ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ปี 2020 อุณหภูมิโลกจ่อติดอันดับสูงสุดอีกปี งานวิจัยพบความร้อนแตะขีดความอดทนมนุษย์แล้ว

ปี 2020 อุณหภูมิโลกจ่อติดอันดับสูงสุดอีกปี งานวิจัยพบความร้อนแตะขีดความอดทนมนุษย์แล้ว

16 พฤษภาคม 2020


เดือนเมษายน 2020 เป็นเมษายนที่ 2 ที่ร้อนที่สุดของโลก และเมษายนกลายเป็นเดือนที่สามของปีที่ติดอันดับสองของเดือนที่ร้อนที่สุดของโลกหลังจากเริ่มต้นปีนี้ด้วยเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุด เท่าที่มีการเก็บบันทึกข้อมูลในรอบ 141 ปีจากข้อมูลของนักวิยาศาสตร์แห่งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Centers for Environmental Information: NCEI)

ในเดือนเมษายน อุณหภูมิโลกทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับสองเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ในรอบ 141 ปีจากฐานข้อมูลของสำนักงานบริหารภาคพื้นทะเลและบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา นับจากปี 1880

อุณหภูมิโลกทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรเดือนเมษายนเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ย 13.7 องศาเซลเซียสของศตวรรษที่ 20 ถึง 1.06 องศาเซลเซียส และเป็นเดือนเมษายนที่ร้อนสูงสุดเป็นอันดับสองในรอบ 141 ปี รองจากเดือนเมษายน ปี 2016 ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.13 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิโลกในมหาสมุทรเดือนเมษายนปีนี้ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16.0 องศาเซลเซียสของศตวรรษที่ 20 ถึง 0.83 องศาเซลเซียส นับเป็นเดือนเมษายนที่อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี 1880 อีกทั้งยังสูงกว่าเมษายน 2016 ถึง 0.02 องศาเซลเซียส

เมษายนปีนี้อุณหภูมิโลกในมหาสมุทรร้อนสุดเป็นเมษายนที่ 8 นับตั้งแต่ปี 2010 และเมษายน 2020 ยังมีอุณหภูมิสูงกว่าศตวรรษที่ 20 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 44

เดือนเมษายน 2016 และเมษายน 2020 เป็นเดือนที่อุณหภูมิโลกทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 องศาเซลเซียส

ที่มาภาพ: https://www.ncei.noaa.gov/news/global-climate-202004

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในเดือนเมษายนรับรู้ได้ทั่วเอเชียเหนือซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 4 องศาเซลเซียสขึ้นไป ส่วนพื้นที่ที่อากาศร้อนมาก คือ ฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย ยุโรปตอนกลาง อ่าวเม็กซิโก ทะเลแบริง ตลอดจนทั่วตอนเหนือและทางใต้ของมหาสมุทรแแปซิฟิกและแอนตาร์กติก ซึ่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2.0 องศาเซลเซียส ขณะที่แคนาดาและทางตะวันออกของสหรัฐฯ มีอากาศเย็นมาก เพราะอุณหภูมิลดลงต่ำลงไปติดลบ 2.0 องศาเซลเซียส

สำหรับในแถบแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก เมษายนปีนี้นับว่าเป็นเมษายนที่สองที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลปี 1910 ขณะที่อุณหภูมิเดือนเมษายนในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย และโอเชียเนีย สูงขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลปี 1910

ยุโรป-เอเชียร้อนสุดเป็นประวัติการณ์

รอบเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ยังเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดอันดับสองในรอบ 141 ปีรองจากช่วงมกราคมถึงเมษายนปี 2016 เพราะทะเลน้ำแข็งอาร์กติกยังคงละลายต่อเนื่อง โดยอุณหภูมิโลกในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2020 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 12.6 องศาเซลเซียสของศตวรรษที่ 20 ถึง 1.14 องศาเซลเซียส ซึ่งต่ำกว่าที่บันทึกไว้ในปี 2016 เพียง 0.07 องศาเซลเซียส

ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกลดลงอย่างมาก โดยพื้นที่น้ำแข็งปกคลุมเดือนเมษายนมีเพียง 371,000 ตารางไมล์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 1981-2010 ถึง 6.5% และเป็นเดือนเมษายนที่มีพื้นที่น้ำแข็งเล็กสุดเป็นประวัติการณ์ของแถบอาร์กติกในรอบ 42 ปี

รอบเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ของทั้งยุโรปและเอเชียยังร้อนสุดเป็นประวัติการณ์และจัดเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดครั้งที่ 2 ขณะที่แถบแคริบเบียนและอเมริกาใต้นับว่าเป็นช่วงที่ร้อนสุดรอบที่สอง และยังเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยรอบที่สอง โดยอุณหภูมิทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรไม่มีความเย็นเลย

รอบเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ในซีกโลกทางตอนเหนือและทางตอนใต้ยังเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดครั้งที่ 2 รองจากปี 2016 นับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1880

รอบ 4 เดือนแรกของปีนี้อากาศร้อนกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยร้อนมากในยุโรปตอนกลาง ยุโรปตะวันออก และเอเชียเหนือ ซึ่งอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3.0 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า แต่ทางตะวันตกของแคนาดาและรัฐอลาสกาในสหรัฐฯ มีอากาศเย็นมากเพราะอุณหภูมิลดลงต่ำลงไปติดลบมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ร้อนสุดทั่วเม็กซิโก อเมริกากลาง อ่าวเม็กซิโก อเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรป เอเชีย และทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกและตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย อุณหภูมิทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรไม่มีความเย็นเลย

ที่มาภาพ: https://www.ncei.noaa.gov/news/global-climate-202004

ปี 2020 จ่อติด 5 อันดับร้อนสุด

รายงานอุณหภูมิโลกประจำศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐอเมริกาประเมินว่า ปี 2020 น่าจะเป็นปีที่ร้อนติด 5 อันดับแรกของปีที่ร้อนที่สุด อุณหภูมิโลกทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากช่วงเดียวกันของปี 2016

จากความผิดปกติในปัจจุบันและจากการบันทึกอุณหภูมิประจำปีทั่วโลกในอดีต ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าปี 2020 จะเป็นปีที่ร้อนติด 10 อันดับแรก สอดคล้องกับแนวโน้มที่แข็งแกร่งตั้งแต่ปี 1988 และปีที่เพิ่งผ่านๆ มาจะได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดใน 10 อันดับแรก โดยจากการคำนวณพบว่า

  • มีโอกาส 74.67% ที่ปี 2020 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด
  • มีโอกาส 99.94% ที่ปี 2020 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด 1 ใน 5 อันดับแรก
  • มีโอกาสมากกว่า 99.99% ที่ปี 2020 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด 1 ใน 10 อันดับแรก

     

    อุณหภูมิโลกทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ได้เพิ่มขึ้นและเกือบแตะระดับสูงสุด โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 1.15 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิโลกในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2016 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 0.08 องศาเซลเซียส

    ที่มา: https://www.ncdc.noaa.gov/sotc/global/201913

    ปี 2019 ติดอันดับร้อนที่สุดอีกปี

    ปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองในรอบ 140 ปีนับตั้งแต่มีการบันทึก และเป็นที่สองรองจากปี 2016 โดยอุณหภูมิโลกทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 0.95 องศาเซลเซียส ซึ่งห่างจากการเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.99 องศาเซลเซียส ของปี 2016 เพียง 0.04 องศาเซลเซียสเท่านั้น และยังสูงกว่าปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนสุดเป็นอันดับสามถึง 0.02 องศาเซลเซียส ทั้งนี้อุณหภูมิโลกทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรปี 2015 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 0.93 องศาเซลเซียส

    ปีที่ร้อนที่สุด 5 ปีในช่วงปี 1880-2019 ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 ส่วน 9 ใน 10 ปีที่ร้อนที่สุดเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2005 โดยที่ปี 1998 เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 10 ส่วนปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 43 นับตั้งแต่ปี 1977 จากอุณหภูมิพื้นผิวดินและมหาสมุทรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20

    ปี 2019 เริ่มด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญอ่อนถึงปานกลาง และเข้าสู่ภาวะความเป็นกลางของสถานการณ์ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ENSO (ENSO: เอลนีโญ/ลานีญา) ภายในเดือนกรกฎาคม ระหว่างปีอุณหภูมิแต่ละเดือนร้อนสุดติด 5 อันดับสูงสุด แต่เดือนมิถุนายนและกรกฎาคมอุณหภูมิจัดว่าร้อนเท่านั้น

    อุณหภูมิโลกแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.07 องศาเซลเซียสทุกๆ ทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 1880 และเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า หรือ 0.18 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี 1981

    ปีที่ร้อนสูงสุด 10 อันดับแรก

    ปี 2019 ยังเป็นที่ร้อนกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกทั้งอุณหภูมิพื้นผิวดินและในมหาสมุทร โดยวัดอุณหภูมิพื้นผิวดินระดับสูงสุดของปีได้ทั่วยุโรปตอนกลาง เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ มาดากัสการ์ นิวซีแลนด์ อเมริกาเหนือ และทางตะวันออกของอเมริกาใต้ ส่วนอุณหภูมิในมหาสมุทรระดับสูงสุดของปีวัดได้ทั่วทุกมหาสมุทร โดยเฉพาะทางตอนเหนือและตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก อุณหภูมิทั้งพื้นผิวดินและมหาสมุทรไม่มีความเย็นเลย

    ในยุโรปปี 2019 ยังเป็นปีที่ร้อนต่อเนื่องอีกปีจาก 2018 และนับเป็นปีที่ร้อนสุดปีที่สอง โดยอุณหภูมิต่ำกว่าปี 2018 เพียง 0.04 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ช่วงปี 2014 จนถึง 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดทั้ง 6 ปี อุณหภูมิแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.14 องศาเซลเซียสทุกสิบปีนับตั้งแต่ปี 1910 และยังเพิ่มขึ้น 3 เท่านับตั้งแต่ปี 1981 เป็น 0.46 องศาเซลเซียส

    สำหรับเอเชียปี 2019 เป็นปีที่ 3 ที่ร้อนที่สุด อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 1910-2000 ถึง 1.68 องศาเซลเซียส มีเพียงปี 2015 กับปี 2017 เท่านั้นที่จัดว่าอุ่นขึ้น และปีที่ร้อนที่สุดของเอเชียเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2007 ในช่วงปี 1910-2019 อุณหภูมิของเอเชียเพิ่มขึ้น 0.16 องศาเซลเซียสทุกๆ สิบปี และเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 0.35 องศาเซลเซียสช่วงปี 1981-2019

    ในญี่ปุ่น ข้อมูลจากสำนักงานอุตนิยมวิทยาพบว่า อุณหภูมิสูงสุดใหม่ที่วัดได้วันที่ 26 เดือนพฤษภาคมที่ 39.5 องศาเซลเซียส สูงขึ้นจากระดับสูงสุด 37.2 องศาเซลเซียสของเดือนพฤษภาคมปี 1993 และในปี 2019 สถานีตรวจวัดอุณหภูมิทั้ง 36 แห่งทั่วญี่ปุ่นวัดอุณหภูมิได้ระดับสูงสุดใหม่ โดยที่สถานีโอบีฮิโรอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 38.8 องศาเซลเซียส และสูงกว่าระดับสูงสุดเดิมที่บันทึกในวันที่ 12 กรกฎาคม 1924 ถึง 1.0 องศาเซลเซียส

    เช่นเดียวกับที่อเมริกาใต้ ปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดปีที่สอง อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.24 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าปี 2015 ซึ่งร้อนสุดเพียง 0.19 องศาเซลเซียส

    ความร้อนและความชื้นได้แตะขีดจำกัดความอดทนของมนุษย์แล้ว

    ในช่วงกว่าหนึ่งพันปีที่มนุษย์อาศัยอยู่บนโลกนี้ คนยุคใหม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ความร้อนจัดของทะเลทรายสะาฮารา ไปจนถึงความเย็นยะเยือกของอาร์กติก แต่คนเราก็มีขีดจำกัด หากอุณหภูมิและความชื้นเพิ่มสูงมากพอ แม้แต่คนที่มีสุขภาพดีและนั่งนิ่งๆ ในที่ร่มและมีน้ำไหลก็ยังยอมแพ้ต่อความร้อน

    คลื่นความร้อนเกิดถี่ขึ้นและร้อนขึ้น งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าในอีก 10 ปีข้างหน้ามีบางแห่งที่จะเริ่มประสบกับเหตุการณ์ที่แตะขีดจำกัดความอดทนของมนุษย์ แต่งานวิจัยล่าสุดระบุว่า เหตุการณ์ที่แตะขีดจำกัดความอดทนของมนุษย์เกิดขึ้นแล้ว

    ทั้งนี้งานวิจัยล่าสุดได้ตีพิมพ์ใน Science Advances ซึ่งย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดักจับความร้อน และพัฒนานโยบายที่จะช่วยให้ประชากรที่เปราะบางมีอากาศที่เย็นสบาย

    อุณหภูมิสูงทำให้ร่างกายคนขับเหงื่อออกมา เป็นการระบายความร้อนออกทำให้ผิวหนังเย็นลงเมื่อเหงื่อระเหยไป แต่เมื่อมีความชื้นที่สูงมากเข้ามาเกี่ยวข้อง เหงื่อที่หลั่งออกมาจะระเหยได้ช้าลงและในที่สุดก็หยุดระเหย เป็นจุดที่เกิดขึ้นเมื่อวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบกระเปาะเปียก (wet-bulb temperature) ได้ 35 องศาเซลเซียส

    การวิเคราะห์ก่อนหน้านี้โดยใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่าบางส่วนของภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย อนุทวีปอินเดีย และจีนตะวันออก จะประสบกับคลื่นความร้อนที่แตะขีดจำกัดนี้เป็นประจำในปลายศตวรรษ แต่เป็นการประเมินในพื้นที่กว้างออกไปในเวลาหลายชั่วโมงซึ่งอาจจะไม่พบเหตุการณ์ระยะสั้นในท้องถิ่นภายใต้สภาวะที่รุนแรง ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น โคลิน เรย์มอนด์ นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และทำงานที่ Jet Propulsion Laboratory ของ NASA จึงได้ศึกษาเจาะลึกเพิ่มเติม

    เรย์มอนด์และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยตรวจสอบข้อมูลอุณหภูมิย้อนหลังไปถึงปี 1979 จากสถานีตรวจวัดอากาศกว่า 7,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งพบว่า ความร้อนชื้นสูงปัจจุบันเกิดถี่ขึ้นสองเท่าเหมือนกับ 40 ปีก่อนและความรุนแรงของความร้อนนี้เพิ่มขึ้น หลายๆ ที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่วัดจากเครื่องวัดอุณหภูมิแบบกระเปาะเปียกสูงถึง 31 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า และหลายพื้นที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเหนือระดับ 35 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นระดับสำคัญที่ร่างกายมนุษย์จะปรับตัวได้ (อุณหภูมิที่ผิวหนังของมนุษย์ถูกควบคุม ให้ค่อนข้างคงที่ที่ประมาณ 35 องศาเซลเซียสโดยอุณหภูมิของร่างกายจะต้องสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศรอบข้างเพื่อให้ความร้อนสามารถระบายออกจากร่างกายได้ หรือถ้ากล่าวให้ถูกต้องก็คืออุณหภูมิของร่างกายจะต้องสูงกว่าอุณหภูมิของเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะเปียก)

    เอลฟาทีห์ เอลทาฮีร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งเคยทำวิจัยด้านนี้มาก่อนให้ความเห็นว่า การระบุว่าแนวโน้มนี้มีความสำคัญเพราะสร้างจากข้อมูลสถานีตรวจวัดอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลทางตรงที่มี

    ความร้อนชื้นแบบสุดขั้วเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในสถานที่เดียวกันกับที่การศึกษาด้วยแบบจำลองก่อนหน้านี้ได้ระบุว่าเป็นจุดความร้อนในอนาคต ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง ทั้งที่อยู่ใกล้กับน้ำอุ่นซึ่งมีความชื้นมหาศาล และมีอุณหภูมิพื้นผิวดินสูง ส่วนสถานที่อื่นโดยเฉพาะในอนุทวีปอินเดียเป็นภูมิภาคที่ลมมรสุมที่พัดพาความชื้นเข้ามา

    เมื่อพิจารณาถึงสภาพอากาศที่เลวร้ายของสถานีตรวจอากาศในบางแห่งที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่วนหนึ่งของปากีสถาน “อาจมีค่าเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะเปียกสูงกว่านี้” เรย์มอนด์กล่าว โดยปกติภาวะที่สูงสุดแบบสุดขั้วจะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งหรือสองชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นจึงยังไม่สูงถึงขีดจำกัดความอดทนของมนุษย์ แต่เหตุการณ์เหล่านี้จะเริ่มยาวขึ้นและกินพื้นที่กว้างขึ้นภายใต้สภาวะความร้อนในอนาคต และแม้ว่าอุณหภูมิกระเปาะเปียกต่ำกว่ามาก ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพพื้นฐาน

    คลื่นความร้อนในประวัติศาสตร์ที่คร่าชีวิตผู้คนหลายพันคนทั่วยุโรปในปี 2003 และที่รัสเซียในปี 2010 อุณหภูมิกระเปาะเปียกไม่เคยสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส “ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมากมาก” เอลทาฮีร์กล่าว

    งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ยังพบว่าพื้นที่บางส่วนของโลกจะประสบกับอุณหภูมิกระเปาะเปียกที่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียสมากกว่าเดิมและกลายเป็นปกติ หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2.5 องศาเซลเซียสจากสภาพภูมิอากาศก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งโลกก็ร้อนขึ้นแล้ว 1 องศาเซลเซียส

    “เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นปกติและไม่ร้อนมากไปกว่าที่เราประสบอยู่” ความเห็นจากคริสตินา ดัลห์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศอีกรายจาก Union of Concerned Scientists แต่ไม่ได้ร่วมทำวิจัยครั้งนี้

    การคาดการณ์ดังกล่าวตอกย้ำความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้มากที่สุด ซึ่งจะกำหนดความถี่ของการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีคำถามเกิดขึ้นหลายข้อ รวมถึงนโยบายที่รัฐบาลจะต้องพัฒนาเพื่อปกป้องกลุ่มคนเปราะบาง เช่น การสร้างศูนย์ทำความเย็นสำหรับผู้สูงอายุหรือส่งคำเตือนก่อนเกิดคลื่นความร้อน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่คนงานต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น การเกษตรและการก่อสร้าง อาจต้องเปลี่ยนตารางเวลาให้สอดคล้องกับช่วงที่อุณหภูมิของวันลดลง