ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > 2020 ปีที่ร้อนที่สุดส่งท้ายทศวรรษ อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส

2020 ปีที่ร้อนที่สุดส่งท้ายทศวรรษ อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส

31 ธันวาคม 2020


2020 ปิดท้ายปีด้วยการเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุด (2011-2020) เป็นประวัติการณ์ รวมทั้งเป็น 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย และอาจเทียบได้กับปีที่ร้อนที่สุดอย่างปี 2016 ตลอดจนยังเป็นปีที่ 6 ที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 จากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO)

ปี 2020 ยังร้อนมากเป็นพิเศษแม้จะมีปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งก่อตัวเต็มที่และส่งผลกระทบต่อรูปแบบสภาพอากาศในหลายส่วนของโลกแล้ว จากแบบจำลองส่วนมาก ลานีญามักรุนแรงสูงสุดในเดือนธันวาคม หรือมกราคม และจะต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564

รายงานระบุว่า ความร้อนในมหาสมุทรอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และกว่า 80% ของมหาสมุทรทั่วโลกประสบกับคลื่นความร้อนทางทะเลอยู่ช่วงหนึ่งในปี 2020 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำที่เป็นกรดอยู่แล้วจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“ปีที่ร้อนเป็นประวัติการณ์มักจะตรงกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงดังที่เจอมาแล้วในปี 2016 แต่ช่วงนี้เรากำลังเจอกับลานีญาซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกเย็นลง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ความร้อนของปีนี้ลดลง และแม้ว่าขณะนี้มีปรากฏการณ์ลานีญา แต่ความร้อนปีนี้ใกล้เคียงกับสถิติก่อนหน้าของปี 2016″ นายเพตเทอรี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าว

ในรายงานสภาพภูมิอากาศเบื้องต้นของ WMO ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ระบุว่า จากชุดข้อมูลทั้ง 5 ชุดในช่วง 10 เดือนแรกของปี (จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม) บ่งชี้ว่า ปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2016 แต่ร้อนกว่าปี 2019

ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/media/news/2020-closes-decade-of-exceptional-heat

อากาศยังร้อนต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน จากรายงานประจำเดือนของ หน่วยงานด้านอากาศของสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service) องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration — NOAA) และสถาบันการบินอวกาศกอดดาร์ด (Goddard Institute for Space Studies) ของ NASA และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) ข้อมูลล่าสุดจัดให้เดือนพฤศจิกายน ร้อนที่สุดหรือทำสถิติร้อนมากสุดเป็นอันดับสอง

นายเพตเทอรีกล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีครบรอบ 5 ปีของการจัดทำข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรายินดีกับการที่รัฐบาลให้คำมั่นครั้งล่าสุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ขณะนี้เรายังห่างไกลเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องพยายามมากขึ้น”

“น่าเสียดายที่ปี 2020 เป็นอีกปีที่สภาพอากาศของเราผิดปกติ เราเห็นอุณหภูมิที่สูงขึ้นสุดขั้วทั้งบนบก ในทะเล และโดยเฉพาะในอาร์กติก ไฟป่าซึ่งกินพื้นที่กว้างใหญ่ในออสเตรเลีย ไซบีเรีย ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และอเมริกาใต้ ส่งควันพวยพุ่งไปทั่วโลก เราเห็นพายุเฮอริเคนหลายลูกเป็นประวัติการณ์ในมหาสมุทรแอตแลนติก รวมถึงเฮอริเคนที่รุนแรงระดับ 4 เกิดขึ้นติดๆ กัน อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่อเมริกากลางในเดือนพฤศจิกายน น้ำท่วมในบางส่วนของแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมากและทำลายความมั่นคงด้านอาหารของคนหลายล้านคน”

ความร้อนสูงบันทึกได้ทั่วเอเชียตอนเหนือ โดยเฉพาะอาร์กติกแถบไซบีเรียซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยกว่า 5 องศาเซลเซียส ความร้อนในไซบี เรีย แตะระดับสุดยอด 38.0 องศาเซลเซียสในปลายเดือนมิถุนายน และทำให้เกิดฤดูไฟป่าที่กินเวลานานที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมา 18 ปี เมื่อวัดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากไฟป่า

ปีที่ร้อนที่สุดทั้ง 3 ปีนั้นแตกต่างกันน้อยมาก และการจัดอันดับปีที่ร้อนที่สุดที่ชัดเจนอาจเปลี่ยนแปลงหลังจากมีข้อมูลตลอดทั้งปี

การจัดอันดับอุณหภูมิของแต่ละปีมีความสำคัญน้อยกว่าแนวโน้มในระยะยาว นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 แต่ละทศวรรษอากาศร้อนขึ้นกว่าเดิม และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะต่อเนื่อง เพราะการสะสมก๊าซดักความร้อนหรือปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลาหลายสิบปี จึงส่งผลให้โลกร้อนขึ้นในอนาคต

รายงานรายงานคาดการณ์สภาพภูมิอากาศโลกประจำปี (WMO’s Global Annual to Decadal Climate Update) ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำในการจัดทำ ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนอุตสาหกรรม (1850-1900) และมีโอกาสอย่างน้อย 1 ใน 5 ที่อุณหภูมิจะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเป็นระยะสั้นๆ ภายในปี 2024

WMO จะรายงานตัวเลขอุณหภูมิในภาพรวมของปี 2020 ในเดือนมกราคม โดยใช้ชุดข้อมูลอุณหภูมิโลก 5 ชุด และข้อมูลนี้จะบรรจุในรายงานสภาพภูมิอากาศในปี 2020 ฉบับหลังสุด ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2564 รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบสภาพภูมิอากาศบางด้าน

การคาดการณ์อุณหภูมิโลกประจำปี 2021 ขององค์การอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรบ่งชี้ว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลกอีกครั้ง แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากลานีญาที่ทำให้อากาศเย็นลงชั่วคราว แต่ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดมักจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 ของปรากฎการณ์

รายงานสภาพภูมิอากาศเบื้องต้นของ WMO ซึ่งอิงจากการมีส่วนร่วมขององค์กรระหว่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญหลายสิบราย และเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2020 แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบสูง เช่น ความร้อนรุนแรง ไฟป่าและน้ำท่วม ตลอดจนฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทำลายสถิติ ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ซ้ำเติมภัยคุกคามต่อสุขภาพของคน ความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 แต่ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้โลกร้อนขึ้นอีกหลายชั่วอายุคน เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซดอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลสภาพอากาศของทั้งปีไว้ดังนี้

ทะเลน้ำแข็ง
ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 อาร์กติกได้ร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างน้อย 2 เท่า ซึ่งตอกย้ำแนวโน้มที่ลดลงของช่วงฤดูร้อนในทะเลน้ำแข็งอาร์กติก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในบริเวณละติจูดกลาง

น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกลดลงมาที่ระดับต่ำสุดของปีในเดือนกันยายน ซึ่งต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 จากการบันทึกด้วยดาวเทียมในรอบ 42 ปี น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกในเดือนกรกฎาคมและตุลาคม 2020 ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทะเลน้ำแข็งในทะเลลัปเตฟ (Laptev) ลดต่ำมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง และเส้นทางเดินเรือผ่านทางตอนเหนือของรัสเซียที่เรียกว่า Northern Sea Route ไม่มีน้ำแข็งหรือแทบจะไม่มีน้ำแข็งเลยช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2020

ส่วนน้ำแข็งในแอนตาร์กติกปี 2020 อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 42 ปีเล็กน้อย ด้านกรีนแลนด์ น้ำแข็งยังลดลงต่อเนื่อง โดยน้ำแข็งหายไป 152 กิกะตันในปีนี้ แม้ลดลงในอัตราที่ช้ากว่าปี 2019

ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/media/press-release/2020-track-be-one-of-three-warmest-years-record

ระดับน้ำทะเลและความร้อนของมหาสมุทรเพิ่มขึ้น
มวลความร้อนในมหาสมุทรในปี 2019 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากชุดข้อมูลที่ย้อนกลับไปในปี 1960 และมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะดูดซับความร้อนได้เร็วขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยกว่า 90% ของพลังงานส่วนเกินที่สะสมในระบบภูมิอากาศ เป็นผลมาจากความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่ไหลลงสู่มหาสมุทร

โดยเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 1993 การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3.3±0.3 มิลลิเมตรต่อปี การหายไปอย่างมากของมวลน้ำแข็งจากกรลดลงของแผ่นน้ำแข็ง เป็นสาเหตุหลักทำให้งระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลทั่วโลกในปี 2020 ใกล้เคียงกับปี 2019 และสอดคล้องกับแนวโน้มระยะยาว ภาวะลานีญาทำให้ระดับน้ำทะเลโลกลดลงเล็กน้อยเมื่อเร็วๆ นี้

จากคลื่นความร้อนบนบก ความร้อนสูงสามารถส่งผลกระทบต่อชั้นผิวของมหาสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง และมีผลหลายด้านต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน จากการใช้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพื่อตรวจสอบคลื่นความร้อนในทะเลโดยดาวเทียม และแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ปานกลาง รุนแรง รุนแรงมาก พบว่ามหาสมุทรส่วนใหญ่ประสบกับคลื่นความร้อนทางทะเลที่ ‘รุนแรง’ อย่างน้อยหนึ่งช่วงในปี 2020 ทะเลลัปเตฟประสบกับคลื่นความร้อนทางทะเลที่รุนแรงตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ระดับน้ำแข็งในทะเลต่ำผิดปกติในภูมิภาคและพื้นที่ใกล้เคียงมีคลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อน

ความเป็นกรดของมหาสมุทรกำลังเพิ่มขึ้น มหาสมุทรดูดซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศประมาณ 23% ต่อปีซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ต้นทุนทางนิเวศวิทยาของกระบวนการนี้ในมหาสมุทรมีสูง เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยากับน้ำทะเลทำให้ค่า pH (การวัดความเป็นกรดหรือด่าง ค่า pH น้อยแสดงว่า ความเป็นกรดสูงขึ้น) ลดลง กระบวนการนี้รู้จักกันดีว่า คือ ปรากฏการณ์ทะเลกรด อีกทั้งค่า pH เฉลี่ยลดลงในสถานีตรวจการณ์ระหว่างปี 2015 และ 2019 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีข้อมูล การวัดตัวแปรอื่น ๆจากหลายแหล่งแสดงให้เห็นว่า ความเป็นกรดของมหาสมุทรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรง

  • น้ำท่วม
  • อุทกภัยครั้งรุนแรงส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนในแอฟริกาตะวันออก และซาเฮล เอเชียใต้ จีนและเวียดนาม

    ในแอฟริกา ซูดาน และเคนยา เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 285 รายในเคนยาและ 155 รายในซูดาน ระดับน้ำในทะเลสาบวิกตอเรียแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคม แม่น้ำไนเจอร์และแม่น้ำไนล์สูงเป็นประวัติการณ์ที่ไนเจอร์ และคาร์ทูม (ซูดาน) น้ำท่วมยังส่งผลให้เกิดการระบาดของตั๊กแตนอย่างต่อเนื่อง

    ในเอเชียใต้ อินเดียประสบกับ 1 ใน 2 ฤดูมรสุมที่ฝนตกชุกที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ฝนตกชุกที่สุดในของปากีสถานที่บันทึกได้ และพบว่ามีน้ำท่วมในวงกว้างทั่วทั้งภูมิภาค (รวมทั้งบังกลาเทศ เนปาล และพม่า)

    ในประเทศจีน ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำแยงซีในช่วงฤดูมรสุม ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 279 ราย

    ในประเทศเวียดนาม ฝนที่ตกหนักตามปกติจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือรุนแรงขึ้น จากพายุไซโคลนเขตร้อน และพายุดีเปรสชันที่ต่อเนื่องกันโดยทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม 8 ครั้งในเวลาไม่ถึง 5 สัปดาห์

  • ความร้อน ความแล้งและไฟ
  • ในพื้นที่ตอนในของทวีปอเมริกาใต้ ภัยแล้งที่รุนแรงส่งผลกระทบหลายพื้นที่ในปี 2020 โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ตอนเหนือของอาร์เจนตินา ปารากวัย และพื้นที่ชายแดนทางตะวันตกของบราซิล เฉพาะบราซิลเพียงแห่งเดียวความสูญเสียทางการเกษตรมีมูลค่าประมาณเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังเกิดไฟป่าใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาค และรุนแรงที่สุดในพื้นที่ชุ่มน้ำพันทานาล (Pantanal) ทางตะวันตกของบราซิล

    ในสหรัฐอเมริกาเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงปลายฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ความแห้งแล้งและความร้อนจัดที่กระจายไปทั่ว เป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่า และเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดและแห้งแล้งที่สุดเป็นประวัติการณ์ทางตะวันตกเฉียงใต้ หุบเขามรณะ (Death Valley) ในแคลิฟอร์เนียอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 54.4 องศาเซลเซียสในวันที่ 16 สิงหาคมซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดในโลกในรอบ 80 ปี

    ในทะเลแคริบเบียน คลื่นความร้อนลูกใหญ่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนและกันยายน อุณหภูมิสูงถึง 39.7 องศาเซลเซียสที่ เวกุยตาส (Veguitas) ในวันที่ 12 เมษายนซึ่งเป็นสถิติของประเทศคิวบา ขณะที่ฮาวานามีวันที่ร้อนที่สุดด้วยอุณหภูมิ 38.5 องศาเซลเซียส

    ด้านออสเตรเลียความร้อนทำลายสถิติในช่วงต้นปี 2020 รวมถึงอุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ในเขตเมืองของออสเตรเลีย ทางตะวันตกของซิดนีย์ที่สูงถึง 48.9 องศาเซลเซียสในวันที่ 4 มกราคม

    ส่วนยุโรปประสบปัญหาภัยแล้งและคลื่นความร้อน แม้โดยทั่วไปไม่รุนแรงเท่าในปี 2019 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก อุณหภูมิที่เยรูซาเล็มมีสถิติออลไทม์ไฮที่ 42.7 องศาเซลเซียส และวัดได้ 48.9 องศาเซลเซียสที่ไอแลต (Eilat) ในวันที่ 4 กันยายน และหลังจากเกิดคลื่นความร้อนปลายเดือนกรกฎาคม ในตะวันออกกลาง สนามบินคูเวตวัดอุณหภูมิได้ 52.1 องศาเซลเซียสและแบกแดด 51.8 องศาเซลเซียส

  • พายุหมุนเขตร้อนและพายุ
  • ในปี 2020 จำนวนพายุไซโคลนเขตร้อนทั่วโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีพายุไซโคลน 96 ลูก ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน ในซีกโลกเหนือปี 2020 และฤดูกาลของซีกโลกใต้ปี 2019-2020

    ภูมิภาคแอตแลนติกเหนือมีฤดูกาลที่ผิดปกติโดยมีพายุหมุนเขตร้อน 30 ลูก ณ วันที่ 17 พฤศจิกายนมากกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (1981-2010) ถึง 2 เท่า และทำลายสถิติของทั้งฤดูกาลในปี 2005 ในช่วงเวลาที่ตามปกติแล้วพายุหมุนจะอ่อนตัวลง กลับเกิดพายุเฮอริเคนที่รุนแรงระดับ 4 ถึง 2 ลูกทำให้แผ่นดินถล่มในอเมริกากลาง ในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

    พายุไซโคลนอำพันซึ่งเป็นสาเหตุของแผ่นดินถล่มใกล้ชายแดนอินเดีย-บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เป็นพายุไซโคลนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ โดยมีรายงานการสูญเสียทางเศรษฐกิจในอินเดียประมาณ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การอพยพคนจำนวนมากในพื้นที่ชายฝั่งในอินเดียและบังกลาเทศ ช่วยลดการสูญเสียของชีวิตเมื่อเทียบกับพายุไซโคลนในภูมิภาคก่อนหน้านี้

    ความเสี่ยงและผลกระทบ
    ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ผู้คนกว่า 10 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่จากภัยพิบัติจากสภาพอากาศและทางน้ำ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาบสมุทรแอฟริกา ในปี 2020 การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้เพิ่มความกังวลอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคน

    การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ทำให้ความเสี่ยงของการอพยพ การฟื้นฟูและการบรรเทาทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบสูงขึ้นไปอีก ตัวอย่าง ในฟิลิปปินส์แม้ผู้คนกว่า 180,000 คนจะถูกอพยพออกไปก่อนที่พายุไซโคลนเขตร้อนหว่องฟง ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ความจำเป็นในการใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้คนจำนวนมากได้และพื้นที่ในศูนย์อพยพใช้ได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

    ความไม่มั่นคงด้านอาหารได้เพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2014 หลังจากลดลงไปหลายทศวรรษ โดยมีสาเหตุจากความขัดแย้งและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศและสภาพอากาศที่สุดขั้ว ประชากรเกือบ 690 ล้านคนหรือ 9% ของประชากรโลกไม่ได้รับอาหารและประมาณ 750 ล้านคนประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารขั้นรุนแรงในปี 2019 และจากข้อมูลล่าสุดของ FAO จำนวนคนที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ภาวะฉุกเฉินและความอดอยากเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 135 ล้านคนใน 55 ประเทศ

    จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) และโครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) ผู้คนกว่า 50 ล้านคนได้รับผลกระทบ 2 ด้าน จากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ) และการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ประเทศต่างๆในอเมริกากลางกำลังได้รับผลกระทบ 3 ด้านจาก หนึ่งเฮอริเคนเอตต้า และเฮอริเคนไอโอต้า สองการระบาดของโควิด-19 และสามวิกฤตด้านมนุษยชาติที่เกิดก่อนแล้ว รัฐบาลฮอนดูรัสประเมินว่า พื้นที่ปลูกพืชไร่ 53,000 เฮกตาร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าว ถั่วและอ้อย ถูกพายุกวาดล้างไป

    ผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมในทางลบ ได้แก่ ผลกระทบต่อดิน เช่น ภัยแล้ง ไฟป่าในพื้นที่ป่า และพื้นที่ปาพรุ ความเสื่อมโทรมของดิน พายุทรายและฝุ่น การกลายเป็นทะเลทราย และมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อธรรมชาติและสัตว์ป่า ผลกระทบต่อระบบทางทะเล ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเป็นกรดในมหาสมุทร การลดลงของออกซิเจนในมหาสมุทร การเสื่อมโทรมของป่าชายเลน และการฟอกขาวของปะการัง

    บทเรียนและโอกาสในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ

    จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ภาวะถดถอยทั่วโลกในปัจจุบันที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การออกนโยบายที่จำเป็นสำหรับการบรรเทาผลกระทบเป็นเรื่องท้าทาย แต่ยังมีโอกาสในการออกแบบเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยืดหยุ่น ซึ่งจะสนับสนุน GDP และการจ้างงานในช่วงการฟื้นตัว

    เรียบเรียงจาก
    2020 closes a decade of exceptional heat
    2020 on track to be one of three warmest years on record