ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องปกติใหม่ WMO ชี้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสทุกปีในอีก 5 ปีข้างหน้า

เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องปกติใหม่ WMO ชี้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสทุกปีในอีก 5 ปีข้างหน้า

10 กรกฎาคม 2020


ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/media/press-release/new-climate-predictions-assess-global-temperatures-coming-five-years

ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคก่อนอุตสาหกรรม (1850-1900) ในแต่ละปี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และมีโอกาส 20% ที่อย่างน้อยหนึ่งปีที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ข้อมูลข้างต้นมาจากรายงานคาดการณ์สภาพภูมิอากาศประจำปี Global Annual to Decadal Climate Update สำหรับปี 2020-2024 ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO)

รายงานดังกล่าวมีสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษเป็นแกนนำในการจัดทำ ได้ให้แนวโน้มสภาพภูมิอากาศในอีก 5 ปีข้างหน้าและอัปเดตรายปี ซึ่งเป็นผลจากความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและคอมพิวเตอร์รุ่นที่ดีที่สุด จากศูนย์ภูมิอากาศชั้นนำทั่วโลก เพื่อเป็นข้อมูลที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถนำไปใช้ได้

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียสจากช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมไปแล้ว โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วง 5 ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

“รายงานฉบับนี้ที่จัดทำจากทักษะทางวิทยาศาสตร์ระดับสูงแสดงให้เห็นว่า มีความท้าทายใหญ่รออยู่ข้างหน้าในการที่จะบรรลุข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีเป้าหมายรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในศตวรรษให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสจากระดับยุคก่อนอุตสาหกรรม และความพยายามที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส” นายเพตเทอรี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าว

การคาดการณ์ได้คำนึงถึงความผันแปรตามธรรมชาติ รวมถึงอิทธิพลที่มนุษย์มีต่อสภาพอากาศ เพื่อให้การคาดการณ์ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ของอุณหภูมิ ตลอดจนปริมาณน้ำฝน รูปแบบของลมและตัวแปรอื่นๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า แบบจำลองการคาดการณ์ไม่ได้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและละอองลอยในอากาศ อันเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส

“WMO ได้ตอกย้ำมาต่อเนื่องว่า การชะลอตัวของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่สิ่งทดแทนการดำเนินงานร่วมกันอย่างยั่งยืนด้านสภาพอากาศ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีอายุนานในชั้นบรรยากาศ จึงไม่คาดว่าการลดลงของการปล่อยก๊าซในปีนี้จะส่งผลต่อให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลดลง” นายทาลาสกล่าว

“ขณะที่โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดวิกฤติสุขภาพทั่วโลกและวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรง ความล้มเหลวในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจนานนับหลายศตวรรษ รัฐบาลควรใช้โอกาสในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและเพื่อให้สามารถกลับไปเติบโตได้ดีกว่าเดิม” นายทาลาสกล่าว

ศาตราจารย์อดัม สไคฟ์ หัวหน้าโครงการจากศูนย์ฮัดเลย์ของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอังกฤษกล่าวว่า “นี่คือความสามารถทางวิทยาศาสตร์ใหม่ที่น่าตื่นเต้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์เพิ่มมากขึ้น และทวีความสำคัญมากขึ้นสำหรับรัฐบาลและผู้มีอำนาจตัดสินใจที่จะเข้าใจความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันบนพื้นฐานการอัปเดตรายปี”

สาระสำคัญจากรายงาน

  • อุณหภูมิโลกรายปีมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้นอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสกว่าระดับเฉลี่ยของยุคก่อนอุตสาหกรรม (1850-1900) ในอีก 5 ปีข้างหน้าและมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วง 0.91-1.59 องศาเซลเซียส
  • มีโอกาสราว 70% ที่หนึ่งเดือนหรือหลายเดือนในช่วง 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิจะสูงขึ้นอบอุ่นอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม
  • มีโอกาสราว 20% ที่หนึ่งปี ใน 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิจะสูงขึ้นอบอุ่นอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่โอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอยู่กับระยะเวลา
  • มีโอกาสน้อยมากราว 3% ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 5 ปีในช่วง 2020-2025 จะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม
  • ช่วงปี 2020-2024 เกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นมหาสมุทรทางตอนใต้จะร้อนขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา
  • ช่วงปี 2020-2024 ภูมิภาคในเส้นละติจูดและพื้นที่ Sahel (ซาเฮล เป็นเขตรอยต่อบริเวณกึ่งทะเลทราย บริเวณทะเลทรายสะฮารา แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นเหนือและใต้ ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนทะเลแดง) มีโอกาสที่จะเปียกชื้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่ทางเหนือและตะวันออกของอเมริกาใต้มีโอกาสจะแห้งแล้งกว่าเดิม
  • ช่วงปี 2020-2024 ความผิดปกติของความดันระดับน้ำทะเลบ่งชี้ว่าทางตอนเหนือของภูมิภาคแอตแลนติกอาจมีลมตะวันตกที่พัดแรงขึ้นทำให้เกิดพายุในยุโรปตะวันตกมากกว่าเดิม
  • ในปี 2020 พื้นที่กว้างใหญ่ในซีกโลกเหนือมีความเป็นไปได้ที่จะร้อนขึ้น 0.8 องศาเซลเซียสจากช่วงที่ผ่านมา (ค่าเฉลี่ยของปี 1981-2010 )
  • ในปี 2020 แถบอาร์กติกมีโอกาสสูงที่จะร้อนขึ้นมากกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก
  • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่น้อยที่สุดคาดว่าจะอยู่ในเขตร้อนและละติจูดกลางของซีกโลกใต้
  • ในปี 2020 หลายพื้นที่ของอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้และออสเตรเลียมีความเป็นไปได้ที่จะแห้งแล้วกว่าช่วงที่ผ่านมา

    ความสามารถในการคาดการณ์ระยะสั้นที่ดีขึ้นได้รับการสนับสนุนจากโครงการวิจัยสภาพภูมิอากาศโลก (World Climate Research Programme)

    ในการคาดการณ์แนวโน้มสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสเปน เยอรมนี แคนาดา จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก ซึ่งการคาดการณ์จากศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศหลายแห่งรวมกัน ทำให้การคาดการณ์มีคุณภาพมากกว่าการจะใช้แหล่งข้อมูลเดียว