทน และรัฐบาลต่างก็รู้ดีว่า การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนในเศรษฐกิจของตนเอง จะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงพลังงานทั่วโลก โดยทำให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในทุกที่

โควิดเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้กระตุ้นให้ตระหนักถึงความปลอดภัยและเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่โลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่เราไม่สามารถควบคุมได้

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

ในการตอบสนองต่อการระบาด รัฐบาลหลายประเทศกำลังเดินหน้าด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกแบบมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และข่าวดีก็คือ ที่ผ่านมาแทบจะไม่เคยมีต้นทุนที่ถูกมาก สำหรับรัฐบาลในการลงทุนประเภทนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับศูนย์หรือติดลบ

ที่มาภาพ:https://www.bbc.com/news/science-environment-55498657

สิ่งนี้สร้างโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อน ในวลีที่ติดหูกันในตอนนี้คือ “กลับมาดีกว่าเดิม” “build back better”

สหภาพยุโรปและคณะบริหารชุดใหม่ของโจ ไบเดนในสหรัฐฯได้ให้สัญญาว่า จะลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้าและเริ่มกระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ทั้งสองประเทศระบุว่า หวังว่าประเทศอื่น ๆ จะเข้าร่วม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก แต่ก็เตือนว่า นอกจากมีมาตรการจูงใจแล้วยังมีบทลงโทษที่เป็นภาษีนำเข้า ที่จะเรียกเก็บจากประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเกินไป

แนวคิดนี้อาจช่วยกระตุ้นประเทศที่ยังตามหลังอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเช่น บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบีย ให้เข้าร่วม

แต่ข่าวร้ายก็คือ สหประชาชาติระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้จ่ายกว่า 50% ในภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงและแรงกดดันจากสาธารณชนที่เพิ่มขึ้น ในการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศยังเปลี่ยนทัศนคติในภาคธุรกิจ

ทั้งนี้มีเหตุผลทางการเงินที่ดีสำหรับเรื่องนี้ ก็คือ ทำไมจะต้องลงทุนในบ่อน้ำมันใหม่ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กำลังจะล้าสมัยก่อนที่จะคืนทุนได้ในช่วงการดำเนินการตลอด 20-30 ปี?

ทำไมต้องมีความเสี่ยงด้านคาร์บอนในพอร์ตการลงทุน?

แนวคิดนี้กำลังกระจายวงในตลาด เฉพาะปีนี้เพียงปีเดียวราคาหุ้นของเทสลาที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เทสลาเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/science-environment-55498657

ขณะเดียวกันราคาหุ้นของเอ็กซอนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกไม่ว่าจะวัดด้านใดก็ตาม ลดลงจนถูกปลดออกจากดัชนี Dow Jones Industrial Average ซึ่งเป็นดัชนีสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ นำความเสี่ยงด้านสภาพอากาศมาใส่ไว้ในการตัดสินใจทางการเงินเพราะต้องการให้ธุรกิจและนักลงทุน แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมและการลงทุนนั้น เป็นขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนไปสู่โลกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์

ธนาคารกลาง 70 แห่งกำลังดำเนินการเพื่อผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้น และการวางหลักเกณฑ์เหล่านี้ไว้ในสถาปัตยกรรมการเงินของโลกจะเป็นจุดสำคัญในการประชุมกลาสโกว์

ดังนั้นจึงมีเหตุผลที่ดีที่จะความหวัง แต่ก็ยังห่างไกลที่จะทำข้อตกลงให้สำเร็จ