ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ปี 2019 อุณหภูมิเดือดสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส ร้อนติดอันดับโลกอีกปี

ปี 2019 อุณหภูมิเดือดสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส ร้อนติดอันดับโลกอีกปี

17 มกราคม 2020


https://twitter.com/WMO

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยืนยันว่า ปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกครั้งเป็นปีที่สองรองจากปี 2016 จากการวิเคราะห์ชุดข้อมูลจากนานาประเทศ

อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในรอบ 5 ปีช่วงปี 2015-2019 และช่วง 10 ปีระหว่างปี 2010-2019 มีระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 1980 ทุกๆรอบทศวรรษอากาศอุ่นขึ้นจากทศวรรษก่อนหน้า แนวโน้มนี้คาดว่าจะมีต่อเนื่อง เพราะระดับความร้อนที่ถูกกักเก็บในเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

  • NASA ชี้มิถุนายนร้อนสุด ยุโรปอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส ปี 2019 ทั้งปีจะร้อนติดอันดับเป็นปีที่ 5
  • จากการนำชุดข้อมูล 5 ชุดมาวิเคราะห์รวม พบว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยในปี 2019 ร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสจากระดับเฉลี่ยปี 1850-1990 ซึ่งมักใช้เป็นตัวแทนของช่วงก่อนอุตสาหกรรม ส่วนปี 2016 ยังคงเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพราะจากผลของปรากฎการณ์เอล นีโญ่ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ติดต่อกันนาน

    “อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม และความร้อนในมหาสมุทรก็สูงขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ และด้วยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับนี้ เราจะเจอกับการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้” นายเพตเทอรี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าว

    อย่างไรก็ตามอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ทั้งหมด ในปีที่ผ่านและทศวรรษที่แล้วโลกพบเจอกับน้ำแข็งละลายมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความร้อนในมหาสมุทรสูงขึ้นและมีความเป็นกรดมากขึ้น และมีสภาพอากาศที่ร้ายแรง ทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนและสิ่งแวดล้อม จากรายงานเบื้องต้นสภาพอากาศของโลกปี 2019 (Provisional Statement on the State of the Global Climate in 2019) ของ WMO ที่นำเสนอต่อที่ประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติหรือ COP25 ในกรุงแมดริด สเปน ขณะที่รายงานฉบับเต็มที้เผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2020

    “ปี 2020 นี้เริ่มต้นจากสิ่งที่ปี 2019 ทิ้งไว้ให้ ดังจะเห็นจากสภาพอากาศที่มีผลกระทบรุนแรงและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ออสเตรเลียเผชิญกับอากาศที่ร้อนสุดๆ ปี 2019 เป็นปีที่แห้งแล้งที่สุด ทำให้เกิดไฟป่าลุกลามสร้างความเสียหายต่อคนและทรัพย์สิน สัตว์ป่า ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม”นายทาลาส กล่าว

    “นอกจากนี้โชคยังไม่เข้าข้าง เราคาดว่าจะมีสภาพอากาศแบบสุดขั้วตลอดทั้งปี 2020 และในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง ซึ่งมีสาเหตจากระดับความร้อนที่ถูกกักเก็บในเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่” นายทาลาส กล่าว

    ความร้อนส่วนเกินกว่า 90% สะสมในมหาสมุทร ดังนั้นมวลความร้อนในมหาสมุทรจึงเป็นตัวชี้วัดโลกร้อนได้ดี ผลงานการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมาใน Atmospheric Sciences พร้อมข้อมูลจาก National Center for Environmental Information and the Institute of Atmospheric Physics และองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration:NOAA) แสดงให้เห็นว่ามวลความร้อนในมหาสมุทรสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2019

    ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-confirms-2019-second-hottest-year-record

    ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาอากาศในมหาสมุทรก็เป็นช่วง 5 ปีที่อากาศในมหาสมุทรร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการวัดด้วยเครื่องมือยุคใหม่ และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอากาศในมหาสมุทรก็เป็นช่วง 10 ปีที่อากาศในมหาสมุทรร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

    อุณหภูมิในยุคใหม่เริ่มมีการบันทึกในปี 1850 องค์การ WMO ได้ใช้ชุดข้อมูล(จากข้อมูลรายเดือนของระบบสังเกตการณ์ข้อมูลทั่วโลก)จาก NOAA จาก Goddard Institute for Space Studies แห่ง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกาหรือ NASA จาก Met Office Hadley Centre ในอังกฤษและศูนย์วิจัยสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ในอังกฤษ รวมทั้งชุดข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป(European Centre for Medium Range Weather Forecasts)กับ Copernicus Climate Change Service และองค์การอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น

    จากชุดข้อมูล 5 ชุดพบว่า มีความแตกต่างกัน 0.15 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดอยู่ที่ 1.05 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุด 1.2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม