ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ขยะภูเขา: ตอน แบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ

ขยะภูเขา: ตอน แบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ

12 ธันวาคม 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

ผมได้รับการเชิญชวนให้มาเป็นประธานกิจกรรมนำปีนเก็บขยะที่เขาหลวง ในอุทยานแห่งชาติสุโขทัย ซึ่งเป็นภูสูงชัน ชื่อเดิมในสมัยสุโขทัยเรียก “เขาสรรพยา” เป็นแหล่งสมุนไพรรักษาตัวของชาวกรุงสุโขทัยมาแต่โบราณ

เขาหลวงมีป่าครบทุกชนิด ทั้งป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงอาศัยฟังจากเจ้าหน้าที่อุทยานมาเล่าต่อ

หนึ่งเดือนก่อนปีน ผมทยอยเปิดดูคลิปในอินเตอร์เน็ตที่แชร์กันเรื่องปีน “เขาหลวง” จึงชักตงิดๆ ว่า ท่าจะเอาเรื่อง เพราะทุกคลิปบอกว่าชันมาก

มีผู้แนะนำเพิ่มว่า ขาขึ้นใส่รองเท้าผ้าใบทั่วไปนั่นแหละ แต่ขาลงควรพิจารณาใช้รองเท้าหัวเปิด เล็บจะได้ไม่จิกชนกับหัวรองเท้าตัวเองให้ระบมเปล่าๆ

ผมเลยพกรองเท้าแตะหัวเปิดรัดส้นมาคู่หนึ่งน้ำหนักเบาๆ ใส่เป้ไว้ ส่วนขาขึ้นผมต้องทำหน้าที่ประธานกล่าวในพิธีต่อหน้าแขกเหรื่อผู้ใหญ่จึงใส่รองเท้าผ้าใบปกติปีนขึ้น

ในพิธีเปิดกิจกรรม ผมระบุวัตถุประสงค์เสร็จสรรพว่ามาเก็บขยะ จากนั้นปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกแล้วพาคนสักร้อยเศษปีนเขากัน

เดินขึ้นเพียง 10 นาทีแรกผ่านไป ทางราบก็หายเรียบ มองไปข้างหน้ามีแต่ชันและชัน แหงนคอมองไม่เห็นอะไรนอกจากต้นไม้ใหญ่เขียวไปหมด เห็นหัวคนข้างหน้าเล็กลงๆ หันหลังกลับลงล่างก็เห็นแต่หัวเล็กลงๆ เรียงเป็นแถวแคบๆ ตลอดทาง เนื่องจากป่าสมบูรณ์มาก ทางป่าจึงแคบ

(ภูกระดึงมีจุดพักเป็นชั้นๆ ให้พักขาเรียก “ซำ” แต่ที่เขาหลวงเรียกว่า “แคร่” เพราะจะมีแคร่ไม้ไผ่ตัวเล็กๆ ให้นั่งพอพักขาได้สักแป๊บ)

จริงดังที่เจ้าหน้าที่บอกไว้ ไม่เห็นมีขยะระหว่างทาง และทางก็ชันอย่างเล่าขาน เหงื่อไหลย้อย เป้ที่แบกอยู่ชักหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีเสียงนักเรียนสาวๆ แซวกันเองเป็นกลุ่มๆ สนุกสนาน ไปต่อจนถึงจุดพักชมวิวที่สองจึงได้รู้ว่าตัวเองไต่มาสูงเท่านกตัวใหญ่ๆ บินแล้ว ข้างล่างมองไปได้ไกลทีเดียว โชคดีที่ฝนไม่ตก แต่แดดก็ส่องไม่ค่อยถึงเรา เพราะป่าปรกไว้หมด สมบูรณ์ดีมาก เดี๋ยวๆ ก็มีกิ้งกือตัวยาวกว่าคืบและอ้วนกว่าหัวแม่โป้ง เดินที่พื้นให้คอยหลบเป็นครั้งคราว มีตั๊กแตนสีเขียวสดลายสวยมาเกาะตามตัว เป็นเสน่ห์ในการเดินป่าที่ได้เห็นของแปลกตาไปเรื่อยๆ

เราเติมน้ำดื่มได้จากประปาภูเขา ซึ่งไหลมาจากตาน้ำธรรมชาติ เย็นสดชื่น ไต่ไปอีกพักเดียว เสียงแซวของเด็กๆ เริ่มเป็นเสียงถอนหายใจ แถวเริ่มขาดแล้ว พวกปีนช้าเริ่มรั้งท้าย แต่เจ้าหน้าที่อุทยานจะแบ่งคนมาปิดท้ายสุด รอเก็บตกให้หมด

ถึงจุดพักครึ่ง เราเอาข้าวห่อออกมาทาน

จากจุดพักครึ่งนี้ เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่ไหวให้ลงเขากลับเลย อย่าดันทุรังไปต่อเพราะความช่วยเหลือจะเข้าได้จำกัด ที่นี่เจ้าหน้าที่จะงดมิให้นักท่องเที่ยวที่เพิ่งมาถึงอุทยานออกปีนสู่ยอดเขา

หลังบ่ายสาม เพราะอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาเมื่อไหร่ ต้นไม้ที่ปรกป่าทึบนี้จะเหมือนฟ้ามืดไปเลย ทั้งๆ ที่ในบริเวณอีกด้านของภูเขาจะยังมีแดดดีอยู่ก็ตาม เพราะเงาของภูเขาจะทับลงมาตามทางปีนขึ้นจนมืดหมด

เราปีนไต่จากความชัน 45 องศาบ้าง 60 องศาบ้าง มาเรื่อยๆ

เหงื่อที่ไหลออกมาตอนนี้ทำให้เราเหมือนคนเพิ่งอาบน้ำ ผ่านป่าไผ่ที่ล้มตายพร้อมกันเกือบหมด จึงได้ความรู้ว่าไผ่มีอายุเฉลี่ย 80 ปี ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะตอน จะชำ จะแยกหน่อมันไปปลูกที่ไหน พอต้นแม่อายุถึง 80 ปี ต้นลูกต้นหลานที่แยกออกมาและนำไปปลูกที่ไหนๆ ก็จะตายพร้อมๆ กันด้วย

เราปีนผ่านต้นไทรงามที่คงมีอายุนับร้อยๆ ปี ต้นใหญ่งามสง่า แวะพักทักเจ้าหน้าที่อุทยานที่มานั่งรอช่วยผู้ปีนที่ขาเริ่มสั่นๆ แล้วให้พักขาและดื่มน้ำ เติมเกลือแร่

จนถึงเนินชันสุดท้าย ชื่อติดหูครับ “มอตะคริว”

ได้ยินเสียงพวกที่ไต่ถึงยอดเหนือมอตะคริวแล้ว รู้ว่าที่หมายอยู่แค่เอื้อม เหมือนจะขึ้นบันไดหนีไฟอาคารสักชั้นสองชั้นเท่านั้น ไม่น่าจะหนักหนา แต่เราก็เชื่อผู้นำทางที่แนะว่าควรหยุดพัก สนทนาสัพเพเหระสักครู่ แล้วออกปีน

เมื่อปีนไต่ขึ้นไปได้เหลือเกือบ 10 ก้าวสุดท้าย ตะคริวมาเลย ผมได้แต่อมยิ้ม สมชื่อจริงๆ

เจ้าหน้าที่อุทยานเล่ายิ้มๆ ว่า เพราะเราปีนมาไกล 4 กิโลเมตรเศษ ทางชันตลอด จุดนี่น่าจะเป็นช่วงที่ชันที่สุดจึงมีโอกาสเป็นตะคริวได้ง่าย

เราขึ้นถึงยอดแบบผ่อนคลายใช้เวลา 3 ชั่วโมงเศษ ส่วนอาสาสมัครคนสุดท้ายกว่าจะขึ้นมาถึงใช้เวลาไปเกือบ 6 ชั่วโมง ฟ้าเกือบมืด แต่ก็ปลอดภัยทุกคน

เล่ามาตั้งนาน ยังไม่ได้ขยะสักชิ้น

เมื่อขึ้นถึงยอดภูหลวง จังหวัดสุโขทัยแล้ว

ผมเอาเป้วางที่เต็นท์ ทั้งๆ ที่ดื่มน้ำจากประปาภูเขาไปหลายขวด แต่ไม่ยักปวดเบา คงเพราะร่างกายรีดน้ำออกทางเหงื่อนมากพอสมควรแล้ว จึงขอให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติรามคำแหง คุณสว่าง ซึ่งปีนมาถึงพร้อมๆ กัน ช่วยพาไปดูกองขยะบนยอดเขาที่ว่ากันว่าเป็นปัญหาทีเถอะ

หัวหน้าอุทยานพาผมเดินเลาะผ่านเรือนไม้เก่าๆ ของที่ทำการอุทยานบนยอดดอย ไปจนเลยเรือนปั่นไฟก็เจอกองขยะที่นักท่องเที่ยวเคยทิ้งไว้ในถังบ้าง นอกถังบ้าง ทั่วบริเวณยอดเขา แล้วเจ้าหน้าที่อุทยานไปรวบรวมมากองหลบสายตาอยู่

ผมกับคณะอ้าปากค้าง 30 ปีของอุทยานมีขยะตกค้างเยอะขนาดนี้เชียว เจ้าหน้าที่บอกว่าปริมาณนี้ราวหนึ่งตันปลายๆ จากนั้นพาไปดูอีกจุดหลังเรือนอาบน้ำยาวอีกด้าน นั่นก็หลายร้อยกิโลกรัม และที่ผมสังเกตตามแคร่ที่พักต่างๆ ระหว่างทางขึ้นมานั้น หัวหน้าอุทยานบอกว่าก็ยังมีเทกอง หลบสายตาไว้อีกรวมๆ แล้วก็จะครบ 2 ตัน! พอดี (เอาเข้าจริงเมื่อนำลงพื้นมานับได้ 3 ตันครับ)

หลังจากนั้น หัวหน้าอุทยานก็พาผมเดินกลับลานกางเต็นท์ที่พัก ผมแลเห็นเรือนสังกะสีโทรมๆ ผุๆ มีเต็นท์กางเรียงเป็นตับอยู่ด้านใน ได้ความว่ากางไว้ให้เผื่อกรณีฝนตกหนัก จะได้มีเต็นท์ให้พวกจิตอาสาเผ่นย้ายมา เพราะอย่างน้อยก็มีหลังคาสังกะสีกันให้อีกชั้นหนึ่ง

ทีนี้สายตาช่างสงสัยก็มองไปสุดด้านใน เห็นเป็นแผงอะไรแปลกๆ เดินบุกเข้าไป หัวหน้าอุทยานบอกว่าเป็นระบบแผงโซลาร์เซลล์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้ยอดเขาหลวงนี้ แต่โครงการหมดสภาพแล้ว เหลือแต่ชุดแบตเตอรี่ในห้องเก็บข้างๆ

ผมขอดูถึงกับตะลึง เพราะมันคือชุดแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่าเราใช้ในรถยนต์ จำนวน 150 ลูก เรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย สายไฟระโยงระยางเพียบ

หัวหน้าอุทยานบอกว่า นี่คือปัญหาที่น่าหนักใจที่สุด เพราะขยะแบตเตอรี่เหล่านี้เกินกำลังที่เจ้าหน้าที่จะจัดการกันเองไหว โครงการนี้เจ้าหน้าที่จำไม่ได้ว่ามาเมื่อไหร่ โดยใครบ้าง เราลองเอาแบตเตอรี่มาตรวจดู สภาพยังไม่เสียหายแต่ไม่เก็บประจุไฟแล้ว น้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อลูก ถ้าลูกใหญ่ก็ราว 18-20 กิโลกรัม น้ำกรดยังเต็มทุกลูก หนักอึ้กเลยครับ

คิดไปขยะอันตรายเหล่านี้ก็เหมือนระเบิดเวลา เพราะถ้ารั่วไหลย่อมมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ป่าต้นน้ำ! คืนนั้น พวกเรานอนคิดวิธีขนขยะลงและคิดวิธีจัดการแบบเตอรี่จำนวนมากเหล่านี้กันจนดึก

ในที่สุดก็ตกลงใจกันเบื้องต้น ที่จะทยอยว่าจ้างลูกหาบชาวบ้านที่รอรับงานขนสัมภาระนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ให้ค่อยๆ ช่วยขนลงสู่พื้นราบ ซึ่งต้องใช้การขนหลายเที่ยวและหลายเดือนกว่าจะหมด คิดเป็นกิโลกรัมก็อีกราว 1,620 กิโลกรัม ส่วนพวกเราก็คงขนได้เท่าที่กำลังจะมีพรุ่งนี้ขาลง

ขนาดเราปีนขึ้นมาขาเดียว ยังสะบักสะบอมขนาดนี้ ต่อให้ลูกหาบชินทาง ชินงานขนาดไหนก็ไม่ง่ายที่จะเอาของหนักขนาดนี้ลงภูเขาสูงชัน ปกติลูกหาบจะรับขนของได้ราวเที่ยวละ 40 กิโลกรัม ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวของเขาหลวงจะไม่หนาแน่น ปีหนึ่งมาราว 15,000 คน เทียบกับภูกระดึง ซึ่งปีหนึ่งๆ มีถึงราว 60,000 คน ดังนั้น งานหิ้วของลงก็น่าจะสร้างรายได้ที่ยาวพอควรให้ลูกหาบชาวบ้านล่ะ ถ้ามีวิธีที่สร้างสรรค์กว่านี้อีกก็คงดี แต่คืนนั้นยังคิดไม่ออก

กลางคืนบนเขาหลวง ลมพัดแรงมาก พวกเราหลายคนไม่ชินกับการนอนในเต็นท์ที่ถูกลมตีแรงๆ ตลอดคืน จึงนอนไม่หลับ หลายคนยังสู้กับตะคริวที่คอยจะเต้นตุบตับ เสียงลมพัดต้นไม้และผ้าใบเต็นท์ดังสนั่นตลอดคืน บางเต็นท์ถูกลมพัดถอนสมอบกที่ตรึงเชือกขึงไว้กับดินจนหลุดลอยเข้าป่าไปทั้งหลังตอนเจ้าของเต็นท์ลุกไปเข้าห้องน้ ต้องรอตอนเช้ามีแสงแล้วจึงจะออกไปกู้สมบัติส่วนตัวและเต็นท์

หลังตื่นอาบน้ำ พวกเราสวมถุงมือ รับปากคีบ และกระสอบพลาสติกเหนียว เดินเรียงแถวหน้ากระดานบุกไปที่จุดแอบขยะ ลุยคีบแยกประเภท เลือกเอาคนละประเภทแล้วมัดปากถุง จากนั้นเก็บสัมภาระ

เดินลงจากเขา ตอน 09.00 น.

ภาพนี้งดงามนัก อาสาสมัครทุกคนยิ้มแย้มไม่มีเสียงบ่น สะพายเป้เสื้อผ้าของตัว ส่วนมือก็หิ้วกระสอบขยะที่ตัวเองบรรจงคัดแยกมาพาดบ่าเดินแถวเรียงหนึ่งลง “มอตะคริว” นับร้อยคน

ขาลงไม่มีใครคุยกันมากนัก มีพักดื่มน้ำ พักขากันเล็กน้อยแล้วงุดๆ ไต่ลงราวมดงาน

ทุกคนรู้ว่าขาลงไม่มีข้าวระหว่างทาง เจ้าภาพอุทยานและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ อพท. จัดอาหารเที่ยงรอเลี้ยงที่พื้นราบ ใช้เวลาชั่วโมงครึ่งจิตอาสาคนแรกก็ถึงพื้น และคนสุดท้ายลงถึงราว 2 ชั่วโมงถัดมา

ทุกคนเอากระสอบขยะไปเทกองแยกตามประเภท ชั่งน้ำหนักแล้วส่งไปร้านรับซื้อขยะ มีการปีนเก็บอีกหลายเดือนกว่าจะนำแบตเตอรี่ข้างบนลงมาหมด ผมไปร่วมยกลูกสุดท้ายลงสู่พื้น ได้เซ็ตซีโร่ให้เขาหลวงไปเรียบร้อย

อุทยานแห่งชาติรามคำแหงได้เซ็ตซีโร่ขยะอีกครั้ง นับแต่นั้นก็ได้ตั้งกติกาเรื่องการนำสิ่งที่จะกลายเป็นขยะไม่ให้นำขึ้นภูเขาไป เว้นแต่จะวางมัดจำไว้แต่ต้น

จริงอยู่ว่า การเก็บขยะบนภูเขาเป็นการแก้ไขระดับปลายเหตุ แต่ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมเกี่ยวกับขยะไปได้ดีแค่ไหน

ขยะบนเขาก็ยังจะคาอยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่ขนมันลงมาจัดการให้เรียบร้อย

ปีนี้คงมีแต่คนไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก

ช่วยกันลดขยะและเก็บขยะที่เจอตามที่ต่างๆ ให้บ้านเมืองเราสะอาดและมีการจัดการอย่างยั่งยืนกันครับ