ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียนจากลาตินอเมริกา ต้นทุนของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

บทเรียนจากลาตินอเมริกา ต้นทุนของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

28 ธันวาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/south-america/2020-12-08/latin-americas-lost-decades

บทความล่าสุดใน foreignaffairs.com ชื่อ Latin America’s Lost Decades อ้างฐานข้อมูลโคโรนาไวรัสของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่ระบุว่า เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในบรรดา 12 ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดจากโควิด-19 เมื่อเทียบจำนวนประชากร มีอยู่ 7 ประเทศอยู่ในลาตินอเมริกา แม้จำนวนประชากรจะมีสัดส่วนเพียง 8% ของประชากรโลก แต่จำนวนคนเสียชีวิตในลาตินอเมริกา มีปริมาณถึง 1 ใน 3 ของทั่วโลก

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อลาตินอเมริกา จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เศรษฐกิจปี 2020 จะติดลบ 8% การว่างงานจะพุ่งสูงขึ้น ความก้าวหน้าในการลดความยากจน ที่เกิดขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา อาจย้อนกลับไปสู่สภาพแบบเดิม

การที่คนเสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน และยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่า วิกฤติโควิด-19 ของลาตินอเมริกา คือวิกฤติของความเหลื่อมล้ำ

บทเรียนจากลาตินอเมริกา

หนังสือชื่อ The Costs of Inequality in Latin America (2020) ที่เขียนโดย Diego Sanchez-Ancochea มหาวิทยาลัย Oxford กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สังคมขาดความสงบมั่นคง คนที่ศึกษาเรื่องลาตินอเมริกาจะรู้ดีว่า การที่รายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจุกตัวอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยนั้น จะส่งผลเสียหายที่เป็นภัยร้ายแรงอย่างไร

ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดของโลก ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำ ไปจนถึงการมีสถาบันองค์กรการเมืองที่อ่อนแอ และความรุนแรงในสังคมที่มีอัตราสูง เกิดกระแสประชานิยม วิกฤติทางการเงิน การจ้างงานและการมีงานทำที่ไม่มีคุณภาพ และเกิดการแบ่งขั้วทางสังคม ลาตินอเมริกาต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ มานานนับศตวรรษ หากเราต้องการจะเข้าใจว่า ทำไมเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และล้มเหลวที่จะสร้างงานที่ดีให้แก่คนทุกคน เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของลาตินอเมริกาในเรื่องนี้

Sanchez-Ancochea เขียนไว้ว่า บทเรียนจากลาตินอเมริกาทำให้เห็นถึง ต้นทุนหรือการขาดทุนทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่มาจากความเหลื่อมล้ำของสังคม ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันมหาศาลระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ มีความยากลำบาก และเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจ ขาดการมีงานทำที่มีคุณภาพ ในลาตินอเมริกา คนที่มั่งคั่งขาดแรงจูงใจ ที่จะลงทุนในภาคส่วนเศรษฐกิจใหม่ๆ เพราะธุรกิจที่ทำอยู่เดิม ก็ได้กำไรมหาศาลอยู่แล้ว

เหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ที่ชิลี โคลอมเบีย และเอคัวดอร์ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความยากลำบาก ที่จะรักษาความต่อเนื่องของสถาบันประชาธิปไตย และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เหลื่อมล้ำสูง วงจรอุบาทว์ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น จนยากที่จะทะลวงออกมาได้ คนที่มีฐานะมั่งคั่งยิ่งมีอำนาจมากขึ้น สามารถควบคุมระบบการเมืองได้มากขึ้น ส่วนคนทั่วไปก็เกิดความไม่พอใจมากขึ้นเช่นเดียวกัน และการกระจายรายได้ก็ยิ่งแย่ลง

ที่มาภาพ : amazon.com

ต้นทุนทางเศรษฐกิจ

The Costs of Inequality in Latin America กล่าวว่า ความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาตินอเมริกา อาจมาจากหลายสาเหตุ แต่ความเหลื่อมล้ำคือสาเหตุสำคัญที่สุด การผสมปนเปกันระหว่างรายได้กระจุกตัวในหมู่คนชั้นสูง กับความยากจนของคนชั้นล่าง ได้สร้างอุปสรรคหลายประการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการ (ดูภาพกราฟประกอบ)

ประการแรกคือ ความเหลื่อมล้ำทำให้ขาดการลงทุนด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ

ประการที่ 2 ความเหลื่อมล้ำทำให้ขาดการสร้างนวัตกรรม คนชั้นนำของสังคมขาดแรงจูงใจที่จะส่งเสริมการศึกษาแบบคุณภาพสูง หรือลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เหตุผลอยู่ที่ว่า ในเมื่อสามารถมีผลกำไรมากมายจากภาคเศรษฐกิจดั่งเดิม ทำไมจึงต้องไปลงทุนและพัฒนาธุรกิจใหม่ ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเอง ก็ไม่มีผลกำไรมากพอ ที่จะไปลงทุนสร้างนวัตกรรม

ดังนั้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่าง กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ที่ไม่สนใจในการสร้างนวัตกรรม กับธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนมหาศาล ที่ขาดทรัพยากรจำเป็นต่อการลงทุน คือสิ่งที่สะท้อนสภาพความล้าหลังทางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกา

ประการที่ 3 ผู้นำธุรกิจจะหาวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีให้รัฐ รวมทั้งขัดขวางการนำระบบภาษีแบบก้าวหน้ามาใช้ รัฐบาลจึงที่ไม่มีงบประมาณพอที่จะนำไปลงทุนในโครงการด้านสังคม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ประการที่ 4 ประสบการณ์จากลาตินอเมริกาแสดงให้เห็นถึง การเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กับวิกฤติเศรษฐกิจ ในบางประเทศ ความเหลื่อมล้ำที่สูงมีส่วนทำให้เกิดการสร้างหนี้เงินกู้จำนวนมาก และเกิดวิกฤติขึ้นมา เมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ในบางประเทศ ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายระดับมหภาค ที่จำเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหาความยากลำบาก

ที่มาภาพ : หนังสือ The Costs of Inequality in Latin America (2020)

ในภาวะที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ขาดแรงจูงใจที่จะสร้างนวัตกรรม ส่วนธุรกิจ SME จำนวนมากมาย ก็ขาดเงินทุนที่จะลงทุน ทำให้เศรษฐกิจในลาตินอเมริกา ขาดพลังพลวัตร (dynamism) การจ้างงานจึงไปขยายตัวเพิ่มขึ้นทางด้านงานนอกระบบ ที่เป็นการจ้างงานไม่เป็นทางการ (informal job) ส่วนใหญ่เป็นงานบริการ ที่มีผลิตภาพต่ำและค่าแรงต่ำ หรือการจ้างงานตัวเอง เช่น ขายอาหาร ซ่อมโทรศัพท์มือถือ หรือซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ระบบการจ้างงานแบบคู่ขนาน (labor market dualism) ที่เป็นแบบทางการกับไม่เป็นทางการ มีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้

ต้นทุนทางการเมือง

หนังสือ The Costs of Inequality in Latin America กล่าวถึงสิ่งที่เป็นต้นทุนทางการเมืองว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ระบบการเมืองในลาตินอเมริกาอ่อนแอ การเมืองไร้เสถียรภาพ เพราะเป็นผลมาจากปฏิกิริยาตอบโต้กัน ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง กับคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีความไม่พอใจต่อระบบที่เป็นอยู่

ในช่วงสมัยประชาธิปไตย กลุ่มคนชั้นนำทางการเมืองสามารถควบคุมกติกาทางการเมือง และจำกัดนโยบายที่จะกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองให้แก่คนหมู่มาก ส่วนคนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ จึงหันไปสนับสนุนนักการเมือง ที่มีนโยบายแบบประชานิยม แต่การเมืองแบบประชานิยมจะไม่ยั่งยืนมั่นคง ถึงจุดหนึ่งก็เกิดรัฐประหาร ที่คนชั้นนำสนับสนุน

ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำมีส่วนทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ เป็นการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับคนส่วนใหญ่ และมีความไม่มั่นคง การเมืองดังกล่าวทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เลวร้ายลงไปอีก นโยบายประชานิยมมักจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ และเมื่อเกิดวิกฤติก็สร้างความเสียหายแก่คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ต่ำ ส่วนระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอ ก็ปกป้องผลประโยชน์กลุ่มคนมั่งคั่ง และจำกัดการขยายสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม

ต้นทุนทางสังคม

หนังสือเล่มนี้กล่าวว่า ทุกวันนี้ ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่เกิดความรุนแรงมากที่สุด มีอัตราการฆาตกรรมสูงสุดในโลก และความรุนแรงในเมืองเกิดขึ้นมากที่สุด ความรุนแรงนี้อาจมาจากหลายสาเหตุ แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็เป็นสาเหตุสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก Herman Winkler กล่าวว่า

“ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดความรู้สึกในเรื่องความไม่ยุติธรรมในหมู่คนที่เสียเปรียบ และจบลงที่การหาทางชดเชยผ่านวิธีการอื่น”

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยังทำให้เกิดการแยกตัวหรือการแบ่งแยกของสังคม คนมีฐานะมั่งคั่งจะย้ายเข้าไปอยู่ในชุมชนที่พักอาศัยของตัวเอง ที่มีกำแพงล้อมรอบ มีสิ่งอำนายความสะดวกภายใน มีระบบรักษาความปลอดภัย ความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นในสังคม เป็นไปอย่างฉาบฉวย สิ่งนี้นำไปสู่การแบ่งแยกการบริการทางสังคม คนร่ำรวย คนชั้นกลาง และคนยากจน ไม่ได้ใช้บริการของโรงพยาบาล หรือโรงเรียนร่วมกัน

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ก็ทำให้เกิดสภาพการแบ่งแยกทางสังคมแบบเดียวกัน เหมือนกับที่ Robert Putman เคยเขียนไว้ในหนังสือที่โด่งดังชื่อ Bowling Alone ว่า คนอเมริกันมีชีวิตโดดเดี่ยวมากขึ้น มีโอกาสน้อยลงที่จะไปพบปะเกี่ยวข้องกับคนต่างฐานะ ในบริบทดังกล่าว การแบ่งขั้วทางการเมืองจึงมีความรุนแรงมากขึ้น

บทเรียนในด้านบวก

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ลาตินอเมริกากลายเป็นดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของแนวความคิดที่ก้าวหน้าหลายอย่าง ในการต่อสู้กับความยากจน ทั้งในทางความคิด การเมือง และนโยบาย ที่สามารถเป็นบทเรียนแก่ประเทศในภูมิภาคอื่น ผู้นำทางความคิดในลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักเทววิทยา หรือนักคิดทางศาสนา ล้วนถือเอาความยากจนของคนส่วนใหญ่ เป็นหัวใจของการคิดวิเคราะห์ทั้งสิ้น

ความคิดก้าวหน้าทางด้านเศรษฐศาสตร์ของลาตินอเมริกาคือ แนวคิด “เศรษฐศาสตร์โครงสร้าง” (Structuralist Economics) เศรษฐศาสตร์ในประเทศตะวันตกจะเน้นเรื่องกฎอุปสงค์อุปทาน (demand & supply) แต่แนวคิดเศรษฐศาสตร์โครงสร้าง จะโยงเศรษฐกิจกับประวัติศาสตร์ โดยอธิบายความยากจนของลาตินอเมริกาว่า คือการพึ่งพิงการผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ทำให้เกิดความล้าหลังทางเทคโนโลยี ดังนั้น การจะเข้าใจความเหลื่อมล้ำของรายได้คือ การวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกว่าถูกบริหารจัดการอย่างไร เป็นต้น

ความคิดที่ก้าวหน้าทางเศรษฐศาสตร์ ยังมีอิทธิพลต่อความคิดก้าวหน้าในด้านอื่น เช่น แนวคิดเทวศาสตร์การปลอดปล่อย (Liberation Theology) ซึ่งเป็นคุณูปการทางความคิดของลาตินอเมริการต่อโลก แนวคิดนี้คือท่าทีของบรรดาพระนักบวชแคทอลิกต่อความไม่ยุติธรรมในสังคม โดยทุ่มเทให้กับคนที่เป็นฐานของพีระมิด และถือว่าความยากจนคือบาปของสังคม (social sin)

ทางด้านนโยบาย ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่บุกเบิกนโยบายที่หาทางลดความเหลื่อมล้ำ อย่างเช่น ในปลายทศวรรษ 1990 บราซิลและเม็กซิโกริเริ่มโครงการต่อต้านความยากจน เรียกว่าโครงการโอนเงินสดอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer – CCT) โครงการนี้จะให้รายได้เป็นรายเดือนแก่ครอบครัวยากจน หากเด็กในครอบครัวได้เข้าโรงเรียน และไปรับการตรวจสุขภาพ ธนาคารโลกก็บอกว่าโครงการ CCT ช่วยลดความยากจน ไม่ใช่แค่ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอีกด้วย

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นับเป็นปัญหาที่ท้าทายคนในรุ่นปัจจุบัน หากคนรุ่นนี้ไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ในเร็ววัน ก็จะทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

บทเรียนจากลาตินอเมริกาแสดงให้เห็นว่า การกระจุกตัวของรายได้ จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดน้อยลง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างวิกฤติทางการเงิน ทำให้ฐานะทางการเงินของรัฐอ่อนแอลง ทำให้เกิดการสร้างผู้นำแบบประชานิยม และทำให้ความรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น เป็นต้น

เอกสารประกอบ
The Costs of Inequality in Latin America, Diego Sanchez-Ancochea, I.B. Tauris, 2020.